ชีวิตที่พอเพียง : ๙๕๕. มายาของ Normal Distribution


ผมคิดว่า วิธีคิดแบบ normal distribution ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าทุกสิ่งเหมือนกัน ให้น้ำหนักแก่ทุกจุดหรือทุกสิ่งเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงของหลายๆ เรื่อง น้ำหนักของสิ่งต่างๆ ไม่เท่ากัน จึงต้องใช้หลัก power-law distribution

 
          ผมเรียนวิชาสถิติตอนอยู่ ม. ๗ หรือเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๑   เทียบกับสมัยนี้คือ ม. ๕   เดาว่าเดี๋ยวนี้เด็กคงจะเรียนวิชานี้ก่อนสมัยผม  

          ในวิชาสถิติมีเรื่องการกระจายตัวของค่าต่างๆ ที่วัดจากประชากรกลุ่มหนึ่งๆ ที่เป็นค่ามิติเดียว เช่นระดับ IQ   ซึ่งเมื่อนำมาทำเป็นกราฟ ที่แกน X เป็นค่า IQ แกน Y เป็นค่าจำนวนคน   เราก็จะได้กราฟแสดงการกระจายเป็นรูประฆังคว่ำ เรียกว่า Bell Curve   หรือ normal distribution แล้ว normal distribution ก็มีอิทธิพลเหนือวิธีคิด และวิธีทำงานของมนุษย์มากอย่างไม่น่าเชื่อ 

          คือเวลาทำอะไรเราก็มุ่งหมายให้เหมาะสมแก่คนทั่วๆ ไป คือกลุ่มใหญ่ที่อยู่ตรงกลางของ Bell Curve หรือ normal distribution  เป็นวิธีที่โดยทั่วไปก็ถือว่าเหมาะสม   และยึดถือกันเรื่อยมา  

          แต่จริงๆ แล้ว ยังมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ตาม power-law distribution  ซึ่งกฎหนึ่งที่ใช้แนวคิดนี้คือ Pareto’s Principle หรือ 80 – 20 rule ซึ่งกล่าวว่า 80% ของผลงาน (ผล) มาจากคน (เหตุ) 20%   

          ผมคิดว่า วิธีคิดแบบ normal distribution ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าทุกสิ่งเหมือนกัน   ให้น้ำหนักแก่ทุกจุดหรือทุกสิ่งเท่ากัน   แต่ในความเป็นจริงของหลายๆ เรื่อง น้ำหนักของสิ่งต่างๆ ไม่เท่ากัน จึงต้องใช้หลัก power-law distribution

          Normal distribution ยึดหลักความเหมือน   แต่ power-law distribution ยึดหลักความต่าง      

          ผมได้แนวคิดในบันทึกนี้จากการอ่านหนังสือ What the Dog Saw โดย Malcolm Gladwell บทที่ชื่อว่า Million – Dollar Murray : Why Prpblems Like Homelessness May Be Easier to Solve Than to Manage

          ในเรื่องกล่าวถึงเรื่องคนไร้บ้านและรถควันดำ   ว่าเราแก้ปัญหาแบบใช้วิธีคิดแบบ normal distribution ว่าคนไร้บ้านทุกคนเหมือนกัน   และรถทุกคันเหมือนกัน   จึงแก้ปัญหาแบบหาวิธีจัดการกับคนไร้บ้านแบบครอบจักรวาล   จึงใช้เงินมากในการแก้ปัญหา   และไม่ได้ผล 

          เพราะจริงๆ แล้วมีคนไร้บ้านที่เป็นปัญหาหนัก ก่อค่าใช้จ่ายด้านดูแลสุขภาพที่ห้องฉุกเฉินสูงถึงคนละ ๕๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ ดอลล่าร์ ต่อปี เพียงจำนวนประมาณร้อยละ ๕ ของคนไร้บ้านทั้งหมดเท่านั้น   ถ้าจัดการกับคนเหล่านี้ได้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายต่อคนไร้บ้านได้มาก

          ทำให้ผมหวนมาคิดถึงเรื่องการกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา    ว่าต้องใช้หลัก power-law distribution   แยกสถาบันออกเป็น ๒ กลุ่ม   คือกลุ่มที่สภามหาวิทยาลัยสามารถกำกับดูแลเองได้เป็นอย่างดี   กับกลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะทำหน้าที่อย่างไม่รับผิดชอบ   กลุ่มแรกควรได้รับ reward    ในขณะที่กลุ่มหลังไม่ได้รับ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๗ ก.พ. ๕๓

           
                  
                 

หมายเลขบันทึก: 341052เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2010 07:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรากำลัง...ส่งเสริม สนับสนุน R2R แบบnormal distribution  หรือเปล่าคะอาจารย์?

ด้วยความเคารพค่ะ...

Zen_pics_007 
กะปุ๋ม

เป็นแนวคิดที่ดีมากครับ ถ้าทำได้มันก็จะดีมาก ๆ

 

 

--
ดูดวงความรัก | ทํานายฝัน

ขอบคุณมากครับ อาจารย์

 

--

Gigshopping | Shopdmz

น่าสนใจ แต่อาจารย์พูดกว้างไปน๊ะค๊ะ ถ้ายกตัวอย่างซะหน่อยจะชัดขึ้นค๊ะ เพราะเรื่องนี้มันสามารถประยุกต์ได้หลายๆ เรื่องเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท