โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (13.2) ผสมพันธุ์ข้าว ตอนที่ 2


     นักเรียนชาวนาขอให้เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆให้ครบให้พร้อม แต่ละอย่างก็สามารถหาได้โดยทั่วไป มีอะไรบ้างเอ่ย... มีกรรไกร ปากคีบ กระดาษแก้ว คลิปหนีบกระดาษ แผ่นป้ายพลาสติก และดินสอดำ รวม ๖ อย่าง เตรียมกระดาษแก้ว คลิปหนีบกระดาษ และแผ่นป้ายพลาสติกไว้มากจำนวนหน่อย

ภาพที่ ๕๙ เครื่องมือสำหรับการผสมพันธุ์ข้าว

     นักเรียนชาวนาบอกกันว่า เตรียมมามากเข้าไว้ก่อน เผื่อเหลือเผื่อขาด เห็นหลายคนซื้อกรรไกรใหม่มาเลยทีเดียว จะเอาไปตัดอะไรบ้างก็ไม่รู้ซินะ กรรไกรใหม่ๆ ท่าทางจะคมไม่เบา

     พอเตรียมเครื่องไม้เครื่องมืออะไรต่างๆพร้อมและครบถ้วนดีแล้ว ขั้นตอนสำคัญเป็นเรื่องการตอนกำจัดเกสรตัวผู้ ก่อนขึ้นใคร่ขอทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในเรื่องข้าวกันก่อน

     ข้าวเป็นพืชผสมตัวเอง การที่จะผสมกับข้าวพันธุ์อื่นจำเป็นต้องกำจัดเกสรตัวผู้ออกก่อน แล้วจึงจะสามารถนำเอาเกสรตัวผู้จากพันธุ์อื่นมาผสมได้ ต้นหรือรวงที่ถูกกำจัดเกสรตัวผู้ออกไปแล้ว เรียกว่า “ต้นแม่พันธุ์”

     พอเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ก็จะเข้าสู่วิธีการตอนกำจัดเกสรตัวผู้ ให้เลือกรวงที่โผล่พ้นกาบใบธง ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เลือกตัดดอกข้าวที่คาดว่าจะบานในวันรุ่งขึ้น โดยใช้กรรไกรตัดดอก ประมาณ ๑ ใน ๓ ส่วนของเมล็ด

     เมื่อตัดแล้ว ใช้ปากคีบ เขี่ยเกสรตัวผู้ทั้ง ๖ ตัว ออกให้หมด

     ในรวงหนึ่งๆให้เลือกตอนประมาณ ๒๐ – ๓๐ ดอก

ภาพที่ ๖๐ การตัดดอกข้าว (ด้วยกรรไกร)

ภาพที่ ๖๑ การเขี่ยเกสรตัวผู้ออก (ด้วยปากคีม)

     หลังจากที่ได้ตอนเกสรตัวผู้ออกหมดแล้ว นำเอาถุงกระดาษแก้วคลุมรวงไว้ ใช้คลิปหนีบถุงด้วย เพื่อป้องกันลมพัดถุงหลุดร่วง รวงข้าวมีน้ำหนักพอสมควร นักเรียนชาวนาอาจจะใช้ไม้ไผ่ทำหลักประคองรวง เพื่อป้องกันไม่ให้รวงหัก

     และต่อไปนี้ถึงขั้นตอนของการผสมพันธุ์หรือการถ่ายละอองเกสรแล้ว จึงใคร่ขอทำความเข้าใจในเรื่องดอกข้าวกันเล็กๆน้อยๆ

     โดยปกติ ดอกข้าวจะบานและถ่ายละอองเกสรในช่วงเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. แต่ทั้งนี้ ข้าวแต่ละพันธุ์จะมีความแตกต่างกันไป ประกอบกับเรื่องอุณหภูมิ แสงแดด ดอกข้าวจะไม่บานในวันที่อากาศหนาวเย็น วันที่ฟ้ามืดครึ้ม

     พอทราบหรือพอเห็นภาพแล้วว่าดอกข้าวจะบานเช่นไร คราวนี้มาเรียนรู้วิธีการผสมพันธุ์ เริ่มแรกนักเรียนชาวนาควรจะนำกระถางข้าวพ่อพันธุ์ที่ดอกกำลังบานหรือตัดช่องดอกพ่อพันธุ์ใส่ขวดแช่น้ำเตรียมรอเอาไว้เลย

     เมื่อดอกข้าวเริ่มบาน เกสรตัวผู้ทั้ง ๖ ตัว จะเริ่มโผล่ชูอับละอองเกสร ซึ่งอยู่ส่วนบนก้านเกสรตัวผู้ พร้อมที่จะแตก ทั้งนี้สามารถสังเกตเห็นลักษณะจะเป็นผงละอองสีเหลือง

     ให้เปิดถุงที่คลุมรวงต้นแม่พันธุ์ออก แล้วนำช่อดอกตัวผู้ที่กำลังบานมาเคาะให้ละอองสีเหลืองตกใส่ดอกแม่พันธุ์ หรือจะใช้ปากคีบ คีบดอกข้าวพ่อพันธุ์ที่กำลังบาน...นำมาเคาะใส่ในดอกต้นแม่พันธุ์ที่กำลังบาน

     ในขั้นตอนนี้นักเรียนชาวนาสามารถตรวจสอบได้โดยสังเกตดูละอองสีเหลืองเกาะบนยอดเกสรตัวเมียของต้นแม่พันธุ์ ก็แสดงว่าการถ่ายละอองในครั้งนี้เสร็จแล้ว

ภาพที่ ๖๒ – ๖๓ การคลุมช่อดอกแม่พันธุ์ หลังการผสมแล้ว แล้วใช้คลิปหนีบถุง

     จากนั้นจึงนำถุงกระดาษแก้วครอบรวงไว้ พร้อมใช้คลิปหนีบไว้ดังเดิม แล้วผูกป้ายชื่อ โดยเขียนชื่อพ่อแม่พันธุ์คู่ผสม วันเดือนปีที่ทำการผสม

ภาพที่ ๖๔ ผูกป้ายชื่อ แสดงพ่อแม่พันธุ์คู่ผสมวันเดือนปีที่ทำการผสม

     ในกรณีที่เกสรตัวผู้ไม่เพียงพออาจผสมซ้ำอีก ๑ – ๒ วัน หลังจากการผสมผ่านไปแล้ว ๑ สัปดาห์

     นักเรียนชาวนาสามารถตรวจสอบความสำเร็จของการผสมพันธุ์ได้ หากผสมติด รังไข่จะพัฒนาเป็นเมล็ดข้าว หลังจากนั้น ๒๕ – ๓๐ วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามปกติ

     เมื่อมาถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของช่วงที่ ๒ นี้ ซึ่งนักเรียนชาวนาจะเกี่ยวข้าวไปตามปกติ เพียงแต่เพิ่มการสังเกต เพิ่มความระมัดระวังอีกนิดหน่อย อย่างไรล่ะจึงถือได้ว่าเป็นการเพิ่มการสังเกตและความระมัดระวัง... ก่อนเกี่ยวข้าว ควรตรวจสอบป้ายชื่อพันธุ์ว่าอยู่ครบหรือไม่

     เกี่ยวข้าวแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งประมาณ ๑ – ๒ แดด แล้วเก็บใส่ไว้ในถุงกระดาษ

     แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นสักประมาณ ๒ สัปดาห์ หลายคนสงสัยอีกว่า ในเมื่อได้นำไปผึ่งแดดแล้ว เหตุใดจึงต้องนำไปแช่ตู้เย็นอีก ข้อสงสัยในประเด็นนี้ สามารถตอบให้ได้ว่า การนำข้าวไปแช่ตู้เย็น เพื่อจะทำลายการพักตัวของเมล็ดข้าว คำตอบนี้จึงช่วยคลายความสงสัยให้กับนักเรียนชาวนาได้

     และแล้วก็มาถึงเรื่องราวสุดท้ายของกระบวนการทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องราวของการปลูกทดสอบคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสม ขั้นตอนนี้มีสำคัญเป็นอย่างมาก สำคัญอย่างไรนั้นโปรดคิดพิจารณากันต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 34166เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณมากค่ะที่บอกต่อ เพราะกำลังเป็นชาวนาตัวจริงจะนำไปทดลอง ถ้า สาว ๆ ณ สคส. มาบุรีรัมย์ก็อย่าลืมเอาสูตรเด็ดเรื่องนี้มาฝากด้วยนะค่ะ

ยากเรียนเรื่องผสมพันธุ์ข้าวค่ะเรียนที่ไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท