ประชุม KM วันที่ 15 มิย 2549


อนามัยแม่และเด็ก ระยะรอคลอด โรงเรียนพ่อแม่ มะเร็งปากมดลูก

15 มิย 2549

เพิ่งกลับจากการประชุมคุณกิจและคุณอำนวยของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เห็นความก้าวหน้าและบรรยากาศที่ดีๆหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม 3 กลุ่ม

โดยกลุ่มแรกนำเสนอผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดูแลในระยะรอคลอด ได้เรียนรู้ว่าหลายแห่งได้พัฒนามาตรฐานการดูแลในระยะรอคลอดแล้ว ขณะที่อีกหลายแห่งกำลังจัดทำมาตรฐาน ขณะเดียวกันการนำมาตรฐานต่างๆมาใช้นั้น ก็ได้นำมาจากแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เช่น มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่ปรากฎใน Reproductive Health Library เช่น การเตรียมฝีเย็บ การสวนอุจจาระ และรวมไปถึงระยะคลอด เช่น การตัดฝีเย็บ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ถึงการประยุกต์ใช้ประเพณีความเชื่อของท้องถิ่นเข้ามาใช้ เช่น การใช้น้ำมนต์เพื่อบรรเทาอาการเจ็บครรภ์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิธีการอื่นๆ เช่น การบรรเทาอาการปวดโดยใช้การนวดแผนไทยของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด หรือที่ได้ยินมา เช่น การสะกดจิต และการฝังเข็ม เป็นต้น

กลุ่มที่สองนำเสนอผลการประชุมเรื่องโรงเรียนพ่อแม่ โดยนำเสนอเป็นเรื่องเล่า เมื่อนำเสนอเสร็จมีคำถามจากผู้ฟังว่าสิ่งที่เล่ากับสิ่งที่ปฏิบัติจริงเหมือนกันหรือไม่เพราะอยากไปศึกษาดูงาน พบว่าสิ่งที่ปฏิบัติไม่สามารถทำได้เหมือนกับสิ่งที่เล่าเนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันถึง Know-Do gap คือสิ่งที่รู้กับสิ่งที่ปฏิบัติไม่ตรงกัน กับ Do-Know gap คือสิ่งที่ปฏิบัติกับการรู้ถึงเหตุผลของการปฏิบัติเช่นนั้นว่าทำไปทำไม นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าคนที่เล่าเรื่องได้ดีนั้นน่าจะเป็นคนที่ทำเองโดยผู้นำเสนออาจเรียนเชิญคนคนนั้นให้ออกมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งน่าจะเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งของคุณอำนวยในการสนับสนุนให้ความรู้ที่ฝังลึกในคนคนหนึ่งได้มีโอกาสถ่ายทอดสู่คนอื่นๆอีกหลายๆคน

และสุดท้ายกลุ่มที่สามนำเสนอการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีสิ่งดีๆหลายอย่างที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น การที่ไม่รองบประมาณแต่จากทางโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ของบสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบต. และ เทศบาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี การค้นหาสตรีกลุ่มเป้าหมายโดยใช้แกนนำสตรีซึ่งใกล้ชิดกับชาวบ้าน การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ให้บริการ การแก้ไขปัญหาความขาดแคลนผู้ให้บริการโดยการขอกำลังเสริมจากอำเภอและจังหวัดข้างเคียงในช่วงที่มีการรณรงค์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆและสอดคล้อง เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือที่มีช่วงโปรโมชั่นมากๆในขณะนี้ในการโทรสอบถามผู้รับบริการและติดตามผู้ป่วย  นอกจากนี้ในตอนสุดท้ายกลุ่มที่สามยังได้สาธิตการใช้กระบวนการ AAR ในการหาคำตอบหรือวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งนับว่าน่าสนใจและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

 ตอนสุดท้ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันถึงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข ซึ่งพบว่ามีอยู่สามประเด็นที่ต้องได้รับการพิจารณาไปพร้อมๆกัน ได้แก่ 1. ความตระหนักถึงปัญหานั้นๆ (Awareness) 2. การเข้าถึงบริการ (Accessibility) และ 3. คุณภาพของบริการ (Quality) พบว่าเมื่อประเมินจากแววตาที่กระตือรือล้นของผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว คิดว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาที่ได้ช่วยกันจัดลำดับความสำคัญมาแล้วนี้ จะทำให้บังเกิดผลเป็นที่พึงพอใจอย่างแน่นอน

 สุดท้าย คำพูดที่อยากฝากทุกคนในห้องประชุม แต่พูดไม่ทัน จึงขอนำมาฝากไว้ที่นี่แทน คือ

Think Big, Act Small, Begin NOW!.

 ขอขอบคุณ สวัสดีครับ

 

หมายเลขบันทึก: 34287เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2006 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"Think Big, Act Small, Begin NOW"

  • เยี่ยมมากครับคุณหมอ
  • ดีใจกับชาวพนมไพรและชาวร้อยเอ็ดที่มีคุณหมอเก่งและขยันแบบนี้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท