ชีวิตที่พอเพียง : 40. ผลการเรียนตกต่ำ


• ผลสอบปี ๒ ที่จุฬาเป็นครั้งแรกใน ๕ ปี ที่ผมสอบไม่ได้ที่ ๑   คือได้ที่ ๒   เป็นสัญญาณว่ายุครุ่งโรจน์ด้านผลการเรียนน่าจะจบลงแล้ว    พอเข้าเรียนที่ศิริราชปี ๑ มีการสอบย่อยๆ เกือบทุกสัปดาห์   ผลสอบของผมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ไม่ใช้สูงสุดหรือใกล้สูงสุด   อาจารย์ที่สนิทกันและรู้กิตติศัพท์ผลการเรียนของผมมาคุยอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมผมเรียนได้ไม่ดีเหมือนก่อน    สภาพผลการเรียนตกต่ำตามหลอกหลอนผมต่อมาอีกหลายปี   แม้ตอนทำงานแล้วผมก็ยังเคยฝันร้ายที่สะท้อนความเครียดจากการที่ไม่สมหวังด้านผลการเรียนแพทย์
• ตอนเรียนปี ๒ ที่จุฬาฯ การเรียนค่อนข้างเบา    มีชั่วโมงว่างมาก   แต่พอมาเรียนปี ๑ ที่ศิริราช เรียนสัปดาห์ละ ๓๙ ชั่วโมง  เริ่ม ๘ โมงตอนเช้า เลิก ๕ โมงเย็น   มีชั่วโมงว่างสัปดาห์ละชั่วโมงเดียว คือวันพฤหัส ๑๑ - –๒ น.   วิชาที่เรียนหนักที่สุดคือกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเน้นที่การเรียนโดยชำแหละศพ   วันหยุดเราก็ต้องไปเรียนเอง   และวันธรรมดาบางวันเราก็อยู่เรียนเองจากศพอาจารย์ใหญ่จนค่ำมืด   เรียกว่าในช่วง ๑ ปีนั้นผมแทบจะไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน
• ที่จริงจะว่าผลการเรียนแย่มากๆ ก็ไม่ใช่   เพราะทุกปีผมก็ได้สวมชุดขาวขึ้นรับรางวัลคะแนนเยี่ยมในวิชาใดวิชาหนึ่ง    คือยังเกาะกลุ่ม นศพ. เรียนดีและความประพฤติดี    เพียงแต่ว่าไม่ใช่ที่ ๑ อย่างในอดีต    แต่คำวิจารณ์จากเพื่อนและอาจารย์ทำให้เราเครียด    และยิ่งเครียดที่ขยัน มุมานะเท่าไรก็ไม่ดีขึ้น
• ผมเริ่มเข้าใจว่ายิ่งเรียนสูงขึ้น เราก็จะยิ่งได้พบคนเก่งยิ่งขึ้น    แต่ที่ผมแปลกใจก็คือมีบางคนตอนเรียนโรงเรียนเตรียมฯ ผลสอบไม่ดีนัก แต่มาเรียนกายวิภาคศาสตร์คะแนนชนะผมทุกครั้ง   ผมสรุปกับตัวเองว่าคนเราไม่แน่นอน ความเก่งอาจมาเริ่มฉายแสงเอาตอนอายุมากขึ้นหน่อยก็ได้    ตอนไปทำงานเป็นรองอธิการบดีที่ มอ. แล้ว ดร. ผาสุข กุลละวนิชย์ อธิการบดีบอกผมว่ามีคนจำพวกหนึ่งเป็นคน “บานช้า” คือมาเก่งเอาตอนโตหรือตอนจะแก่  
• ผมเพิ่งมาเข้าใจเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองว่าคนเรามีความเก่งถึง ๘ ด้าน ที่เรียกว่า พหุปัญญา (multiple intelligence) เสนอโดย Howard Gardner ไว้ตั้งนานแล้ว    ใน ๘ ด้านนั้นผมบอดตั้งหลายด้าน รวมทั้งด้านทิศทาง โครงสร้าง รูปร่าง (spatial)    เป็นคำอธิบายว่าทำไมผมจึงเรียนกายวิภาคศาสตร์ได้ไม่ดี และทรมานมากในการเรียน    เมื่อเรียนแบบเครียดเพราะความไม่ถนัดก็ดึงผลการเรียนวิชาอื่นลงไปด้วย    เท่ากับว่าผมเลือกผิดที่มาเรียนแพทย์
• ผมถามตัวเองในตอนนี้ว่าการที่ผมมาเรียนแพทย์ถือเป็นการเดินทางชีวิตที่ผิดหรือไม่    คำตอบของผมคือไม่ผิด    การเรียนแพทย์ทำให้ผมได้เรียนรู้ธรรมชาติของมนุษย์ ได้ครู ได้เพื่อน และได้คู่ชีวิตที่จะหาดีกว่านี้ได้ยาก    และทำให้ผมเป็นคนคนนี้    ถ้าผมอยู่ทำงานที่บ้านตามที่พ่อชวน ผมก็จะเป็นนายวิจารณ์อีกคนหนึ่ง    ถ้าผมเรียนเคมีเทคนิค ผมก็จะเป็นอีกคนหนึ่ง    อาจจะมีฐานะทางทรัพย์สินเงินทองดีกว่านี้    แต่ถ้าให้เลือกได้ ผมเลือกชีวิตที่พอเพียงอย่างที่เป็นอยู่นี้
• ถึงแม้ผลการเรียนด้านคะแนนจะไม่สูงเด่น   ผมก็ได้ซึมซับเรียนรู้จากตัวแบบอาจารย์ที่เป็นคนดี คนเก่ง หลากหลายแบบ   เปรียบเหมือนนกแขกเต้าที่ตกไปอยู่กับนักปราชญ์    นี่ก็เป็นการเรียนที่ไม่มีใครมาวัดผลให้ ไม่มีใครสอนตรงๆ แต่โอกาสเปิดให้ผมเรียนเอาเอง    การเรียนแบบนี้แหละที่หล่อหลอมและส่งผลต่อชีวิตในอนาคตของผมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเรียนวิชา

วิจารณ์ พานิช
๒๘ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 34084เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท