ย้อนบันทึก "คนชายขอบ"


ข้อตกลงเครือข่าย 1.)คุยกันได้ในทุกเรื่องที่เป็นปัญญาไม่มีจำกัดแขนงของศาสตร์ 2.)ไม่อ้างอิงข้อมูลวิชาการที่ไม่มีจริง (อวดรู้)คือไม่รู้/ไม่แน่ใจก็ให้เปิดใจพูดกัน 3.)ไม่มีสายบังคับบัญชา แต่มีความผูกพันธ์ฉันท์เพื่อน พี่ หรือน้อง 4.)ไม่มีคำว่าเลิก (เสวนา) พร้อมกัน (อยู่หรือไปตามสะดวก)5.)ไม่มีเหล้า ไม่มีการพนัน 6.)ไม่กลัวว่าใครจะรู้มากกว่าใคร 7.)งานของเครือข่ายที่เป็นสาธารณะคืองานของเรา และ 8.)สมาชิกอย่างน้อย 2 คนทักให้หยุดทบทวน

     "ชายขอบ (rim) เป็นรูปแบบของความทะเยอทะยานเข้าสู่วังวนของความเป็นเมือง ในขณะที่ตัวตนทิ้งความเป็นบ้าน ๆ ไม่ได้ (ติดเป็นสันดาน) เชย ๆ แต่มั่นใจในความเชย เหมือนสิ่งแปลกแยกในสังคม บ้าน ๆ ก็ไม่ใช่ เมืองก็ไม่เชิง เรียกว่าชายขอบหรือริม (rim) เพราะริม... ก็คือไม่ใช่ตรงกลางเสียทีเดียว แต่ยังไม่หลุดกรอบไปทั้งหมด เช่น ริมทะเล ริมคลอง ริมถาด หมายถึงติดทะเล แต่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นทะเลจริง ๆ หมายถึงคลองแต่ไม่ใช่ในคลอง หรือหมายถึงขอบถาดแต่ไม่ใช่ถาด ริม...เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่เติมเต็มให้ทะเลเป็นทะเลสมบูรณ์แบบ คลองเป็นคลองที่สมบูรณ์ และเป็นถาดที่ใช้งานได้สะดวก"

     แรกเริ่มเดิมที...

     วันนี้ถือโอกาสเริ่มเปิดบันทึกเครือข่ายคนชายขอบ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันมาหลายรอบแล้ว โดยในแต่ละรอบ แต่ละครั้งก็มีความก้าวหน้า และมองเห็นความเข้มแข็งและยั่งยืนอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ได้เริ่มมีกิจกรรมเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะขอบันทึกย้อนหลังลงใน blog (จากเดิมอยู่ในสมุดบันทึกเหตุการณ์) เพื่อให้ชาวเราได้ติดตาม และท้วงติงหากสรุปผิด เสมือนหนึ่งการรับรองรายงานการประชุม (รับรองรายงานการเสวนามากกว่า) จนกว่าจะเป็นปัจจุบัน

อนุชา  หนูนุ่น

     ข้อตกลงเครือข่าย 
1.) คุยกันได้ในทุกเรื่องที่เป็นปัญญาไม่มีจำกัดแขนงของศาสตร์ และเป็นกัลยาณมิตร
2.) ไม่อ้างอิงข้อมูลวิชาการที่ไม่มีจริง (อวดรู้)คือไม่รู้/ไม่แน่ใจก็ให้เปิดใจพูดกัน
3.) ไม่มีสายบังคับบัญชา แต่มีความผูกพันธ์ฉันท์เพื่อน พี่ หรือน้อง
4.) ไม่มีคำว่าเลิก (เสวนา) พร้อมกัน (อยู่หรือไปตามสะดวก)
5.) ไม่มีเหล้า ไม่มีการพนัน ในระหว่างการเสวนา
6.) ไม่กลัวว่าใครจะรู้มากกว่าใคร
7.) งานของเครือข่ายที่เป็นสาธารณะคืองานของเรา
8.) สมาชิกอย่างน้อย 2 คนทัก ก็ให้สมาชิกคนนั้นหยุดทบทวน
     (หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จะได้ใช้วิธีขีดแก้ไข หรือเพิ่มเติม ตามที่อาจารย์จันทวรรณได้แนะนำไว้ที่ http://gotoknow.org/archive/2005/09/03/04/50/16/e3391)

======================================================================

10 เมษายน 2547
ครั้งแรกที่ฉุกคิดว่าถึงเวลาแล้ว

     วันนี้ได้บันทึกไว้ว่า ได้สังเกตพบว่าพี่น้องหมออนามัยเรา รวมทั้งผมด้วยยังขาดการประสานองค์ความรู้ที่ต่างคนต่างมี เข้าด้วยกัน ทำให้ขาดน้ำหนักเวลาพูดหรือเจรจาต่อรอง อีกทั้งยังมีการขัดแข้งขัดขากันเอง เมื่อต้องอยู่ในห้องประชุมเดียวกัน เพราะต่างคนต่างใช้ความรู้สึก เช่น

     คนที่ 1 "ผมว่าประชาชนรู้มากพอแล้ว แต่ที่ไม่รู้คือจะทำให้ประชาชนปฏิบัติตามได้อย่างไร"

     คนที่ 2 "อ้าว แล้วใครบอกว่าเขารู้ บางทีเขาอาจจะไม่รู้ก็ได้นะ"

     คนที่ 3 "ต้องให้เขาเต็มใจ และเข้าใจ จะทำให้เขาปฏิบัติได้เองโดยอัตโนมัติ ต้องให้เขาเป็นศูนย์กลาง อย่าคิดให้เขาปฏิบัติตามซิ"

    คนที่ 1 "พูดเป็นวิชาการไปได้ ผมทำงานในพื้นที่มา 15 ปี แล้ว เชื่อเถอะชาวบ้านนะไม่เห็นความสำคัญหรอก"

     นี่คือถ้อยคำตอนหนึ่งที่พูดกันเรื่องแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก

     ผมอยู่ในที่ประชุมด้วย ได้บันทึกไว้ เพราะขณะนั้นผมกำลังนึกถึงการพัฒนากระบวนการคิดของ จนท. มากกว่าที่จะพัฒนากระบวนการคิดของชาวบ้าน (ผมเชื่อมั่นว่ากระบวนการคิดของชาวบ้านดีมาก ถ้าเราเชื่อมโยงให้เกิดเป็นพลังได้) หากเราทำให้ จนท.คิดเชิงระบบได้มากขึ้น ปัญหาจะแก้ได้ง่ายและอาจจะไม่ต้องลงมือแก้ด้วยเทคโนโลยีสูง ๆ หรือการใช้สารเคมีอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

======================================================================

20 เมษายน 2547
เขียนโครงร่างวิจัยการจัดการทุนทางสังคมโดยชุมชน

     ผมได้พัฒนาโครงร่างวิจัยขึ้นร่วมกับพี่หมออนามัย (พี่จุก) และประธานชมรมผู้สูงอายุของอำเภอบางแก้ว (ตาผัน) เพื่อที่จะให้ชุมชนได้จัดการกับทุนทางสังคมที่ตัวเองมีอยู่ เช่น หมอพื้นบ้าน การละเล่นเพื่อผ่อนคลาย หรือการทำของเล่นเด็กของคนเฒ่าคนแก่ ก็ใช้เวลาพูดคุยกันหลายรอบมาก โดยสรุปก็คือชุมชนรู้สึกหวงแหนอะไรก่อนหลังก็ให้ทำการเก็บรวมรวมข้อมูล (แบบชาวบ้าน ๆ ) เอง อะไรก็ได้ ซึ่งวันประชุมชมรมผู้สูงอายุ ก็ได้ถกกันว่าเช่นเรื่องอะไรบ้างดังนี้ การทำนาแบบดั้งเดิม(มีความเชื่อและพิธีกรรมด้วย) การทำของเล่นเด็ก การละเล่นเพื่อผ่อนคลายหลังการทำงาน กีฬาซัดต้ม ฯลฯ

     โครงร่างฯนี้ได้ส่งให้ สกว.ภาคแล้วด้วย โดยได้มีหนังสือตอบกลับว่าจะต้องพัฒนาโครงร่างฯอีก ซึ่งก็เริ่มเป็นทิศทางที่ดี

     แต่แล้วก็มีข่าวว่าผมจะต้องไปอยู่ที่จังหวัดเพื่อช่วยงานประกันสุขภาพ ซึ่งทีมเริ่มลังเลในการเดินต่อ ทำให้ผมหยุดคิดว่าตกลงชุมชนอาจจะยังไม่พร้อมเองจริง ๆ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่ทำให้โครงการหยุดชะงักลง หากเป็นความต้องการของชุมชนจริง ๆ (ตามทัศนะของผมเอง อาจจะอัคติก็ได้) โครงการนี้จะต้องไม่พับ เพราะเพียง จนท.คนหนึ่งต้องย้ายไปตามวาระ

======================================================================

15 พฤษภาคม 2547
จำเป็นต้องไปช่วยงานที่จังหวัด เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพประชาชน

     วันนี้ผมได้ทราบอย่างเป็นทางการว่ามติที่ประชุมที่จังหวัดตกลงให้ผมไปช่วยงานทะเบียน ฐานข้อมูล และการประเมินผล ที่ กลุ่มงานประกันฯ สสจ.แน่นอนแล้ว สิ่งที่เป็นห่วงที่สุด คือ โครงร่างวิจัยการจัดการทุนทางสังคมโดยชุมชน จึงได้นัดคุยกัน และตกลงว่าขอให้พักไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่เริ่มเดิน ผมเสียดายโอกาสที่จะใช้โครงการนี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน (ผมมองเป็นแค่เครื่องมือฯ) เพราะกระบวนการในแต่ละลำดับขั้นตอน จะเป็นทั้งการพัฒนากระบวนการทำงานเป็นทีม กระบวนการพัฒนาวิธีคิด การทำงานร่วมกันของคนต่างวัย ผู้สูงอายุจะรู้สึกมีคุณค่าของตนเอง รวมถึงการทำให้ชาวบ้านทำวิจัยได้เองโดยไม่รู้ตัว

     ทัศนคติของการวิจัยจะได้เปลี่ยนไปว่าไม่ใช่เรื่องยาก ชาวบ้านก็ทำได้ และหมออนามัยก็จะได้ถือโอกาสนี้เป็นการทำงานเชิงรุก และได้พัฒนาตัวเอง รวมทั้งผมด้วยซึ่งห่างเหินการทำงานชุมชนไปมากแล้ว จะได้กลับมาทำในสิ่งที่ชอบและถนัดอีกที

     ทุกครั้งที่นึกถึงชีวิตอนามัย จะนึกถึงเรื่องที่ สอ.ต.หนองธง ดินแดนที่กล่าวขวัญว่าดุ และมีความขัดแย้งระหว่าง จนท.กับ ชาวบ้านสูง (ซึ่งผมคงจะต้องเล่าเรื่องนี้เพื่อบันทึกไว้เป็นความภาคภูมิใจเมื่อมีโอกาส) วันนี้ผมต้องอยู่ สสอ. และกำลังจะไปอยู่ สสจ. ด้วยสามัญสำนึกว่า จะไปสร้างโอกาสแก่ชุมชน แล้วจะทำตามอุดมการณ์ให้ได้ ถ้าหากว่าอยู่ไม่ได้ (รู้สึกกลัว เพราะ ภาพของ สสจ.ที่ผมรู้จักเป็นที่ที่ผมอัคติมาตลอด) จะขอกลับมาอยู่ สอ. คงไม่ยากนัก

======================================================================

17 สิงหาคม 2547
ออกเดินทางเป็นวิทยากรนำเสวนาเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

     ช่วงที่เดินทางมาอยู่ สสจ.ใหม่ ๆ ก็สับสน วุ่นวาย เนื่องจากต้องเรียนรู้งานใหม่ ทำให้เลือน ๆ เรื่องการบันทึกช่วยจำไว้ แต่ได้บันทึกเป็นเหตุการณ์ประชุมในแต่ละวันเสียมากกว่า (บางวันประชุม เช้า-บ่าย 2 เรื่อง) และต้องเดินทางไป กทม.บ่อยมาก ซึ่งมักจะจัดโดย สปสช. อีกทั้งได้รับเป็นอาจารย์พิเศษประจำ ม.ราชภัฎสงขลา วิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข อีก ก็เลยทำให้ยุ่งมาก

     ที่นี่ผมยังทำหน้าที่ตามที่ชอบและเต็มใจ คือการให้คำปรึกษาด้านการทำวิจัย การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบเครื่องมือ การจัดทำโครงการ และการประเมินผลโครงการ รวมถึงการนัดเจอกับคนที่อยากทำวิจัยได้สะดวกเพราะเป็นศูนย์กลางมากขึ้น และที่นี่ทำให้ผมต้องขนงานประจำกลับไปทำที่บ้านบ่อยขึ้น (แต่ได้สมาธิกว่า)

     การที่ผมได้ไปอบรมที่ปรึกษากฎหมายของ สปสช.สาขา ด้าน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ผมเริ่มมองเห็นทางการลงไปทำตามสิ่งที่คาดหวังไว้แล้ว คือ การออกไปพัฒนาความเข้าใจแก่ประชาชน ในสิทธิและหน้าที่ที่ควรจะได้รับ ผมจะได้ลงชุมชนแล้วจึงได้เริ่มออกออกเดินทางเป็นวิทยากรนำเสวนาร่วมกับอนุกรรมการฯ ภาคประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ทั่วจังหวัด

     ในระหว่างนี้ผมได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประชาชนสะท้อนกลับขึ้นมาที่เกี่ยวกับโครงการ 30 บาท และตั้งใจไว้ว่าจะนำมาเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์สร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนจังหวัดพัทลุง ระยะปานกลาง 3 ปี พ.ศ.2548-2550(รายละเอียดเมื่อพัฒนาและประกาศใช้แล้วดังนี้ http://gotoknow.org/archive/2005/09/01/18/56/16/e3351) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี และไม่ได้คิดว่าจะมีก่อน โดยผมมองว่าน่าจะเป็นวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้คนในองค์กรไม่รู้สึกว่าถูกเปลี่ยนแปลงในทันที โดยกระบวนการพัฒนาฯ ก็ได้พยายามสอดแทรกและไม่ได้เรียกว่าแผนยุทธศาสตร์อย่างชัดแจ้งในทันทีด้วยเพราะกลัวแรงต้านที่ผมเข้าไปใหม่ อีกทั้งคนที่อยู่เดิมจะรู้สึกว่าเป็นภาระมากขึ้น

     ในระหว่างที่ได้พัฒนาแผนยุทธ์ศาสตร์ฯ อยู่นั้นก็เริ่มมีแรงต้านระลองแล้วระลอกเล่าแต่เบา ๆ เพราะส่วนใหญ่รวมถึงผู้บริหารและกระแสของสังคมราชการเทมาทางนี้ ขณะนี้พร้อมแล้วที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดพัทลุง หมายถึง คณะอนุกรรมการฯ หลายท่านก็เริ่มเข้ามาแลกเปลี่ยนเพื่อการยกร่าง ย้ำว่าเป็นการพัฒนายุทธ์ศาสตร์ฯ จริง ๆ เพราะจิ๊กซอร์นี้ ผู้เล่น (ประชาชน คนในองค์กรค์ ผู้บริหาร และคณะอนุกรรมการฯ) ยังไม่ได้รับคำอธิบายว่าที่แต่ละคนเล่นนั้นกำลังจะถูกเชื่อมโยง และเมื่อถูกเชื่อมโบงหรือต่อกันทั้งหมดแล้ว ผมจะกลับ สอ.หรืออยู่ต่อ (ก็นึกอยู่บ้างเหมือนกันลึก ๆ)

======================================================================

20 กันยายน 2547
ทบทวนบทบาทการเป็นอาจารย์พิเศษวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

     การไปสอนวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข โปรแกรมวิชาสาธารณสุขชุมชน ครั้งนี้ของผม และยังต้องสอนอีกในเทอมหน้า ทำให้ผมต้องประเมินตนเอง บริบทที่ไปสอนมีจำนวนนักศึกษาทั้งหมด 84 คน มาจากหลาย ๆ จังหวัด และเรียนด้วยทำงานด้วย โดยเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ อายุที่มากกว่าผมก็มีเยอะ และที่น้อย ๆ ก็มี การเรียนการสอนผมจะไม่ไปสาย เหมือนการไปเป็นวิทยากรโดยทั่วไป นักศึกษาเข้าเรียนเกือบครบ ที่ขาดจะเป็นหน้าประจำ (ประมาณ 3 คน) และจะเป็นเด็กพัทลุง บางทีเดินสวนกับผมที่บันได แล้วหายไปเลย สอบถามเพื่อน ๆ ก็พบว่าน่าจะอยู่ที่โต๊ะสนุกฯ ซึ่งเป็นที่ประจำ และไม่ต้องเสียใจเพราะวิชาอื่น ก็เป็นเช่นนี้

     การเรียนการสอน (รายละเอียดโครงสร้างวิชา http://gotoknow.org/archive/2005/08/29/02/36/32/e3152) เป็นไปด้วยดี และได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่รับผิดชอบแล้ว (อาจารย์ชาญชัยฯ) ทั้งนี้นักศึกษาเองก็รู้สึกดีต่อรายละเอียดที่จะได้รับ เพียงแต่บ่น ๆ ว่ายากและกลัวตกเท่านั้น ในแต่ละครั้งที่สอนก็จะมีความยากง่ายต่างกันไป ซึ่งได้พยายามทำให้เป็นเรื่องเดียวกับที่ทำงานอยู่โดยการยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว การเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมทุกครั้งด้วยกระบวนการปรับวิธีคิดให้เป็นการคิดแบบรอบด้าน (comprensive) ท้ายคาบจะสอบเก็บคะแนนทุกครั้งโดยใช้แนวคำถามที่ฝึกการคิดและให้เขียนอธิบาย การทำรายงานและนำเสนอรายงานกลุ่ม ส่วนการสอบจะสอบปลายภาคที่เดียวและมีคะแนนเพียงร้อยละ 20

     คะแนนที่นักศึกษาทำได้แม้จะไม่สามารถวัดกระบวนการเรียนการสอนได้ทั้งหมด แต่ก็พอจะจำแนกได้ว่าทั้ง 2 ห้องมีคะแนนกระจายเป็นโค้งปกติ (Normal distribution) และมีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ใช้ t-test) โดยมีทุกเกรด ตั้งแต่ 1 - 4 (จึงเป็นที่มาของกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักเรียนโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เข้าเรียนว่าไม่เป็นธรรมบ้าง) ที่สำคัญกว่าเกรดคือผลการประเมินของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ต้องการให้ไปสอนในวิชาอื่นอีก และได้ไปแจ้งกับอาจารย์ชาญชัยฯ ไว้ (ได้รับทราบจากหัวหน้าห้องทั้ง 2 ห้อง) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกำลังใจในฐานะผู้สอนเป็นอย่างมาก

     ผลลัพธ์ที่เหนือไปจากการสอนในครั้งนี้ คือ เครือข่ายที่มีนักศึกษากระจายอยู่ในหลายจังหวัด การทำให้นักศึกษาเข้าใจโครงการหลักประกันสุขภาพมากขึ้นจากที่เดิมตั้งรับไม่ทัน ได้แต่ทำตามเขาสั่ง และรวมถึงได้พัฒนาคนเพื่อให้บริการแก่ประชาชน (ไม่ใช่เป็นเจ้าขุนมูลนาย)

======================================================================

 

หมายเลขบันทึก: 3423เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2005 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท