สอนนักศึกษาให้รู้จัก KM


ได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ มากขึ้น อย่างการใช้ computer เว็บบล็อก ว่าจะทำอะไรได้บ้าง และค้นหาความรู้จากไหนได้บ้าง

เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ดิฉัน คุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน และคุณอาฬสา หุตะเจริญ ได้มีโอกาสร่วมจัดกิจกรรมในวันแรกของโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ ๒ ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.รุจิเรศ ธนูรักษ์ ติดต่อมาว่าต้องการให้นักศึกษาได้รู้จักเรื่องการจัดการความรู้ และการใช้เว็บบล็อก ได้จัดเตรียมห้องคอมพิวเตอร์ไว้ให้ใช้ด้วย ดิฉันและทีมงานได้วางแผนกิจกรรมโดยอาศัยคำแนะนำของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (อ่านที่นี่) เป็นแนวทาง ตกลงกันว่าจะมีกิจกรรมให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “การเรียนที่ประสบความสำเร็จ” ความสำเร็จที่ว่านี้อาจเป็นเรียนแล้วสอบผ่าน ผลการเรียนดี หรือเรียนแล้วมีความสุขก็ได้ โดยให้อาจารย์รุจิเรศจัดเตรียมอาจารย์ที่จะทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ประจำกลุ่ม พร้อมมองหานักศึกษาที่จะทำหน้าที่เป็น “คุณลิขิต” ไว้ด้วย เราส่งร่างแนวทางการจัดกิจกรรมกลุ่ม รวมทั้งบทบาทของคุณอำนวยและคุณลิขิตไปให้ศึกษากันก่อนด้วย

ก่อนวันจัดกิจกรรม ดิฉันได้รับแจ้งว่าอาจารย์ที่จะทำหน้าที่คุณอำนวยได้มี ๓ ท่านเท่านั้น เราจึงต้องรีบคิดแผนใหม่ว่าคงต้องให้คุณสุภาพรรณและคุณอาฬสาไปช่วยทำหน้าที่คุณอำนวยด้วย เราเดินทางไปถึงโรงเรียนที่ศาลายาแต่เช้า เพื่อดูสถานที่ที่จะจัดกิจกรรม พวกเราค่อนข้างเป็นกังวลเพราะสถานที่ไม่ค่อยเหมาะกับการจัดกิจกรรมเท่าไหร่ ห้องที่มีเป็นแบบชั้นเรียนมากกว่า แถมอยู่คนละชั้นอีกต่างหาก นักศึกษาค่อยๆ ทยอยกันมาเข้าห้องเรียน ท่าทางยังไม่คอ่ยสดชื่นกันนัก ทราบว่าเพิ่งกลับมาจากการไปฝึกปฏิบัติธรรม ๗ วันเมื่อวานนี้เอง ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ได้มีการเตรียมตัวมาสำหรับกิจกรรมในวันนี้

นักศึกษามาไม่ครบจำนวนที่คาดไว้ (เดิมรู้ว่ามี ๑๘๒ คน เมื่อใกล้วันงานได้รับแจ้งว่าจะมี ๑๗๑ คน) เรา ๓ คนจึงปรับแผนกันใหม่อีกรอบ ให้แบ่งนักศึกษาเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกไปเรียนการใช้เว็บบล็อก อีกกลุ่มแบ่งกลุ่มย่อย ๕ กลุ่มทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ประมาณ ๑๐ คน ส่วนที่เหลือให้เป็นผู้สังเกตการณ์ในแต่ละกลุ่ม) ขออาจารย์มาทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยเพิ่มอีก ๑ คน แล้วให้คุณสุภาพรรณมาช่วยคุมห้องคอมพิวเตอร์พร้อมดิฉัน พร้อมทั้งเตรียมกิจกรรมเล็กๆ เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาตื่นตัว เรา orientation อาจารย์ที่จะทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยให้รู้เป้าหมายของกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบทบาทของแต่ละคนในกิจกรรมกลุ่มย่อย

Session แรกของวันนี้เป็นการบรรยายเรื่องการคิดวิเคราะห์และการสังเคราะห์ความรู้ โดยหัวหน้าภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ.ดร.ยุวดี ฤๅชา จบแล้วให้พักรับประทานอาหารว่าง เมื่อกลับเข้าห้องเกือบ ๑๐.๐๐ น.คุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณปลุกทุกคนให้ตื่นตัวด้วยกิจกรรมการออกกำลังกายประมาณ ๑๐ นาที นักศึกษาร่วมมือเป็นอย่างดี ส่งเสียงสนุกสนานให้ได้ยินเป็นระยะ หลังจากนั้นดิฉันมาพูดต่อในเรื่องของแนวคิดการจัดการความรู้และเทคนิคที่ใช้ในการจัดการความรู้ แนะนำเทคนิคต่างๆ ที่ต้องใช้ในกิจกรรมกลุ่มย่อย ใกล้เวลา ๑๑.๐๐ น. จึงแบ่งกลุ่มแยกย้ายไปทำกิจกรรมที่มอบหมาย

 

นักศึกษาที่เรียนรู้วิธีการใช้เว็บบล็อก นั่งเบียดๆ กัน ๒-๓ คนต่อคอมพิเตอร์ ๑ เครื่อง หลังสาธิตให้รู้ว่านักศึกษาสามารถจะค้นหาความรู้ปฏิบัติที่มีบันทึกอยู่ใน gotoknow ได้อย่างไร จะสร้างบล็อกและเขียนบันทึกอย่างไร แล้วให้ลองปฏิบัติดู ปรากฏว่า gotoknow มีปัญหาติดขัดเข้าใช้ระบบไม่ได้ ดิฉันต้องโทรศัพท์ไปรบกวนขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ ดร.จันทวรรณ น้อยวัน จริงๆ อาจารย์ก็เตือนไว้แล้วว่าช่วงเวลานี้อย่าจัดอบรม แต่ในครั้งนี้อาจารย์จันทวรรณก็กรุณาอย่างมากได้ดูแลอำนวยความสะดวกใช้สามารถเข้าใช้ระบบได้อย่างราบรื่นตลอดจนถึงช่วงบ่ายเลยทีเดียว (ขอบคุณมากจริงๆ)

หลังพักรับประทานอาหารกลางวันเราเริ่มกิจกรรมด้วยการออกกำลังกายอีกครั้ง ก่อนแบ่งกลุ่มหมุนเวียนสลับกิจกรรมกัน เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น.ทุกคนมาพร้อมกันที่ห้องใหญ่ ดิฉันจับฉลากให้กลุ่มมานำเสนอความรู้ที่ได้จากกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๓ กลุ่ม เริ่มจากกลุ่มดอกมะลิ ที่นำเสนออย่างรวดเร็ว กลุ่มดอกกันไพรที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จตั้งแต่ในระดับมัธยมกันด้วย และกลุ่มดอกเบญจมาศ ที่นำเสนอแบบเห็นบรรยากาศในกลุ่ม พร้อมบริบทของเรื่องเล่า ตามด้วย AAR โดยนักศึกษา ๖ คน (จับฉลากขึ้นมา) ดังต่อไปนี้

น้องสา สาวิตรี นามทองก้อน
๑. ความคาดหวัง : ในหัวไม่มีความคาดหวังอะไร เขาให้มาก็มา ดีกว่าอยู่เฉยๆ
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : คือรู้สึกปลื้มใจในวิชาชีพพยาบาล ไม่เคยคิดว่าจะมีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิที่จบจากรามาฯ ไปได้มีตำแหน่งที่สูงที่อื่น รู้สึกว่าวิชาชีพมีทางไปได้หลายทาง
๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง : ไม่มี
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : โดยรวมแล้ว OK น้อยคนที่จะคิดเอากิจกรรมการออกกำลังกายมากระตุ้นความสนใจ ได้ร่วมการทำกิจกรรมก็ดี

น้องเชิดฉวี สุทธิรักษ์
๑. ความคาดหวัง : เฉยๆ แล้วแต่เพื่อน ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่หัวข้อเนื้อหาก็ดีทำให้รู้วิธีการเก็บความรู้ที่ผ่านๆ มาได้
๒. สิ่งที่เกินความคาดหวัง : ได้มาเจอกลุ่มเพื่อน ได้พูดคุยเรื่องความสำเร็จ ได้รู้จักเพื่อนมากขึ้น ได้เพื่อนใหม่ๆ
๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง : ไม่มี
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : ไม่มีอะไรต้องปรับปรุง

น้องเจี๊ยบ เบญจวรรณ จันทร์สามารถ
๑. ความคาดหวัง : ต้องได้มากินแน่ๆ ได้ความรู้ และเอาความรู้ที่ได้มาใช้ในปี ๒
๒. สิ่งที่เกินความคาดหวัง : วิทยากรยิ้มแย้ม แจ่มใส ทำให้เราได้ความรู้ในเรื่องการทำ blog ได้ตามสิ่งที่คาดหวังไว้ คือ ได้อาหารว่าง อาหารกลางวัน และความรู้
๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง : ไม่มี
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : น่าจะมีอาหารเย็นด้วย

น้องกิ๊บ นายิกา เริงอารมย์
๑. ความคาดหวัง : ไม่รู้เลยว่ามาทำอะไร เพราะเพิ่มออกไปค่ายมา ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะไม่รู้ว่าจะเจออะไร
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง :  รู้สึกดีกับวิทยากรที่มา มีการเต้น Aerobic และอาหารก็ดี
๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง : ไม่มีน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากไม่ได้คาดหวังมาก่อน
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : น้ำเสียงของอาจารย์ น่าจะใส่ลูกเล่นมากกว่านี้

น้องดวงพร บุญช่วย
๑. ความคาดหวัง : ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะไม่รู้ว่าให้มาอบรมอะไร
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : ได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ มากขึ้น อย่างการใช้ computer เว็บบล็อก ว่าจะทำอะไรได้บ้าง และค้นหาความรู้จากไหนได้บ้าง
๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง : ไม่มี
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : เหมือนกับกิ๊บ

น้องแน็ต วารินทร์ ขันมั่น
๑. ความคาดหวัง : ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะว่าไม่รู้ว่าให้มาอบรมอะไร
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : ได้เข้ากลุ่ม ได้รู้จักเพื่อนๆ มากขึ้น ได้ฟังเรื่องต่างๆ ของเพื่อน รู้ว่าทุกคนประสบอะไรมามากมาย วิทยากรก็ใจดี ได้รับรู้ในเรื่องการทำบล็อกว่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง
๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง : ไม่มี
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : ไม่มีอะไรต้องปรับปรุง เนื่องจากได้ทั้งความรู้ และระยะเวลาก็เหมาะสมแล้ว

ตัวดิฉันและทีมงานมีความเห็นพร้องกันว่าความคาดหวังของเราที่จะให้นักศึกษามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างคึกคักไม่บรรลุเท่าที่ควร เพราะนักศึกษากลุ่มใหญ่และที่สำคัญไม่ได้มีการเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนล่วงหน้า ไม่รู้รายละเอียดของโครงการมาก่อน สถานที่และบรรยากาศไม่ค่อยอำนวยต่อการจัดกิจกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มดอกเบญจมาศ ได้ความรู้ที่น่าสนใจ แต่นักศึกษาไม่สามารถนำเสนอได้อย่างครอบคลุม แต่เราก็ได้เรียนรู้วิธีการที่จะ handle กิจกรรมในการประชุมที่มีคนจำนวนมากๆ

งานนี้ดิฉันนำหนังสือ “การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ” ของอาจารย์ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ไปให้เป็นรางวัล ๒ เล่ม ผู้ที่ได้รับไปคือน้องจีรนันท์ ชิดนอก ซึ่งอาสาออกมาสาธิตการใช้เว็บบล็อกให้เพื่อนๆ ดู และน้องจุฑามาศ จำนงประโคน ซึ่งเพื่อนๆ เสนอชื่อว่าควรได้รางวัล เนื่องจากเป็นคนแรกที่บันทึกบล็อกได้มากและเร็วที่สุด

     

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙

คำสำคัญ (Tags): #km#workshop#นักศึกษา
หมายเลขบันทึก: 34013เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2006 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ.วัลลา

เข้ามาหาความรู้เพิ่มเกี่ยวกับkmอยากให้นักศึกษาพยาบาลรู้จักเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนของนักศึกษาพยาบาล ให้เขาเกิดนิสัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างยั่งยืน เลยได้เห็นบล็อกที่เล่าถึงการจัดกิจกรรมให้รามาเมื่อปีกลาย อยากให้เกิดกลุ่มที่เข้มแข็งให้ได้ในปีนี้ พยายามจะทำความรู้จัก และทำความเข้าใจกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวการเขียนบล็อก อยากเห็นตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนอื่นเพื่อจะหาทางempower นักศึกษา แต่ไม่รู้ว่าจะศึกษาอย่างไรให้ได้ความรู้อย่างรวดเร็ว  แนะนำหน่อยนะคะ

รุจิเรศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท