สภาพชีวิตที่เปลี่ยนไป


ความพอดีเป็นเรื่องจำเป็นมาก ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกระบวนการKM เพราะเราต้องบริหารทักษะการทำงานที่หลากหลายของเราให้พอดี ไม่มากไม่น้อยไปทางใดทางหนึ่ง

       อาจกล่าวได้ว่า ผู้เขียนกำลังขุดค้นหาตัวเองอยู่ ที่สคส. ซึ่งเป็นข้อต่อหนึ่ง ที่เป็นบทพิสูจน์ว่าในตัวเรายังมีขีดความสามารถทำอะไรได้อีก…

       ผู้เขียนมองดูต้นทับทิมที่บ้าน ซึ่งสูงประมาณ 3 เมตร ที่ตัวเองได้ปลูกเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน เคยเป็นโรคติดเชื้อรา แม้จะออกดอกผล แต่ก็รอดมาได้

       เมื่อ ปี พ.ศ. 2548 ผู้เขียนหยุดการทำงาน HR พบว่า ต้นทับทิมมีลูกดกมาก แจกจ่ายกันกินมากมาย แม่บ้านก็จำเป็นต้องโค่นยอดออก 1 เมตร เมื่อเก็บผลหมด เพราะจะสูงเกินไปจนกิ่งโค้งงอลงมา เปรียบเหมือนสภาพชีวิตผู้เขียนเอง ช่วงหยุดพักผู้เขียนเคยนอนนิ่งๆ เกือบ 1 วันเต็มๆ ไม่ได้พูดจาเปล่งเสียงออกมา ตอนกลางคืนก่อนจะถึงวันรุ่งขึ้น รู้สึกทรมานไม่น้อย แต่เมื่อเป็นเช้าวันใหม่ กลับรู้สึกสดชื่นสบายใจมาก ไม่น่าเชื่อว่าการที่ปฏิบัติ ดังที่กล่าวมา เราจะรู้สึกเหนื่อยและเพลียมากกว่า การที่เราทำงานสำนักงานเสียอีก ในทัศนะของผู้เขียนคือ ถ้าเราตั้งใจทำ ทุ่มเท มากเท่าใด ในการทำกิจใดๆก็ตาม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเราไม่น้อยกว่า เหมือนปฏิกริยา Action = Reaction ผู้เขียนขอเรียกว่า “การพัฒนาคน” นั่นเอง

       หลังการประชุม AAR KM Internship ช่วงหนึ่งเดือนแรก โดยทีมงาน สคส. ผ่านไป 3 วัน ผู้เขียนยังรู้สึกว่า มีอะไรหมุนๆอยู่ในตัวเอง เหมือน มีการถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน เป็นพลังงานแบบหนึ่ง

       ตอนทำงาน HR ซึ่งเน้น Culture Change เป็นหลัก ผู้เขียนต้องเกลี่ยสภาพงานให้เข้าสู่พื้นฐานไปด้วย (Problem Solving) ผู้เขียนทำงานเกิน 100% เมื่อถึงเวลาหนึ่ง รู้สึกว่า ใจเราเสีย ไม่ใช่เพราะคนอื่น เพราะเราเอง เราจึงต้องหยุด ทบทวน พิจารณา และหยุดความก้าวหน้าทางตำแหน่งหน้าที่การงานไว้เพียงแค่นั้น เพื่อรักษาใจตัวเองไว้เป็น อันดับแรก แม้คนรอบข้างจะมองว่าน่าเสียดาย ที่ผู้เขียนละทิ้งโอกาส ช่องทาง ไปสู่ตำแหน่ง ชื่อเสียง ที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝัน เพราะผู้เขียนได้รับการยอมรับจาก Top Management และเจ้าของ ในเรื่องความดี และผลงาน แต่ผู้เขียน อาจไม่ใช่คนดี และให้ความสำคัญ เรื่องภายในตัวคน มากกว่า ภายนอกตัวคน ภายใต้สภาพสังคมปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต …แล้วผู้เขียนมีสภาพชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง? ณ ปัจจุบัน

1. ข้อหนึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเองเคยให้ไม่เป็น ก็ย่อมเป็นให้แบบไม่มีคุณค่า ผู้เขียนออกไปแบกรับปัญหาแทนลูกน้อง หัวหน้า พนักงาน เนรมิตทุกสิ่งตามที่เขาอยากได้ สุดท้ายในช่วงท้าย เขาก็อยากได้ไม่มีสิ้นสุด คิดว่าผู้เขียนจะทำให้ได้อีกแน่นอน ด้วยความมหัศจรรย์ แม้ศักยภาพคน และบรรยากาศ วัฒนธรรม จะพัฒนาในทางที่ดี แต่เป็นเพียงชั่วคราว ไม่ถาวร เขาคงต้องยึดติดกับผู้เขียน แล้วเขาจะยืนหยัดด้วยตนเองได้อย่างไร? ผู้เขียนมิได้ต้องการให้เป็นแค่ความทรงจำที่ดี ผู้เขียนผิดที่ให้เขาไม่เป็น ก็จำเป็นต้องหยุดให้.. เพื่อปล่อยให้เป็นไปตามครรลองธรรมชาติ เพราะผู้เขียนเอง ไม่ได้อยากหยุดอยู่ที่การเป็นนางฟ้าเนรมิต …

2. อีกข้อหนึ่ง เมื่อเราเบื่อหน่าย ไม่อยากทำ แต่ต้องทำ เราจะขี้เกียจ ทำได้น้อยกว่า 100% สู้เราอย่าทำให้คนอื่นต้องมารับผลงานที่ไม่มีคุณภาพของเราดีกว่า ผู้เขียนเริ่มรู้สึกอยากอ่านหนังสือ อยากเขียน อยากคุยและทำงานกับนักวิชาการ หรือมืออาชีพ แทนการนั่งตรวจค่าจ้างทุกเดือน การไปยื่นภาษี ประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งผู้เขียน จัดระบบให้ 1-2 เดือน ก็เข้าที่แล้ว เพราะ สิ่งที่ผู้เขียนต้องรักษาไว้ตลอดการเรียนรู้ คือไฟ… ไฟในการทำงาน เมื่อระบบงานบริหารสำนักงาน การดูแลบุคลากรเบื้องต้นอยู่ในสภาพเรียบร้อย ลำดับต่อไป คือ การขุดคุ้ยศักยภาพของคน รวมถึงการใช้เทคโนโลยี อย่างเหมาะสม ที่ผู้เขียนมีคำถามมากมาย ขณะนี้ผู้เขียนรู้สึกคล้ายหาคำตอบได้ที่ สคส. เป็นภาพลางๆ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใน 1 เดือน

3. ผู้เขียนพักอยู่ห่างจากที่ทำงานเก่าไม่เกิน 10 ป้ายรถเมล์ แต่การทำงานช่วงหลังๆ ผู้เขียนเรียกแท็กซี่ทุกวัน ในขณะที่เราก็รู้ว่าประเทศชาติกำลังขาดเงินคงคลัง ถ้าเราเป็น คนคนหนึ่งในประเทศ เรายกย่องตนเองว่ามีความคิด เราก็ย่อมลงมือทำในเรื่องส่วนตัวเราเองให้ได้ “ ใช้เงินให้เป็น” ถ้าคิดว่ามีเงินแล้วแค่สนองความสะดวกสบายของตนเอง ผู้เขียนคิดว่าผู้เขียนทำไม่ถูก เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนลงโทษตนเอง คือหาวิธีดัดนิสัย หรือพฤติกรรมตนเอง

    • แม่แบบในเรื่องการใช้ทรัพยากรเป็นแรงผลักดันให้ผู้เขียนคิดประหลาดๆแบบนี้ ผู้เขียนเคยเห็นถังขยะของอาจารย์ผู้เขียน…. ขยะทุกชิ้นถูกรีดจนเรียบแล้วอัดแน่น คือใช้พื้นที่ใส่ขยะอย่างเกิดประโยชน์ กล่องใบชาถูกประยุกต์ใช้มาใส่ผ้าขนหนูเช็ดหน้า เป็นต้น

    • ผู้เขียนอ่านข่าวพบว่าประมุขของประเทศก็ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด มีคุณค่า เช่น ยาสีฟัน เสื้อผ้า เป็นต้น

       ปัจจุบันผู้เขียนยึดหลัก “กินน้อย นอนน้อย ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น” เดินทางด้วยรถประจำทาง ระยะทาง ไกล มากขึ้นกว่าเดิม แต่ผู้เขียนมีความสุขในการได้ทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่วาดหวังไว้ แม้จะลำบากเพียงใด ผู้เขียนก็มีความสุขในส่วนลึกของจิตใจตนเอง เพราะผู้เขียนเข้าใจเหตุและผลเรื่องราวเหล่านั้น เมื่อรอคอย หรือเดิน ผู้เขียนก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆกับตนเอง เกิดจินตนาการ เกิดความนึกคิดใหม่ๆ ได้เห็น และพิจารณา ความเป็นอยู่ของคนมากมาย อาจเป็นนิสัยนักสถิติของผู้เขียน ที่ชอบสำรวจประเด็นสงสัยจากสายตาตนเองด้วยประการหนึ่ง

4. สถานภาพเก่า ผู้เขียนอาจจะเข้าไปทำงานในคฤหาสน์ใหญ่โตเพื่อช่วยจัดการความเรียบร้อยในความรับผิดชอบ แต่ผู้เขียนก็หาโอกาสไปสัมผัสบ้านห้องแถวแคบๆ ควบคู่ไปด้วย ผู้เขียนเคยทำงาน ในโรงงาน ในสำนักงานที่สวยงาม นั่งทำงานที่บ้านเล็กๆ ขณะนี้ ผู้เขียนนั่งทำงานบนตึกสูง ชั้น 23 วิวสวยงาม ออกเดินทางต่างจังหวัด นอกสถานที่ เกือบเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานทั้งหมด ต้องพบปะทำงานร่วมกับคนที่เราอาจได้เจอแค่ 1-2 ครั้ง มิใช่อยู่ในองค์กรที่เราค่อยๆทำความรู้จักคน แล้วจะรู้จักกันมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป

5. ผู้เขียนเคยซี้อเสี้อผ้า เครื่องแต่งกาย อื่น ๆ ตามที่อยากได้ แม้จะพูดว่าตัวเองไม่ดีที่ทำอย่างนี้ ผู้เขียน ก็ยังปรับพฤติกรรมตัวเองไม่ได้ บางทีความลำบาก ไม่มีเงินเดือน อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่ผู้เขียนท้าทายกับตัวเอง สิ่งที่ผู้เขียนกลัวมากกว่าความลำบาก คือ การหลงตัวเอง ติดอยู่ในวังวนอะไรสักอย่างหนึ่งมากกว่า…

6. ความพอดี ผู้เขียนเริ่มรู้จักความพอดีจากการทำอาหาร ช่วงที่ไม่ได้ทำงานสำนักงาน ซึ่งต่างจากอดีต ที่ผู้เขียนไม่เคยปรุงอาหารได้พอดี จะมี จืดไป เค็มไป ไม่ได้รสชาติ เมื่อผู้เขียนมาฝึกทักษะการทำงานกับ สคส. จึงเข้าใจว่า ความพอดีเป็นเรื่องจำเป็นมาก ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกระบวนการKM เพราะเราต้องบริหารทักษะการทำงานที่หลากหลายของเราให้พอดี ไม่มากไม่น้อยไปทางใดทางหนึ่ง หรือ ควรหนักตอนไหน ควรผ่อนตอนไหน เป็นต้น เพื่อรักษาคุณภาพของงาน

7. ผู้เขียนปรับสถานภาพตนเองจาก Manager เป็นคนตกงาน เป็นนักศึกษา และเป็นTrainee ที่สคส. ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำ KM กับตนเอง เหมือนที่ตัดต้นทับทิมทิ้ง 1 เมตร แม้จะออกลูกดกเพียงใด ก็ยังมิได้มีคุณภาพทั้งหมด ผู้เขียนควรเปลี่ยนแปลง ไปสู่ ผู้ให้ที่มีคุณภาพ ซึ่งยังตอบไม่ได้ตอนนี้ว่าผู้เขียนจะทำได้หรือไม่?

       นับว่า สคส. เป็นทีมนักขุดค้น Competency ตัวยง HRD เจ๋งๆ ไม่ควรพลาดโอกาส เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในอนาคต ไม่แน่ว่า สคส. อาจกลายเป็นสำนัก ฝึกคน ทดสอบขีดความสามารถ และวัดศักยภาพของคน โดยมีด่านค่ายกลให้ผู้แสวงหา KM ได้เข้ามาทดสอบทักษะการทำงาน…

บทสนทนาแห่งการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เขียน

เจ้าหญิงแสนกล : “คงต้องขอคุยกับคุณเมธีน้อย ก่อนลาจาก… คุณเมธีมาได้อย่างไรคะ ?”

คุณเมธีน้อย : “เรามองดูท่าน เนรมิต… มากหลาย ใคร่อยากแสดงวิชาปราชญ์บ้างเป็นไร ?”

เจ้าหญิงแสนกล : “สนุกอย่างไรคะ ? กับการเป็นปราชญ์ ปราชญ์ทำอะไร ? สู้เนรมิตมิดีกว่าหรือคะ ?”

คุณเมธีน้อย : “เมื่อท่านเนรมิตให้เขา เขาเข้าใจหรือไม่ ? เขาทำต่อไปได้หรือไม่ ?”

เจ้าหญิงแสนกล : “แล้วคุณเมธี ชี้แนะ มันจะแตกต่างกันอย่างไรคะ ?”

คุณเมธีน้อย : “ผู้เข้าใจก็จะได้รับ ผู้มิเข้าใจก็มิได้ นับว่าเป็นการยืนหยัดด้วยตนเองโดยแท้”

เจ้าหญิงแสนกล : “ถ้าเช่นนั้น เราคงต้องขอลาที รอดูวันที่คุณเมธีเติบใหญ่…”

คำสำคัญ (Tags): #km#internship#development#hrd#competency
หมายเลขบันทึก: 34063เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 02:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
อ่านแล้วได้แนวคิดดีๆ มากมาย เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่หายากในประเทศไทย เป็นกำลังใจให้นะครับ

เป็นบทความที่ดีมากครับ อ่านแล้วทำให้รู้จักคิดถึงวิธีการดำเนินชีวิตมากขึ้น  ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามบทความของคุณลิขิต มาตลอด ขอชื่นชมและให้กำลังใจครับ

ขอบคุณ ผู้อ่านทั้งสองท่านนะคะ  ทำให้คุณลิขิตได้ ทบทวนตนเองว่า บรรลุจุดมุ่งหมายในเบื้องต้น คือการถ่ายทอด การนึกคิด ที่เกิดมาจากการเรียนรู้แนวปฏิบัติ ลงมือทำ ของตน พร้อมทั้งได้สืบทอดเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ ทุกท่าน ทั้งที่ให้ความรู้ และให้จิตสำนึกคุณลิขิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท