การอ่านคำ


การอ่านคำชนิดต่าง ๆ

 

 

 

 

การอ่านคำ

            การอ่านคำ  มีความสำคัญต่อการแปลความหมายเป็นอย่างยิ่ง  ถ้าอ่านคำผิดก็แปลความหมายผิด  เป็นผลทำให้การสื่อความจากการอ่านไม่ตรงกับวัตถุประสงค์  จึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้หลักเกณฑ์ของการอ่านคำ  คำในภาษาไทยแบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ แต่ละชนิดมีหลักในการอ่านแตกต่างกัน เพื่อให้เข้าใจถึงการอ่านคำที่ถูกต้องชัดเจนจึงแบ่งแยกออกเป็นประเภทของการอ่านคำ ดังนี้

๑.    การอ่านอักษรควบ

คำที่มีพยัญชนะตัวหน้าเป็น  ก  ข   ค  ต   ป   ผ   พ  ควบกับ  ร  ล  ว   ออกเสียงควบกล้ำ

พยัญชนะทั้งสองตัว เรียกว่า  คำควบแท้  เช่น ไกว   ครู   ขลาด  ตรุษ   ปลาย    เผลอ   พลาด   ฯลฯ

        ตัวอย่าง  คำควบกล้ำจากคำประพันธ์

                                   

                                    เสียงตีกรับจากพลับพลาน่าสงสัย

                หรือว่าใครพร่ำเพรียกเรียกปลอบขวัญ

จึงหวะเพียงเสียงกลองคล้องชีวัน

พลิกแพลงพลันเผลอไผลให้พร้อมเพรียง

ช่างขวนขวายกลั่นกรองครอบครองพร้อม

คลายตรมตรอมเพลินใจใคร่ยินเสียง

ประสานรับแซ่ซ้องทำนองเคียง

เปรียบเทียบเพียงฟ้าประทานสำราญครัน

        คำที่มีพยัญชนะตัวหน้าเป็น  ช  ศ  ส  ควบกับ  ร  ออกเสียงเฉพาะ  พยัญชนะตัวหย้า  หรือพยัญชนะตัวหน้าเป็น  จ  ควบ  ร ในคำว่า  จริง  ก็ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะตัวหน้าเช่นกัน  หรือพยัญชนะตัวหน้าเป็น  ท ควบกับ   ร  ออกเสียง  ทร  เป็น  ซ   เรียกว่า  คำควบไม่แท้

 

            อ่านคำควบกล้ำจากตัวอย่างคำประพันธ์ต่อไปนี้

 

                    จริงไซร้ใจสร้อยเศร้า                           โศกซมเซมโทรมทรวดทรง

                        สร้างเสริมอินทรีย์สรง                       สระสนานสำราญกาย

                        สรวลสันต์สร้างหรรษา                      ชื่นชีวาเสร็จสมหมาย

                        ทรัพย์สินดุจดังทราย                        ย่อมเสื่อมสลายถ้าไม่ออม

                                                                       

                                             ******************

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

๒.   การอ่านคำที่มีอักษรนำ

๑)   คำที่มีพยัญชนะต้น  ๒   ตัว  ประสมสระเดียวกัน  ออกเสียงเป็น  ๒ พยางค์ 

พยางค์หน้าออกเสียงพยัญชนะตัวหน้าคล้ายประสมสระอะ ( ออกเสียง  อะ  เพียง  ครึ่งเดียว) พยางค์หลังออกเสียงพยัญชนะตัวที่สองประสมกับสระ และพยัญชนะสะกดตามที่ปรากฏ  โดยออกสียงวรรณยุกต์ตามเสียงพยัญชนะตัวหน้า  เช่น 

พยัญชนะตัวหน้าเป็นอักษรสูงนำพยัญชนะตัวหลัง  ง  น  ม   ย  ร   ล  ว  เช่น

สงบ           อ่านว่า             สะ -   หงบ       ไม่อ่านว่า         สะ  -  งบ

สนุก          อ่านว่า             สะ -  หนุก       ไม่อ่านว่า         สะ  -  นุก

สมอง         อ่านว่า             สะ  - หมอง      ไม่อ่านว่า         สะ  -  มอง

ขยาย       อ่านว่า             ขะ  -  หยาย      ไม่อ่านว่า         ขะ  -   ยาย

ฝรั่ง        อ่านว่า             ฝะ  -   หรั่ง       ไม่อ่านว่า         ฝะ  -   รัง

ฉลาด      อ่านว่า             ฉะ  -  หลาด     ไม่อ่านว่า         ฉะ  -  ลาด

ถวาย          อ่านว่า             ถะ  -   หวาย    ไม่อ่านว่า         ถะ  -   วาย

 

พยัญชนะตัวหน้าเป็นอักษรกลางนำพยัญชนะตัวหลัง  ง  น  ม  ร  ล  ว   เช่น

       

                  องุ่น           อ่านว่า         อะ -  หงุ่น        ไม่อ่านว่า         อะ  -  งุ่น

                  กนก          อ่านว่า             กะ  - หนก       ไม่อ่านว่า         กะ  -  นก

                  จมูก           อ่านว่า             จะ  -  หมูก       ไม่อ่านว่า         จะ  -  มูก

                  จริต           อ่านว่า             จะ  -  หริด       ไม่อ่านว่า         จะ  -  ริด

                  ตลก           อ่านว่า             ตะ  -  หลก      ไม่อ่านว่า         ตะ  -   ลก

                  ตวาด         อ่านว่า             ตะ  -   หวาด    ไม่อ่านว่า         ตะ  -  วาด

๒)   คำที่มีพยัญชนะต้น  ๒  ตัว  ประสมสระตัวเดียวกัน  พยัญชนะตัวหน้าเป็น  ห   พยัญชนะตัวหลังเป็นอักษรต่ำเดี่ยว   หรือพยัญชนะตัวหน้าเป็น  อ  พยัญชนะตัวหลังเป็น  ย  ออกเสียงพยางค์เดียว  ไม่ออกเสียง  ห  หรือ  อ  แต่เสียงวรรณยุกต์ของพยางค์เป็นไปตามเสียงตัว  ห  หรือ   อ  ที่นำ

            ห   นำ    เช่น   หวัง  ใหญ่   หนึ่ง   หมาย

                                    หยุด  หรือ   หลับ   ไหว้

            อ   นำ   ได้แก่  อย่า   อยู่   อย่าง   อยาก

คำที่ควรสังเกต

๑)     คำบางคำพยัญชนะตัวหน้าเป็นอักษรสูง  พยัญชนะตัวหลังเป็น  ม  ไม่อ่านออก

เสียงอย่างอักษรสูงนำ  เช่น

สมาธิ               อ่านว่า                         สะ – มา - ทิ

สมาทาน          อ่านว่า             สะ -  มา – ทาน

๒)   คำบางคำพยัญชนะตัวหน้าเป็นอักษรสูง  พยัญชนะตัวหลังเป็นอักษรกลางหรือ

อักษรต่ำคู่   ไม่อ่านอย่างอักษรสูงนำ   แต่อ่านเรียงพยางค์  เช่น

แสดง               อ่านว่า             สะ – แดง

ผกา                  อ่านว่า             ผะ -  กา

ไผท                 อ่านว่า             ผะ -  ไท

๓)    คำบางคำไม่มีอักษรนำ     แต่อ่านออกเสียงอย่างอักษรนำ  เช่น

ประโยชน์        อ่านว่า             ประ – โหยด

วาสนา             อ่านว่า             วาด – สะ – หนา

ริษยา                อ่านว่า             ริด -  สะ  -  ยา

ศักราช             อ่านว่า             สัก – กะ – หลาด

สิริ                    อ่านว่า             สิ – หริ

ประวัติ                        อ่านว่า             ประ – หวัด

ปริศนา             อ่านว่า             ปริด – สะ – หนา

ดิเรก                อ่านว่า             ดิ – เหรก

๓.๓.   การอ่านคำที่มีไม้ทัณฑฆาตกำกับ

            ๑)   ไม่ออกเสียงพยัญชนะที่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับ  ซึ่งพยัญชนะนั้น

อาจอยู่ท้ายคำหรือไม่ได้อยู่ท้ายคำก็ได้  เช่น

                        มโนราห์          อ่านว่า             มะ  - โน – รา

                        นักขัตฤกษ์      อ่านว่า             นัก  - ขัด  - ตะ – เริก

                        นาฏศิลป์          อ่านว่า             นาด  -  ตะ  - สิน

                        อิเล็กทรอนิกส์ อ่านว่า             อิ- เล็ก – ทรอ – นิก

                        อุตรดิตถ์          อ่านว่า             อุด – ตะ – ระ – ดิด

                        สาส์น               อ่านว่า             สาน

                        ปาล์ม               อ่านว่า             ปาม

                        คอนเสิร์ต         อ่านว่า             ค็อน – เสิด

๒)   ไม่ออกเสียงพยัญชนะที่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับ  และถ้ามีพยัญชนะซึ่งไม่ใช่ตัวสะกดอยู่ข้างหน้า  ก็ไม่ออกเสียงพยัญชนะที่อยู่ข้างหน้าด้วย  เช่น

                        พระอินทร์       อ่านว่า             พระ – อิน

                        นันท์น             อ่านว่า             นัน

                        ภูมิศาสตร์        อ่านว่า             พู –มิ – สาด

                        พระลักษมณ์    อ่านว่า             พระ – ลัก

            ๓)  ไม่ออกเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ที่มีสระและมีทัณฑฆาตกำกับ  เช่น

                        ลิขสิทธิ์            อ่านว่า             ลิก  - ขะ – สิด

                        บริสุทธิ์            อ่านว่า             บอ – ริ  - สุด

                        บาทบงสุ์          อ่านว่า             บาด  - ทะ – บง

                        กาฬสินธุ์          อ่านว่า             กา –ละ – สิน

๓.๔  อ่านคำที่ไม่ออกเสียงพยัญชนะและสระ

            ๑)   ไม่ออกเสียงตัว  ร  หรือตัว  ห  ซึ่งอู่กลางคำที่ไม่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับ  เช่น

                        ชลมารค          อ่านว่า             ชน – ละ  -มาก

                        ปรารถนา         อ่านว่า             ปราด – ถะ – หนา

                        พรหม              อ่านว่า             พรม

                        สามารถ           อ่านว่า             สา  -มาด

            ๒)   ไม่ออกเสียงตัว ร  ที่อยู่หลังพยัญชนะตัวสะกด  เช่น

                        กอปร               อ่านว่า             กอบ

                        เกษตร             อ่านว่า             กะ – เสด

                        มิตร                 อ่านว่า             มิด

                        สมัคร               อ่านว่า             สะ – หมัก

            ๓)   ไม่ออกเสียงสระ  ิ หรือสระ    ุ   ที่ใช้กำกับพยัญชนะตัวสะกดในคำบางคำ  เช่น

                        ญาติ                 อ่านว่า             ยาด

                        ภูมิใจ               อ่านว่า             พูม – ใจ

                        พยาธิ          อ่านว่า             พะ - ยาด

                        โลกนิติ                อ่านว่า             โลก – กะ -นิด

                        ธาตุ            อ่านว่า             ทาด

                        เหตุ            อ่านว่า             เหด

                        เมรุ                   อ่านว่า             เมน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 339235เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท