โวหารภาพพจน์


โวหารภาพพจน์

การใช้โวหารเป็นการพลิกแพลงใช้ภาษาให้แปลกออกไปจากปกติ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพ อารมณ์ ความรู้สึก การใช้โวหารนั้นมีหลายลักษณะ ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกกันว่า ภาพพจน์ ได้แก่

๑. อุปมา เป็นการเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง การปรียบเทียบแบบนี้จะมีคำว่า เหมือน เสมือน ดุจ ดั่ง เพียง ราว เล่ห์ เฉก พ่าง แม้น ปาน เช่น ปรากฏอยู่ เช่น

*ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้

ก็โลดจากคอกไป บ่ยอมอยู่ณที่ขัง

*ปางเมื่อท้าวเธอจะยกสองดรุณเรศผู้ลูกรัก ราวกะจะแขวะควักซึ่งดวงเนตรทั้งสองข้างวางไว้ในมือพราหมณ์

๒. อุปลักษณ์ เป็นการเปรียบสิ่งหนึ่ง เป็น หรือ คือ อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะละคำว่า เป็น และ คือ ก็ได้ เช่น

*เมื่อแรกเชื่อว่าเนื้อทับทิมแท้ มาแปรเป็นพลอยหุงไปเสียได้

*ทั้งแปดทิศก็มืดมนมัวทุกหนแห่ง ทั้งขอบฟ้าก็ดาษแดงเป็นสายเลือด ไม่เว้นวายหายเหือดเป็นลางร้ายไปรอบข้าง

๓. บุคคลวัต บุคคลสมมุติ หรือ บุคลาธิษฐาน เป็นการสมมุติสิ่งต่าง ๆ ให้มีกริยา อาการ ความรู้สึกต่าง ๆ เหมือนมนุษย์ เช่น

*เสียงซากอิฐปูนสะอื้นสะเทือนพื้นสุธาไหว

*น้ำเซาะหินรินรินหลากไหล ไม่หลับเลยชั่วฟ้าดินสลาย

๔. อติพจน์ อธิพจน์ หรือ อวพจน์ เป็นการกล่าวที่เกินจริงหรือน้อยกว่าจริง เพื่อเน้นอารมณ์ความรู้สึก เช่น

*จะว่าโศกโศกอะไรที่ในโลก ไม่เท่าโศกใจหนักเหมือนรักสมร

*จะว่าหนักหนักอะไรในดินดอน ถึงสิงขรก็ไม่หนักเหมือนรักกัน

๕. สัญลักษณ์และนามนัย

สัญลักษณ์ เป็นการใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณสมบัติบางอย่างร่วมกัน ทุกคนในสังคมรู้จักสิ่งที่เอามาเปรียบ เช่น

หงส์ - คนชั้นสูง กา - คนชั้นต่ำ

ภุมรา - ผู้ชาย ดอกไม้ - ผู้หญิง

นามนัย เป็นการใช้ชื่อส่วนประกอบที่เด่นของสิ่งหนึ่งแทนสิ่งนั้นทั้งหมด เช่น ฉัตร (เครื่องสูงชนิดหนึ่งใช้ประดับเกียรติยศของพระมหากษัตริย์)หมายถึง พระมหากษัตริย์

*ว่านครรามินทร์ ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร (หมายถึงแย่งชิงราชสมบัติ)

*แม่มาละสละเจ้าไว้เป็นกำพร้าทั้งสององค์ เสมือนหนึ่งลูกหงส์เหมราชปักษินทร์

๖. อุปมานิทัศน์ เป็นการใช้เรื่องราว หรือ นิทานประกอบเพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแนวคิด หลักธรรม ข้อควรปฏิบัติที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงผู้อ่าน เช่น

*พระคุณเอ่ย ถึงพระองค์จะสงสัยอันน้ำใจของข้านี้กตเวที เป็นไม้เท้าก้าวเข้าสู่ที่ทดแทน อุปมาแม้นเหมือนนางสีดาอันภักดีต่อสามีรามบัณฑิต

๗. สัทพจน์ เป็นการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงสัตว์ ลม ฝน ฟ้า น้ำ ดนตรี

* ครืนครืนใช่ฟ้าร้อง เรียมครวญ

หึ่งหึ่งใช่ลมหวน พี่ไห้

* เสด็จด่วนดะดุ่มเดินเมินมุ่งละเมาะไม้แล้วมองหมอบ แต่ย่างเหยียบเกรียบกรอบก็เหลียวหลัง พระโสตฟังให้หวาดแว่วว่าสำเนียงเสียงพระลูกแก้วเจ้าบ่นอยู่งึม ๆ


ทดสอบความเข้าใจ

๑. ข้อความต่อไปนี้ข้อใดไม่มีการใช้สัญลักษณ์ในการให้ความหมายแทนอีกสิ่งหนึ่ง

ก. เริ่มยินดีสีขาวพราวพิสุทธิ์

ข. ยิ่งโกมุทบานพ้นชลสาย

ค. แต่เนิ่นนานมือมารมากล้ำกราย

ง. ความเพริศพรายลดค่าราคาคน

เฉลย คำตอบที่ถูกคือ ข้อ ง ไม่มีสัญลักษณ์

สัญลักษณ์ในข้อ ก - ค ได้แก่

สีขาว - ความบริสุทธิ์

โกมุทบานพ้นชลสาย( บัวพ้นน้ำ ) - คนที่เฉลียวฉลาดสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

มือมาร - ผู้ที่ขัดขวางไม่ให้สำเร็จประโยชน์

๒. ข้อใดใช้ภาพพจน์ต่างชนิดจากข้ออื่น

ก. ขึ้นรถทรงรถทองผ่องพรรณ งามงอนอ่อนฉัน

เฉกนาคราชกำแหง

ข. ตายระดับทับกันดังฟอนฟาง เลือดนองท้องช้างเหลวไหล

ค. หวังเป็นเกือกทองรองบาทาพระผู้วงศ์เทวาอันปรากฏ

ง. เจ้างามเนตรประหนึ่งนัยนาทราย เจ้างามขนงก่งละม้ายคันศรทรง

เฉลย คำตอบที่ถูกคือ ข้อ ค ภาพพจน์อุปลักษณ์

ข้อ ก ข และ ง ภาพพจน์อุปมา มีคำแสดงความเปรียบเทียบคือ เฉก ดัง ประหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 338066เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

แวะมาเยี่ยม และ แวะมาเรียนรู้โวหารภาพพจน์ครับ

สอบ ไทย วันอาทิตย์ ครับ มีเวลาอ่าน อิอิ

มาแล้วครับ

ตามสัญญา.... วิชาแรกของวันเลย

  สวัสดีนะจ๊ะ วิศรุตและชลันธร

สอบ o-net ผ่านไปแล้ว  หวังว่านักเรียนคงจะเข้าใจครูดีขึ้นและเลิกตัดพ้อต่อว่าเรื่องข้อสอบยาก ข้อสอบเยอะ  แต่ครูก็ต้องขออภัยที่ข้อสอบปลายภาคที่จะสอบพรุ่งนี้ยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม  แต้ก็ไม่เกินความสามารถของนักเรียนหรอกจ้ะ

จะว่าโศกโศกอะไรที่ในโลก          ไม่เท่าโศกใจหนักเหมือนรักสมร

จะว่าหนักหนักอะไรในดินดอน       ถึงสิงขรก็ไม่หนักเหมือนรักกัน

  • มาจากวรรณกรรรมเรื่องอะไรคะ ไพเราะมาก

สวัสดีค่ะ  P  naree suwan

บทกลอนที่ยกมานั้นอยู่ในนิราศเดือน  ผลงานของนายมี (หมื่นพรหมสมภักสร) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้หนึ่งของสุนทรภู่  ได้รับยกย่องว่ามีฝีปากในทางกลอนใกล้เคียงกับสุนทรภู่  ประวัติของกวีผู้นี้ปรากฏอยู่ในคำนำหนังสือเรื่องเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานไว้ว่า "...นายมี  มหาดเล็กบุตรพระโหราธิบดี  เป็นมหาดเล็กช่างเขียน  เกิดเบื่อชีวิตช่างเห็นว่าตัวชำนาญในทางกลอน  จึงแต่งเพลงยาวทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นความสามารถในทางกวี  เพื่อจะทูลลาขอไปรับราชการเป็นอาลักษณ์  แต่จะสำเร็จดังความประสงค์หรือไม่นั้นหาปรากฏไม่  เข้าใจว่าไม่สำเร็จ ..."

ผลงานของนายมี (หมื่นพรหมสมภักสร) ได้แก่

๑.  นิราศสุพรรณ

๒.  นิราศถลาง

๓.  นิราศพระแท่นดงรัง

๔.  นิราศเดือน

๕.  กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

นิราศเดือนแต่งเล่าเรื่องประเพณีประจำเดือน  ลักษณะเดียวกับโคลงทวาทศมาส  แต่แต่งเป็นกลอน  นิราศเรื่องนี้นอกจากจะไพเราะในเชิงกลอนแล้ว  ยังให้ความรู้เกี่ยวกับประเพฯณ๊ในแต่ละเดือนในสมัยนั้นอีกด้วย

                                                       โอ้ฤดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์

พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน                   ได้ดูกันพิศวงเมื่อสงกรานต์

ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส                        อภิวาทพุทธรูปในวิหาร

ล้วนแต่งตั้งทั่วกันวันสงกรานต์              ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย

ที่เฒ่าแก่แม่หม้ายมิใคร่เที่ยว               สู้อดเปรี้ยวกินหวานลูกหลานหลาย

ที่กำดัดซัดสีสวยทั้งกาย                      เที่ยวถวายน้ำหอมน้อมศรัทธา

   จะเห็นว่าสำนวนกลอนของนายมีนั้น มีสัมผัสในลักษณะเดียวกับกลอนของสุนทรภู่  ทำให้บางคนเข้าใจว่านิราศเดือนและนิราศพระแท่นดงรังเป็นผลงานของสุนทรภู่

สวัสดีค่ะ ครูแป๊ว

ขอบคุณมากค่ะ  ช่วยฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยที่เกือบจะลืมไปเสียแล้ว

สวัสดีค่ะ  P  ครูต๋อย ภวิษ์พร

ยินดีต้อนรับคุณครูต๋อยในบล็อก "เติมความฟิต  พิชิตข้อสอบ" ค่ะ

โวหารมีแปดอย่างมิใช่หรือคะ ครูแป๊ว

สวัสดีค่ะ  คุณหนู ป๊อดดดดด...

   ครูไม่แน่ใจว่าคุณหนู  ป๊อดดดดด คือ อณุรัตน์  พงษ์พยัคฆ์  หรือที่ครูเรียกว่า เจนนี่ หรือเปล่า 

  โวหารภาพพจน์ที่ถามมานั้น  หนูเข้าใจถูกแล้วค่ะ  แต่ในที่นี้ครูได้รวม อติพจน์ กับ อวพจน์ เอาไว้ด้วยกัน  หากจะแยกออกมาเป็น อติพจน์ลักษณะหนึ่ง  อวพจน์อีกลักษณะหนึ่งก็ได้ค่ะ  ขอเพียงให้เข้าใจความแตกต่างก็พอแล้ว

ด.ญ.ปรียนิตย์ คงทิพานนท์

มีความรู้มาก มาก

ด.ญ.ปรียนิตย์ คงทิพานนท์

สวัสดีค่ะ ขอให้มีควาสุขค่ะ   จาก mint

สวัสดีค่ะ น้องปรียนิตย์ คงทิพานนท์

  ยินดีต้อนรับน้องปรียนิตย์ คงทิพานนท์ ใน"เติมความฟิต  พิชิตข้อสอบ" ค่ะ  หวังว่าบันทึกนี้คงทำให้ได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นตามวัตถุประสงค์ของบันทึกนะคะ

  ชื่อ ปรียนิตย์ ไพเราะมากค่ะ  ความหมายก็ดี ความงามตลอดกาล

เกรียงชัย วิไลเลิศ

สวัสดีครับ อ.กัลยาณี ผมเกรียงชัย วิไลเลิศ (หนุ่ม) ครับ ไม่ทราบว่า อ.จะจำได้หรือเปล่า

ผมเป็นลูกศิษย์ในที่ปรึกษาตอนอยู่ ม.4/6 เมื่อปีการศึกษา 2540 รุ่นที่มี อาร์ท ศุภชัย,หยู เกษม,สา สาคร,น้ำ อัมธิดา,ยม สาไมตรี,

ฝน วรุณศิริ อ.สบายดีไหมครับ ผมจบมา 10 กว่าปีแล้วไม่มีโอกาสเข้าไปหาเลย

ซึ่งตอนนี้รู้เลยว่าตอนที่ยังเรียนอยู่นั้นเป็นช่วงที่แสนสบายมาก

ตอนนี้ทำงานแล้วรู้สึกว่าเป็นช่วงที่เหนื่อยสุดๆเลยครับ

และพอโตขึ้นได้เห็นเด็กสมัยนี้แล้วรู้สึกปวดหัวมากๆ เลยทำให้รู้ว่าตอนที่เป็นนักเรียนนั้นสร้างความปวดหัวให้กับ

อ.หลายๆท่านขนาดไหน

สุดท้ายนี้ก็ขอให้ อ.กัลยาณีมีสุขภาพแข็งแรงนะครับ คอยสั่งสอนน้องๆให้โตขึ้นมาเป็นคนที่ดีของสังคมครับ ^_^

สวัสดีนะจ๊ะ เกรียงชัยและลูกศิษย์ 462540

  ดีใจมากค่ะที่ได้ต้อนรับลูกศิษย์ประจำชั้น  ครูยังระลึกถึงลูกศิษย์ทุกคนอยู่เสมอ 

  แม้จะเหนื่อยหนักแต่ก็ภูมิใจที่ได้คอยดูลูกศิษย์เติบโตมีอนาคตที่ดี  สมความตั้งใจของครู

 

ดีมากเลยครับ มาหาความรู้เรื่องโวหารภาพพจน์ครับ

น้ำใจของมัทรีนี้กตเวที เป็นไม้เท้าเก้าสู่ที่ทางทดแทน ใช้โวหารภาพพจน์ใดออะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท