เรียนรู้จาก พรบ. การศึกษาแห่งชาติ : ๑. นิยามของคำว่า “การศึกษา”


ผมชอบข้อความในนิยามว่า “การจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัย เกื้อหนุน ให้บุคคลเรียนรู้ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต” ซึ่งมีนัยยะไปในทางส่งเสริมให้คนทั่วไป เรียนรู้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง วงการนักการศึกษาน่าจะมีส่วนบอกสังคม ว่าการจัดสภาพแวดล้อมและปัจจัยเกื้อหนุนแบบใด ที่จะช่วยทำให้การเรียนรู้ในการงานและวิถีชีวิตเกิดขึ้นอย่างดี


          ในบันทึกชุดนี้ ผมขอเรียนรู้โดยการตีความ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไข พ.ศ. ๒๕๔๕ เอามา ลปรร.   โดยไม่ยึดติดกับถ้อยคำ   เพื่อหาทางทำความเข้าใจการศึกษาในแง่มุมที่แตกต่างจากที่เข้าใจกันโดยทั่วไป   ด้วยความหวังว่า จะช่วยกันหาลู่ทางพัฒนาการศึกษา/การเรียนรู้ ของสังคมไทย ในมิติที่ก้าวหน้า กว้างขวาง และเชื่อมโยงกว่าเดิม   โดยอาจจะมีบางตอนวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา   แต่ก็ไม่ได้จงใจจะตำหนิติเตียนใคร   รวมทั้งไม่ยืนยันว่าข้อคิดเห็นของผมจะถูกต้อง

          พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไข พ.ศ. ๒๕๔๕  มาตรา ๔ นิยามคำว่า การศึกษาไว้ดังนี้   “การศึกษา" หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้ เพื่อความเจริญงอกงาม ของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลง ความก้าวหน้า ทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้ อันเกิดจาก การจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัย เกื้อหนุน ให้บุคคลเรียนรู้ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”

          สิ่งที่ผมไม่เห็น จับความไม่ได้จากข้อความข้างบน คือการเรียนรู้จากการทำงานในชีวิตประจำวัน และในการดำรงชีวิตประจำวัน   ที่ตัวบุคคลแต่ละคนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ รวมตัวกันปฏิบัติเป็นกลุ่ม   โดยใช้งานหรือการดำรงชีวิตนั้นเองเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้   จนเกิดเป็นวิถีชีวิตของการเรียนรู้ หรือวัฒนธรรมการเรียนรู้   ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมเรียนรู้    เครื่องมือที่ผมเอ่ยถึงนี้ เรียกว่า การจัดการความรู้ (KM – Knowledge Management) 

          นิยามใน พรบ. ระบุคำว่า การถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม เป็น ๓ คำหลักที่เอ่ยถึงก่อน   ในขณะที่ผมกลับมองต่าง   ผมกลับมองว่า การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่อยู่กับชีวิตคนส่วนใหญ่ ในการดำรงชีวิตส่วนใหญ่ของตน  

          ซึ่งหมายความว่า ในเรื่องการศึกษานั้น ผมมองว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”   คือต้องเอาตัวบุคคลนั้นเองเป็นหลัก ไม่ใช่เอาตัวผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นหลัก   ไม่ใช่เอาตัวผู้ฝึก ผู้อบรม เป็นหลัก 

          พูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้ฝึก ผู้อบรม ไม่สำคัญ   ท่านเหล่านี้สำคัญมาก   ถ้าทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน ก็จะมีคุณูปการมหาศาลต่อผู้เรียน   แต่ในที่สุดแล้ว ผู้เรียนต้องเป็นผู้กำหนดการเรียนรู้ของตนเอง    ต้องเป็นตัวของตัวเองในการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

          ผมจึงรู้สึกว่า พรบ. นี้ ให้น้ำหนักแก่บุคลากรทางการศึกษามากกว่า ให้น้ำหนักแก่ประชาชนทั่วๆไป ที่เป็นผู้เรียนรู้    และผมคิดว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความล้มเหลวของระบบการศึกษาในปัจจุบัน

          ผมชอบข้อความในนิยามว่า “การจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัย เกื้อหนุน ให้บุคคลเรียนรู้ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต” ซึ่งมีนัยยะไปในทางส่งเสริมให้คนทั่วไป เรียนรู้   ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง   วงการนักการศึกษาน่าจะมีส่วนบอกสังคม ว่าการจัดสภาพแวดล้อมและปัจจัยเกื้อหนุนแบบใด ที่จะช่วยทำให้การเรียนรู้ในการงานและวิถีชีวิตเกิดขึ้นอย่างดี 

          โปรดสังเกตนะครับ ว่าผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่นิยามใน พรบ. ระบุให้การจัดสภาพแวดล้อมและปัจจัยเกื้อหนุน เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้วย  

          แต่ผมมองว่าต้องเน้นให้คนอื่นเป็นผู้จัด นักการศึกษาเป็นผู้ไปประเมินและบอกสังคม ว่าจัดแบบไหนดีกว่า ในแต่ละสถานการณ์      

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ก.พ. ๕๓

คำสำคัญ (Tags): #530305#การศึกษา#พรบ.
หมายเลขบันทึก: 342008เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2010 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันนี้ไปร่วมงาน "สมัชชาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ด้วยความคาดหวังว่าจะได้ฟังความเห็นใหม่ๆที่แตกต่างจากผู้คนวงการต่างๆในสังคมไทย  แต่ก็พบ "ความผิดหวัง" จึงเข้ามาที่ blog อ.วิจารณ์ เพื่อนำความคิดเห็นมาแลกเปลี่ยนกัน

พบข้อความที่ อ.วิจารณ์เขียนว่า  "เพื่อหาทางทำความเข้าใจการศึกษาในแง่มุมที่แตกต่างจากที่เข้าใจกันโดยทั่วไป   ด้วยความหวังว่า จะช่วยกันหาลู่ทางพัฒนาการศึกษา/การเรียนรู้ ของสังคมไทย ในมิติที่ก้าวหน้า กว้างขวาง และเชื่อมโยงกว่าเดิม" ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากเห็นในงานครั้งนี้  แต่....

ภาพแรกที่เห็นในงานคือ "รูปแบบ" การจัดนิทรรศการเน้น "การดึงดูด จูงใจให้คนเข้าไปสนใจ" แทนที่จะจัดงานอย่างเรียบง่ายเน้นสาระสำคัญ แต่กลับไปเน้นความสวยงาม  เป็นการออกแรงลงทุนเกินความจำเป็น สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนรู้ของสังคมไทยเป็นแบบ "passive"

กิจกรรมของงาน และการบรรยายต่างๆเป็นรูปแบบที่หน่วยงาน 5 แท่งของกระทรวงศึกษาธิการนำเสนอให้ผู้เข้าร่วมงานรับรู้ว่าทำดีอย่างไรแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สามารถค้นหาได้ใน internet และข่าวสารทั่วไป   แทนที่จะเน้น"การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารจัดการศึกษา" โดยใช้งานนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยน และระดมความคิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

พิธีเปิดก็ใช้เวลากับ "พิธีกรรม" มากจนเกินไป  ไม่แน่ใจว่า "พิธีกรรม" มีความหมายต่อการปลุกเร้าใจเพื่อ "สร้างการเรียนรู้" หรือไม่  อยากฟังความเห็นจากผู้อื่นด้วย

พัชริน

 

โชคดีที่ไม่ได้ไปครับ หลายครั้งไปงานเช่นนี้ เน้นที่ พิธีกรรม มากกว่า กระบวนการ ที่ กระตุ้น ต่อม ให้เกิดปัญญา ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท