การอบรม "การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน" (ต่อ)


            เมื่ออบรมเกี่ยวกับ การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการจบแล้ว  ในช่วงบ่ายจะเป็นการถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรฯ และ การตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต      ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงนี้เองค่ะ

 

            เริ่มต้นด้วยการ เหลียวหลัง ถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา  ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม  คือ

 

            1.กลุ่มคุณอำนวยของบ้านป่าตัน  ประกอบด้วย  ประธาน  รองประธาน  เลขานุการ  เหรัญญิก    ผู้ประสานงาน

 

            2.กลุ่มคุณกิจของบ้านป่าตัน  ประกอบด้วย  คณะกรรมการของกองทุนต่างๆ

 

            3.กลุ่มเกาะคา

 

            เมื่อแบ่งกลุ่มได้แล้ว  เวลาทำกิจกรรมก็แยกย้ายไปนั่งทำได้ตามสบาย  ไม่ต้องนั่งที่เดิมก็ได้ค่ะ  แต่ห้ามหนีกลับไปนอนที่บ้านนะคะ  ในช่วง เหลียวหลังมีโจทย์ที่แต่ละกลุ่มต้องไประดมความคิด  คือ

 

            1.สิ่งที่สำเร็จมีอะไรบ้าง  และ  เงื่อนไข/ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จมีอะไรบ้าง

            2.สิ่งที่ล้มเหลว/สิ่งที่ไม่สำเร็จมีอะไรบ้าง  และ  มีอุปสรรค/ปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความล้มเหลว/ไม่สำเร็จ

 

            โดยให้เวลาในการระดมสมองประมาณ 45 นาที  จากนั้นให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมานำเสนอ  การที่ต้องแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมนี้ก็เพื่อเป็นการสะท้อนว่าทีมคุณกิจและคุณอำนวยมีมุมมองที่เหมือนกัน/ต่างกันอย่างไร  รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น/ความรู้สึกซึ่งกันและกัน  การที่เราไม่มีกิจกรรม/ไม่ได้เปิดใจแบบนี้  เราจะไม่ทราบว่าคนในองค์กรของเรามีความคิดเห็น/มีความรู้สึกอย่างไร

             ก่อนที่จะถึงเวลานำเสนอกลุ่มเกาะคาได้ขออนุญาตกลับก่อน  เพราะติดธุระ  แต่ก็ได้ทำกิจกรรมและฝากข้อมูลไว้  เมื่อกลุ่มเกาะคากลับไปได้สักครู่หนึ่งแล้ว  ก็ได้เวลา 13.45 . ตามที่นัดหมายไว้  กลุ่มของคุณอำนวยและคุณกิจได้นำกระดาษบรู๊ฟ  ซึ่งบรรจุเนื้อหาที่ได้ระดมสมองมาติดไว้ที่กระดานด้านหน้า  และได้ส่งตัวแทนออกมานำเสนอ  มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ 

กลุ่มคุณอำนวย (กลุ่มป่าตัน)

 

.นพนัย  เป็นตัวแทนของกลุ่มคุณอำนวยบ้านป่าตันออกมาเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวของกลุ่ม  สรุปได้ดังนี้

 

ความสำเร็จ

            1.มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น

 

            2.มีสำนักงาน

 

            3.เป็นตำบลต้นแบบของจังหวัดลำปางในเรื่องสวัสดิการชุมชน

             4.มีวิสาหกิจชุมชน เรื่องการทำน้ำส้มเกล็ดหิมะ           

            ปัจจัย/เงื่อนไขของความสำเร็จ

 

            1.มีสวัสดิการในเรื่องเกิด  ป่วย  ตาย

 

            2.ช่วยเหลืองานสาธารณะประโยชน์ของชุมชน

 

            3.มีโครงสร้างคณะกรรมการขององค์กรชัดเจน

 

            4.มีการบริหารจัดการกองทุนเป็นระบบชัดเจน

 

            5.มีวัสดุอุปกรณ์สำนักงานที่พร้อม

             6.คณะกรรมการมีความสามัคคีในการทำงาน 

ความล้มเหลว/สิ่งที่ยังไม่สำเร็จ

            1.ไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในการประชุม

             2.การปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิก 

ปัจจัย/เงื่อนไขที่ทำให้ล้มเหลว/ไม่สำเร็จ

 

1.เวลาในการประชุม

 

2.การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง

 

3.เศรษฐกิจ

 

4.มีกองทุนในหมู่บ้านมากมาย

 5.ไม่มีการวางแผนการบริหารการใช้เงิน 

กลุ่มคุณกิจ (กลุ่มป่าตัน)

 

            ตัวแทนคุณกิจ คือ  คุณบุญหลาย  สุนทรพัฒน์  เริ่มต้นการนำเสนอโดยกล่าวว่า  ไม่เคยคิดเลยว่ากลุ่มของเราจะก้าวมาได้ถึงขนาดนี้  ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราทำงานแบบลองผิดลองถูก  ดำน้ำก็มี  การที่เราประสบความสำเร็จก็เพราะว่าเรามีประธานและทีมงานที่ดี  เมื่อก่อนผมก็เป็นคณะกรรมการ  แต่ไม่ได้รับหน้าที่อะไร  ปัจจุบันผมรับหน้าที่เป็นกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษา   สรุปความสำเร็จและความล้มเหลวของกลุ่มได้ดังนี้

 

ความสำเร็จ

            1.มีการก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้เข้าร่วมกับองค์กรอื่น

            2.มีการซื้อสถานที่เป็นของตัวเอง

 

            3.สมาชิกมีความไว้วางใจในองค์กรมากขึ้น

             4.มีการขยายองค์กรอย่างต่อเนื่อง            

            ปัจจัย/เงื่อนไขของความสำเร็จ

 

            1.เกิดจากการรวมตัวของศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านป่าตัน  รุ่น 2519

 

            2.อยากให้องค์กรมีความมั่นคงมากขึ้น  และเป็นที่ยอมรับของสมาชิกทุกคน

 

            3.คณะกรรมการทุกคนมีการดูแลและเอาใจใส่สมาชิกทุกคนและทำงานกันอย่างมีระบบ  มีแบบแผน  มีความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ

             4.มีคนรู้จักองค์กรกันอย่างแพร่หลาย 

            ความล้มเหลว/สิ่งที่ยังไม่สำเร็จ

 

            1.สมาชิกที่กู้ยืมเงินแล้วบางคนไม่มาจ่าย

             2.เมื่อจะมีการขยายองค์กรก็จะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกหมู่บ้านอื่น  เพราะ  คิดว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ 

            ปัจจัย/เงื่อนไขที่ทำให้ล้มเหลว/ไม่สำเร็จ

 

            1.ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

            2.อาคารและสถานที่คับแคบ

             โดยสรุป  คือ  ความสำเร็จและความล้มเหลวอาจเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ 

กลุ่มเกาะคา

           

            ความสำเร็จ

 

            1.มีการรวบรวมสมาชิก 50 คนขึ้นไปเพื่อจัดตั้งกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนเกาะคา

             2.มีการจัดสวัสดิการให้แก่ชุมชน  ได้แก่  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย 

            ปัจจัย/เงื่อนไขของความสำเร็จ

             มีกรรมการที่น่าเชื่อถือของหมู่บ้าน 

            ความล้มเหลว/สิ่งที่ยังไม่สำเร็จ

             ยังไม่พร้อมที่จะขยายสมาชิกไปยังหมู่บ้านอื่นๆให้มากขึ้น 

            ปัจจัย/เงื่อนไขที่ทำให้ล้มเหลว/ไม่สำเร็จ

             โปรแกรมยังไม่พร้อม 

            เมื่อแต่ละกลุ่มนำเสนอเสร็จแล้ว  ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ได้ช่วยกันสรุปโดยใช้ Mind Map  (แต่ก็ยังทำได้ไม่ดี  ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ก็เลยบอกว่าถ้าอยากเห็นภาพ/แผนภูมิสวยๆให้ไปดูได้ในวันที่ 19  เพราะ  ในวันนั้นวิทยากรทั้ง 2 ท่านมีฝีมืออยู่ในระดับปรมาจารย์)   โดยสรุปก็คือ  ทั้งคุณอำนวยและคุณกิจของกลุ่มบ้านป่าตันจะมีความคิดเห็นคล้ายๆกัน  ได้แก่  มองว่า ความสำเร็จ  คือ 

 

1.การที่มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น  ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่กลุ่มมีการให้สวัสดิการจริงๆ  รวมทั้งกลุ่มยังได้ช่วยงานสาธารณะประโยชน์ต่างๆของชุมชน  ส่งผลให้กลุ่มมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น

 

            2.การมีสำนักงาน/ที่ทำการ  แม้ว่าที่ทำการในปัจจุบันยังเป็นที่ทำการชั่วคราวก็ตาม  ในความเห็นของผู้วิจัยคิดว่าสำนักงานแห่งนี้ดีกว่าสำนักงานของอีกหลายๆกลุ่ม  เพราะ  กว้างขวาง  มีที่หลบแดดหลบฝน  จัดสถานที่เป็นสัดส่วน  มีสถานที่ปกปิดมิดชิดสำหรับวางคอมพิวเตอร์  ส่วนที่ดินที่ทางกลุ่มได้ซื้อเอาไว้แล้ว  แต่ยังไม่มีการปลูกสร้างสำนักงาน  ก็ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี  ตอนที่ผู้วิจัยไปพื้นที่ ต.ในคลองบางปลากด  ตอนนี้ที่หมู่ 5 ก็มีการปลูกสร้างที่ทำการแล้วเพื่อทำเป็นที่ทำการกองทุนหมู่บ้านถาวร  ในส่วนของกลุ่มป่าตันก็คงต้องคิดกันต่อไปว่าจะไปหาทุนมาจากไหนในการก่อสร้างอาคารสำนักงาน  เพื่อที่ว่าต่อไปจะได้ใช้ในกิจการของกลุ่ม  รวมทั้งใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ของชุมชน   เราต้องอย่าลืมว่าเราคุยกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่ากองทุนของเราเป็นกองทุนของชุมชน  ไม่ใช่กองทุนของใคร/กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  ดังนั้น เราอย่าพยายามทำให้ชาวบ้านมองว่ากลุ่มเราเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง  หรือเป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  เพราะ  ถ้าเราทำให้ชาวบ้านรู้สึกอย่างนั้น  อาจมีการต่อต้านเกิดขึ้นได้  อย่างในกรณีของในเขตเมือง  ปัญหาอย่างหนึ่ง  คือ  การขยายสมาชิก  ซึ่งจากการลงเก็บข้อมูล  คิดว่าน่าจะมาจากการที่กลุ่มถูกจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  เช่น  กลุ่มเกษตร  กลุ่มแม่บ้าน  เป็นต้น  ดังนั้น  สมาชิกในกลุ่มอื่นๆจึงรู้สึกว่าไม่ใช่กลุ่มของตนเอง  มีการต่อต้านเกิดขึ้น  ยิ่งถ้าผู้นำไม่ได้รับการยอมรับ  ปัญหาก็จะยิ่งมีมากขึ้น

3.เป็นต้นแบบ/ตัวอย่างให้กลุ่มอื่นๆ ในส่วนนี้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ คือ  การร่วมแรง  ร่วมใจกันของคณะกรรมการ  มีการทำงานอย่างเป็นระบบ  การที่เราไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายฯ  หากเราไม่ไปเข้าร่วมประชุมจะทำให้เราเป็นคนตกข่าว  ไม่ได้รับทราบความเคลื่อนไหวว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว  ในการไปประชุมเครือข่ายฯ  นอกจากเราจะได้รับทราบอะไรใหม่ๆแล้ว  ในการประชุมยังสะท้อนให้เห็นปัญหา/อุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้น  ซึ่งทางเครือข่ายฯก็ได้พยายามที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไขแล้ว  สิ่งนี้ก็จะช่วยให้เรานำสิ่งต่างๆมาปรับปรุงการทำงานของเราให้เป็นระบบมากขึ้นด้วย  ส่วนเรื่องของการบริหารจัดการเครือข่ายฯที่เราก็ทราบกันว่าประธานออกไปข้างนอกมาก  ความจริงเรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ข้อเสียก็คือ  ประธานก็ก้าวไปข้างหน้าลิ่วๆ   ส่วนขบวนที่ตามหลังก็ตามไม่ทัน   ส่วนข้อดี  คือ  การออกไปข้างนอกจะทำให้เขาเห็นว่าที่อื่นเป็นอย่างไร  ซึ่งสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้กับของเราได้ 

4.เกิดวิสาหกิจชุมชน  สิ่งที่กลุ่มน่าจะคิดต่อไปก็คือ  เราจะทำอย่างไรให้กิจการน้ำส้มของเราขยายต่อไป  ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างงาน  สร้างรายได้ให้กับคณะกรรรมการและสมาชิก  ต่อไปเราควรจะต้องมี อย.  รวมทั้งการเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นในแง่ของการตลาด

 

สำหรับ ความล้มเหลว  ได้แก่

 

1.การไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเท่าที่ควร  โดยเฉพาะในการเชิญประชุม  ความจริงเรื่องนี้ผู้วิจัยก็คิดเหมือนกัน  เคยเอาไปเขียนบันทึกลงใน Blog ด้วย  ผู้วิจัยสังเกตเห็นว่าที่เถิน  ที่แม่พริก  เวลาเรียกประชุม  สมาชิกจะมากันเยอะมาก  แต่ที่นี่เคยได้รับทราบข้อมูลจากคุณอุทัยว่าสมาชิกมากันน้อยมาก   เราคงต้องมานั่งคิดว่าเป็นเพราะอะไร  ปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากเรื่องของเวลาในการนัดประชุมหรือเปล่า?  คุณอุทัย  เคยบอกว่า  หากจะนัดประชุมที่นี่ต้องนัดเวลาเย็น  ผู้วิจัยก็เคยเอาไปถามที่เถิน  ที่เถินกลับบอกว่า  จากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา  นัดเวลาเช้าดีที่สุด  ผู้วิจัยก็เลยถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะคะ?  ผู้วิจัยได้รับคำตอบว่า  ที่ต้องนัดเช้า  แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรก็ตาม  ก็เพราะว่า  ถ้านัดบ่าย  อากาศจะร้อนมาก  คนไม่มีจิตใจ/สมาธิในการที่จะมานั่งฟัง  แต่ถ้านัดค่ำ  ชาวบ้านก็อยากจะพักผ่อน  อยากจะทำกิจวัตรในครอบครัว  หรือกิจวัตรส่วนตัว  เขาก็จะไม่ค่อยสนใจเข้าร่วมประชุม  นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง  แต่สำหรับผู้วิจัยแล้วเห็นว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่ตัวที่จะบอกได้ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้เสมอไป  อย่างกรณีที่ผู้วิจัยเคยไปเห็นมาที่เทศบาลอุโมงค์  จังหวัดลำพูน  เขาจะประชุมกันกันช่วงค่ำ  เริ่มประชุมตั้งแต่ 1-5 ทุ่ม  ผู้วิจัยเคยถามว่าทำไมจะต้องประชุมดึกขนาดนั้น?  ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า  ช่วงเช้ากับช่วงบ่าย  ชาวบ้านเขาก็ต้องไปทำงาน  ผู้วิจัยก็ถามต่อว่า อ้าว! แล้วทำไมถึงไม่ประชุมตอนเช้าหรือบ่ายแต่เลือกประชุมวันเสาร์-อาทิตย์ล่ะ  ชาวบ้านไม่ต้องทำงาน?  ก็ได้รับคำตอบว่า  ถ้าจัดประชุมวันเสาร์-อาทิตย์  ชาวบ้านก็อยากที่จะพักผ่อน  ใครจะมีจิตใจมาประชุม  แต่ที่อุโมงค์  เทศบาลจะเลือกประชุมในช่วงเย็นของวันธรรมดาและต้องเป็นช่วงต้นเดือนด้วย  ที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เพื่อที่จะสะท้อนว่า  ในแต่ละที่จะมีเงื่อนไข  ความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน  มีลักษณะและปัจจัยต่างๆที่ไม่เหมือนกัน  ถ้าเราคิดว่าเงื่อนไขเรื่องเวลาเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการประชุม  กลุ่มก็อาจต้องทดลองเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเวลาประชุมใหม่  เพื่อที่จะดูว่าสถานการณ์จะดีขึ้นไหม

 

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่กลุ่มคิดว่าน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิก  คือ  การประชาสัมพันธ์ที่ยังอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร  เรื่องนี้เราต้องพิจารณาว่าเป็นเพราะเราประชาสัมพันธ์ไม่ดี  หรือเราประชาสัมพันธ์ดีแต่อาจเป็นเพราะรูปแบบ  วิธีการนั้นไม่เหมาะสม  ไม่หลากหลาย  กลุ่มคงต้องคิดต่อไปว่าจะหาวิธีการประชาสัมพันธ์อย่างไรมาเชิญชวนให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วม  เช่น  อาจต้องเพิ่มวิธีการประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อที่หลากหลายยิ่งขึ้น  หรือถ้าจะใช้วิธีการเขียนประกาศ  ก็ต้องออกแบบเนื้อหาให้จูงใจ  อย่างแรกที่สุด  คือ  จูงใจให้คนอ่านก่อน  เพราะ  ถ้าเราจูงใจให้คนอ่านไม่ได้  แน่นอนว่าคนเหล่านั้นย่อมไม่รู้ว่าเราต้องการสื่อสารอะไร  อย่างที่กลุ่มบ้านเหล่า (เถิน) กลุ่มนี้จะขยันพิมพ์กันมาก  ในวันออมของแต่ละเดือน  ทางกลุ่มจะพิมพ์ข้อความตัวใหญ่ๆว่าในเดือนต่อไปสมาชิกจะต้องมาออมเงินวันไหน  เรามาลองดูกันไหมคะ  ต่อไปกลุ่มป่าตันอาจต้องพิมพ์หรือเขียนบอกสมาชิกว่าในเดือนต่อไปต้องมาออมวันไหน  สิ้นสุดการออมวันไหน  ลองทำไปเรื่อยๆแล้วค่อยประเมินผลดูว่าเป็นอย่างไร

 

2.การปล่อยกู้ที่อาจมีหนี้เสียหรือหนี้สูญเกิดขึ้น  ตรงนี้กลุ่มวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี  ในหมู่บ้านมีหลายกองทุน  ทำให้สมาชิกเวียนกู้เงินไปเรื่อยๆ  และสุดท้ายคือ  สมาชิกไม่มีวินัยในการออมและการใช้จ่ายเงิน  จากสิ่งที่กลุ่มวิเคราะห์ถ้าเรามองในแง่หนึ่งเราจะเห็นว่ากลุ่มมองแต่ปัจจัยภายนอก  ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้  เช่น  มองในเรื่องภาพรวมของเศรษฐกิจ  กลุ่มในหมู่บ้าน  ตัวสมาชิก  เป็นต้น  ประเด็น  คือ  เรามองแต่ปัจจัยภายนอก  มองแต่เงื่อนไขภายนอก  ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้  แต่เราไม่ได้มองตัวเรา  คือ  ไม่ได้มองว่าคณะกรรมการจะแก้ไขในเรื่องนี้อย่างไร?  ถ้าเราจะก้าวไปข้างหน้า  ผู้วิจัยเห็นว่า  เราควรมองตัวเราเองด้วย  อย่างถ้ามีลางบอกเหตุว่าอาจเกิดหนี้เสียหรือหนี้สูญ  คณะกรรมการจะต้องร่วมกันคิดแล้วว่าเราจะแก้ไขอย่างไร  เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น  เช่น  หาวิธีการให้ลูกหนี้คนนั้นชำระเงินได้  อาจต้องขยายเวลาให้  หรือลดดอกเบี้ยให้  เป็นต้น ถ้าเราไม่คิดว่าเราสามารถที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้  เรามีแต่จะเศร้าใจ  ห่อเหี่ยว  รอวันที่จะมีหนี้เสียและหนี้สูญจริงๆ  เพราะ  เรามัวแต่ไปมุ่งที่ปัจจัยภายนอกซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้  หากใครมีโอกาสไปร่วมเวทีในวันที่ 19 ผู้วิจัยก็อยากให้ไปร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นนี้กับกลุ่มเถิน  เพราะ  เท่าที่ทราบ  กลุ่มเถินไม่มีหนี้เสียและหนี้สูญเลย  ผู้วิจัยเคยถามกลุ่มนี้ว่าทำอย่างไร?  ได้รับคำตอบว่า  หากมีลางบอกเหตุจะต้องเรียกลูกหนี้คนนั้นมาคุยเลย  จะไม่มีการประจานให้คนอื่นทราบ  อย่างที่ ต.ในคลองบางปลากด  ที่พวกเราเคยไปดูงานกันมา  บางหมู่บ้านเขียนรายชื่อลูกหนี้ที่ขาดส่งบนกระดานดำเลย  มีรายชื่อเต็มไปหมด  ถ้าเราเป็นคนนั้นคงอายตายเลย        คุณอุทัยเสริมในเรื่องนี้ว่า  ผมเคยคิดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่กลัวว่าจะไปล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นมากเกินไป  ผู้วิจัย  บอกว่า  เรื่องนี้ก่อนที่เราจะใช้วิธีการไหน  เราต้องคิดถึงสภาพสังคมหรือปัจจัยแวดล้อมด้วย  เช่น  ในกรณีของ ต.ในคลองบางปลากด  ที่นั่นมีสภาพเป็นสังคมเมือง  คนมีความหลากหลาย  มีการเคลื่อนย้ายถิ่นสูง  มีคนที่ไม่ใช่คนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก  ต่างคนต่างอยู่  แต่เท่าที่ผู้วิจัยสังเกตดู  การที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านใช้วิธีการนั้นก็ดูประสบความสำเร็จนะคะ  เพราะ  เมื่อผู้วิจัยได้ไปที่พื้นที่นั้นอีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้  รายชื่อที่เคยเต็มไปหมด  ลดลงไปมาก  เหลือแค่ไม่กี่ชื่อเอง  แต่อย่างกรณีที่เถิน  เขาจะมีหลากหลายวิธีมาก  เช่น  หักกลบลบหนี้  อันนี้หมายความว่า  ทุกเดือนคนที่เป็นสมาชิกกองทุนหมุนเวียนจะต้องเอาเงินมาออมอยู่แล้ว  ถ้าใครกู้ไปแล้วไม่มีเงินส่ง คณะกรรมการจะดูเลยว่าคนนั้นมีเงินออมอยู่เท่าไหร่  ถ้ามีเงินออมอยู่เท่ากับหรือมากกว่าเงินที่กู้ไป  ก็จะทำการหักกลบลบหนี้เลย สมาชิกคนนั้นก็จะไม่เป็นหนี้  แม้ว่าจะไม่มีเงินออมในกองทุนหมุนเวียนก็ตาม   เป็นต้น

 

3.การขยายสมาชิก  แม้ว่ากลุ่มจะมองว่าการขยายสมาชิกเป็นความสำเร็จของกลุ่ม  แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นความล้มเหลวเช่นเดียวกัน  กล่าวคือ  การไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านของเราเองและของหมู่บ้านอื่นที่มองว่ากลุ่มของเราเป็นกองทุนเถื่อน  ผู้วิจัยก็เคยตั้งคำถามในประเด็นนี้เหมือนกันว่า  อ้าว! แล้วกลุ่มอื่นๆในหมู่บ้านแต่ละแห่งมีอยู่มากมาย  ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมาเองแทบทั้งนั้น  ทำไมถึงไม่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มเถื่อนบ้าง  กลุ่มเหล่านั้นก็ไม่มีสถานะทางกฎหมายเหมือนกัน  ในความคิดของผู้วิจัยเห็นว่า  อาจเป็นเพราะกลุ่มของเราเป็นกลุ่ม/องค์กรด้านการเงิน  ในขณะที่อีกหลายกลุ่มอาจไม่มีวัตถุประสงค์หรือแนวทางในด้านการเงิน  ก็เลยไม่ค่อยถูกต่อต้าน

 

หมายเลขบันทึก: 34184เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท