แนวคิดเกี่ยวกับสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ในสังคมไทย (ตอนที่ ๑) จำเป็นหรือไม่ แล้วมีหรือไม่


ที่ผ่านมา ความพยายามในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ไม่อาจมี คุณภาพที่ดีขึ้น เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ทั้งในส่วนของการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการพื้นฐานทางวิชาการในการผลิตรายการโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพัฒนาการเด็ก จิตวิทยาเด็ก รวมตลอดถึง การที่ไม่มีหลักสูตรการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ฯ ทำให้รายการโทรทัศน์ไม่อาจตอบโจทย์ด้านการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ

แนวคิดเกี่ยวกับสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ จำเป็นหรือไม่ในสังคมไทย

       หลังจากที่โทรทัศน์หรือวิทยุโทรภาพในยุคเริ่มต้นเริ่มต้นแพร่ภาพเมื่อ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2498  ที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นต้นมา โทรทัศน์ได้กลายเป็นหน้าต่างบานแรกของการศึกษาและเรียนรู้โลกและชีวิตของมนุษย์ในสังคมไทยตลอดมาเป็นเวลากว่า 50 ปี แล้วแต่ทว่า เมื่อกล่าวถึง รายการโทรทัศน์ที่เข้าไปมีส่วนในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว แล้ว กลับพบว่า รายการโทรทัศน์ประเภทดังกล่าวมีจำนวนลดลง  โดยในปี พ.ศ.2546 มีรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ลดลงจากปี พ.ศ.2536 ถึง 4.75 % 

         ประกอบกับ หลังจากที่มีการศึกษาวิจัยของคณะทำงานโครงการสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ จนกระทั่งได้กลายเป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสื่อของรัฐเพื่อการศึกษา เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2546 และต่อเนื่องจนกลายมาเป็น มติคณะรัฐมนตรี ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ในการใช้สื่อของรัฐเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่ผ่านมา ความพยายามในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ไม่อาจมี คุณภาพที่ดีขึ้น เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ทั้งในส่วนของการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการพื้นฐานทางวิชาการในการผลิตรายการโทรทัศน์

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพัฒนาการเด็ก จิตวิทยาเด็ก รวมตลอดถึง การที่ไม่มีหลักสูตรการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ฯ ทำให้รายการโทรทัศน์ไม่อาจตอบโจทย์ด้านการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพในขณะเดียวกัน ปัญหาด้านปริมาณของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ฯไม่ได้เพิ่มปริมาณมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายภาครัฐ สาเหตุสืบเนื่องจาก การประกอบการรายโทรทัศน์ฯสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว มักประสบกับปัญหาการขาดทุน ทำให้แรงจูงใจด้านวิชาชีพลดน้อยถอยลง เห็นได้ชัดว่า การผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ไม่ได้ถูกยกระดับคุณค่าทางวิชาชีพให้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ภาคเด็ก เยาวชน ครอบครัว ก็ไม่มีองค์กร หรือ หน่วยงานทางวิชาการที่จะเข้ามาให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการบริโภครายการโทรทัศน์ที่ถูกต้องและตรงไปตรงมา ทำให้ความเข้มแข็งในกลุ่มภาคประชาชน ความรู้ในการลบริโภคสื่อ ข้อแนะนำหรือรายการแนะนำในการที่จะเข้าไปบริโภคไม่ได้รับการส่งต่อไปยังสังคม

หลายฝ่าย เห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการสร้างสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว

ความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา

องค์กรของรัฐไทยพร้อมหรือยังกับการพัฒนาสู่สถาบันวิจัยและพัฒนา ???

             เมื่อหันหลังกลับไปศึกษาองค์กรเดิมที่เคยมีอยู่ในประเทศไทยซึ่งมี 2 ลักษณะใหญ่ๆกล่าวคือ องค์กรของรัฐ และองค์กรด้านการศึกษาแล้วจะพบว่า สยช.หรือ สำนักงานส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ  ซึ่งแต่เดิมอยู่ในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ในปัจจุบัน ได้ย้ายเข้าไปสังกัดอยู่ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสยช. ซึ่งอาจจะไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องของการวิจัย แต่ว่าปล่อยให้งานในเชิงของการพัฒนารายการหรือว่าสร้างสื่อเพื่อจะไปมุ่งเพื่อให้เด็กเยาวชนและครอบครัว 

          นอกจากนั้นแล้ว สยช. ก็เคยมีบทบาทในแง่ของการที่ไปมุ่งเพื่อการสร้างเสริมหรือการส่งเสริม โดยผ่านกระบวนการ การสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อให้นักผลิตรายการที่สนใจในเรื่องราวเหล่านี้ทั้งนักวิทยุและโทรทัศน์ทำโครงการเพื่อขอรับงบประมาณ แต่ว่าประเด็นปัญหาก็คือประเด็นของการขาดความต่อเนื่องเรื่องของการวิจัยเพื่อถอดองค์ความรู้ หรือเรื่องของการสร้างให้นักผลิตทางด้านสื่อสำหรับเด็ก  เยาวชนและครอบครัวได้มีเวทีที่จะแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน 

           นขณะเดียวกัน กกช หรือ คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมประชาสัมพันธ์ โดยหลักมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเนื้อหารายการ (เช่น กำหนดเวลาโฆษณาทาง TV. ไม่ให้เกินชั่วโมงละ 10 นาที ส่วนวิทยุไม่จำกัด ดูแลสัดส่วนรายการประเภทต่างๆ เวลาที่ออกอากาศ)สอบมาตรฐานภาษาไทยเฝ้าระวังรายการวิทยุ และโทรทัศน์ (ผ่านเจ้าหน้าที่ กองงาน กกช.และเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์) ซึ่งหน่วยงานเป็นหน่วยงานที่เข้ามาควบคุม กำกับดูแล แต่ไม่อาจทำให้เกิดองค์ความรู้ในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวได้อย่างแท้จริง

องค์กรอิสระด้านโทรทัศน์ พร้อมรบหรือยัง ???      คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(หรือ กสช) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่สำคัญที่สุดในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์และวิทยุทั้งหมด ก็เป็นเพียงองค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง แต่ทว่าองค์กรอิสระนี้ไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการเป็นคลังวิชาการด้านการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว แต่เป็นเพียงองค์กรด้านการบริหารจัดการคลื่นเท่านั้น หมายความว่า ถึงแม้องค์กรนี้จะถูกจัดตั้งขึ้นมา ก็ยังไม่ใช่องค์กรด้านวิชาการที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวได้

องค์กรภาควิชาชีพสื่อมวลชน อยู่ทีไหน ??? เมื่อหันหลับมาถามถึงองค์กรเอกชนที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์โดยตรง ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง เช่น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย (Thai Broadcast Journalists Association) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการทำงานเกี่ยวกับ ปัญหาทางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือแม้แต่ สมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่รวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเคเบิ้ลทีวี แต่กระนั้นก็ตาม องค์กรดังกล่าวกลับไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานเชิงความรู้ตลอดจนงานด้านพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว

องค์กรภาคประชาชน อีกทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาเป็นสถาบันวิชาการ            องค์กรภาคประชาชนของไทยที่มีเป้าหมายในการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวในประเทศไทย นั้นมีอยู่เป็นจำนวนไม่มากนัก พบว่า องค์กรภาคประชาชนที่มีอยู่นั้น จะทำงานใน ๒ ลักษณะ ใหญ่ๆด้วยกันกล่าวคือ

            ๑) ลักษณะของการทำงานเชิงพัฒนาในลักษณะของการเคลื่อนไหว โดยไม่ได้เน้นหนักในการทำงานวิจัยเชิงความรู้เป็นหลัก แต่เน้นกระบวนการขับเคลื่อนอันเป็นผลจากการทำงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆเข้ามาประมวลเป็นการขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เป็นต้น ซึ่งทำให้การพัฒนาองค์กรภาคประชาชนขึ้นเป็นองค์กรด้านวิชาการ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการลงทุนในระดับหนึ่งพอสมควรและ

             ๒) ลักษณะของการทำงานวิจัยโดยเฉพาะ ดังเช่นในกรณีของมูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ หรือ มสช. หรือ ในกรณีของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ที่เน้นกระบวนการในการทำงานวิจัยและพัฒนา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาเป็นสถาบันวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึง ความต่อเนื่องของประเด็นความรู้ทางวิชาการ ประกอบกับ ความเป็นเอกภาพและเป็นกลางในการขับเคลื่อนงานวิชาการ

 ถาบันการศึกษา ความหวังของการสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนา ???ในที่สุด ความหวังด้านการต่อเติมสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ไม่อาจจะหาได้จากองค์กรต่างๆที่มีอยู่ในสังคมไทย สถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจจากการเข้าไปสำรวจสถาบันการศึกษาของรัฐจำนวน 18 สถาบัน สถาบันราชภัฎจำนวนกว่า 37 สถาบัน มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเอกชนอีกกว่า 33 สถาบัน พบว่า หลักสูตรในการเรียนการสอนสำหรับนิเทศศาสตร์ ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนางานวิชาการหรือศาสตร์ในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวการเรียนการสอนในหลักสูตรภายใต้คณะนิเทศศาสตร์ไม่ได้มุ่งเน้นที่ประเด็นเรื่อง รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก

       และการเรียนการสอนมักจะเน้นไปที่ ศาสตร์ของนิเทศศาสตร์ ทำให้การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว จึงไม่ได้ถูกนมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนอย่างจริงจังอย่างไรก็ดี งานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา อันเกี่ยวกับการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่มากนัก ก็อยู่อย่างกระจัดกระจาย งานวิจัยเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเอกสารในห้องสมุด และขณะเดียวกันเนื้อหางานวิจัยเหล่านี้ ยังคงไม่อาจตอบสนองและเอื้อต่อการพัฒนางานวิชาการในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กได้อย่างรอบด้านในทุกมิติ โดยงานวิชาการเหล่านี้มักเอื้อต่อระบบธุรกิจเป็นสำคัญ

วงจรธุรกิจกับมิติในการพัฒนาองค์ความรู้ ความรู้จากสถานีโทรทัศน์ และผู้ผลิต หลังจากที่มติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่  4 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 มีผลใช้บังคับ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ กล่าวคือ ผู้ผลิต (รายใหญ่ และรายย่อย) ผู้นำเข้ารายการ สถานีโทรทัศน์ บริษัทสนับสนุน(สปอนเซอร์) เอเยนซี่ (Media Agency และ Advertising Agency) ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการทำงานรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว พบว่า ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เริ่มต้นกับการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยเน้นหนักที่กระบวนการวิจัยด้านจิตวิทยาเด็กเป็นสำคัญ สิ่งเหล่านี้เองนับเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้เห็นชัดมากขึ้น

       อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมา ความพยายามในการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยผู้ผลิตรายการเด็กรุ่นดั้งเดิม (ซึ่งมีอยู่ในปริมาณไม่มากนัก) ที่ได้สร้างสรรค์รายการสำหรับเด็ก แต่ทว่าองค์ความรู้สำหรับรายการที่มีเนื้อหาเหมาะสมสำหรับเด็ก เหล่านั้น ทั้งในมิติของกระบวนการผลิต มิติของรูปแบบในการนำเสนอ มิติของปัจจัยเกือกหนุนทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติของเนื้อหากลับไม่ได้ถูกถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า องค์ความรู้ในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก จึงถูกปิดอยู่แต่เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้กระจายตัวอย่างแท้จริงหรือต้องรอคำตอบจากต่างประเทศในการพัฒนาองค์กรนี้

            สำหรับองค์กรด้านการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในต่างประเทศ ที่เป็นองค์กรของรัฐเริ่มจาก FCC หรือ Federal Communication Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับวิทยุโทรทัศน์สำหรับเด็ก แต่ทว่าองค์กรนี้ไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอันมีสาเหตุจาก ความพ่ายแพ้ต่อระบบทุนนิยม แต่อย่างไรก็ดี องค์กรพิทักษ์ผลประโยชน์ทางโทรทัศน์ได้กลายเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่วิจัยศึกษาผลกระทบของโทรทัศน์ต่อเด็ก ซึ่งเน้นหนักไปที่งานวิจัยด้านผลประทบเชิงลบจากโทรทัศน์เมื่อกลับมาศึกษาองค์กรที่มีอยู่ในประเทศอังกฤษ  อังกฤษตั้งบทบาทไว้ที่  Public Station หมายถึงสถานี BBC รวมทั้ง สถานีโทรทัศน์ NHK ในประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทหน้าที่ในด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง  กล่าวคือองค์กรนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ออกอากาศเพียงอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ที่ต้องพัฒนาและสร้างเสริมรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กอย่างจริงจัง  ในขณะเดียวกัน  BBC ก็จะนำเอาองค์ความรู้นี้เผยแพร่ให้กับประชาชน รวมทั้ง ภาคธุรกิจให้เข้ามาเก็บเกี่ยวงานวิจัยเหล่านี้เพื่อนำไปพัฒนารายการของตนได้อย่างมี

          ประสิทธิภาพองค์กรในรูปแบบของมูลนิธิ เช่น มูลนิธิโทรทัศน์สำหรับเด็ก (Australian Children’s Television Foundation) ในประเทศออสเตรเลีย เป็นองค์กรในรูปแบบของมูลนิธิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน งบประมาณจากรัฐ แต่เป็นหน่วยงานอิสระที่เน้นเรื่องการให้การสนับสุนนด้านเงินทุน รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารายการสำหรับเด็ก

      จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในต่างประเทศมีองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยตรง ไม่ได้เป็นเพียงองค์กรด้านการสนับสนุนเงินวิจัยเท่านั้น และที่สำคัญองค์กรเหล่านี้เข้ามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาด้านงานวิชาการด้านเนื้อหารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนอย่างจริงจัง

      สุดท้ายของเรื่องอันเกี่ยวกับแนวคิดในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge  Based Society) ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อทำให้เกิด รายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวผ่านองค์กรในรูปแบบของสถาบันวิจัยและพัฒนา ที่เป็นองค์กรในลักษณะเต็มเวลา โดยการ สร้างขึ้นมาใหม่โดยที่ไม่ต้องต่อเติมหรือตัดแต่งพันธุกรรมจากองค์กรที่มีอยู่ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ด้านการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว จึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบกระทำให้เกิดขึ้น เพื่อที่ให้องค์กรนี้เป็นองค์กรกลางในการประสานองค์ความรู้อันเป็นผลมาจากการวิจัย อีกทั้งเป็นองค์กรในการพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นองค์กรด้านวิชาการให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช อีกทั้งภาคประชาชน และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมโทรทัศน์

หมายเลขบันทึก: 33766เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2006 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะจัดให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันวิจัยดังกล่าวขึ้น แต่อยากให้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นโดยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ร่วมวางรูปแบบการจัดการ และร่วมประเมินผลด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท