ถอดบทเรียนผู้บริหารต้นแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ (๑)


อาจารย์จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ผู้บริหารต้นแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา( สกศ.)

ปฐมบทแห่งการเป็นผู้บริหาร
               สุภาพสตรีร่างเล็กสมส่วนแม้อายุจะล่วงเลยมาเกินกว่า ๗๐ ปีแล้ว วันนี้บุคลิกลักษณะของท่านยังสง่างาม กระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงว่องไวทั้งการเดินเหินและความคิด จนบางคนคิดว่าอายุไม่น่าจะถึงเจ็ดสิบ

             เมื่อเอ่ยชื่อ "อาจารย์จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์" จะเป็นที่รู้จักกันของคนในวงการการศึกษา  แต่คนอยุธยาเรียกท่านว่า "อาจารย์แม่" ปัจจุบันท่านเป็นประธานบริษัทจิระศาสตร์วิทยาเพื่อการศึกษา (จำกัด)อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั่นก็คือเป็นผู้บริหารโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยานั่นเอง

           ก่อนที่ท่านจะเข้าสู่วงการครูและมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษานั่นในวัยศึกษาเล่าเรียนอาจารย์จิระพันธุ์ เคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีวิทยา จบม.๘ สอบเข้าเรียนต่อ ปม.(แผนกอักษรศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบแล้วไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ ระหว่างเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่นั่นได้ไปเรียนต่อ กศ.บ.(ภาคค่ำ)ที่ มศว.ประสานมิตร จบแล้วย้ายมาสอนที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย (ประจำจังหวัดชาย) สอนอยู่ไม่นานได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโท (บริหารการศึกษา) ที่มหาวิทยาลัยอลาบามา ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียน ๒ ปีพอมีเวลาปีสุดท้ายลงเรียนปริญญาเอกได้ ๓๖ หน่วยกิตบังเอิญ ครบกำหนดรับทุน ๒ ปี อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา (ขณะนั้นคือ ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์) เรียกตัวกลับ จึงได้เพียงปริญญาโทกลับมาพร้อมกับประกาศนียบัตรผู้เชียวชาญด้านการสอนระดับปฐมวัย

           ระหว่างที่กลับมาสอนหนังสืออยู่ที่อยุธยาวิทยาลัย ได้ทำหน้าที่ครูประจำชั้น มีลูกศิษย์ลูกหาได้ดิบได้ดีหลายคน เช่น
          - ปราจิณ  ทรงเผ่า (นักดนตรีที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว) สมัยที่ปราจิณ เรียน ม.ปลาย เขาเป็นคนสนใจดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ ช่วงพักกลางวันครูจิระพันธุ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาชมรมดนตรี จะให้นักเรียนเปิดเวทีแสดงดนตรี บังเอิญปราจิณ ได้เล่นดนตรีเพื่อชีวิตและมีเนื้อเพลงที่ค่อนข้างเน้นไปทางการเมืองจึงถูกผู้บริหารโรงเรียนสั่งงดแสดง
          - ปราโมทย์ ทัศนสุวรรณ (อดีตบรรณาธิการวารสาร อสท.)เป็นลูกศิษย์ของครูจิระพันธุ์ อีกคนหนึ่ง คนนี้ชอบขีดเขียนหนังสือ สารคดีนำเที่ยว วันหนึ่งปราโมทย์ กับเพื่อนๆได้ทำหนังสือพิมพ์กำแพง (ติดตามกำแพงโรงเรียน) เนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์มีข้อความและวาดภาพล้อการเมือง บังเอิญภาพไปสอดคล้องกับครูสรีท่านหนึ่งหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกันกับภาพวาด ครูสตรีท่านนั้นไปฟ้องผู้บริหาร ทำให้ถูกสั่งงดทำหนังสือพิมพ์กำแพงในเวลาต่อมา
           กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั้งสองกรณีมีคุณครูจิระพันธุ์ เป็นที่ปรึกษา ดังนั้นจึงโดนผู้บริหารเล่นงานด้วย หาว่าไม่ดูและ แนะนำนักเรียน

           นอกจากครูจิระพันธุ์ จะทำหน้าที่ครูประจำชั้นแล้วยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการ เนื่องจากสำเร็จการศึกษาปริญญาโทมาจากเมืองนอกมาเป็นคนแรกๆของจังหวัดฯ และเป็นข้าราชการชั้นเอก จึงได้รับมอบหมายงานจากผู้บริหารให้รับผิดชอบหลายเรื่องทั้งงานโรงเรียนและงานของจังหวัด โดยทำหน้าที่เป็นเลขานุการเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาตั้งแต่ ปี ๒๕๐๒ มาจนถึงปัจจุบัน (ปี ๒๕๔๙)
          การที่ได้ทำงานในสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้เป็นที่ไว้วางใจของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ  ด้วยการที่ครู    จิระพันธุ์ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงในการทำงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสมัยนั้น คือ พันตำรวจเอกเนื่อง รายะนาค จึงได้เอ่ยปากถามว่า "ครูอยากทำโรงเรียนไหม ผมจะหาที่ทางให้จะเอากี่ไร่"  ครูจิระพันธุ์ กลับไปคิดทบทวนหลายวัน สุดท้ายจึงตัดสินใจว่าจะตั้งโรงเรียนเอกชนเล็กๆ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ขอเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ใกล้จวนผู้ว่าฯ (บริเวณที่อยู่ปัจจุบัน) สมัยนั้นผู้ว่าฯค่อนข้างมีอำนาจวาสนา ได้ให้รถแทรกเตอร์มาเกรดปรับที่ ขณะนั้น ปี ๒๕๐๒ ครูจิระพันธุ์ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวหลังคามุงจาก มีนักเรียน ม.๑ มาเรียน ๑๘๐ คน ครู ๘ คน  และจ้างครูใหญ่บริหารงานโรงเรียน กิจการโรงเรียนได้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับจนกระทั่งปี ๒๕๑๒ มีนักเรียน ๗๕๐ คน ครูจิระพันธุ์ ได้ลาออกจากราชการ มาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเต็มตัว ในช่วงเริ่มต้นด้วยความที่เคยเป็นข้าราชการ ได้นำเอาระบบการทำงาน การสั่งการแบบราชการมาใช้ในโรงเรียน ปรากฏว่าครูลาออกหลายคนและจำนวนนักเรียนลดลง จาก ๗๐๐ เหลือ ๕๐๐ คน ทำให้ครูจิระพันธุ์ กลุ้มใจและเป็นทุกข์มากถึงขนาดกินยานอนหลับทุกชนิดก็ยังแก้ปัญหาไม่ตก

              วันหนึ่งเพื่อนเก่าสตรีวิทย์ ไปทำงานธนาคารที่ชลบุรีโทรมาหาชวนไปพักผ่อนที่พัทยา และให้ลองไปฟังการบรรยายเรื่องคิวซีซี (Quality Cotrol Circle) กลับมาถึงโรงเรียนได้แง่คิดใหม่ว่า ต่อจากนี้ไปจะไม่บริหารสั่งการคนเดียวและจะให้โอกาสคุณครูในโรงเรียนมีส่วน "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมพัฒนา" ดังนั้น ปี ๒๕๑๗ จึงได้เริ่มให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานโรงเรียน ให้ชื่อว่า "คณะกรรมการสภาครู" ซึ่งเป็นตัวแทนครูที่ได้รับเลือกตั้งจากเพื่อนครูทุกระดับ จำนวน ๙ คน เข้ามาทำหน้าที่บริหารงานโรงเรียนและดูแลการดำเนินงานของกรรมการ ๗ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายวิชาการ กิจการนักเรียน บุคลากร อาคารสถานที่ บริการ ธุรการ-การเงิน และฝ่ายความสัมพันธ์กับชุมชน  ผลจากการดำเนินงานทำให้กิจการของโรงเรียนเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ โรงเรียนได้ขยายพื้นที่จากเดิมเป็น ๑๐ ไร่ ได้สร้างอาคารเรียน อาคารประกอบที่ได้มาตรฐาน ๙ หลัง เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นนับพันคน  จนกระทั่งปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอนระดับอนุบาล ถึง ม.๓ มีนักเรียน ๔๖๓๕ คน ครูอาจารย์และพนักงานกว่า ๓๐๐ คน รถรับ-ส่งนักเรียน ๓๖ คัน

แนวคิดวิธีการในการทำงาน
           กล่าวได้ว่าความสำเร็จในการบริหารงานโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา กว่าจะมาถึงวันนี้มีทั้งความล้มเหลวที่เป็นบทเรียน ปรับเปลี่ยนมาเป็นความสำเร็จ คงจะต้องมีเคล็ดลับอะไรบางอย่าง  ฉะนั้นเพื่อที่จะได้เรียนรู้แนวทางการบริหารงานของท่าน กรุณาติดตามตอนต่อไปครับ



 

หมายเลขบันทึก: 33780เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2006 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้แนวคิดการบริหารจากข้อมูลนี้มาก  ขอบคุณค่ะ

ไม่ทราบว่าใบสมัครสอบเข้าม.1ที่อ.ย.ว ยังขายอยู่หรือเปล่าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท