ค่านิยม


ค่านิยมเป็นสิ่งที่เราคิดว่า เป็นความเชื่อถือ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่บุคคลในกลุ่มมีความเห็นเหมือน ๆ กัน

ความหมายของค่านิยม

            ตามความคิดเห็นของโรคีช (Rokeach อ้างถึงใน นวลศิริ เปาโรหิต, 2545 : 132) เห็นว่าเป็นความเชื่อที่มีลักษณะค่อนข้างถาวร และเชื่อว่าวิถีปฏิบัติบางอย่าง หรือเป้าหมายบางอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ตัวเองหรือสังคมเห็นสมควรที่จะยึดถือหรือปฏิบัติ ค่านิยมจึงเป็นความสำคัญที่บุคคลนั้นให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นมีคุณค่าพร้อมที่จะปฏิบัติตามความเชื่อนั้น ค่านิยมของแต่ละคนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับ ประสบการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน ค่านิยมที่เรายึดถือจึงแตกต่างกันไป แม้จะอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่ค่านิยมมีการเลียนแบบ เราจึงเห็นว่าบางคนมีค่านิยมที่คล้อยตามคนอื่น โดยเฉพาะบุคคลที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อความเชื่อ ความศรัทธาของเขา นอกจากนี้ค่านิยมมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงไปตามวุฒิภาวะและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

            โรคีชให้หลักการสำคัญว่า ค่านิยมมีองค์ประกอบ 5 ประการด้วยกัน คือ

            1. ค่านิยมเป็นสิ่งที่สืบเนื่องจากวัฒนธรรม สถาบันทางสังคม และบุคลิกภาพของกลุ่มคนในสังคมนั้น

            2. ในขณะเดียวกัน อิทธิพลของค่านิยมก็จะแสดงออกทางเจตคติและพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ทุกรูปแบบ

            3. ปริมาณของค่านิยมมีอยู่ไม่มากนักและอยู่ในข่ายที่จะรวมเป็นระบบและศึกษาได้

            4. ความแตกต่างของค่านิยมแสดงออกทางระดับมากกว่าทางอื่น

            5. ค่านิยมอาจรวมกันเข้าเป็นระบบค่านิยมได้

            นอกจากนี้ โรคีชยังได้อธิบายธรรมชาติของค่านิยมดังนี้

            1. ค่านิยมมีลักษณะสม่ำเสมอและคงที่ หมายถึง การไม่เปลี่ยนแปลงง่าย เป็นสาเหตุที่ทำให้บุคลิกภาพ ของกลุ่มคนในสังคมหนึ่งแตกต่างจากอีกสังคมหนึ่ง ทำให้เกิดลักษณะประจำกลุ่มหรือลักษณะประจำชาติ เป็นค่านิยมที่บุคคลจัดว่าสำคัญมาก เปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าค่านิยมที่มีความสำคัญน้อย การเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่เป็น ลักษณะชั่วครู่ชั่วยามตามอารมณ์ของบุคคล

            2. ค่านิยมมีลักษณะเปรียบเทียบระดับความสำคัญ ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมให้แก่นักเรียนจากการอบรม และเรียนรู้ แต่ละคนจะได้รับการเน้นถึงความสำคัญของค่านิยมแตกต่างกัน เช่น บางสังคมให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลา ในขณะที่อีกสังคมหนึ่งเห็นว่าสำคัญ แต่ยังรอง ๆ ลงไปกว่าความซื่อสัตย์ กตัญญู บุคคลเกิด การเปรียบเทียบระดับความสำคัญของค่านิยมต่าง ๆ จากประสบการณ์ที่เขาได้รับตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้ ที่จะแยกแยะพวกค่านิยมที่ได้รับการสั่งสอนมาอย่างเต็มที่แล้ว จัดเป็นระดับสูงต่ำรวมเข้าเป็นระบบซึ่งมีการเรียงลำดับความสำคัญมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด

            3. ค่านิยมมีลักษณะเป็นความเชื่อ โรคีชได้อธิบายว่า ค่านิยมเป็นความเชื่อ มี 3 รูปแบบ คือ

                3.1 ความเชื่อแบบพรรณนา (Descriptive Belief) ความเชื่อที่สามารถทดสอบได้ว่าถูกต้องหรือไม่

                3.2 ความเชื่อแบบประเมิน (Evaluative Belief) ความเชื่อที่ประเมินว่าสิ่งใดดีหรือไม่

                3.3 ความเชื่อแบบกำหนดการ (Prescriptive Belief) ความเชื่อที่มีทิศทางและเป้าหมายของการกระทำที่ถูกตัดสินว่าเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่

 

ประเภทของค่านิยม

            ค่านิยมตามแนวความคิดของสแปรงเกอร์ (Sprangers อ้างถึงในจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, 2549 : 254) แบ่งเป็น 6 ด้าน คือ

            1. ค่านิยมทางด้านทฤษฎี เป็นค่านิยมด้านการแสวงหาความรู้

            2. ค่านิยมทางด้านเศรษฐกิจ เป็นค่านิยมที่กระตุ้นให้บุคคลสะสมเงินทองมีฐานะมั่นคง

            3. ค่านิยมทางด้านการปกครอง ช่วยผลักดันให้บุคคลแสวงหาอำนาจทางการเมือง และสนใจการปกครองประเทศ

            4. ค่านิยมทางด้านสังคม เป็นค่านิยมที่บุคคลสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นและเข้าร่วมในสังคม

            5. ค่านิยมทางสุนทรียภาพ ช่วยให้บุคคลเกิดความพึงพอใจในประสบการณ์ที่เกิดจากความซาบซึ้งในศิลปะและดนตรี

            6. ค่านิยมทางด้านศาสนา ทำให้บุคคลปรารถนาที่จะนับถือและศรัทธาในศาสนา

            นอกจากจะมีการจำแนกค่านิยมออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี(2525 : 10) ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลในด้านการศึกษาของไทยในอดีต ได้จำแนกค่านิยมออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ คือ ค่านิยมพื้นฐานกับค่านิยมวิชาชีพ

            ค่านิยมพื้นฐาน เป็นค่านิยมที่ทุกคนในสังคมนั้น ๆ ต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดความผาสุกเกิดความเจริญมั่นคง สังคมได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น ทุกคนในสังคมปฏิบัติตามกฎระเบียบ เคารพกฎหมาย มีมารยาทดีต่อกัน ไม่เบียดเบียนกันด้วยคำพูดหรือการกระทำใด ๆ สังคมก็จะสงบสุข บ้านเมืองก็จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ค่านิยมประเภทนี้ ประกอบด้วย ศีลธรรม คุณธรรม ธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และกฎหมายต่าง ๆ สำหรับปกครองบ้านเมือง

            ค่านิยมวิชาชีพ คือ ค่านิยมที่บุคคลในอาชีพหรือวิชาชีพนั้นจะต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงาน ทำให้งานวิชาชีพมีความเจริญก้าวหน้า สังคมให้ความศรัทธาเลื่อมใส ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานนั้น ๆ ก็ได้รับการพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ค่านิยมประเภทนี้ประกอบด้วยอุดมการณ์วิชาชีพ วินัยวิชาชีพ มารยาททางวิชาชีพ และพระราชบัญญัติวิชาชีพ

 

การพัฒนาค่านิยม

            ค่านิยมเกิดจากประสบการณ์และการประเมินค่าของบุคคล ขณะเดียวกันก็มาจากความเชื่อและเจตคติ ส่วนประกอบที่สำคัญของพฤติกรรมที่แสดงว่าเกิดค่านิยมขึ้น ได้แก่ การเกิดแรงจูงใจ ไม่ได้เกิดจากความต้องการที่เชื่อฟังหรือปฏิบัติตาม แต่เกิดจากความชอบที่เกิดในตัวบุคคลที่มีค่านิยมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวนำให้เกิดการปฏิบัติการต่าง ๆ การเกิดค่านิยมมีพฤติกรรม 3 อย่าง คือ

            1. การยอมรับค่านิยม พฤติกรรมในขั้นแรกนี้ เป็นการลงความคิดเห็นว่า เหตุการณ์ สิ่งของ การกระทำเป็นสิ่งที่มีคุณค่า บุคคลมีความเชื่อซึ่งมีมากน้อยแตกต่างกันไป ความเชื่อนี้เป็นการยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะวัดและประเมินสิ่งนั้น

            2. ความชอบในค่านิยม พฤติกรรมความชอบแทรกอยู่ระหว่างการยอมรับ การเกิดค่านิยมและความรู้สึกถูกผูกมัดอยู่กับค่านิยมนั้น ความชอบนี้ประเมินจากทั้งตนเองและจากบุคคลข้างเคียงด้วยว่าเขามีค่านิยมในสิ่งนั้น

            3. การผูกมัด เป็นขั้นที่มีความเชื่อมั่นว่ายอมรับค่านิยม เช่น การเคารพผู้ใหญ่ การแสดงความอ่อนน้อม ซึ่งบ่งบอกว่าเขามีค่านิยมในสิ่งนั้น

            ค่านิยมในแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป บุคคลเดียวกันมีค่านิยมหลาย ๆ อย่าง เราสามารถจัดให้เป็นระบบ โดยการเข้ากลุ่มกัน สร้างแนวคิดเกี่ยวกับค่านิยม และจัดระบบค่านิยม เป็นการเรียงลำดับโดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของค่านิยมนั้น ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดปรัชญาชีวิตของเรา อาจเป็นเป้าหมายในอุดมการณ์ของชีวิตเป็นการแสดงลักษณะค่านิยม ความยึดถือ และพฤติกรรมต่อมาก็คือ การปฏิบัติซึ่งสังเกตจากพฤติกรรมภายนอกในสถานการณ์หนึ่ง บางครั้งเป็นพฤติกรรมภายในที่ไม่ได้นำไปปฏิบัติก็ได้

            การพิจารณาว่าคุณลักษณะใดเป็นค่านิยมหรือไม่ (Rath and others อ้างถึงใน จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, 2549: 215) ได้พิจารณาตามเกณฑ์ต่อไปนี้

            1. การเลือก

                1.1 เป็นการเลือกอย่างเสรี หากมีการบังคับให้เราจำต้องเลือกค่านิยมแล้ว เรียกว่าเป็นค่านิยมที่แท้จริงไม่ได้

                1.2 เป็นการเลือกจากค่านิยมหลาย ๆ ประการ เราสามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติของค่านิยมต่าง ๆ ได้

                1.3 เลือกหลังจากได้พิจารณาผลต่อเนื่อง อันเกิดจากการปฏิบัติตามค่านิยมแต่ละอย่างแล้ว

            2. การเทิดทูน

                2.1 รักษาค่านิยมที่เลือกแล้วและมีความพึงพอใจในค่านิยมนั้น

                2.2 พร้อมที่จะยืนหยัดในค่านิยมนั้นอย่างแท้จริง

            3. การกระทำ

                3.1 กระทำตามค่านิยมนั้นตามที่ได้ยึดถือ

                3.2 การกระทำเป็นประจำจนเป็นแนวทางของการดำเนินชีวิต

            ตามคุณลักษณะทั้ง 3 ขั้นตอนนี้มีความสัมพันธ์กับค่านิยมที่แต่ละบุคคลยึดถืออยู่อย่างเหนียวแน่น และ นำมาใช้เป็นแนวทางพัฒนาค่านิยมที่บุคคลนั้นมีอยู่ โดยคำนึงความรู้สึก ความคิด ความต้องการ การกระทำและ ความผสมผสานเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน

            ค่านิยมที่ผู้นำควรนิยม คือ ค่านิยมที่นักปราชญ์หรือบัณฑิตและสังคมส่วนใหญ่นิยมยกย่องว่าดี หากนำมา ประพฤติปฏิบัติแล้วจะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ตนเองและชาติบ้านเมือง (ยนต์ ชุ่มจิต, 2550 : 201) ตัวอย่างเช่น

            1. การพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ

            2. การประหยัดและอดออม

            3. การมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย

            4. การปฏิบัติตามศีล 5 (หรือข้อกำหนดในศาสนาที่ตนนับถือ)

            5. ความซื่อสัตย์สุจริต

            6. ความยุติธรรม

            7. การรักษาสุขภาพอนามัยให้สมบูรณ์

            8. ความนิยมไทย

            9. การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมไทย

            10. การหมั่นศึกษาหาความรู้ในวิชาชีพและความรู้ทั่วไป

            11. ความสันโดษ

            12. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

            13. ความสุภาพนอบน้อม

            14. การรักษาอุดมการณ์ในวิชาชีพ

            15. การยึดมั่นในคำสอนของศาสนา

            16. ความเสียสละ

            17. ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและสิ่งแวดล้อมที่ให้ประโยชน์

            18. ความเมตตากรุณา

            19. ความกล้าหาญอย่างสมเหตุสมผล

            20. ความสามัคคี

            21. การยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ผู้นำกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจตคติและค่านิยมในหน่วยงาน

            เจตคติเป็นแนวโน้มที่เราตอบสนองต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ส่วนค่านิยมเป็นสิ่งที่เราคิดว่า เป็นความเชื่อถือ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่บุคคลในกลุ่มมีความเห็นเหมือน ๆ กัน เช่น สังคมที่มีความเจริญทางวัตถุ คนมองเห็นว่าเงินและอำนาจเป็นค่านิยม อาจจะแตกต่างกับค่านิยมของบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นเรื่องของน้ำใจ คุณธรรมเป็นค่านิยมที่สำคัญกว่า โดยทั่วไปแล้ว เจตคติและค่านิยมมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก จนบางครั้งก็ยากที่จะแสดงออกให้เห็นความแตกต่างที่เด่นชัด การเปลี่ยนแปลงเจตคติทำได้โดยง่ายกับเจตคติที่ไม่ซับซ้อนและมีทิศทางเดียวกันการสร้างเจตคติเน้นสิ่งจำเป็นในด้านการบริหารงานบุคคล ถ้าบุคคลมีเจตคติที่ดีต่องาน ถ้าผู้นำมีเจตคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อหน่วยงานที่ปฏิบัติ ก็จะเกิดความผูกพันกับองค์การและสามารถอยู่ในองค์การได้อย่างมีความสุข

 

 

หมายเลขบันทึก: 337835เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท