ช่วยลูกทำการบ้าน ...สงสารทั้งเด็กและคุณครูไทยเรา


อยู่ออสเตรเลียมา 6 ปี ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้เลย

ต้องบอกว่า น่าแปลกใจนะคะ ว่าทำไมช่างแตกต่างกันเหลือเกิน

ลูก 3 คนเรียนระดับประถมและมัธยมมาแล้วที่ออสเตรเลีย โรงเรียนที่โน่นเขามีนโยบายเหมือนกันเลยว่า สุดสัปดาห์จะไม่มีการบ้าน งานที่เป็นการบ้านของโรงเรียนที่ Perth (ไม่แน่ใจว่าที่อื่นในออสเตรเลียเป็นอย่างไร) จะถูกกำหนดไว้ว่าให้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ส่วนใหญ่เป็นการอ่านหนังสือให้เราฟัง ถ้าเป็นรายงานในระดับมัธยม ก็จะไม่มีชนิดสั่งวันนี้เอาภายในสัปดาห์นี้ มักจะให้เวลายาวนานและมีแหล่งให้หาข้อมูลมากมายในห้องสมุดประชาชน (ไม่ต้องพูดถึง internet) ทำกันแบบสบายๆ เวลาเหลือเฟือ

ตัวเองเรียนเมืองไทยมาตลอดชีวิตนักเรียนประถม มัธยม ก็คุ้นชินกับการทำการบ้านมาแล้วมากมาย แต่พอมาถึงรุ่นลูก ทำไมจึงรู้สึกว่ามันช่างมากมาย หนักหนาสาหัสกว่าสมัยเราเช่นนี้ (ผสมกับปัญหาทางภาษาที่ยังมีหลงเหลืออยู่บ้างด้วยก็ไม่น่าจะมากนัก) 

สัปดาห์นี้ เมื่อวานช่วยพี่เหน่นอ่านและย่อยบทเรียนศีลธรรมจนถึง 3 ทุ่มครึ่ง หลังจากที่พี่เหน่นจัดการกับการบ้านเลขเสร็จเรียบร้อยไปแล้ววันนี้ช่วยพี่วั้นแปลงสาร คือแก้สำนวนภาษาไทยในรายงานวิชาเคมีจนถึง 4 ทุ่ม ส่วนน้องฟุงทำการบ้านวิชาต่างๆเสร็จแล้ว เหลือแต่อ่านหนังสือไทย ประมาณ 5-6 หน้า A4 น้องอ่านครึ่งหนึ่งกับคุณพ่อ ครึ่งหนึ่งกับคุณแม่ ใช้เวลามากพอควร (แต่การบ้านอันนี้สมควรให้ค่ะ อ่านเก่งขึ้นมากแล้วและอ่านอย่างสนุกสนาน) เกินเวลานอนตามเคย วันก่อนมีท่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษ-ไทยเล่มเล็กๆ หน้าละประมาณ 5-6 คำ ที่ร้ายก็คือต้องท่องสัก 20 หน้าได้ แล้วทุกคำผู้ปกครองต้องเซ็นรับทราบ (ใคร้...ใคร...ช่างสรรหาเรื่อง) กับมีที่สำหรับคุณครูเซ็นทุกคำเหมือนกัน

เหนื่อยแทนเด็กไทยจังเลยค่ะ ดูปริมาณงานการบ้านของลูกในแต่ละวันแล้ว คิดคำนวณจำนวนการบ้านที่คุณครูของลูกต้องตรวจ เอาแบบเบาะๆ ห้องละ 30 คน (รู้สึกว่าปกติจะมากกว่านี้) แล้วสงสัยว่าคุณครูไทย ทำได้อย่างไรคะ....ของเราแค่ 3 คนคนละวิชาเท่านั้น พ่อแม่ก็หมดแรงแล้ว

จากที่เคยเห็นลูกนั่งอ่าน pocket book หรือพักผ่อนแบบอื่นๆในแต่ละวันเมื่อกลับจากโรงเรียน มาเป็นกลับมาถึงบ้าน ก้มหน้าก้มตา งุดๆทำการบ้าน พักทานข้าวเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็มาตั้งหน้าตั้งตาทำการบ้านต่อให้เสร็จ เพื่อให้ไม่เกินเวลานอนมากไป (ปกติเป็น 2 ทุ่มครึ่ง ตอนนี้เริ่มต้องเลื่อนเป็น 3 ทุ่มเสียแล้ว)

ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี...

หมายเลขบันทึก: 34060เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2006 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยกับคุณโอ๋ค่ะ  นอกจากการบ้านจะเยอะแล้ว เดี๋ยวนี้ระบบการศึกษายังเปลี่ยนไปจากสมัยเรายังเด็ก  บางวิชาซึ่งเป็นเรื่องใหม่  เช่น วิชา WISE KID คุณพ่อถึงขนาดต้องไปหาคุณครูเพื่อให้ช่วยติวเป็นการส่วนตัว ไม่งั้นกลับมาสอนลูกไม่ได้ค่ะ

เห็นด้วยกับการที่ครูให้การบ้านนักเรียนเยอะๆ โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาที่กำลังจะเป็นบ้านไปกับโทรศัพท์มือถือ  ถ้ามีการบ้านเยอะๆน่าจะลดการคุยโทรศํพท์ได้บ้าง  แต่ขอฝากว่าคุณครูจะต้องเอาจริงคือตรวจการบ้านและบันทึกการให้คะแนนอย่างเคร่งครัด  ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณครูที่ให้ความสนใจและให้การบ้านเด็กนะครับ  
             การให้บริการโทรศัพท์ก็เหมือนกัน  ทุกวันนี้ช่างไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรเลย  มีแต่สร้างนิสัยให้เด็กไทยเป็นเด็กขี้คุยทั้งวี่ทั้งวัน  ไม่สนใจการงานขนาดเดินไปกับพ่อกับแม่ก็ยังคุยโทรศัพท์ไม่หยุดไม่สนใจคนที่อยู่ใกล้เลย  เมาส์ลูกเดียว เพราะอะไร  
              สาเหตุน่าจะมาจากยิ่งโทรนานยิ่งจ่ายถูก  ความคิดแบบเด็กๆก็เลยเมาส์ลูกเดียว  ยกหูที่เดียวจนแบตเตอรี่หมดประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง จึงหยุดเมาส์  แล้วจะเอาเวลาไหนทำงาน อ่านหนังสือ  ทำการบ้าน 
              บริษัทโทรศัพท์  หรือสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงวัฒนธรรมน่าจะมีบทบาทในการพิจารณาเรื่องนี้  หมายถึง  ถ้าโทรธุรสำคัญจำเป็นภายใน 1 นาที  น่าจะคิดราคาสัก 1 บาท  ถ้าโทรนาน 2 นาทีหรือนาทีต่อๆไปจึงเพิ่มค่าบริการขึ้นเรื่อยๆ จึงจะเป็นการสร้างนิสัยให้คนไทยรู้จักประหยัด  แต่ที่ผ่านมาจะเป็นการสร้างนิสัยฟุ่มเฟือยให้เด็กไทยโดยไม่รู้ตัว ใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ คุยกันไร้สาระ  มีแต่เรื่องสัพเพเหระ  เรื่องรัก เรื่องใคร่  ไม่สนองพระราชดำรัสแบบพอเพียง  สร้างวัฒนธรรมนั่งคอเอียงเป็นเวลานานๆ  ค่าโทรถูกจึงโทรนาน  แต่เคยคิดบ้างไหมว่ากระแสไฟฟ้า  น้ำมันราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ  ขืนปล่อยไปอย่างนี้ เมืองไทยแย่แน่ๆ  
              

ก็ไม่รู้จะเห็นด้วยดีมั๊ยนะคะเกี่ยวกับเรื่องการบ้าน แต่อะไรที่เยอะเกินไปหรือน้อยเกินไปมันคงไม่ดีแน่ค่ะ แต่เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไปของเด็กเนี่ยยังไงก็ยังไม่เห็นด้วยค่ะ แต่เราจะโยนความผิดโดยการโทษการให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่างเดียวไม่ได้หรอกค่ะ เพราะเค้าทำไปเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจที่มีแต่การแข่งขัน ถ้าเค้าไม่หาโปรโมชั่นใหม่ๆเค้าก็อยู่ไม่รอดและเราก็ห้ามหรือสอนเค้าไม่ได้ด้วย (แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขตของกฏหมาย) แต่เด็กที่อยู่ในปกครองของเรา เราควรจะสอนให้เค้าใช้อย่างถูกวิธีและถูกต้องมากกว่านะคะหรือถ้าเค้ายังเล็กเกินไปก็ไม่ควรให้ใช้ เพราะว่าจะเป็นการปลูกฝังนิสัยการใช้โทรศัพท์เกินความจำเป็นซึ่งก็อาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

      ในความเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะเริ่มที่ตนเองและครอบครัวก่อน เพราะถ้าทุกคนเริ่มที่ตนเองและครอบครัว จากจุดเล็กๆมันก็จะค่อยๆขยายตัวขึ้นสู้ระดับประเทศค่ะ แต่ถ้าจะให้เริ่มจากระดับใหญ่ลงสู่ระดับเล็กมันคงจะเป็นไปได้ยากกว่านะคะ

ผมเคยเขียน Feedback กลับไปที่ครูประจำชั้นตอนลูกเรียนประถม ๔  ว่าทำไม่ไม่มีการบ้านให้ลูกผมเลย  เพราะก่อนหน้านั้นครูให้การบ้านลูกมาตลอดและสม่ำเสมอ  ครั้นขึ้นประถม ๔  ครูคณิตศาสตร์ไม่ค่อยมีการบ้าน  เลยขาดการติดต่อเรื่องการเรียนกับลูก  เพราะปกติเมื่อลูกมีการบ้านมาก็จะมาให้พ่อแม่แนะนำ/สอนให้  เมื่อไม่มีการบ้านพ่อแม่เลยไม่ทราบว่าแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ครูสอนไปถึงไหน  เห็นด้วยกับความพอดีครับ  แต่การให้การบ้านมีประโยชน์ในการฝึกเด็กด้านความรับผิดชอบและการทำความกระจ่างในบทเรียนระหว่างครู-เด็ก-ผู้ปกครอง

สวัสดีค่ะ

เรื่องการบ้าน เดี๋ยวนี้ ไม่ทราบว่ามีมากกว่าเดิมไหม สมัยลูกอยู่เซ็นคาเบรียลก็มีมากมาตลอด แต่ให้เขาเรียนพิเศษตอนเลิกเรียน รอแม่ไปรับ พอกลับถึงบ้านก็เล่น อาจยังมีอีกนิดหน่อยไม่มากค่ะ

พอโต อยู่ม.2 ตอนเย็นบางวันไปเรียนพิเศษที่เตรียมอุดม เพื่อสอบเข้า ตอนม.4

อยู่เตรียมอุดม มีการบ้านมากทุกวัน ไม่งั้นไม่ทันเพื่อน

จยสอบเข้าวิศวะแล้ว  จึงหมดการบ้าน

สรุป มีการบ้านมากมาตลอด เด็กก็ไม่ค่อยเครียดเพราะ ชินค่ะ เด็กไม่ค่อยมีเวลาพูดโทรศัพท์หรือทำให้พ่อแม่กังวลเท่าใด

เคยถามลูกว่า เหนื่อยไหม เขาบอก ไม่เหนื่อย

คิดว่า มีการบ้านมากจนชินค่ะ

ตอนนี้ ได้ข่าวว่า เด็กๆมีการบ้านมากตั้งแต่เด็กเล็กเลย แต่ไม่ได้เข้าไปดูใกล้ชิดว่า เป็นการบ้านอะไร

ส่วนตัว มีความเห็นว่า เดินสายกลางดีที่สุด วันเสาร์ อาทิตย์ให้เด้กได้พักบ้างบ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท