แนวคิดเกี่ยวกับสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ (ตอนที่ ๒) ความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง


ในความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ มีความเป็นไปได้ใน ๒ ทิศทาง กล่าวคือ ทิศทางของการจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรใหม่ และ ในทิศทางของการพัฒนาต่อเติมจากองค์กรหรือสถาบันวิชาการที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งในการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันวิชาการดังกล่าว จะจัดตั้งขึ้นรูปแบบของการจัดตั้งขึ้นใหม่ และพัฒนาต่อเติมจากองค์กรเดิมที่มีอยู่ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นเร่งด่วน และความเป็นไปได้ของงบประมาณในการจัดตั้ง

ความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสถาบันวิชาการเพื่อการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ ฯ

ความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสถาบันวิชาการ

       ในความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ มีความเป็นไปได้ใน ๒ ทิศทาง กล่าวคือ ทิศทางของการจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรใหม่ และ ในทิศทางของการพัฒนาต่อเติมจากองค์กรหรือสถาบันวิชาการที่มีอยู่ในสังคมไทย            ซึ่งในการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันวิชาการดังกล่าว จะจัดตั้งขึ้นรูปแบบของการจัดตั้งขึ้นใหม่ และพัฒนาต่อเติมจากองค์กรเดิมที่มีอยู่ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นเร่งด่วน และความเป็นไปได้ของงบประมาณในการจัดตั้ง            หากพิจารณาจากสองส่วนดังกล่าวประกอบกัน พบว่า ในกรณีของความจำเป็นนั้นเพื่อให้การพัฒนารายการโทรทัศน์โดยองค์กรวิชาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับความเป็นไปได้ของการระดมเงินทุน การพัฒนาต่อเติมจากองค์กรหรือสถาบันวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการและด้านพัฒนาการเด็ก หรือจิตวิทยาเด็ก จึงมีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งมากกว่า การจัดตั้งเป็นองค์กรขึ้นใหม่ต่างหาก

ความเป็นไปได้ในทางกฎหมายในการจัดตั้ง           

         รูปแบบของการจัดตั้งเป็นองค์กรของรัฐ            อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งสำหรับรูปแบบการบริหารจัดการผ่านองค์กรของรัฐก็คือ ความล่าช้าของระบบการตัดสินใจที่มีกระบวนการค่อนข้างยุ่งยากและหลายขั้นตอน แต่ในขณะเดียวกัน การบริหารงานวิชาการในรูปแบบของงานวิจัยและพัฒนาจำเป็นที่จะต้องมีความรวดเร็ว ต่อเนื่อง ดังนั้น จากความติดขัดในระบบการบริหารงานราชการจึงอาจจะไม่ใช่ทางออกของการพัฒนาต่อเติมองค์กรของรัฐเพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันทางวิชาการในการพัฒนารายการโทรทัศน์ฯ           

รูปแบบของการจัดตั้งผ่านองค์กรวิชาการต่างๆที่มีอยู่           

           ในขณะเดียวกันทางเลือกสำหรับการพัฒนาต่อเติมองค์กรวิชาการ หรือสถาบันวิจัยเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะมีความรวดเร็ว ซึ่งในการพิจารณาที่จะต่อเติมจากสถาบันทางวิชาการที่มีอยู่จำเป็นต้องคำนึงพื้นฐานงานด้านวิชาการที่มีอยู่ ทั้งในแง่ของพฤติกรรม พัฒนาการด้านเด็ก เยาวชน ด้านจิตวิทยาเด็ก ตลอดจน งานพื้นฐานด้านวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน ซึ่งจะช่วยให้ความพร้อมในการทำงานด้านงานวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว  

รูปแบบของการจัดตั้งแบบองค์กรภาคประชาชนในรูปแบบมูนิธิ           

      ปัญหาหรืออุปสรรคสำคัญในการจัดตั้งองค์กรวิจัยในรูปแบบขององค์กรภาคประชาชนในรูปของมูลนิธิ ก็คือ การจัดหาเงินทุน ในขณะที่ ความจำเป็นเร่งด่วนและความเป็นไปได้ในการระดมทุนเพื่อจัดตั้งองค์กรวิชาการในรูปแบบของมูลนิธิ อาจทำให้การจัดตั้งต้องขยายระยะเวลาออกไป มีผลต่อ ความเร่งด่วนในการที่จะต้องสร้างสถาบันวิชาการเพื่อรองรับต่อระบบการพัฒนารายการโทรทัศน์ฯ           

รูปแบบของการจัดตั้งแบบองค์กรภาคเอกชน            

       การจัดตั้งในรูปแบบขององค์กรภาคธุรกิจ หรือการพัฒนาต่อเติมจากองค์กรภาคธุรกิจ เป็นลักษณะของการประกอบการเพื่อแสวงหากำไร อีกทั้ง งานในส่วนของภาคธุรกิจเน้นหนักที่กระบวนการพัฒนาด้านการแสดง ไม่ได้เน้นการพัฒนาในงานวิชาการเป็นหลัก ดังเช่น ในกรณีของโรงเรียนสอนการแสดง ในเครือของบริษัทบีอีซี จำกัด หรือ โรงเรียนสอนทักษะด้านการบริหารงานสถานี ของ บริษัท กันตนา จำกัด ดังนั้น ภาพลักษณ์ขององค์กรวิชาการ องค์กรด้านงานวิจัยและพัฒนา จะถูกมองว่าไม่ได้เป็นกลาง  จะส่งผลต่องานความน่าเชื่อถือของงานวิชาการที่ผลิตจากสถาบันวิชาการดังกล่าวออกสู่สังคม ดังนั้น ความเป็นไปได้ของการพัฒนาต่อเติมจากองค์กรภาคธุรกิจจึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยกว่าในรูปแบบอื่น

รูปแบบการจัดตั้งองค์กรมหาชนอิสระ           

        การจัดตั้งองค์กรมหาชน เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการจัดตั้งองค์กรภายใต้ความเป็นชอบของรัฐบาล กล่าวคือ   เมื่อรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ และมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่แตกต่างไปจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในการจัดตั้งองค์กรมหาชนอิสระนั้น มีความมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

        โดยที่กิจการอันเป็นบริการสาธารณะที่จะจัดตั้งองค์การมหาชน ได้แก่การรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา การศึกษาอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การพัฒนาและส่งเสริมการกีฬา การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย การถ่ายทอดและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ การอำนวยบริการแก่ประชาชน หรือการดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ โดยต้องไม่เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก

         ดังจะเห็นได้จาก สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งล้วนแต่เป็นการัดตั้งองค์กรมหาชนอิสระแต่ในขณะเดียวกัน พบว่า โดยผลของมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรมหาชน พ.ศ.๒๕๔๒ นี้เอง ที่ทำให้ การบริหารจัดการโดยประธานกรรมการและคณะกรรมการนั้นถูกแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

       และถึงแม้ ระบบการบริหารจะมีความรวดเร็วกว่าระบบราชการเพราะลักษณะของการบริหารจัดการนั้นถูกแยกต่างหากจากระบบราชการ แต่อย่างไรก็ตาม โดยที่ ผู้บริหารมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น นโยบายหรือประเด็นหลักในการทำงานจึงอาจจะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายแห่งรัฐ ทำให้องค์กรส่วนใหญ่จึงขาดความเป็นอิสระและความต่อเนื่องในประเด็นของการทำงาน

ความเป็นไปได้ในการบริหารองค์กรในรูปแบบของ SDU (Service Delivery Unit)           

       การบริหารองค์กรเป็นอีกหนึ่งความสำคัญในการขับเคลื่อนงานขององค์กร เนื่องจาก งานของสถาบันวิชาการในการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวเน้นหนักในด้านการแสวงหาองค์ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ อีกทั้งขับเคลื่อนงานความรู้สู่สังคม ดังนั้น การบริหารงานที่มีความรวดเร็วเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้งานความรู้ได้ถูกขับเคลื่อนไปยังสังคมได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง           

         อีกทั้ง สถาบันดังกล่าวจะเป็นองค์กรพื้นฐานงานด้านวิชาการให้กับองค์กรในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ นั่นก็คือ กสช หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่องานความรู้เข้ากับงานด้านการบริหารกิจการกระจาเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนั้น องค์กรวิชาการดังกล่าวจะต้องมีระบบการบริหารจัดการเป็นอิสระจากการแทรกแซงจากหน่วยงานต่างๆ           

         และหลังจากที่มีปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานภายในองค์กรของรัฐไปสู่รูปแบบของการบริหารแบบ SDU หรือ Sevice Delivery Unit ซึ่งเป็นรูปแบบของการบริหารที่เน้นความรวดเร็วและความสะดวกมากขึ้น อีกทั้งในส่วนของผู้บริหารเองจะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ เพราะกรรมการบริหารนโยบายจะต้องปฏิบัติงานโดยยึดติดกับระบบราชการน้อยลง

ความเป็นไปได้ในทางกฎหมาย นโยบายในการจัดตั้ง           

          ในบรรดารูปแบบกฎหมายในการจัดตั้งองค์กร พบว่า กฎหมายในการจัดตั้งขึ้นอยู่กับรูปแบบของการจัดตั้งองค์กร กล่าวคือ หากเป็นการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบของภาคธุรกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่จะจัดตั้งในรูปแบบของบริษัท ห้างหุ้นส่วน ในขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบของมูลนิธิ            ซึ่งในส่วนของ รูปแบบของการจัดตั้งโดยองค์กรของรัฐ พบว่า ในการจัดตั้งในระดับกฎหมายพระราชบัญญัติ มีความเป็นเสถียรภาพสูง แต่ในขณะเดียวกัน ความล่าช้าในการจัดตั้งอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานเพื่อการพัฒนาสถาบันวิชาการให้ล่าช้าออกไปได้           

          ในขณะที่ การจัดตั้งในรูปแบบขององค์การมหาชน ซึ่งอาศัย การจัดตั้งผ่านพระราชกฤษฎีกา ซี่งมีความรวดเร็วกว่าการจัดตั้งในระดับพระราชบัญญัติ แต่เนื่องจากการติดขัดในระบบการบริหารที่เน้นกลไกการบริหารแบบภาครัฐ ทำให้ การจัดตั้งในรูปแบบขององค์การมหาชนผ่านพระราชกฤษฎีกาจึงอาจจะยังไม่ใช่ทางออกสำหรับการจัดตั้งสถาบันฯ           

          และสำหรับ การต่อเติมหรือพัฒนาจากสถาบันวิชาการที่มีอยู่ ซึ่งหากพิจารณาที่สถาบันวิชาการในรูปแบบของมหาวิทยาลัยของรัฐ การอาศัยพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการให้สถาบันวิชาการดังกล่าวทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ด้วยเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีความรวดเร็ว และสามารถมีงบประมาณในการทำงานได้โดยไม่ชักช้า

ความเป็นไปได้ของเงินทุนในการบริหารองค์กร           

      เพื่อให้สถาบันวิชาการดังกล่าวทำงานในการแสวงหาองค์ความรู้ พัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจน การขับเคลื่นองค์ความรู้ ได้โดยไม่ชักช้า ความเป็นไปได้ในการต่อเติมพัฒนาสถาบันดังกล่าวขึ้นจากสถาบันวิชาการที่มีอยู่แล้ว โดยหากเป็นสถาบันวิชาการในรูปของมหาวิทยาลัยของรัฐ การจัดสรรงบประมาณเบื้องต้นในการทำงานเชิงวิจัยและพัฒนาจึงเป็นกระบวนการที่สามารถทำการได้เลย  อีกทั้งการระดมทุนในการทำงานจากองค์กรสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อที่จะเป็นทุนในการทำงานวิจัยและพัฒนาในระยะแรก จะทำให้งบประมาณและผลลัพธ์ของการทำงานในงานความรู้ และการขับเคลื่อนความรู้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว          

      ดังเช่น ในกรณีของชุดโครงการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวหรือ Tv4Kids ที่มีการสนับสุนนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.  และ ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรมในการพัฒนาระบบการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ ฯ ตลอดจน โอกาสที่จะได้รับงบประมาณจากยูนิเซฟเพื่อใช้ในการจัดทำงานวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ ฯ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการระดมทุนเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ฯ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาภาพรวมของระบบและโครงสร้าง             

         ดังนั้น รูปแบบของการสนับสนุนทุนในรูปของงประมาณประจำปีจากภาครัฐ และการระดมทุนจากองค์กรสนับสนุนด้านทุน จึงเป็นรูปแบบที่น่าสนใจในการจัดสรรงบประมาณในการทำงานของสถาบันวิชาการ

หมายเลขบันทึก: 33772เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2006 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท