โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน


สิ่งที่สำคัญที่มุ่งหวังที่สุดคือ ความรู้ใหม่ที่เกิดจาการปฏิบัติงานจริง และความรู้นั้นที่นำไปสู่ปัญญาในการสร้างชุมชนและสังคมให้เกิดสันติสุขและมีความเข้มแข็งตลอดไป

                               

        วันที่ 29 พ.ค. 2549 ที่ผ่านมา นำทีมโดยน.พ. ชูชัย ศุภวงศ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน (คมส.) ได้เข้าพบดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด และทีมงานสคส. เพื่อหารือการนำ KM ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานโครงการ ฯ และ น.พ. ชูชัย ศุภวงศ์ ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดของโครงการฯ ว่า

        โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและสร้างกลไกเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างสุขภาพ (สุขภาวะ) และมุ่งเน้นไปที่ ชุมชนให้ร่วมเรียนรู้และสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนจากการปฏิบัติจริง โดย ใช้สถานการณ์ของพื้นที่เป็นตัวตั้งในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมประสานความร่วมมือเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายการพัฒนาที่หลากหลาย อันจะนำไปสู่การสรุปถอดบทเรียนและสังเคราะห์องค์ความรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้รูปแบบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม สามารถขยายผลในระยะต่อเนื่องได้           

       โครงการระยะที่1 ระยะเวลา 2  (มกราคม 2547 – เมษายน 2549) มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงขององค์กรภาคประชาสังคม ในการทำหน้าที่เป็นกลไกภาคประชาชน เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสริมสร้างให้เกิดอาสาสมัครชาวบ้าน เพื่อดูแลและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชุมชน ถือเป็นการทำงานเชิงรุก โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งคัดเลือก 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ที่มีประเด็นร้อน ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงรูปธรรมที่เน้นประเด็น ปัญหา กลุ่มเป้าหมาย และสนับสนุนโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ อาทิ เช่น ข้อมูลจาก สกว. ได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัด เครือข่ายมีลักษณะขับเคลื่อนคล้ายสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา และทีมงานได้ทำการถอดความรู้ของแต่ละพื้นที่ ออกมาเป็นชุดความรู้จากประสบการณ์รวม 10 จังหวัด (แม่ฮ่องสอน  ลำปาง  น่าน สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สกลนคร สุราษฎร์ธานี  พัทลุง ปัตตานี ) โครงการระยะที่ 1 เน้นการสร้างคุณค่าของคนในพื้นที่ มีศักดิ์ศรีของการนำเสนอ และสร้างความภาคภูมิใจ

       เอกสารวิชาการ ที่เกิดจากการสังเคราะห์ถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงานจริง โดยผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครพื้นที่ ผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในบริบทที่ต่างๆ ของพื้นที่ใน 10 จังหวัดนำร่อง มีดังนี้

แม่ฮ่องสอน : ชีวิตริมฝั่งน้ำสาละวิน โลกไร้รัฐที่รอคอยความเท่าเทียม กรณีศึกษา  การแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ  

ปัตตานี : เรื่องขยะ เราจะเปิดใจต่อกัน กรณีศึกษาการจัดการปัญหาขยะ บ้านควนโนรี ต. ควนโนรี  อ. โคกโพธิ์

อุบลราชธานี : พลังเยาวชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม กรณีศึกษา ปกป้อง คุ้มครองสิทธิเด็กที่บ้านดอนยูง ต. ขามใหญ่ อ. เมือง

น่าน : พลังแห่งความเข้าใจ ผลักดันชีวิตใหม่ของคนไร้รัฐ กรณีศึกษา สิทธิความเป็นคนไทย ...ไม่ได้ไกลเกินความจริง บริบทและพัฒนาการปัญหาคนไร้สัญชาติ กลไก กระบวนการประชาสังคม การสร้าง ความร่วมมือ และรูปธรรมความสำเร็จในพื้นที่ จ. น่าน

สกลนคร : ส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสิทธิการอยู่อาศัย กรณีศึกษา ปัญหาการถือครองที่ดินรอบหนองหาร พื้นที่ ต. หนองหาร        

พัทลุง : สิทธิชุมชน เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรให้ยั่งยืน กรณีศึกษาการเสริมสร้างทีมอาสาสมัคร ภาคประชาสังคม เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นที่บ้านคู ต. คลองเฉลิม อ. กงหรา

สุราษฎ์ธานี : ส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา โครงการจัดการเรียนรู้ ในกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองยัน อ. คีรีรัฐนิคม

 ลำปาง : ศูนย์เรียนรู้ และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน กรณีศึกษา ศูนย์พิทักษ์สิทธิมนุษยชน อ. แม่เมาะ    

ศรีสะเกษ : ผนึกพลังราษฎร์ รัฐ เพื่อผืนดินที่อยู่อาศัย กรณีศึกษา ประกาศที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ทับที่อยู่อาศัยชุมชน บ้านป่าพัฒนา ต. หนองหญ้าลาด อ. กันทรลักษณ์

สุรินทร์  : การปกป้องสายน้ำด้วยพลังชุมชน กรณีศึกษา ท่าทราย ลำน้ำมูล การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ต. ท่าตูม อ. ท่าตูม        

         ในขณะนี้โครงการอยู่ในระยะที่ 2 โครงการระยะที่ 2  โดยมีการกำหนดกิจกรรมหลัก 5 ด้าน
  1. การเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้
  2. การพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายและอาสาสมัคร
  3. การนำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้สู่สาธารณะ
  4. การจัดการความรู้
  5. การบริหารจัดการ

          ซึ่ง KM เป็นกิจกรรมหลักหนึ่งที่ทาง คมส. ให้ความสำคัญ  ดังนั้นทาง คมส. ต้องการนำ KM ใช้เป็นเครื่องมือ โดยต้องการเทคนิค ทักษะ การสกัดความรู้ สรุปบทเรียน  ซึ่งขั้นตอนวิธีการทำงานของโครงการ ฯ คือทำการศึกษาเอกสารที่มีอยู่ได้แก่ ข้อมูลจาก สกว.  และนำเรื่องเล่าจากชุมชนมาถอดความรู้ และประเมิน มีความคาดหวังว่าชาวบ้านในชุมชนจะเกิดความภาคภูมิใจ สร้างความตื่นตัวมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการร่วมมือทำงานให้แก่ชุมชนมากขึ้น  

         และการทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนำ เพลง, VDO, เทคโนโลยี, ตัวอย่างการทำดี (Best Practice), การสร้างสิ่งแวดล้อมรวมทั้งหมด           

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.hppthai.org/

หมายเลขบันทึก: 34173เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท