ตีความ LO จากมุม KM ด้วยแว่น “การปฏิบัติ”


การปฏิบัติ KM ที่ลึก จะได้ฝึก LO ครบทั้ง ๕ องค์ประกอบ
ตีความ LO จากมุม KM   ด้วยแว่น “การปฏิบัติ
           วันนี้ (๒๐ สค. ๔๘) ผมมีโอกาสพักผ่อนอยู่กับบ้าน    ได้ฟังเสียงนกเขาขันแว่วมาไกลๆ   นกอีแพรดบินกรีดกรายแพนหางกระโดดไปกระโดดมา     รู้สึกโล่งโปร่งเบาสบาย    ทั้งๆ ที่มีการบ้านหนักๆ ต้องทำค้างอยู่ ๓ – ๔ อย่างในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ๒ วันนี้  ผมก็อดคิดเรื่อง LO (Learning Organization – องค์กรเรียนรู้) กับ KM ไม่ได้    ว่าน่าจะลองตีความ ๒ สิ่งที่เป็นเสมือน ๒ หน้าของเหรียญเดียวกันนี้     ว่าสัมพันธ์กันอย่างไรในเชิงปฏิบัติ     เป็นการนำเสนอความคิดนะครับ    ไม่รับรองความถูกต้อง    ส่วนความครบถ้วนนั้นไม่ต้องสงสัย    ไม่ครบถ้วนอย่างแน่นอน
            ทบทวน LO ก่อนนะครับ    มี ๕ องค์ประกอบหลัก (ตาม Peter Senge)
1.        มีเป้าหมายร่วมกัน (Shared Vision)
2.        เรียนรู้เป็นทีม (Team Learning)
3.        ใช้พลังของ แบบแผนวิธีคิด (Mental Models)  หรือกระบวนทัศน์ ที่หลากหลาย
4.        บรรลุศักยภาพแห่งตน   ควบคุมตนเองได้   เชื่อมั่นในศักยภาพแห่งตน   รู้ข้อจำกัดของตน  (Personal Mastery)  ซึ่งน่าจะเรียกง่ายๆ ว่า “รู้จักตัวเอง”
5.        ใช้วิธีคิด (และปฏิบัติ) กระบวนระบบ (Systems Thinking)

            ท่านที่เข้าใจ KM พอสมควร (“ก๊วน KM”) คงจะพอมองออกนะครับ ว่า ๕ องค์ประกอบของ LO ช่วยเป็นพลังของการทำ KM อย่างไร    แต่ผมจะลองวิเคราะห์กลับทางนะครับ ว่า KM ช่วยให้บรรลุ LO อย่างไร    หรือทำอย่างไรให้กิจกรรม KM ช่วยหนุนเสริมการบรรลุ LO ได้ครบถ้วน หรือได้ลึก หรือได้อย่างซับซ้อน
 เราจะใช้วิธีวิเคราะห์แบบมองเชิงซ้อน เชิง holistic หรือมองเชิงกระบวนระบบ (Systems Thinking) นะครับ    จะไม่มองแบบแยกส่วน     มองทีเดียวหลายๆ ชั้น หลายๆ มิติ    ไม่ใช่มองชั้นเดียว มิติเดียว    และมองจากตัวกิจกรรมหรือการปฏิบัติ ไม่ใช่มองจากทฤษฎี
·        เริ่มจากการจัดตลาดนัดความรู้ เอาเรื่องราวของความสำเร็จภายในองค์กรมา ลปรร. (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) กัน     การเลือกเรื่องราวของความสำเร็จ  ย่อมเลือกตาม “หัวปลา”  (เป้าหมายหลัก) ขององค์กร     เท่ากับเป็นการฝึกประยุกต์ใช้วิสัยทัศน์ร่วม แบบอัตโนมัติ หรือแบบไม่รู้ตัว     คือเวลาเลือกหัวข้อสำหรับจัดตลาดนัด ก็ต้องร่วมกันเลือกหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายหลัก (วิสัยทัศน์) ของหน่วยงาน และขององค์กร    การเลือกเรื่องราวของความสำเร็จสำหรับมาเล่าเรื่อง (Storytelling) ก็ต้องเลือกให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่เป็นหัวข้อของตลาดนัด เท่ากับต้องตรวจสอบวิสัยทัศน์ร่วม    และเรานิยมเลือกเรื่องความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมกันแก้ไขปัญหา นี่ก็เป็นการตอกย้ำคุณค่าและทักษะในการทำงานเป็นทีม     ในเรื่องเล่านั้นถ้าสะท้อนภาพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หรือมีมุมมองที่ต่างกัน เอามาเปิดใจตีแผ่แลกเปลี่ยนกัน จนเห็นช่องทางวิธีทำงานแบบใหม่  ก็เท่ากับแสดงให้เห็นคุณค่าของการรับฟังและเห็นคุณค่าของความคิดที่มาจากหลากหลายแบบแผนวิธีคิด      การที่สมาชิกของทีมแต่ละคนกล้าเสนอความคิดหรือมุมมองของตนโดยไม่กลัวว่าจะถูกคนอื่นว่าโง่เนื่องจากคิดต่างออกไป    การที่ผู้ฟังในทีมงานฟังความเห็นที่แตกต่างโดยที่ตนเองไม่รู้สึกเสียหน้า    การที่สมาชิกในทีมงานเอาประเด็นถกเถียงบางประเด็นกลับไปคิดไตร่ตรองในยามว่างและเอามา ลปรร. กับเพื่อนในโอกาสต่อไป ฯลฯ สะท้อนภาพของการบรรลุศักยภาพแห่งตน  มีความสามารถในการดึงความสามารถของตนที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ออกมาใช้     มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตน อย่างสมดุลกับความอ่อนน้อมถ่อมตน    นี่คือการฝึกฝนเพื่อการบรรลุศักยภาพแห่งตน ให้เพิ่มพูนขึ้นจากกระบวนการทำงาน และ ลปรร. จากประสบการณ์การทำงาน     ในเรื่องราวไปสู่ความสำเร็จตามเรื่องเล่า จะเห็นความคิดหรือวิธีการหนึ่งเชื่อมโยงกับอีกความคิดหรือวิธีการหนึ่ง     เห็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน   การที่การปฏิบัติในขั้นตอนหนึ่งช่วยแก้จุดอ่อนของการปฏิบัติอย่างหนึ่ง     การมีมุมมองที่ลึกไปอีกระดับหนึ่งช่วยป้องกันไม่ให่เกิดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น  เป็นต้น  เป็นตัวอย่างของการฝึกฝนการคิด/การปฏิบัติกระบวนระบบ    จะเห็นว่าหากการดำเนินการ KM ทำอย่างถูกต้องและเต็มรูป ลึกซึ้ง ก็จะเกิดการฝึกการประยุกต์ใช้ หรือปฏิบัติตามแนวทาง LO ได้ครบ ๕ ประการ     แต่สมาชิกของทีมอาจจะไม่รู้ตัว ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง     ดังนั้นที่ปรึกษาหรือวิทยากร KM/LO ที่มีความสามารถ จะช่วยชี้ความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติกับทฤษฎี    ช่วยให้ “คุณกิจ” และ “คุณอำนวย” เข้าใจ LO และ KM ได้ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    ผมขอย้ำความสำคัญของที่ปรึกษาหรือวิทยากร KM/LO ที่มีความสามารถระดับโยงปฏิบัติกับทฤษฎีนะครับ
·        ลองจับอีกสักตัวอย่าง    เอาการเขียน บล็อก เป็นไงครับ    การเขียน บล็อก เป็นการบันทึกประสบการณ์ ความเห็น หรือความในใจ    ผู้เขียนจะต้องฝึกการบรรลุศักยภาพแห่งตน ในการเขียนด้วยความมั่นใจและไม่มั่นใจในตนเอง    มั่นใจว่าเรามีความคิดในแนวของเราที่จะบอกคนอื่น    ไม่มั่นใจตรงที่เราก็ยอมรับว่าความรู้ความเข้าใจของเรามีขีดจำกัด ดังนั้นที่เขียนลงไปอาจไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้     คนเขียน บล็อก ย่อมถือว่าเป็นสมาชิกของชุมชน บล็อก ที่ตนอยู่     ต้องมีทั้งการให้และการรับ    มีการรวมตัวกัน ลปรร.    เอาความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนไปทดลองปฏิบัติ แล้วเอาประสบการณ์การปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนกัน  นี่คือรูปแบบหนึ่งของการฝึกการเรียนรู้เป็นทีมใช่ไหมครับ    ทีมที่มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันสูง สมาชิกจะต้องเข้าใจกรอบวิธีคิดของตน และของคนอื่น   ยอมรับหรือตระหนักว่ามีความแตกต่างนั้น    รู้วิธีที่จะใช้ความแตกต่างนั้นไปในทางบวก คือให้เสริมพลัง (synergy) กัน    ไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก    นี่คือการเรียนรู้เรื่องแบบแผนวิธีคิด     ภายในชุมชนของ บล็อก ชุมชนหนึ่งๆ ย่อมมีเป้าหมายร่วม    ตัวอย่างเช่นชุมชน facicop.gotoknow.org เป็นชุมชนของผู้ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับ KM    เรื่องที่เอามาลงก็จะเป็นเรื่องกิจกรรม  แนวคิด  ทฤษฎี  วิธีปฏิบัติ  เครื่องมือ  ฯลฯ  เกี่ยวกับ KM    เท่ากับนักเขียน บล็อก ที่เป็นสมาชิกชุมชนก็จะฝึกการมี วิสัยทัศน์ร่วม ไปในตัว     และเมื่อได้อ่าน บล็อก ที่เป็นสมาชิกของชุมชน และฝึกมองภาพใหญ่ ว่าสมาชิกของชุมชนมีความสนใจ  ปฏิบัติ  มีแบบแผนวิธีคิด/ปฏิบัติ  แตกต่างหลากหลายอย่างไรบ้าง ก็เท่ากับเป็นการฝึก การคิด/ปฏิบัติ กระบวนระบบ

จะเห็นว่าการทำ KM ที่ดี จะมีการฝึกปฏิบัติ LO ครบหรือเกือบครบทุกข้อในแต่ละกิจกรรม KM    แต่ผู้ปฏิบัติ (“คุณกิจ”) อาจไม่ตระหนัก    จึงควรมีพี่เลี้ยง คือ “คุณอำนวย” และ วิทยากร/ที่ปรึกษา ด้าน KM/LO    ช่วยทำกระบวนการ AAR เชิงทฤษฎีว่าได้ปฏิบัติและฝึก/เรียนรู้ LO/KM อย่างไรบ้าง ในกระบวนการทำงาน และ ลปรร. นั้นๆ
ย้ำว่า   กิจกรรม KM จะมีการปฏิบัติ LO ครบองค์ประกอบทั้ง ๕ หรือไม่ขึ้นอยู่กับความลึก หรือคุณภาพของการทำ KM นั้นๆ     การทำ KM มี่ทั้งที่ผิวเผิน หรือยังอยู่ในระดับต่ำ  และที่เป็น KM ระดับลึกและซับซ้อนมาก    ควรมีการทำความเข้าใจร่วมกันเป็นระยะๆ ว่า กิจกรรม KM ของกลุ่ม/หน่วยงาน/องค์กร ก้าวหน้าไปอยู่ในระดับใด
ที่เอาข้อเขียนนี้มาลงไว้ก็เพื่อขอให้ช่วยกันระดมความคิดว่าเราจะเรียนรู้ KM/LO เชิงทฤษฎี     จากการปฏิบัติให้มากขึ้นได้อย่างไร     โดยผมเสนอให้เอาการปฏิบัตินำ     แล้วมีวิทยากรช่วย facilitate การทำ AAR เพื่อเรียนรู้ KM/LO ร่วมกันในหมู่ “คุณกิจ”
วิจารณ์ พานิช
๒๐ สค. ๔๘

            




คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3421เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2005 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท