ชีวิตที่พอเพียง : 39. เป็นนักอ่าน


• เมื่อวาน (๒๗ พค. ๔๙) ผมพบ ศ. ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการนโยบาย สกว. ในงานของ บวท.    ท่านบอกว่าขณะนี้คนขับรถของท่านเป็นคนที่เคยทำหน้าที่ พขร. ของคณะแพทย์ มอ. ตอนที่ผมเป็นคณบดี    เขาเล่าให้ อ. ปรีดาฟังว่าเขามีหน้าที่ไปยืมหนังสือ (หมายถึงวารสาร) จากห้องสมุดให้ผมทีละหอบใหญ่   เขาบอกว่าผมเป็นนักอ่าน    ซึ่งเป็นความจริง
• ผมเป็นนักอ่านมาแต่เด็ก    จำได้ว่าตอนอายุ ๙ – ๑๐ ขวบพ่อซื้อหนังสือปลัดเปล่งเที่ยวรอบโลก   ย่ำแดนซากุระ โดย พต. ขุนเสริมสุรศักดิ์ (๒ เล่มจบ)  ฯลฯ ผมก็หยิบมาลองอ่าน   แรกๆ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ตอนหลังก็เข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ   ที่บ้านผมมีหนังสือไม่มากนัก ผมค้นเอามาอ่านหมด    บางตอนมีบทอัศจรรย์ ผมก็สงสัยว่ามันเป็นอย่างไร   เคยเอาไปถามลูกจ้างโรงสี เขาหัวเราะ บอกว่าเด็กๆ อย่าเพิ่งรู้    โตแล้วจะรู้เอง
• พอขึ้นจุฬาฯ ปีสอง ผมตลุยอ่านหนังสือสารคดี  หนังสือเชิงจิตวิทยา  นวนิยายประวัติศาสตร์  เรื่องสั้น   โดยไปยืมจากห้องสมุดบ้าง ซื้อหนังสือมือสองจากสนามหลวงบ้าง    ผมเป็นนักเดินร้านหนังสือสนามหลวงอยู่หลายปี    แม้เมื่อเป็นหมอแล้วก็ยังไปอยู่เป็นประจำ    จนภรรยาผมเขาหึงร้านหนังสือ   ผมเคยตั้งปณิธานว่าจะอ่านหนังสือ (ดีๆ) ให้ได้ปีละ ๕๒ เล่ม คือสัปดาห์ละเล่ม   แต่ไม่เคยทำได้   เคยจดไว้ว่าอ่านได้ประมาณ ๒๐ – ๓๐ เล่ม    ผมเคยทำโน้ตย่อไว้ด้วยแต่ย้ายบ้านหลายหนหายหมด
• ปี ๒๕๐๙ ตอนผมใกล้จบแพทย์ แม่ซื้อบ้านไม่สองชั้นที่บางขุนนนท์หลังหนึ่งในพื้นที่ ๕๓ ตารางวา ราคา ๑ แสนบาท  สำหรับให้ผมและน้องๆ อยู่   ผมบอกให้ญาติที่ชุมพรมาช่วยทำชั้นหนังสือรอบห้องโถงชั้นบน   ทำให้ญาติพี่น้องเลื่องลือความบ้าหนังสือของผม
• ตอนที่เริ่มทำงานหลังจากกลับมาจากเรียนปริญญาโทจากอเมริกา    ผมตลุยค้นวารสารและตำราด้านการแพทย์ทั้งไทยและเทศที่หอสมุดศิริราช เพื่อหารายงานผลการวิจัยด้านพันธุศาสตร์และโรคกรรมพันธุ์    จดบันทึกย่อไว้ใน index card ขนาด 3 x 5 นิ้ว เก็บแยกหมวดหมู่ไว้ในตู้ index card ส่วนตัวที่เอามาจากอเมริกา   ตู้ index card ส่วนตัวนี้ สมัยอยู่ที่ภาควิชาพยาธิ มอ. ขยายเป็นตู้หลายชั้นกว่า ๑๐ ช่อง    มีบันทึกหลายพันแผ่น   เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้ความสะดวกแทนหมดแล้ว
• ที่คณะแพทย์ มอ. ผมให้เลขาจัดระบบการไปยืมวารสารจากห้องสมุด   โดยผมไปตกลงกับห้องสมุดขอให้อำนวยความสะดวก   ผมไม่ต้องไปยืมเอง   แต่ให้เจ้าหน้าที่ไปยืม (ขน) แทน    ยืมวารสารประมาณ ๓๐ ชื่อ เอามาพลิกดูสารบัญและดัชนี หาเรื่องที่อยู่ในความสนใจ   แล้วอ่านทำโน้ตย่อใน index card   ผมพยายามจับทางการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมความรู้ของโลก ในสาขาที่ผมสนใจ   พยายามศึกษาว่าเขามีวิธีวิทยาการวิจัยอย่างไร   โจทย์วิจัยแบบไหนที่ได้รับการยกย่อง   ทีมวิจัยกลุ่มไหนกำลังเป็นผู้นำเรื่องนั้นๆ เพราะอะไร  ฯลฯ    ผมบอกตัวเองว่าเราเรียนมาน้อย ความรู้น้อย และอยู่ไกลปืนเที่ยง หาคนปรึกษาได้ยาก    ต้องขวนขวายคลำหาทิศทางและวิธีสร้างผลงานเอาเอง    ผมน้อยใจที่ตนเองมีพื้นความรู้เชิงทฤษฎีน้อย ความรู้ไม่ลึก ความรู้เชิงเทคนิคทางห้องปฏิบัติการไม่ดี   แถมยังโดนดึงไปทำงานบริหารเป็นระยะๆ ทำให้การทำงานวิชาการไม่ต่อเนื่อง    นี่คือการอ่านหนังสือเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์  
• ในขณะเดียวกันผมก็อ่านหนังสือด้านการจัดการ/การบริหาร เพราะต้องใช้ในการทำงานบริหาร    และช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตการทำงานจริงๆ   เวลานี้หนังสือที่ผมอ่านอยู่ในกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่
• ผมชอบอ่านหนังสือสารคดี   ไม่ชอบอ่านนวนิยาย   ที่บ้านผมเป็นบ้านที่มีคนอ่านหนังสือแบบแยกประเภท คือหนังสือที่ผมอ่านภรรยาไม่แตะ    หนังสือที่ภรรยาอ่านผมไม่แตะ   ทุกคนในบ้านรู้ว่าที่บ้านผมเราอยู่กันอย่างมีความสุขโดยที่เรามีรสนิยมตรงกันข้ามหลายอย่าง    แต่เราก็มีรสนิยมตรงกันในอีกหลายอย่าง
• เมื่อลูกชายสึกจากไปบวช ๙ เดือน   เขามาค้นหาหนังสือธรรมะ   ผมแนะให้ไปเปิดดูในตู้   ลูกชายตกใจมากที่มีหนังสือธรรมะอยู่เต็มตู้   ลูกชายบอกว่า พ่อรู้ทฤษฎีมาก   ถ้าปฏิบัติด้วยจะเข้าใจมากกว่าหลายเท่า    ปฏิบัติธรรมของลูกชายหมายถึงทำสมาธิภาวนา
• จึงได้ข้อสรุปแบบ KM ว่าเป็นนักอ่านอย่างเดียวไม่พอ   ต้องเป็นนักปฏิบัติด้วย

วิจารณ์ พานิช
๒๘ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 34080เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนี้ หนังสือ ขุนเสริมสุรศักดิ์ หาอ่านได้ที่ใหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท