รูปแบบการจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ “คลินิกชุมชนอบอุ่น”


ความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบการจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” เพื่อเปิดใหม่หรือปรับใช้ ในการให้บริการประชาชนเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง

ความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบการจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” เพื่อเปิดใหม่หรือปรับใช้ ในการให้บริการประชาชนเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง
------------------------------------

อนุชา  หนูนุ่น นักวิชาการสาธารณสุข 5
กลุ่มงานประกันสุขภาพ สสจ.พัทลุง (9 มกราคม 2548 )

ความเป็นมาและแนวคิดในการดำเนินงาน
     “คลินิกชุมชนอบอุ่น” เป็นชื่อของหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชนในเขตเมือง[1] (ใกล้บ้านแต่ไม่ใกล้ใจ) โดยเฉพาะผู้ที่อพยพแรงงานมาจากต่างจังหวัด และเป็นผู้ใช้แรงงานนอกระบบ กรณีเมื่อมองปัญหาจากผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ และเพื่อแก้ปัญหาให้กับเครือข่ายหน่วยบริการโดยเฉพาะในเขตเมืองเช่นกัน ที่จำเป็นจะต้องขยายบริการระดับปฐมภูมิสู่ประชาชน ด้วยเหตุผลเพราะการให้บริการระดับนี้ที่โรงพยาบาลจะมีต้นทุนต่อหน่วยสูงเกินไป แต่ต้องประสบกับการลงทุนที่สูงมาก[2] เช่นค่าเช่าอาคาร ที่ดิน หากจะซื้อขาดก็ยิ่งเป็นภาระแก่โรงพยาบาลที่ต้องใช้งบลงทุนจากงบที่มีอยู่เอง ซึ่งไม่เพียงพออยู่แล้วในการจัดบริการแก่ประชาชน ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ ๆ หลาย ๆ แห่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร พัฒนารูปแบบการจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ทั้งใกล้บ้านและใกล้ใจเพื่อแก้ปัญหานี้และเกิดเป็นนวตกรรมขึ้นในปี 2546 ที่ผ่านมา และมีการขยายสู่จังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นเขตเมืองในปี 2547 เช่น จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น
     การดำเนินการในระยะแรกในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานครนั้น ก็ได้ประกาศให้โรงพยาบาล หรือคลินิกที่มีอยู่แล้ว เข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ หรือให้กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพที่สนใจ ยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น ภายใต้เงื่อนไขตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง  คุณสมบัติ มาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายของหน่วยบริการ รวมทั้งการจัดเครือข่ายของหน่วยบริการ  ตามระเบียบว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ก็ต้องผ่านความเห็นชอบในด้านความเหมาะสมเรื่องทำเลที่ตั้งจากคณะอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขากรุงเทพมหานครด้วย ดังตัวอย่างภาพประกอบ
     สำหรับการขยายรูปแบบการดำเนินงาน “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ นั้นต้องได้รับการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก่อน จึงจะสามารถดำเนินการในพื้นที่ได้ และจะต้องดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขา เฉพาะที่ได้รับการพิจารณาแล้วเท่านั้น
     ในปัจจุบันการดำเนินงานตามรูปแบบ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ได้มีการขยายไปสู่เมืองใหญ่ ๆ ในหลายจังหวัด สำหรับภาคใต้ เช่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งพื้นที่จังหวัดใดจะดำเนินการได้นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบและให้การสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย และที่สำคัญทั้งสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือสังกัดกระทรวงอื่น หรือภาคเอกชน ล้วนสามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยเสมอภาคกัน
    

รูปแบบและลักษณะการดำเนินงาน

     รูปแบบและลักษณะการดำเนินงานของคลินิกชุมชนอบอุ่นนั้น จะมีลักษณะตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง  คุณสมบัติ มาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายของหน่วยบริการ รวมทั้งการจัดเครือข่ายของหน่วยบริการ ตามระเบียบว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 เป็นสำคัญ ทั้งนี้แยกเป็นประเด็นได้ดังนี้

     1. โครงสร้างคลินิกชุมชนอบอุ่น ในด้านสถานที่ตั้งคลินิกนั้น จะเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร ซึ่งจะพิจารณาดูจากข้อมูลความเหมาะสมในรายละเอียด เช่นจำนวนประชากร ความยากง่ายในการเข้าถึงบริการเชิงกายภาพ จำนวนสถานบริการสาธารณสุขที่มีอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในทำเลที่จะพิจารณา เป็นต้น สำหรับขนาดหรือโครงสร้างอาคารที่จะให้บริการก็จะกำหนดเป็นกรอบอย่างต่ำไว้ เช่นของจังหวัดนนทบุรี[3] กำหนดไว้ดังนี้ “มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 80 ตารางเมตรโดยมีห้องตรวจอย่างน้อย 1 ห้อง ห้องให้การรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ 1 ห้องและห้องสำหรับการเรียนการให้สุขศึกษา 1 ห้อง” หรือในกรุงเทพมหานคร[4] ก็จะกำหนดเป็นแบบมาตรฐาน (Floor Plan) ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้เข้ากับลักษณะของอาคารเดิม ทั้งนี้ตามความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขากรุงเทพมหานคร

    ในด้านบุคลากรผู้ให้บริการก็จะประกอบด้วย บุคลากรที่ปฏิบัติงานตลอดเวลาทำการไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ ดังนี้ 1) แพทย์ประจำ 1 คนต่อประชากร UC ไม่เกิน 10,000 คน 2) พยาบาลวิชาชีพประจำ 1 คนต่อประชากร UC ไม่เกิน 5,000 คน 3) บุคลากรอื่นที่มีทักษะในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ประจำ 1 คน ต่อประชากร UC 3,500 คน  4) พยาบาลวิชาชีพ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คนประจำ ต่อประชากร UC 3,500 คน  ทำงานด้านชุมชน ในกรณีรับงบประมาณในส่วนสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในชุมชนมาด้วย และ 5) บุคลากรด้านทันตกรรม (ทันตแพทย์ หรือทันตาภิบาล ภายใต้การกำกับดูแลของทันตแพทย์)ให้บริการทันตกรรม 1 คน ต่อประชากร UC ไม่เกิน 10,000 คน ในกรณีจัดบริการในหน่วยบริการเอง สำหรับบุคลากรด้านทันตกรรมนั้นหากไม่ได้จัดบริการในคลินิกเอง ก็จะต้องระบุเครือข่ายที่ร่วมให้บริการให้ชัดเจนในสัญญาด้วย

     ด้านผู้รับบริการที่เป็นประชากร UC นั้น ในระยะแรกที่ดำเนินการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะประชาสัมพันธ์ให้ประชากรขึ้นทะเบียน (ให้โควต้า) 11,000 – 12,000 คน แต่ในข้อเท็จจริงที่เปิดดำเนินการมาแล้วจะมีประชากรมาขอขึ้นทะเบียนด้วยเพียง 1,700 – 5,000 คน เท่านั้น

     2. แหล่งเงิน สำหรับแหล่งรายได้ของคลินิกชุมชนอบอุ่นนั้น จะมีรายได้หลัก ๆ จาก 5 แหล่ง คือ 1) จากงบประมาณ UC ที่ได้รับจัดสรรเป็นรายปี ตามประชาชนที่มาขอขึ้นทะเบียนด้วย ซึ่งงบประมาณที่ได้รับจัดสรรนี้หากเปิดให้บริการครบทุกด้านตามที่กำหนด หรือมีเครือข่ายรองรับเอง ก็ได้รับไปทั้งหมด 600 บาทต่อหัวประชากร[5] (เป็นตัวเลขที่ใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร) หากดำเนินการไม่ครบก็จะหักออกตามส่วนที่ได้ตกลงกันกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขานั้น ๆ โดยเป็นงบประมาณที่รวมผู้ป่วยนอก (OPD) งบส่งเสริมป้องกันโรค(P&P) งบลงทุน และงบส่วนที่เป็นเงินเดือนแล้ว 2) จากกลุ่มแรงงานผู้ประกันตนตามโครงการประกันสังคม กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ทางคลินิกต้องไปดำเนินการขอร่วมเป็นเครือข่ายให้บริการเอง 3) จากกลุ่มข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ (เฉพาะคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เป็นภาครัฐ) ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีความแน่นอนของรายได้ แต่มีข้อดีที่รายรับเป็นเงินสด ไม่ต้องเรียกเก็บในภายหลัง 4) จากการจ่ายเองของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีความแน่นอนของรายได้ แต่มีข้อดีที่รายรับเป็นเงินสด ไม่ต้องเรียกเก็บในภายหลัง เช่นกันกับแหล่งเงินข้อ 3 และ 5) จากสิทธิอื่น ๆ เช่นประกันสุขภาพบริษัทเอกชน หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ เป็นต้น จะเห็นว่างบประมาณที่คลินิกจะได้รับโดยมีความแน่นอนว่าจะเป็นเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับแหล่งเงิน 1) และ 2) เท่านั้น แหล่งเงินอื่นจะขึ้นอยู่กับความเชื่อถือศรัทธา และคุณภาพของบริการที่เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้น

     3. การบริหารจัดการ และเงื่อนไขการจัดบริการ การบริหารจัดการในกรณีที่เป็นภาคเอกชนก็จะเป็นอิสระในการบริหารจัดการ แต่จะมีเป้าหมายเพื่อกำไรสูงสุดอย่างชัดเจน แต่ในกรณีของภาครัฐก็จะต้องมีการบริหารจัดการตามสายบังคับบัญชา ทั้งนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ไม่ได้มุ่งเน้นที่รูปแบบการบริหารจัดการ เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขของการจัดบริการเท่านั้น กล่าวคือ

        1) สถานบริการสาธารณสุขที่จะเข้าร่วมดำเนินการเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นจะต้องมีการได้รับอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 (กรณีเป็นสถานบริการเอกชน)

        2) สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนผู้มีสิทธิทุกวัน (จันทร์-อาทิตย์) รวมเวลาให้บริการไม่น้อยกว่า 56 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยสามารถเชื่อมต่อกับการบริการภายในเครือข่ายและการดูแลฉุกเฉินทั้งในและนอกเวลาทำการ

        3) สามารถให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกและมีบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในสถานบริการ  รวมทั้งบริการทันตกรรมได้ตามเกณฑ์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

        4) การให้บริการผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ลงทะเบียน สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการ 30 บาทต่อครั้งในช่วงดำเนินการ   และยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่ผู้มีสิทธิที่กำหนดไว้ (บัตร ท)

        5) ต้องมีระบบข้อมูลสารสนเทศที่สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เพื่อใช้ตรวจสอบการลงทะเบียน และจัดส่งข้อมูลอื่นๆ  ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

        6) มีระบบการส่งต่อ ผู้ป่วยไปรับบริการที่สถานพยาบาลในระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ ที่เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ  รวมทั้งการส่งต่อเพื่อการชันสูตร/การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การส่งต่อเพื่อรับบริการทางด้านทันตกรรม ในหน่วยบริการอื่นที่มาร่วมให้บริการ

        7) มีเครือข่ายบริการประกอบด้วย หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการรับส่งต่อระดับทุติยภูมิ หรือตติยภูมิ (Secondary care-Tertiary care) และหน่วยร่วมให้บริการ  เช่น  ห้องปฏิบัติการ  ทันตกรรม

        8) เครือข่ายที่เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ  ซึ่งสามารถให้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้ในระดับทุติยภูมิขึ้นไป (ซึ่งรับส่งต่อผู้มีสิทธิจากหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย) สามารถให้บริการกรณีอุบัติเหตุ  หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง และมีจำนวนเตียงที่สำรองไว้เพียงพอสำหรับบริการประชาชนที่ลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

     จากเงื่อนไขทั้ง 8 ประเด็นที่กล่าวข้างต้น จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพและมาตรฐานการจัดบริการสุขภาพระดับจังหวัด ที่จะเป็นผู้ออกประเมินและตัดสินว่าสถานบริการที่ขอเข้าร่วมโครงการนั้นควรที่จะได้เปิดเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือไม่ ซึ่งผลของการประเมินอาจจะสั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุงก่อนก็ได้ จึงจะให้การรับรอง

     4. ลักษณะการจัดบริการ จะเป็นการจัดบริการตามแนวคิดของลักษณะบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ดี กล่าวคือมีลักษณะผสมผสานทั้งมิติการแพทย์และมิติทางสังคม มีความต่อเนื่องทั้งในประเด็นของเวลาและสถานที่ตามความจำเป็นด้านสุขภาพและต้องได้รับบริการด้านสุขภาพ มีการให้บริการที่มีสัมพันธภาพที่ดีจนก่อนเกิดเป็นพันธะและรู้สึกว่าใกล้ใจจริง ๆ กล่าวโดยสรุปคือการนำแนวทางเวชปฏิบัติครอบครัวมาจัดบริการสุขภาพ

     5. การควบคุม กำกับ และการรายงานผลการดำเนินงาน สำหรับการควบคุมและการกำกับนั้น ได้ให้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการ ระดับจังหวัดเป็นผู้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดไว้ว่าหลังจากเปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว ต้องมีการออกสุ่มประเมินอีกอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี หรือทุกครั้งที่เกิดกรณีการร้องทุกข์จากผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานบริการ สำหรับการรายงานผลการดำเนินงานนั้นให้รายงานตามระบบ สปสช.0110 รง.5 กรณีที่เป็นสถานบริการสาธารณสุขภาคเอกชนหรือนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหากเป็นสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ให้รายงานผลตามระบบรายงาน 0110 รง.5 ผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขตามระบบเดิมที่ได้รายงานอยู่แล้ว

     6. กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับ สรุปกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้กับสถานพยาบาลภาคเอกชนที่จะขอเข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว กรณีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ก็มีความเกี่ยวข้องโดยตรงในกรณีที่จะต้องให้บริการประชาชนตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง  คุณสมบัติ มาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายของหน่วยบริการ รวมทั้งการจัดเครือข่ายของหน่วยบริการ  ตามระเบียบว่า ด้วยหลักประกันสุขภาพ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ในกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนในทุกสิทธิ ก็ย่อมจะต้องมีกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนตามประเภทสิทธิเหล่านั้นด้วย

รูปแบบและลักษณะการดำเนินงานในจังหวัดพัทลุง

     จากการสอบถามไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สรุปได้ว่ายังไม่มีนโยบายในการขยายรูปแบบการดำเนินงานมายังจังหวัดพัทลุง เนื่องจากพบว่ามีสถานบริการระดับปฐมภูมิครอบคลุมพื้นที่มากพออยู่แล้ว แม้ว่ากิ่งอำเภอศรีนครินทร์จะยังไม่มีโรงพยาบาลชุมชน แต่ข้อมูลที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีอยู่พบว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ดี และมีระยะทางเพื่อรับบริการกรณีส่งต่อก็ไม่ไกลมาก (เดินทางไม่เกิน 30 นาที) ในการมารับบริการที่โรงพยาบาลพัทลุง

     ทั้งนี้ได้มีข้อแนะนำในการนำแนวคิดการดำเนินงานตามรูปแบบการจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” มาปรับใช้กับหน่วยบริการระดับปฐมภูมิที่มีอยู่แล้ว (ภาครัฐ) ซึ่งน่าจะทำให้หน่วยบริการเหล่านั้นสามารถผ่านการรับรองมาตรฐานได้เร็วขึ้น และจะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานในที่สุด

เอกสารอ้างอิง
[1] สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. 2547. หลากคิด...หลากทำ พลังปัญญา: สู่การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า. นนทบุรี
[2] อ้างแล้ว (1)
[3] เอกสารประกอบการรับสมัครคลินิกชุมชนอบอุ่นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาจังหวัดนนทบุรี
[4]  เอกสารประกอบการรับสมัครคลินิกชุมชนอบอุ่นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขากรุงเทพมหานคร
[5] อ้างแล้ว (1)

หมายเลขบันทึก: 3416เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2005 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดิฉันอยากจะแนะนำให้เขียนเป็นบันทึกจะดีกว่าเขียนอยู่ในข้อคิดเห็นคะ ซึ่งบันทึกเดิมแต่ละอันที่ตีพิมพ์ไปแล้ว สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้นะคะ โดยเข้าที่ แผงควบคุม > บล็อก > จัดการบันทึกที่มี คะ

การเขียนเป็นบันทึก จะทำให้สามารถสร้างแผนที่ความรู้ในอนาคตได้อย่างเป็นระบบคะ

ขอบคุณคะ

จันทวรรณ

support (@) gotoknow.org

     ผมกำลังเจอกับปัญหาพอดี คือแก้ไขไม่ได้ ซึ่งก็ต้องคัดลอกบันทึก ไปสร้างใหม่ และลบของเดิมทิ้งมาแล้ว และกำลังคิดว่าถ้าทำแบบนั้น (ที่อาจารย์แนะนำ) จะดีไหม ขอบคุณมากครับ ผมตัดสินในได้เลยโดยใช้คำแนะนำจากอาจารย์

ผมกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้พอดี ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลดีๆ แบบนี้

     ด้วยความยินดีครับ คุณบุญมี หากจะให้ช่วยเหลืออะไรต่อ ก็แจ้งมาได้นะครับ ด้วยความยินดีครับ

ผมว่า ระบบสาธารณสุขไทย เรายังไปไม่ถึงไหนก็เพราะรัฐยังให้ความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิน้อยเกินไป และประเด็นหนึ่งคือ การบริการในระดับนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนหรือยังขาดมาตรฐานคุณภาพในแง่ปฏิบัติ ผมว่าจะเป็นการดีมากที่เราต้องช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ คลินิกชุมชุนอบอุ่น ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพในอีกรูปแบบหนึ่งของระดับปฐมภูมิ ต้องขอบคุณคุณ <b>ชายขอบ</b>จริงๆครับที่เอื้อเฟื้อข้อมูลนี้

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นนะครับ

ผมว่าจะจัดบริการยังก็ได้ ขอแค่จัดแล้วประชาชนต้องการ และสามารถใช้ได้

หรือถ้ามาจากชุมชนเองยิ่งดี เพราะผมว่าระบริการนั้นจะยั่งยืน

ขอบคุณ คุณชายขอบ นะครับ

ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลที่เป็นประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท