ถาม-ตอบปัญหา EQA : สมศ. (1)


ขณะนี้คงเป็นเวลาที่ทุกมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมการรับการประเมินคุณภาพภายนอก จากสมศ.(รอบ 2) กันอย่างเข้มข้น

     จากที่ดิฉันได้รับคำถามจากพี่เมตตา  มอ. เกี่ยวกับการเตรียมตัวรับการประเมินคุณภาพภายนอก จากสมศ.(รอบ 2) ประกอบกับดิฉันคิดว่าขณะนี้คงเป็นเวลาที่ทุกมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมการรับการประเมินฯ ในครั้งนี้กันอย่างเข้มข้น  เนื่องจากเกณฑ์การประเมินและการตัดสินมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นพอสมควรในรอบการประเมินนี้  ดิฉันจึงขออนุญาตนำปัญหาที่ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ถามเข้าไปยังสมศ. และทางสมศ.ได้ตอบกลับมาทาง web site และ e-mail ของผู้ประสานงานของแต่ละมหาวิทยาลัยมาบันทึกไว้เพื่อผู้ที่สนใจจะสามารถเข้ามาทำความเข้าใจเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ ได้นะคะ

คำถามที่ 1 สำหรับคณะตั้งใหม่ที่ยังไม่มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษา ไม่จำเป็นต้องรับการประเมินโดย สมศ. ใช่หรือไม่?

ตอบ
  การประเมินรอบสองนี้เป็นการประเมินระดับกลุ่มสาขา และระดับสถาบัน (ไม่ใช่เป็นการประเมินระดับคณะ) สำหรับคณะที่ตั้งใหม่ ก็จะถูกประเมิน เพียงแต่ว่าจะถูกประเมินในนามของกลุ่มสาขา เช่น คณะเภสัชศาสตร์เปิดใหม่ ก็จะถูกประเมินในภาพรวมของกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สำหรับตัวบ่งชี้ที่ไม่สามารถประเมินได้บางตัว เช่น ตัวบ่งชี้ที่ 1.1–1.4 ซึ่งเป็นเรื่องบัณฑิตที่ยังไม่มีข้อมูลก็ไม่ต้องประเมิน แต่ตัวบ่งชี้ที่สามารถประเมินได้ ก็ต้องทำการประเมินด้วย เช่น ค่า FTES  จำนวนหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน ร้อยละของอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอกต่ออาจารย์ทั้งหมด

คำถามที่ 2 กรณีที่มหาวิทยาลัย ข. จัดอยู่ในกลุ่มผลิตบัณฑิตและวิจัย โดยกำหนดน้ำหนักมาตรฐาน 1 ไว้ 35 คะแนน แต่คณะ ค. ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัย ข. ยังไม่ได้เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา แต่เปิดสอนระดับปริญญาตรี และมีบัณฑิตจบแล้วในการกำหนดน้ำหนักของตัวบ่งชี้ในมาตรฐานที่ 1 ของคณะ ค. ทั้ง 35 คะแนน อยู่ที่ตัวบ่งชี้ร่วมทั้งหมดใช่หรือไม่ ?

ตอบ
     แนวคิดของการกระจายน้ำหนักถูกต้องแล้ว แต่แนวคิดหน่วยประเมิน (unit of analysis) ต้องเป็นกลุ่มสาขา ไม่ใช่คณะวิชา นอกเสียจากว่า คณะวิชานั้นมีชื่อตรงกับกลุ่มสาขา เช่น คณะครุศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เช่นนี้ การประเมินในระดับกลุ่มสาขา ก็คือการประเมินในระดับสถาบันนั่นเอง แต่หากเป็นดังคำถามข้อ 1 การประเมินในระดับกลุ่มสาขา กับระดับคณะเป็นคนละเรื่องกัน และการประเมินของสมศ. ก็เป็นการประเมินระดับกลุ่มสาขาวิชา มิใช่การประเมินระดับคณะ

คำถามที่ 3 กรณีมหาวิทยาลัย ก. จัดอยู่ในกลุ่มผลิตบัณฑิตและวิจัย โดยกำหนดมาตรฐาน 1 ไว้ 35 คะแนน

3.1 คณะ ง. สอนแต่บัณฑิตศึกษาโดยไม่มีการสอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรี การกำหนดค่าน้ำหนักของตัวบ่งชี้ในมาตรฐานที่ 1 ควรทำอย่างไร?

ตอบ    ขอตอบเป็นกลุ่มสาขาแทนนะคะ เพราะว่าเราไม่ประเมินระดับคณะ หากกลุ่มสาขานั้นไม่มีการสอนในระดับปริญญาตรี ให้นำน้ำหนักทั้งหมดกระจายลงที่ตัวบ่งชี้ที่ 1.7 และ 1.8 ส่วนน้ำหนักของตัวบ่งชี้ที่ 1.1 –1.6 ให้เป็นศูนย์คะแนน

3.2 คณะ จ. สอนแต่ปริญญาโทหรือปริญญาเอกอย่างเดียว การกำหนดค่าน้ำหนักของตัวบ่งชี้ในมาตรฐานที่ 1 ควรทำอย่างไร?

ตอบ    ให้นำน้ำหนักคะแนนทั้งหมดกระจายลงที่ตัวบ่งชี้ที่ 1.7 กรณีเปิดสอนระดับปริญญาโทอย่างเดียว และกระจายลงในตัวบ่งชี้ที่ 1.8 กรณีที่ปิดสอนระดับปริญญาเอกอย่างเดียว

3.3 คณะ ฉ. สอนปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาเฉพาะปริญญาโท ยังไม่มีการเปิดสอนปริญญาเอกการกำหนดค่าน้ำหนักของตัวบ่งชี้ในมาตรฐานที่ 1 ควรทำอย่างไร?

ตอบ    กระจายค่าน้ำหนักของระดับปริญญาเอก (ตัวบ่งชี้ที่ 1.8) ไปลงที่ตัวบ่งชี้ที่ 1.7 หรือตัว
บ่งชี้ร่วม 6 ตัวแรก

คำถามที่ 4  กรอบเวลาในการรายงานที่ท่านผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษา บอกว่ากรอบเวลาที่เกี่ยวกับการเงินรายงานตามปีงบประมาณนั้น ได้แก่ตัวบ่งชี้ต่อไปนี้ ใช่หรือไม่ ?   2.2, 2.3, 3.4, 4.2, 5.6, 5.7, 5.8, 5.10 ,6.9

ตอบ    ตัวบ่งชี้ที่ใช้การนับจากปีงบประมาณ ได้แก่
ตัวบ่งชี้ที่ 5.6 สินทรัพย์ถาวรต่อจำนวนนักศึกษา (บาทต่อคน)
ตัวบ่งชี้ที่ 5.7 ค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อจำนวนนักศึกษา (บาท)
ตัวบ่งชี้ที่ 5.8 ร้อยละของเงินเหลือจ่ายสุทธิต่องบดำเนินการ (ร้อยละของเกณฑ์ ปกติ)
ตัวบ่งชี้ที่ 5.10 งบประมาณสำหรับการพัฒนาคณาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่ออาจารย์ประจำ  (บาทต่อคน)
ตัวบ่งชี้ที่ 6.9 ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในระบบห้องสมุด คอมพิวเตอร์ และศูนย์สารสนเทศต่อนักศึกษา (บาทต่อคน) ส่วนตัวบ่งชี้ที่เหลือทั้งหมด ใช้การนับจากปีการศึกษา

คำถามที่ 5 เนื่องจากกรอบเวลาในการรายงานมี 2 กรอบ คือ ปีการศึกษาและปีงบประมาณ ถ้า SAR รายงานปีการศึกษา 2548 ซึ่งกรอบเวลา คือ 1 มิถุนายน – 31 พฤษภาคม 2549 
ส่วนกรอบปีงบประมาณ จะให้รายงานปีงบประมาณ 2548 คือ 1 ตุลาคม 2547 – 30 กันยายน 2548 หรือ รายงานปีงบประมาณ 2549 คือ 1 ตุลาคม 2548 – 30 กันยายน 2549 ซึ่งปีการศึกษา 2548 จะ Overlap กับปีงบประมาณ 2548 เพียง 4 เดือน คือ มิถุนายน – กันยายน 2548 แต่จะ Overlap กับปีงบประมาณ 2549 ถึง 8 เดือน คือ (ตุลาคม 2548 – พฤษภาคม 2549) ซึ่งน่าจะสะท้อนกับการดำเนินงานมากกว่า ดังนั้นจึงเสนอให้การทำ SAR ปี 2548 ในส่วนของตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวกับงบประมาณใช้งบประมาณ 2549 ปีงบประมาณ 2548  1 ตุลาคม    2547 – 30 กันยายน 2548  เหมือนการรายงานของ กพร. ปีการศึกษา 2548    1  มิถุนายน 2548 – 31 พฤษภาคม 2549  ปีงบประมาณ 2549  1 ตุลาคม 2548 – 30 กันยายน 2549


ตอบ    ได้เรียนปรึกษาท่าน ผอ. แล้ว ท่านเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่สำหรับปีนี้คงใช้ไม่ทัน เพราะต้องทำการศึกษาข้อดีข้อด้อย และนำเสนอต่อกรรมการ สมศ. ก่อน พร้อมทั้งต้องปรึกษากับ สกอ.เพื่อให้เกิดความสอดคล้องของการรายงานข้อมูลกลางของ สกอ. และ SAR ของสถาบันอุดมศึกษาตามระบบการประดันคุณภาพภายใน

คำถามที่ 6 เกณฑ์การประเมินในข้อ 5.0 , 5.2 , 6.6 ให้นับจำนวนข้อที่ผ่านเกณฑ์โดยไม่ต้องเรียงลำดับข้อใช่หรือไม่ ?

ตอบ    บ่งชี้ใดที่มีหน่วยวัดเป็นข้อ ก็ให้นับข้อ โดยไม่ต้องเรียงลำดับ ส่วนตัวบ่งชี้ใดที่มีหน่วยวัดเป็นระดับ ต้องเรียงข้อด้วย เช่น ข้อ 5.1  และ 6.6 ไม่ต้องเรียงข้อ ส่วนข้อ 5.2 นั้นต้องเรียงข้อ

คำถามที่ 7 เกณฑ์ของตัวบ่งชี้ 5.7 เกณฑ์ปกติของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ต่อจำนวนนักศึกษาเป็นเท่าใด?

ตอบ
    ค่าใช้จ่ายต่อหัว
1. วิทยาศาสตร์สุขภาพ (214,514 บาท)
2. วิทยาศาสตร์กายภาพ (66,338 บาท)
3. วิศวกรรมศาสตร์ (70,312 บาท)
4. สถาปัตยกรรมศาสตร์ (71,394 บาท)
5. เกษตรศาสตร์ (109,910 บาท)
6. บริหารธุรกิจฯ (62,532 บาท)
7. ครุศาสตร์ (90,610 บาท)
8. ศิลปกรรมศาสตร์ (65,494 บาท)
9. สังคมศาสตร์ (45,587 บาท)
 
คำถามที่ 8 SAR ที่มหาวิทยาลัยจัดทำเพื่อรับการประเมินภายนอก ควรมีข้อมูลตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ของ สมศ. เท่านั้น หรือต้องประกอบด้วยข้อมูลของมาตรฐานและตัวบ่งชี้ของสกอ. ด้วย

ตอบ    ในความเป็นจริง ควรประกอบด้วยข้อมูลตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ของ สมศ. และตัวบ่งชี้ของ สกอ. ด้วย แต่เนื่องจากมาตรฐานและตัวบ่งชี้ของ สกอ. ยังไม่ข้อสรุป ในทางปฏิบัติแล้ว SAR ที่มหาวิทยาลัยจัดทำเพื่อรับการประเมินภายนอก   จะมีเพียงข้อมูลตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ของ สมศ. ก็ได้

คำถามที่ 9 ตัวบ่งชี้ 6.6 คำว่าคณาจารย์ หมายถึง อาจารย์จำนวนเท่าใดในคณะ/มหาวิทยาลัยจึงสามารถอ้างได้ว่าเข้าเกณฑ์

ตอบ    ข้อนี้ผู้ประเมินจะใช้วิธีการเชิงคุณภาพในการหาคำตอบ เช่นการสังเกตการจัดการเรียนการสอน  การสัมภาษณ์ ทั้งคณาจารย์และนักศึกษา การดูแผนการสอน เป็นต้น แล้วจึงจะใช้ดุลยพินิจเพื่อตอบคำถามการประเมิน ทั้งนี้ ผู้ประเมินจะใช้หลักการของการสุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้ความเป็นตัวแทนของประชากร ประกอบกันไปในแต่ละวิธีการเก็บข้อมูล

คำถามที่ 10 ตัวบ่งชี้ 4.1 จำนวนนักศึกษาที่รายงานเฉพาะนักศึกษาปริญญาตรี หรือนักศึกษาทั้งปริญญาตรี โท และเอก

ตอบ    นักศึกษาปริญญาตรีเท่านั้น

คำสำคัญ (Tags): #eqa
หมายเลขบันทึก: 34206เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2006 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท