เค้าหาว่าผมบ้า


โง่ย่อมมาก่อนฉลาด ไม่มีอะไรดีเท่า เราได้รู้จากการทดลองด้วยตัวเอง
ด้วยกฎของธรรมชาติได้กำหนดไว้ว่า ทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกนี้ย่อมอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สมกับคำพังเพยที่ว่า น้ำต้องพึ่งเรือ เสือต้องพึ่งป่า ชาวนาต้องพึ่งปุ๋ย (วรรคท้ายนี้ผมพูดเอง เพื่อหาเหตุไปเชื่อมกับคำพังเพยที่อยู่บรรทัดข้างหน้าให้ได้) ปุ๋ย คำเดียวสั้นๆ แต่มีความหมาย ชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ พากันซึ้งใจกันเป็นอย่างดี วัสดุที่มีชื่อสั้นๆคำนี้มีอิทธิพลต่อผู้ที่ทำการเกษตรอย่างใหญ่หลวง ไม่อยากจะคิดให้มันเกิดมโนภาพอันหดหู่ แล้วนำมาสู่ความรู้สึก (ทางใจ) แค่มองแล้วลงมาสัมผัสอย่างผิวเผินก็รู้ว่า ผู้ที่เป็นเกษตรกร (ชาวนา) ต่างจมอยู่กับความเชื่อ ใครบอกว่าปุ๋ยเคมีชนิดนี้ชื่อนี้ดีมากๆ หว่านลงไปในนาเถอะ ข้าวนั้นจะงาม รวงจะใหญ่ น้ำหนักจะดี ขายจะมีราคา ชาวนารีบเชื่อเลย ไม่เคยคิดว่าจะไม่เชื่อเลยสักครั้ง ชาวนาจะเชื่อใครก็ได้ ยกเว้นตัวเอง โถ...โถ... ก็น่าเห็นใจจะไม่เชื่อได้ไง ก็ผู้ที่มาบอกนั้นมีทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน แล้วยังมีเจ้าหน้าที่ของเกษตรอีก เรียกประชุมทีไร ก็ให้ใช้ปุ๋ยเคมียี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ผู้ที่แนะนำล้วนเป็นผู้ที่ นับถือ จะไม่เชื่อได้เหรอ ฉะนั้น ภาพของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้เชื่อ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญของการอยู่เหนือการควบคุมของพื้นฐานทางด้านจิตใจ การกำหนดว่าชาวนาจะเชื่อสิ่งใดๆนั้นได้ถูกกำหนดโดยตัวของมันเองแล้ว ความเชื่อเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ใครจะล่วงละเมิดมิได้ ... ชาวนาต้องปฏิบัติ เมื่อไม่นานมานี้เคยไปรวมกลุ่มกับชาวนา ฟังเขาจับกลุ่มคุยกัน กลุ่มชาวนาถามพวกเดียวกันเองว่า พวกเราชาวนาต้องการพันธุ์ข้าวแบบไหน คำตอบที่ตอบกันเองคือ ชาวนาต้องการพันธุ์ข้าวที่เมล็ดใหญ่ยาว ไม่หัก ไม่มีท้องไข่ สีแล้วต้องได้ข้าวตันมากๆ หุงให้ขึ้นหม้อ แล้วมีกลิ่นหอม และต้องกินอร่อยอีก นี่คือข้าวในฝันของชาวนา เมื่อก่อนโน้นผมเป็นคนในเมือง เป็นคนกินข้าว ชาวนาปลูกข้าวอย่างไร แบบไหน ก็ต้องกินแบบนั้น แต่ครั้งหลังๆ ทนไม่ไหว ชาวนาใส่สารพิษลงไปในข้าวมากเหลือเกิน จนผู้ที่ซื้อข้าวไทยในต่างประเทศส่งกลับ จนต้องนำไปฝังเสียไม่รู้เท่าไหร่ แล้วที่แอบนำมาขายตามห้าง ขายกันอย่างถูกๆ คนซื้อก็ไม่รู้กินกันเข้าไปทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนไทยถึงพากันเป็นโรคท่วมตัว (คำเปรียบเทียบนะ ไม่ใช่เชื้อโรคชนิดใหม่) แค่คิดก็ยังสยอง ไม่รู้ว่าตนเองจะมีอายุรอดถึงร้อยสิบปีหรือเปล่า จากข้าวร้อยพิษที่กินมานาน เพราะเมื่อก่อนยังต้องเดินซื้อกินข้าวราดแกงตามร้านทั่วๆไป ทำไมหนอชาวนาไม่มาถามคนกินข้าวดูบ้าง ว่าต้องการกินข้าวแบบไหน และต้องการข้าวแบบไหน หากถามผม ผมจะรีบตอบเลย คนกินข้าวต้องการข้าวที่ปราศจากพิษของสารเคมีทุกชนิด และต้องการชาวนาที่มีความละเอียด มีความรอบคอบ และมีความรอบรู้อย่างไร อย่างแรกชาวนามีความละเอียดอ่อน ชาวนาต้องอ่านสลากปุ๋ยสลากยาฆ่าแมลงให้ละเอียดก่อนใช้ และต้องเข้าใจว่า ยากำจัดแมลงหรือปุ๋ยแต่ละชนิดนั้น เขาให้ใช้ครั้งละเท่าไหร่ ใช้ตอนไหน และใช้อย่างไร อย่าเอาความเชื่อที่ว่า ถ้าใช้ยาหนึ่งฝาแมลงยังไม่ตาย ก็ให้เพิ่มเป็น 2 ฝา หากแมลงยังไม่ตาย ก็ให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 4 ฝา 5 ฝา 10 ฝาไปเลย ถ้าอย่างนี้ ไม่ไหวๆ คนกินข้าวเป็นโรคเรื้อรังตายทีหลัง แต่ชาวนาผู้ที่ฉีดยาเป็นโรคเฉียบพลันตายก่อน แล้วการมีความรอบคอบจะเป็นอย่างไร ก็ชาวนาจะใช้ยาแต่ละครั้งต้องมีความระมัดระวัง อย่าใช้ถี่ อย่าใช้บ่อย ใช้เฉพาะเมื่อมีความจำเป็น คือใช้ตามสถานการณ์บังคับ ชนิดเพียงแค่แมลงปอบินผ่าน ก็รีบฉีดยาทั่วผืนนาทั้งแปลง อย่างนี้ไม่เอา แมลงปอมันมีปีก บินหนีไว แมลงไม่ทันตาย คนฉีดนั้นแหละจะตาย แล้วตามมาด้วยคนที่ซื้อข้าวกิน ข้อสุดท้าย คือ ความรอบรู้ ข้อนี้สำคัญ ชาวนาไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้ให้ครอบคลุมในศาสตร์ทุกแขนง นี่พูดจริงไม่ได้พูดเล่น อย่างศาสตร์แรก แม้ชาวนาจะรู้ไม่หมดแต่ต้องเข้าใจเกร็ดส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บ้าง อย่างเรื่องพันธุ์ข้าว มีความเป็นมาอย่างไร ย้อนหลังไปเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ก่อนนั้นเราพบพันธุ์ข้าวอะไรบ้าง มีกี่สายพันธุ์ ปัจจุบันเหลืออยู่เท่าไหร่ แล้วขณะนี้อยู่ที่ไหน ทำอย่างไรจึงจะได้สายพันธุ์นั้นๆมาปลูก เมื่อปลูกแล้วการวางแผนเพื่อปรับปรุงขยายพันธุ์อย่างไร เรื่องพันธุ์ข้าว ชาวนาต้องรู้และต้องมีความชำนาญโดยเฉพาะ จากเรื่องประวัติศาสตร์ก็ยังมีศาสตร์อื่นๆอีกที่ชาวนาเรียนรู้ เช่น ต้องรู้ฐานของคณิตศาสตร์เบื้องต้น เล็กๆน้อยๆ บ้างว่าฐานของการคำนวณตัวเลขนั้นอยู่ตรงไหน เช่น นาจำนวน 1 ไร่ มีกี่ตารางเมตร กี่ตารางวา สมควรหว่านหรือดำเมล็ดข้าวเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับความเจริญเติบโตของต้นข้าว เริ่มตั้งแต่เมล็ดข้าวงอกจนถึงออกรวง อย่าเอาความเชื่อที่ว่าหว่านเมล็ดข้าวให้ได้ต้นข้าวเยอะๆแล้วจะได้เมล็ดข้าวเยอะตาม รวมถึงตัวเลขของต้นทุน ค่าพันธุ์ข้าว ค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าหว่าน ค่าไถ ค่าขนส่ง ค่าโทรศัพท์ ตัวเลขเหล่านี้มันจะมากหรือน้อยกว่าสัดส่วนของตัวเลขที่จะได้คืนมา ยังมีศาสตร์ที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์อีกที่ชาวนาต้องรู้ต้องเข้าใจให้ยาวๆและลึกๆในเรื่องการขึ้นหรือลงของราคาข้าว แล้ววิเคราะห์ถึงสาเหตุว่า มันมาจากเหตุอะไร รู้วิธีการผลิตข้าวที่ใช้ต้นทุนต่ำ รู้หลักว่าต้องเอาคุณภาพของข้าวมาเป็นเครื่องมือต่อรอง เลิกใช้คำพูดที่เคยชินว่า จะให้เท่าไหร่ อยากได้ยินทางโรงสีถามชาวนาบ้างว่า จะขายเท่าไหร่ พยายามหาความรู้เพิ่มเติมแล้วจะเข้าใจเอง อย่าใช้ความเชื่อที่ว่า ทำนามาตั้งแต่เล็กจนโตแล้วจะไปเรียนรู้เรื่องการทำนาทำไมอีก ขอยกตัวอย่างสั้นๆของศาสตร์ที่ชาวนาควรจะรู้ หากยกมามากก็จะยาวไป เพราะยังมีอีกมาก เช่น ภูมิศาสตร์ว่าด้วยปฐพีวิทยา วิทยาศาสตร์ว่าด้วยชีววิทยา มนุษยศาสตร์ว่าด้วยการทำงานเป็นหมู่คณะ แล้วยังมีสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และไสยศาสตร์ ข้อสุดท้ายนี้ชาวนาไม่รู้ไม่ได้ คิดดู... ชาวนาในฝันของผมจะมีความละเอียด มีความรอบคอบ และมีความรอบรู้มากขนาดไหน ที่นี่หันมามองชาวนาในยุคปัจจุบันบ้าง หวังพึ่งได้บ้างหรือไม่ ความท้อใจทำให้สุขภาพถดถอย ชาวสวน ชาวนาอย่างผม (ฟังดูเหมือนมันยิ่งใหญ่) ไม่มีการท้อใจหรือท้อถอยอยากกินข้าวที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อนก็ต้องปลูกเอง ทำเอง (หาเรื่องยุ่งยากใส่ตัวแท้ๆ) แต่กว่าจะเริ่มปลูกผักปลูกข้าวได้ก็ใช้เวลากว่า 3 ปี เพราะความไม่รู้นี่แหละ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และตรงไหน เคยทดลองหว่านเมล็ดพันธุ์ผักลงไป ก็ไม่รู้ว่าตัวอะไรมากิน...ซะเหลือแต่ตอ ทั้งๆที่ผักยังไม่ทันโตเลย ทำเอาทั้งเซ็งทั้งท้อ มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เคยคิดเหมือนกันว่าจะเอายาฆ่าแมลงมาฉีดพ่นอย่างเขาบ้าง ก็กลัวว่าจะเสียเหลี่ยมอดีตลูกกำนันเหม็ด (ออกเสียงเหม็ด ที่แปลว่า หมด เป็นภาษาโส้ง – ไททรงดำ) ทั้งๆที่ยาก็เตรียมไว้แล้ว นั่งๆนอนๆ สายตาก็สอดส่ายไปมา ก็เลยคิดได้ว่า โง่ย่อมมาก่อนฉลาด ตาสว่างเลยใน สัจธรรมข้อนี้ นึกได้ว่าตนเองก็อ่านหนังสือออก ... ทำให้รู้ว่าสมุนไพรที่ว่าแน่ๆ พอลองแล้วบางชนิดมันไม่สมราคาคุย แต่ก็ดีใจที่ได้ทดลอง ที่นี้แหละตำราดีมีที่ไหนก็ขนเอามาอ่านจนสูงกองท่วมหัว (กองบนหลังตู้) ผลจากการทดลองเกือบผิดบ้างและก็เกือบถูกบ้าง ทำให้ขณะนี้ผักในแปลงทดลองของผม ทั้งผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักบุ้งจีน อีกทั้งข้าวที่ปลูกคู่กับแปลงผัก มันงามแต้งามว่า งามหลายๆ งามอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และงามอย่างบ่บันยะบันยัง มันงามได้หลาย ก็เพราะปุ๋ยและน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงที่ทำเองนี่แหละ มีชาวบ้านหลายคน รวมทั้งคุณลุงที่อยู่ปากซอยหน้าบ้านเดินมาดูแล้วพูดว่า “ข้าวอะไรมาปลูกในแปลงผัก แถมปลูกแค่นี้จะรวยได้อย่างไร ... เอ็งนี่บ้าแน่ๆ” ผมบอกว่า “ปลูกก็เพื่อทดลองปุ๋ยทำเอง” “เออ... เอ็งนี่บ้าหนักเข้าไปใหญ่ ปุ๋ยที่ตลาดเขามีขายเยอะแยะ ไปซื้อมาใส่จะเอาเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ต้องมาทำให้เสียเวลา” คุณลุงผู้หวังดีแนะนำด้วยความสมเพสที่เห็นผมนั่งถอนหญ้าใกล้แปลงข้าว ตากแดดจนตัวดำปี๋ ก็เป็นความหวังดีของคุณลุงท่าน ซึ่งผมก็น้อมรับอานิสงค์นั้นไว้ด้วยใจ บันทึกบทความ เค้าหาว่าผมบ้า นิพนธ์ คล้ายพุก นักเรียนชาวนาบ้านดอน
คำสำคัญ (Tags): #(-#ข้าวขวัญ#-)
หมายเลขบันทึก: 34202เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2006 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

รู้สึกชื่นชมมากครับ สำหรับแนวคิดโรงเรียนชาวนา ของมูลนิธิข้าวขวัญ

ผมก็เป็นลูกชาวนาคนหนึ่งที่ผันตัวเองมาเป็นมนุษย์เงินเดือนเพราะความต้องการเงิน ตอนนี้เมื่อกลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้านก็จะได้เห็นสภาพการทำนาด้วยปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงเหมือนกัน ปี ๆ หนื่งได้แทบไม่คุ้มทุน เคยมีความคิดที่จะเอาความรู้ต่าง ๆ ด้านวิชาการการลดต้นทุนการผลิต เช่นการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้สมุนไพรกำจัดและป้องกันแมลงไปให้ที่บ้านใช้ แต่ด้วยเราไม่มีประสพการณ์ด้านการเกษตรโดยตรงทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ จึงมีแนวคิดที่จะลงมือทำเองโดยรับประกันผลกำไรโดยจ่ายล่วงหน้าแบบเหมาจ่ายเลย ส่วนจะได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ในหน้าฤดูนั้น ๆ แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำตามที่เรากำหนด

เมื่อได้รับทราบเรื่อง ร.ร. ชาวนา โดยมูลนิธิข้าวขวัญก็มีความสนใจและทำให้เกิดความหวังว่าต่อไปชาวนาน่าจะได้ลืมตาอ้าปากบ้าง

ขอเป็นกำลังใจให้กับทางมูลนิธิฯ ด้วยครับ และจะขอเข้าชมและขอถ่ายทอดความรู้จากทางมูลนิธิฯ ตามโอกาสในภายหน้าครับ

ขอให้เป็นหลักนำชัยให้กับชาวนาตลอดไปครับ

 ครอบครัว เมฆวัฒน์ เมืองกาญจน์

ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจที่มีให้ค่ะ เป็นสิ่งที่มีค่า และเติมพลังให้พวกเรา ต่อสู้กับอุปสรรคร่วมกับชาวนาต่อไป และยินดีต้อนรับครอบครัวเมฆวัฒน์ และทุกๆครอบครัวที่สนใจเรื่องราวเกษตรกรรมยั่งยืนค่ะ

อยากสอบถามว่าแนวทางของ ฟูกูโอกะ

สามารถทำได้จริงหรือไม่ครับ ในประเทศไทย

พอมีตัวอย่างที่ใกล้เคียงบ้างหรือไม่

และทางข้าวขวัญมีความเห็นต่อแนวคิดนี้อย่างไรบ้างครับ 

ผมสมัครเป็นแนวร่วมด้วยคนครับ มาทางเดียวกันเลย วันนี้มีความสุขกับการทำนาเพื่อพิสูจน์ให้คนที่กำลังจะทิ้งนาเห็นว่า ทำนาให้มีความสุขได้
ขอบ้าด้วยคนครับพี่เดชา

บ้านำแน...ปีหน้าจะเข้าอบรมคงจะมีเพื่อนบ้านด้วยแน่นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท