ประสิทธิภาพ ความเที่ยงธรรม ความยั่งยืน


“ประสิทธิภาพ ความเที่ยงธรรม ความยั่งยืน” เหมาะสำหรับทำสติ๊กเกอร์ติดท้ายรถ โปสเตอร์คำขวัญ และ เข็มกลัด เศรษฐศาสตร์ควรทำให้เป็นความจริงด้วยการเสนอเป้าหมาย 3 ประการนี้และรับรู้ว่าเป้าหมายเหล่านี้เข้ากันได้ ส่งเสริมกัน และเป็นไปได้ (feasible) เฉพาะกับระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีที่แท้เท่านั้น.

ประสิทธิภาพ ความเที่ยงธรรม ความยั่งยืน
(จากบทบรรณาธิการ The Progress Report เรื่อง Efficiency, Equity, Sustainability เม.ย.2549 โดย Fred E. Foldvary บรรณาธิการอาวุโส ที่ http://www.progress.org/2006/fold452.htm เว็บไซต์ของท่านเองคือ www.foldvary.net)

             เราต้องการอะไรจากระบบเศรษฐกิจของเรา? สิ่งที่คนส่วนมากต้องการนั้นสรุปรวมได้เป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจ 3 ประการ คือ ประสิทธิภาพ ความเที่ยงธรรม และ ความยั่งยืน 

             ประสิทธิภาพคืออัตราส่วนระหว่างผลผลิต (output) กับสิ่งป้อนเข้า (input) ระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพจะมีการผลิตสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากทรัพยากรที่ป้อนเข้า เราจะทำให้ผลิตภาพและความเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดได้อย่างไร? ด้วยการปล่อยให้ตลาดเสรีทำงานโดยปราศจากการแทรกแซง ไม่มีหนทางอื่นที่จะปรับปรุงผลิตภาพของระบบตลาดเสรีที่ไร้การสอดแทรก การตั้งข้อจำกัดควบคุมใดๆ ต่อการกระทำของมนุษย์ที่ซื่อสัตย์และรักสงบย่อมจะทำให้ผลิตภาพและประสิทธิภาพลดลง

                 ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพคือระบบที่การค้าเป็นไปโดยเสรี ทั้งภายในประเทศเองและกับระบบเศรษฐกิจต่างประเทศ ประสิทธิภาพสูงสุดจะเกิดได้ก็ต้องยกเลิกทั้งภาษีสินค้าเข้าและภาษีภายใน คือภาษีที่เก็บจากกิจกรรมที่ก่อผลผลิต รายได้สาธารณะนั้นอาจหาได้โดยไม่ต้องขัดขวางระบบตลาดเสรี เช่น เก็บค่าธรรมเนียมผู้ใช้ (user fees) ค่าก่อมลพิษ และค่าก่อความแออัด และโดยการเก็บภาษีจากมูลค่าหรือค่าเช่าที่ดิน การคลังสาธารณะซึ่งมีที่ดินเป็นฐานไม่ขัดขวางประสิทธิภาพเพราะที่ดินมีอุปทานคงที่ ไม่มีต้นทุนการผลิต และเพราะการบริการสาธารณะทำให้ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น การเก็บภาษีจากมูลค่านี้คือการนำกลับคืนให้แก่ผู้ให้บริการสาธารณะ

                   แนวคิดผิดพลาดที่ใหญ่หลวงอันหนึ่งซึ่งพบในตำราเศรษฐศาสตร์แทบทุกเล่มคือข้อที่ว่าจำเป็นจะต้องแลกกัน หรือได้อย่างเสียอย่าง (trade-off) ระหว่างความเที่ยงธรรมกับประสิทธิภาพ ตำราเหล่านี้กล่าวว่าถ้าจะให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นเราต้องเก็บภาษีคนรวย ซึ่งทำให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจลดลง แต่ที่จริง ความเที่ยงธรรมที่แท้จริงกลับเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมเติมเต็ม (complementary) ให้แก่ประสิทธิภาพ เทียบกับเศรษฐกิจที่ยุ่งเหยิงในปัจจุบัน เราสามารถมีทั้งความเที่ยงธรรมและประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยยกเลิกภาษีที่เก็บจากแรงงานและทุน และปล่อยให้ธรรมชาติหาเงินให้แก่การคลังสาธารณะแทน โดยกำหนดให้รายได้สาธารณะมีที่มาจากที่ดิน

                ปัจจุบันถือว่าเจ้าของที่ดินได้รับเงินอุดหนุนด้านสวัสดิการ เพราะงานสาธารณะซึ่งส่วนหนึ่งได้จากภาษีจากผู้ทำงานและผู้บริโภคไปทำให้รายได้จากค่าเช่าที่ดินสูงขึ้น เรื่องนี้มีผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันอย่างมากด้านรายได้ขณะที่การลดลงของผลิตภาพและการใช้ภาษีแบ่งรายได้ไปจากผู้ทำงานก่อให้เกิดความยากจน การเก็บภาษีจากมูลค่าที่ดินตามทำเลจะขจัดความไม่เท่าเทียมกันในเศรษฐทรัพย์และรายได้เนื่องจากปัจจัยที่ดิน

                มีเหตุผลลึกๆ ด้วยว่าทำไมระบบตลาดเสรีที่แท้จึงมีความเที่ยงธรรม ในระบบตลาดเสรีที่แท้นั้นการกระทำของมนุษย์เป็นไปโดยสมัครใจ ความสมัครใจหมายถึงจริยธรรมสากลซึ่งให้ความหมายแก่ระบบตลาดเสรี จริยธรรมสากลยังจะต้องเป็นจริยธรรมที่ก่อให้เกิดนโยบายอันเหมาะสมด้วย ดังนั้น ระบบตลาดเสรีที่แท้จะต้องมีจริยธรรม จึงย่อมมีความเที่ยงธรรมมากที่สุดด้วย

                เป้าหมายทางเศรษฐกิจประการที่ 3 คือ ความยั่งยืน ทั้งความเที่ยงธรรมและประสิทธิภาพมิใช่จะให้มีเฉพาะในเศรษฐกิจปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องมีในอนาคตต่อไปด้วย การคิดส่วนลดในอนาคตใช้ได้เฉพาะกับชีวิตของตนเองเท่านั้น มิใช่กับชีวิตใหม่ๆ ที่จะเกิด เติบโต และแผ่ขยายออกในอนาคต

                  ความยั่งยืนมีองค์ประกอบหลายส่วน สำหรับทรัพยากรที่มีคงที่ เช่น น้ำมัน การใช้น้ำมันมีแต่จะทำให้น้ำมันหมดไป การสอดแทรกใดๆ ในการใช้น้ำมันในระบบตลาดเสรีที่แท้ย่อมจะมีลักษณะเป็นไปโดยพลการ เพราะไม่มีทางรู้ได้ว่าผู้คนในอนาคตจะให้คุณค่าแก่ทรัพยากรเช่นนั้นอย่างไร แต่เพื่อความยั่งยืนผู้บริโภคในปัจจุบันจะต้องจ่ายค่าต้นทุนทางสังคมอย่างเต็มที่สำหรับการใช้ทรัพยากรที่มีคงที่สิ้นเปลืองไป ตัวอย่าง จะต้องมีการเก็บค่าใช้น้ำมัน ถ้าการกำหนดราคาเป็นไปโดยเหมาะสม เมื่อมีการใช้ทรัพยากรหมดเปลืองไป ราคาทรัพยากรนั้นจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้ลดลง นั่นคือระบบตลาดเสรีสามารถปรับแต่งจัดสรรการใช้ทรัพยากรโดยอัตโนมัติ ทำให้มีทรัพยากรเหลืออยู่เสมอในราคาที่สูงขึ้นสำหรับอนาคต

                   สำหรับทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น น้ำ และ สัตว์ป่า เพื่อความยั่งยืนเราจะต้องรักษาทุนไว้และใช้เพียงดอกเบี้ย ปลาปกติจะเพิ่มจำนวนขึ้น เราก็อาจจับเอามาเท่ากับส่วนที่เพิ่มตราบเท่าที่ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ยังคงเดิม ในทำนองเดียวกัน เราก็อาจตัดต้นไม้เอามาใช้ประโยชน์ตราบเท่าที่เราเชื่อฟังข้อบัญญัติของ John Locke ที่ให้มีไม้คุณภาพเดียวกันเหลือพอสำหรับผู้อื่น ความยั่งยืนนั้นเข้ากันได้กับระบบตลาดเสรีเมื่อผู้ก่อมลพิษชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายสำหรับการล่วงละเมิดและความเสียหาย

                “ประสิทธิภาพ ความเที่ยงธรรม ความยั่งยืน” เหมาะสำหรับทำสติ๊กเกอร์ติดท้ายรถ โปสเตอร์คำขวัญ และ เข็มกลัด เศรษฐศาสตร์ควรทำให้เป็นความจริงด้วยการเสนอเป้าหมาย 3 ประการนี้และรับรู้ว่าเป้าหมายเหล่านี้เข้ากันได้ ส่งเสริมกัน และเป็นไปได้ (feasible) เฉพาะกับระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีที่แท้เท่านั้น.

(จาก geocities.com/utopiathai)

คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 34002เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2006 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท