ปัญหาการว่างงานในจังหวัดสงขลา (4)


อุปสรรคและความไม่สมบูรณ์ของตลาด  (Market Barriers and Imperfections)     บุคคลที่มีความชำนาญที่มีประสิทธิภาพ มักถูกขัดขวางจากการได้งานที่มีค่าจ้างดีๆด้วยอุปสรรคของตลาด แม้ว่างานดังกล่าวยังว่างอยู่ ประเภทของอุปสรรคตลาดที่สำคัญมี การขาดการรับรู้ การไม่สามารถเคลื่อนย้ายทางภูมิศาสตร์ การกีดกันโดยพลการ และค่าจ้างที่ตายตัว

ตายตัว

     ปกติแล้วอุปสรรคเหล่านี้มักทำให้ตลาดมีความไม่สมบูรณ์ เมื่อเกิดความไม่สมบูรณ์ขึ้น การจัดทรัพยากรกันใหม่จะส่งผลให้ผลผลิตสูงขึ้น อุปสรรคอื่นๆเกิดขึ้นเนื่องจากต้นทุนของการขจัดอุปสรรคการจ้างงานหนึ่งๆ สูงเกินกว่าผลได้ที่ได้จากการจับคู่ลูกจ้าง-งานที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าวิศวกรไฟฟ้าที่มีความชำนาญและว่างงานอยู่ ได้รับการว่าจ้างในตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ ผลผลิตรวมจะเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนเท่ากับ 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคบางอย่างที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ไม่สามารถจับคู่ดังกล่าวได้ ถ้าอุปสรรคสามารถขจัดออกไปได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน เราก็ถือว่าอุปสรรคดังกล่าวนั้นเป็นตัวก่อให้เกิดความไม่สมบูรณ์ของตลาด เนื่องจาก การขจัดอุปสรรคที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของตลาดจะส่งผลให้มีผลผลิตต่อสังคมที่สูงกว่า ดังนั้นจึงควรที่จะขจัดอุปสรรคดังกล่าวออกไป     การขาดการรับรู้ (Lack of Knowledge) บุคคลอาจได้รับค่าจ้างต่ำ เนื่องจากไม่รู้ว่ามีโอกาสที่ดีกว่าเสนอสนองอยู่สำหรับเขา แม้ว่าต้นทุนของการรับรู้ที่ดีขึ้นจะค่อนข้างต่ำก็ตาม การขาดการรับรู้อาจจะเป็นปัญหาโดยเฉพาะกับแรงงานที่ยากจน ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของตลาดแรงงานแถบชานเมือง ซึ่งมักมีโอกาสขยายตัวอย่างรวดเร็ว การขาดการรับรู้สามารถนำมาอธิบายว่า ทำไมบุคคลจึงพลาดจากการได้รับการปรับปรุงทุนมนุษย์ได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น นักเรียนระดับมัธยมตอนปลายอาจไม่ตระหนักถึง ความสูญเสียของรายได้ในอนาคตจากการเลิกเรียนต่อ เป็นต้น แนวทางที่ใช้อยู่ในตอนนี้คือ บริการให้ข้อมูลข่าวสารการจ้างงานเพื่อขจัดความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับงานส่วนใหญ่มักไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างกว้างขวาง     การไม่สามารถเคลื่อนย้ายทางภูมิศาสตร์ (Geographic Immobility) ตลาดแรงงานในอุดมคติมักได้รับการพรรณนาในรูปแบบที่ บุคคลสามารถเคลื่อนย้ายอย่างง่ายๆจากที่หนึ่งไปยังที่อื่น เพื่อฉกฉวยประโยชน์จากโอกาสที่เปิดอยู่ อย่างไรก็ตาม บุคคลบางคนอาจผูกพันอยู่กับบริเวณที่มีโอกาสน้อย ดังนั้นจึงไม่สามารถฉวยประโยชน์จากโอกาสในที่อื่นๆ ตัวอย่างเช่น แรงงานที่ว่างงานอยู่อาจรับรู้ว่ามีโอกาสเสนออยู่ในที่อื่น แต่ไม่สามารถย้ายถิ่นฐานได้ เนื่องจากไม่สามารถขายบ้านของตนได้ ขาดเงินทุนสำหรับการย้าย กังวลกับการสูญเสียสวัสดิการสังคมที่ได้รับ ฯลฯ ความกลัวเรื่องการสูญเสียทางสังคมที่ทำให้ครอบครัวหนึ่งผูกติดกับบริเวณหนึ่งๆ เป็นความไม่สมบูรณ์ของตลาดที่ชัดเจน ปัจจัยที่มักถือว่าเป็นปัจจัยที่ไม่ใช่ทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การผูกพันทางครอบครัวและทางสังคมกับชุมชน อาจส่งผลให้ต้นทุนการย้ายถิ่นฐานสูงขึ้นอย่างมาก      การกีดกันโดยพลการ (Arbitrary Discrimination) เมื่อโอกาสของบุคคลหนึ่งๆถูกจำกัด หรือเมื่อค่าจ้างต่ำกว่าที่ควร เนื่องจากเหตุผลที่ไม่ควรจะเกี่ยวกับกระบวนการของตลาด อาจจะเป็นเพราะมีการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติ บุคคลหนึ่งๆอาจมีความชำนาญและความรู้ที่จะทำงาน แต่นายจ้างอาจมีความปรารถนาที่จะไม่จ้างบุคคลนั้น ด้วยสาเหตุจาก เชื้อชาติ สีผิว วัฒนธรรม ชาติกำเนิด ฯลฯ      นักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในระบบตลาดเสรีบางคนไม่เชื่อว่า การเลือกปฏิบัติจะเป็นปัญหาระยะยาวในระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันเสรี พวกเขาเชื่อว่า ในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสมบูรณ์นั้น

นายจ้างจะต้องแบกรับต้นทุนของการเลือกปฏิบัติเอาไว้ ตัวอย่างเช่น ถ้าแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่มาสมัครงาน เป็นบุคคลที่นายจ้างไม่อยากจ้างไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด แต่กลับไปจ้างคนอื่นที่ประสิทธิภาพต่ำกว่า หน่วยผลิตก็จะได้รับกำไรน้อยลง ในกรณีนี้ก็หมายความว่า นายจ้างยอมรับต้นทุนของการเลือกปฏิบัติเอาไว้เอง ถ้าหน่วยผลิตดังกล่าวขายผลผลิตในตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ และหน่วยผลิตอื่นๆไม่มีการเลือกปฏิบัติ ต้นทุนที่สูงกว่าจากผลของการกีดกันโดยพลการ จะส่งผลให้หน่วยผลิตนั้นไม่สามารถแข่งขันได้เท่าที่ควร ดังนั้นการเลือกปฏิบัติจึงไม่อาจคงอยู่ได้ในระยะยาวในตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์

     ค่าจ้างที่ตายตัว (Wages Rigidities) ขีดจำกัดในการเคลื่อนไหวของค่าจ้าง อาจมีผลต่อการว่างงานและความยากจน บ่อยๆที่อาชีพที่จ่ายค่าจ้างสูงๆคงระดับค่าจ้างที่สูงกว่าจุดดุลยภาพ โดยผ่านทางสหภาพแรงงาน ประเพณีทางสถาบัน หรือแรงกดดันทางการเมือง     กฎหมายกำหนดแรงงานขั้นต่ำ ในบางครั้ง ถูกอ้างว่าเป็นตัวอย่างของความไม่สมบูรณ์ของตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานขั้นต่ำจะช่วยหรือทำร้ายคนยากจนก็เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน เพื่อที่จะเข้าใจประเด็นดังกล่าว สมมุติให้เฉพาะแรงงานที่ยากจนหรืออยู่ใกล้ระดับความยากจนเท่านั้นที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดโดยกฎหมายถูกกำหนดที่ 160 บาทต่อวัน แรงงานที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวก็จะต้องว่างงาน ดังนั้นการลดหรือยกเลิกการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้ระดับการจ้างงานสูงขึ้น     อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความยากจนลง การลดหรือยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบที่สำคัญสองประการ แบบหนึ่งจะทำร้ายคนจนและอีกแบบหนึ่งจะช่วยคนจน ผลกระทบแบบแรกคือ รายรับของบุคคลที่อยู่ที่หรือใกล้กับระดับค่าจ้างขั้นต่ำ จะประสบกับการลดลงของรายได้ ไม่ใช่แรงงานที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำทุกคนจะต้องประสบกับการลดลงดังกล่าว แต่จะประสบโดยบางคน ผลกระทบแบบที่สองคือ บุคคลที่ว่างงานอยู่อาจได้รับการจ้างงานในระดับค่าจ้างที่ต่ำลง ผลกระทบรวมของการลดค่าจ้างขั้นต่ำจะขึ้นอยู่กับว่า แนวโน้มที่ตรงข้ามกันสองอันนี้ อันไหนแรงกว่ากัน (การลดลงของรายได้หรือการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน) โดยทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับ การตอบสนองของนายจ้างด้านอุปสงค์แรงงานต่อการลดลงของอัตราค่าจ้าง
คำสำคัญ (Tags): #ปัญหาแรงงาน
หมายเลขบันทึก: 33757เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2006 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท