ชาวบ้านศึกษาดูงานนอกพื้นที่


ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ในความไม่มีอะไร ต้องมีอะไรก่อนจึงจะไม่มีอะไร

                ทีมงานวิจัยโดยหัวหน้าโครงการคือนิสา พักตร์วิไลย ได้อนุมัติเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ได้ไปดูงานที่กองทุนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี สำหรับการติดต่อประสานงานคงไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่เทพพิทักษ์ ที่ดูจะมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านในตำบลนี้เป็นอย่างดี

                 ชาวบ้านหนึ่งคันรถบัส ประมาณ ๓๐ ชีวิต ได้ฟังรายละเอียดต่างๆ ของกองทุนแห่งนี้ ดูเหมือนสิ่งที่กองทุนแห่งนี้ดำเนินการล้วนแต่ต้องใช้เงินแลกเปลี่ยน สิ่งนี้เหมาะสมแล้วกับยุคของทุนนิยม เช่น หากใครส่งเงินช้าก็จะถูกปรับและปรับจริงๆ กรณีขอกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านจะใช้วิธีการโอนเข้าบัญชีผู้ถือหุ้น หากผู้กู้ต้องการเงินสดต้องจ้างให้คณะกรรมการครั้งละ ๑๐๐ บาท เพื่อไปเบิกจากธนาคารมาให้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ก็มีแต่เงิน เงิน และเงิน สิ่งที่พบกับการเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้คือ จะได้ลูกหนี้ชั้นดีระดับหนึ่ง นอกจากนั้น ระบบเชิงเผด็จการเช่นนี้ จะสร้างวินัยให้กับคนไทยได้ดี หากจะมองกองทุนนี้ ผู้เขียนขอมองในฐานะกองทุน เด็ดขาด

                ตัวหลักของผู้มาให้ความรู้กับชาวบ้านคือ ประธานกองทุนและเหรัญญิก ดูเหมือนทั้ง ๒ ท่านจะเข้าขากันดี บุคลิกน่าจะเป็นคนถึงลูกถึงคน ทันเล่ห์เหลี่ยมสังคมยุคใหม่และมีความเด็ดขาดในตัวเอง บางครั้งจะมีมุกแบบทีเล่นทีจริงสร้างความเฮฮาให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ผนวกกับชาวบ้านบางคนก็ไม่ใช่ย่อยสำหรับลูกเล่นลูกฮาแบบทีเล่นทีจริง

                มีหลายอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับความแปลกจากกองทุนอื่นๆ เช่น สำหรับลูกหนี้ที่ส่งเงินตรงต่อเวลา ไม่เคยพลาดพลั้ง จะเป็นลูกหนี้ดีเด่น ทางกองทุนจะมอบใบประกาศให้ ส่วนผู้ค้ำดีเด่น อย่างบางคน หลังจากกู้เงินไปแล้วก็หายไปเลย ผู้ค้ำยอมรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวโดยไม่ต้องเดือดร้อนถึงกรรมการกองทุน หรือบางคน ลูกหนี้ไม่มีเงินส่งให้กองทุน ผู้ค้ำก็ส่งให้อย่างนี้เป็นต้น กรณีนี้ เป็นผู้ค้ำดีเด่น แต่ยังไม่มีการแจกใบประกาศแต่อย่างใด กองทุนนี้มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานสนับสนุนหลายกรณี แต่ทุกกรณีที่ผู้ให้ความรู้บอกมานั้นล้วนแต่เป็นสิ่งของที่ขอมาเพื่อใช้เป็นกิจกรรมบางอย่างในกองทุน เช่นขอของขวัญจาก ส.ส. ขอของขวัญจากธนาคารเป็นต้น ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีเลยหรือที่หน่วยงานสนับสนุนเข้ามาดูแล ให้ความรู้ หรือเป็นฐานกำลังสำหรับการพัฒนากองทุนให้ไปสู่เป้าหมายโดยไม่ต้องร้องขอ โดยมากเห็นจะต้องขอความช่วยเหลืออยู่ร่ำไป กองทุนหมู่บ้านอำเภอนี้มีการเชื่อมโยงถึงระบบประกันชีวิตด้วย กล่าวคือ สมาชิกแต่ละคนต้องเสียเงินปีละ ๑๐๐ บาท เพื่อเก็บไว้ในส่วนกลาง กรณีที่ลูกหนี้เสียชีวิตจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนถึงญาติพี่น้อง โดยเอาเงินกองกลางนี้เองไปทำหน้าที่ในการจ่ายหนี้แทนลูกหนี้ที่เสียชีวิต ปัจจุบันกองทุนแห่งนี้ยินยอมที่จะใช้เงินค้ำประกันแทนบุคคลได้ กรณีที่สมาชิกซื้อหุ้นเกิน ๕,๐๐๐ บาท มีสิทธิ์กู้ได้ ๕,๐๐๐ พันโดยไม่ต้องให้ใครมาค้ำประกัน ข้อสังเกตซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกองทุนนี้ที่แตกต่างจากกองทุนอื่นโดยสิ้นเชิงคือ ใช้วิธีการซื้อหุ้นแทนการออม ในข้อนี้ คุณวิทยาได้สอบถามว่า การซื้อหุ้นกับการออม อะไรดีกว่ากัน จากนั้นเสนอว่า น่าจะฝึกวินัยการออมให้กับคนรุ่นใหม่ น่าจะดีกว่าการซื้อหุ้นหรือไม่ ทางกองทุนคือเหรัญญิกก็บอกว่า ตำบลนี้มีกองทุนเงินออมอยู่แล้ว เคยตั้งแต่ต้องล้มเลิก และมีความยากลำบากหลายอย่าง เมื่อหันมาใช้วิธีการซื้อหุ้นดูจะไปได้ดีกว่า ส่วนข้อเสนอแนะนั้นขอเก็บไว้พิจารณาอีกที การกู้วงเงินสูงสุดคือไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ บาท ทุกคนต้องมีวินัย ขาดวินัยเสียมิได้

                 ข้อสังเกตจากผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนเกิดการเรียนรู้ว่า เงินคือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในยุคนี้ คุณต้องการอะไร เงินสามารถหาซื้อได้ ที่บอกว่าหัวใจเท่านั้นที่ซื้อกันไม่ได้ เห็นจะเป็นได้แค่เพียงบางคน เพราะปัจจุบันนี้แม้แต่จิตวิญญาณของคนจำนวนหนึ่ง เขาเหล่านี้ยอมขายเพื่อเงินตรานี้แล้ว....มันเป็นไปได้อย่างไรกับการเอาสิ่งเพ้อฝันมานั่งบริกรรม..เงินคือความจริง คำตอบนี้น่าจะสอดคล้องกับยุคนี้และคนที่เกิดมาท่ามกลางยุคนี้อย่างแน่นอน สำหรับเรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมการ ผู้เขียนพบว่า กองทุนแต่ละกองทุนในคราวเลือกคณะกรรมการใหม่ ชาวบ้านมักจะเลือกคณะกรรมการเดิมนั่นเองให้เป็นคณะกรรมการชุดใหม่ นั้นก็แสดงว่า ชุดเดิมต้องเดินเรื่องต่อไปจนกว่าจะหมดลมหายใจหรือลาออกไป การบริหารจัดการหากไม่มีการไปศึกษาดูงานหรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น ก็คงเป็นการบริหารจัดการแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการอยู่กับที่ บางหมู่บ้านใช้กองทุนนี้เป็นเครื่องมือในการก้าวขึ้นไปเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น ทำไปทำมากองทุนหมู่บ้านบางแห่งจึงเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ไปด้วย ขณะเดียวกันบางกองทุนก็เป็นตัวเชื่อมต่อหรือตลาดให้กลุ่มอิทธิพลได้ใช้เพื่อขายสินค้าคือชื่อเสียงเพื่อการก้าวขึ้นไปบนบันไดขั้นถัดไป

                           หลังจากที่รับประทานอาหารเที่ยงคือ ก๊วยเตี๋ยวและขนมหวานคือลอดช่องเป็นที่เรียบร้อย ชาวบ้านและเครือข่ายกองทุนจึงขอตัวเพื่อไปดูงานที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรต่อ หลังจากดูงานเสร็จจึงมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณาความเห็นของแต่ละคน ผู้ใหญ่เทพพิทักษ์ได้เป็นผู้จัดแบ่งกลุ่มและเลือกคนที่เหมาะสมลงประจำกลุ่มโดยแยกออกเป็น ๓ กลุ่ม สิ่งที่ต้องการซึ่งเป็นฐานความรู้ของแต่ละกลุ่มคือ ๑) เป้าหมายของแต่ละกองทุนมีเป้าหมายที่ใด ๒) การบริหารการจัดการเป็นอย่างไร ๓) ปัญหาและอุปสรรคมีหรือไม่ ถ้ามี มีอย่างไร ๔) จากที่ไปดูงานในวันนี้ ท่านได้อะไรมาบ้าง

                ผลจากการระดมความคิดในกลุ่มที่ ๓ พบว่า๑.    เมื่อรวบรวมความคิดของแต่ละคนที่เป็นตัวแทนกองทุน มีเป้าหมายหลัก ๓ อย่างคือ ๑) ต้องการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสะดวกต่อการทำนิติกรรม ๒) ต้องการเป็นธนาคารหมู่บ้าน ๓) ต้องการจัดเป็นกองทุนหมู่บ้านดังเดิมแต่ให้เป็นกองทุนสวัสดิการ เช่น มีการทำห้องเรียนรู้ที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้กับเยาวชนในหมู่บ้าน มีการจัดสรรผลจากกองทุนเพื่อสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์การกีฬาให้กับเยาวชนเป็นต้น ๒.   สำหรับการบริหารการจัดการ แต่ละกองทุนจะมองว่าดีอยู่แล้ว สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตคือ ตัวแทนของกองทุนหมู่ที่ ๑๓ ดูเหมือนจะมีความชัดเจนในกฎกติกาของตนเป็นอย่างยิ่ง หมู่นี้ดูจะพัฒนารุดหน้าไปในระดับแนวหน้ากล่าวคือ นอกจากตั้งกองทุนเป็นธนาคารเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้มีนโยบายที่จะจัดซื้อห้อง ๒ ชั้นในหมู่บ้านเพื่อทำเป็นสำนักงานธนาคาร ผู้เขียนแย้งว่า จะเอาเงินที่ไหนซื้อ เงินกองทุนนะหรือ ตัวแทนหมู่บ้านบอกว่า ไม่ใช่ แต่จะเอาเงินจากการร่วมบริจาคซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่งแล้วขณะนี้ไปซื้อ และทรัพย์สินนี้จะเป็นของหมู่บ้านไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง๓.   ปัญหาและอุปสรรค แต่ละกองทุนมองว่า ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาเป็นอุปสรรค ถึงแม้ว่า จะมีการส่งเงินช้าก็ตาม ไม่ถือว่าเป็นปัญหาอุปสรรค ๔.   จากที่ไปดูงานในวันนี้ แต่ละกองทุนมองว่า ไม่ได้อะไรเลย เมื่อมีคำถามว่า จะเอาอะไรไปใช้บ้าง บางกองทุนเห็นว่า จะเอาเรื่องการปรับเงินสำหรับผู้ไร้วินัยในการส่งเงินไปใช้กับกองทุนบ้าง แต่บางกองทุนก็แย้งว่า มันจะดีหรือ กับการทำอย่างนั้น ชาวบ้านไม่เกลียดชังเอาหรือ ผู้แสดงความเห็นก็บอกว่า คงต้องได้รับการยินยอมจากสมาชิกก่อนจึงจะทำได้ บางคนให้ความเห็นว่า การปรับเงินหรือเก็บเงินทั้งขึ้นทั้งล่องอย่างนั้น เป็นการเอาเปรียบผู้กู้เกินไปจริงอยู่ในข้อนี้ หากสังเกตให้ดี ชาวบ้านจะมองว่าไม่ได้อะไรเลย แต่ผู้เขียนมองว่า ชาวบ้านได้อะไรมากทีเดียว เช่นตอนหนึ่งชาวบ้านพูดถึงกองทุนที่ไปดูงานว่า เขาบริหารจัดการได้ดี ไม่มีหนี้เสีย ไม่เหมือนกองทุนของเรา.... น่าจะเอาเป็นแบบอย่าง ชาวบ้านคนหนึ่งก็แย้งว่า เขาทำได้ แต่ของเราทำไม่ได้ เพราะเราต้องเอื้อเฟื้อกันและกัน อีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า ใช่ ในบางครั้งเราขอข้าวเขาหนึ่งหม้อ ขอแกงเขาหนึ่งหม้อ เขาไม่เคยปฏิเสธ เรื่องเหล่านี้เราได้มากกว่าเงินที่เขากู้เสียอีก.... ขณะเดียวกันผู้เขียนก็ถามแย้งไปว่า ตกลง การขึ้นก็เงิน การลงก็เงิน ของกองทุนดังกล่าวกับความเอื้อเฟื้อที่ทุกท่านมีอะไรดีกว่ากัน ท่านจะเลือกแบบใด จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า การเอื้อเฟื้อกันน่าจะดีกว่า และต่อด้วยว่า เราไม่สามารถจะทำแบบกองทุนนั้นได้ คำตอบ ๒ ประโยคนี้ ทำให้ผู้เขียนต้องมาบอกให้อาจารย์อุ๋มซึ่งขับรถไปส่งผู้เขียนในที่พักได้รับรู้ และก็ตรงกับกลุ่มที่อาจารย์อุ๋มและดวงมณีรับผิดชอบอยู่ เราจึงตั้งข้อสังเกตกันว่า เมื่อดูความเปลี่ยนแปลงของสมุทรปราการและรังสิต (ปทุมธานี) ดูไม่มีความแตกต่าง เช่นมีโรงงานอุตสาหกรรม มีคนอยู่จำนวนมาก เป็นต้น แต่แปลกตรงที่ว่า ทำไมคนจึงคิดต่างกัน เราได้ข้อสรุปตรงกันว่า ชาวบ้านสมุทรปราการ เขามองเห็นตัวของเขาเอง จากการเปรียบเทียบกองทุนที่ได้ไปประสบในวันนี้ สิ่งที่น่าดีใจอีกอย่างหนึ่งคือ ชาวบ้านขอเลือกความเอื้อเฟื้อแทนระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ สมุทรปราการ มีแต่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก็คือภาพของทุนนิยม นั้นก็แสดงให้เห็นว่า ทุนทรัพย์ทางสังคมที่ชาวบ้านเหล่านี้ยังมีอยู่คือความเอื้อเฟื้อ ความเกรงอกเกรงใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นสิ่งที่สวนทางจากภาพของตึกรามบ้านช่องของสมุทรปราการ มีความเป็นไปได้สูงสำหรับความสอดคล้องของความเพ้อฝันและความเป็นจริงในระบบทุนนิยมอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเข้าใจว่า การไปดูงานกองทุนที่รังสิตในวันนี้ ทางผู้ดำเนินการคงต้องการให้เครือข่ายขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะการนำเอาสิ่งที่รู้จากกองทุนอื่นไปพัฒนากองทุนของตน แต่สิ่งที่ผู้เขียนพบคือ สิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปตามต้องการ เป้าหมายคือโมเดลหัวปลา ถูกเคลื่อนย้ายจากสิ่งที่ควรนำไปใช้กับกองทุนเป็น การมองเห็นตัวเองและเกิดการเปรียบเทียบ จากนั้นจึงวางเป้าหมายที่ การขอเลือกทางเดินเดิม แทนเส้นทางสายใหม่ที่เพิ่งประสบ นั้นคือขอยึดการบริหารการจัดการแบบเอื้อเฟื้อแทนการคิดเป็นเงินทุกฝีก้าวดีกว่า ชาวบ้านรู้ว่า ตนมีทุนเดิมอยู่แล้วและคิดว่าดีแล้วด้วย ความเข้าใจนี้ผู้เขียน เขียนขึ้นเพราะไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการดำเนินการที่แท้จริง หรือว่า สิ่งที่ผู้ดำเนินการต้องการคือ การเลือกทางเดินเดิม ก็ไม่แน่อนึ่ง สำหรับกองทุนแต่ละกองทุน เราพบคำตอบว่า หัวปลาคือ ๑) กองทุนสวัสดิการ ๒) ธนาคารหมู่บ้าน ๓) ความเป็นนิติบุคคล ส่วนกลางตัวคือหัวใจ ผู้เขียนคิดว่า ชาวบ้านมีอยู่อย่างหนึ่งคือ ความเอื้อเฟื้อ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ของคนในตำบลในคลองบางปลากด ส่วนหางปลา คงต้องเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อเพิ่มพูนคลังความรู้ด้วยศิลปะในการนำไปใช้ต่อไป คลังความรู้นี้ หาได้จาก ศึกษาหาเรียนรู้โดยเฉพาะประสบการณ์ตรง (สุ.) คิดใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยอุบายแยบคาย (จิ.-โยนิโสมนสิการ) สอบถามผู้รู้ สอบสวนความรู้ (ปุ.) บันทึก เทียบเคียง ทดลอง ซ้ำแล้วซ้ำอีก กลายเป็นผลึกความรู้กลั่นออกเป็นตัวอักษรเจียรนัย (ลิ.)  หมายเหตุ : เรื่องข้างต้นนี้ เขียนขึ้นจากมุมมองส่วนบุคคล หากมีข้อมูลใดเข้าใจผิดพลาดยินดีรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับความความเข้าใจที่ผิดพลาดนั้นให้เข้าใจถูกต้องต่อไป: มิตรผู้เป็นบัณฑิตย่อมแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และป้องกันโทษอันจะเกิดขึ้นภายหน้า : ชีวิตคือการเรียนรู้

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกกองทุน
หมายเลขบันทึก: 34087เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท