คนไทยกับความเสี่ยง


คนไทยเราเก่งกว่าที่คิด

        เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสนั่งรถผ่านเส้นทางที่มุ่งตรงไปยังอำเภอที่ห่างไกลตัวเมืองซัก 70 กิโลเมตร พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นอะไรแปลกๆที่ข้างทาง คิดว่าน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่บอกทางเข้าหมู่บ้าน เนื่องจากมันเป็นท่อนไม้เล็กๆสูงประมาณ 1-2 ฟุต ตอกเรียงอยู่ที่พื้นริมถนนห่างกันประมาณ 50 cm. มีเชือกขึงและมีถุงพลาสติกห้อยอยู่ระหว่างแต่ละท่อน เวลามองไปจะเห็นเป็นแนวยาว เมื่อถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านก็จะเว้นช่วงไว้ให้รถสามารถผ่านเข้าไปได้ แต่คิดอีกทีน่าจะเป็นอะไรที่มากกว่านั้น ด้วยความที่เห็นเราสงสัยมาก พี่คนขับรถจึงหันมาให้ความกระจ่างว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือ เขตแนวที่กั้นไม่ให้วัวควายของชาวบ้านเดินขึ้นมาบนถนน เพราะเดี๋ยวรถจะชนเอา ได้ยินเช่นนั้นก็ร้อง "อ๋อ" กันทั้งคันรถ แถมมีบางคำหลุดออกมาว่า "คิดได้ไงเนี่ย" หรือ "โอ้! ...มันยอดมากเลย" (เลียนแบบโฆษณาตามทีวี)

           พอมานั่งนึกดูอีกทีก็จะเห็นว่า คนไทยเราก็รู้จักความเสี่ยงมานานแล้วเหมือนกัน เรื่องนี้ก็เสี่ยงที่วัวควายจะถูกรถชน ซึ่งอาจจะส่งผลถึงชีวิตของทั้งวัวและคนในรถ (ข้อนี้มีประสบการณ์ตรงจากพี่ชายตัวเองแล้วครั้งนึง) หรือแม้แต่บางเรื่อง เช่น ทำไมคนโบราณถึงต้องรับประทานมังคุดตามหลังทุเรียน หรืออีกเรื่องที่เพิ่งได้ความรู้จากคุณหมอสมจิตต์ว่า เมื่อรับทานอาหารเผ็ดๆ เช่น น้ำพริกหรือแกงแล้ว คนสมัยก่อนจะทานขนมหวานที่มีส่วนผสมของกะทิตาม อาจจะเป็นข้าวเหนียวมะม่วง น้ำกะทิแตงไทย หรือลอดช่อง ซึ่งสามารถอธิบายได้โดยหลักวิทยาศาสตร์ได้ว่ากะทิจะไปทำละลายสาร Capsaicin จากพริกที่ Burn ลิ้นเราอยู่ ช่วยให้เราหายเผ็ดได้ และอีกหลายเรื่องที่เราก็ยังงงๆว่าทำไมคนสมัยก่อนจึงต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้

           สิ่งที่ชาวบ้านหรือคนสมัยก่อนทำก็คือการป้องกันสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดไม่อยากให้เกิด (วัวถูกรถชน) และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น (ร้อนในหรือเผ็ด) ถ้าเป็นสมัยนี้เราก็จะเรียกมันอย่างสวยหรูว่า "ความเสี่ยง" ซึ่งเราก็พยายามใช้หลากหลายวิธีในการค้นหา และบางครั้งก็ยังสงสัยอีกว่าสิ่งที่เจอเราเขียนนั้นใช่ความเสี่ยงหรือไม่ งงกันเข้าไปใหญ่ หากเราจะลองวางหลักการต่างๆแล้วกลับไปสู่ความเรียบง่ายเหมือนชาวบ้านหรือคนสมัยก่อนที่ไม่ต้องรู้อะไรมากมาย เราอาจจะได้คำตอบว่าอะไรคือความเสี่ยงของตัวเรา หน่วยงาน หรือองค์กรของเรา นอกจากนั้นการป้องกันหรือแก้ไขความเสี่ยงก็แสนจะง่ายดาย ตามวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่มีโดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมากมาย แค่นี้ก็จัดการกับความเสี่ยงได้อยู่หมัดแล้ว

        จริงๆแล้วคนไทยเราก็มีอะไรดีๆที่ไม่น้อยหน้าใครเหมือนกันนะคะ

                                                                                                     ปรียาภรณ์ ภู่ทอง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3393เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2005 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

เรื่องนี้ให้ข้อคิดอย่างน้อยสามเรื่องครับ

หนึ่ง เพียงเราตั้งใจค้นหาเราก็จะค้นพบ

สอง การเชื่อมโยงเรื่องที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน เป็นการฝึกสร้างร่องความคิดใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

สาม การสรุปแนวคิดหลักด้วยตัวเราเอง คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะมันจะเรียบง่าย อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และติดตัวเราไปได้นานกว่า

เวลาพูดถึงความเสี่ยง เราหมายถึงการเบี่ยงเบนไปจากความคาดหมาย

 P

เคยมีประสบการณ์เวลาไปเที่ยวค่ะ บางทีจะไดรับคำเตือนว่า.....

"เส้นทางท่องเที่ยวนี้อาจมีความเสี่ยง ผู้ที่จะเดินทางโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อทัวร์"

 ความเสี่ยงอย่างนี้ เป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรจะเสี่ยง เพราะได้ไม่คุ้มเสีย ได้เห็นสถานที่แปลกตา สวยงาม ได้ถ่ายรูปสวยๆ มาเป็นที่ระลึก แต่ต้องแลกด้วยชีวิต หรือการที่เกือบเอาชีวิตไม่รอด

การเลี่ยงความเสี่ยงเช่นนี้ ก้ไม่มีอะไรยุ่งยากเช่นกันค่ะ

เพียงแต่ ศึกษาหาข้อมูลดีๆ ให้ถูกต้องก่อนไป จะได้ไม่เสียใจ ไม่ต้องมีเทคนิคอะไรมาก 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท