การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย


การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 

 

วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย   มีดังนี้ 

                  1.   การสร้างความผูกพันรักใคร่   เป็นพื้นฐานสำคัญในการอบรมเลี้ยงดู   พ่อ – แม่  ผู้ปกครองจะต้องเริ่มสร้างความผูกพันรักใคร่ให้เกิดขึ้น   ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในวัยแรกเกิด  พ่อแม่   ผู้ปกครองได้สัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน   อุ้มอย่างทะนุถนอม   เลี้ยงดูเอาใจใส่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับเด็ก  ดูแลความสุขสบายต่าง ๆ  พูดคุยกับเด็กด้วยเสียงที่นุ่มนวล  เป็นต้น   สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้การอบรมในวัยเด็กได้ผลดี   อีกทั้งยังเป็นการสร้างความผูกพันรักใคร่ให้เกิดกับเด็กอีกด้วย

                  2.   ระบบการให้รางวัลทางด้านบวก   เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ   เมื่อเด็กได้กระทำพฤติกรรมที่พึงปรารถนา   จะมีการให้รางวัลหรือสิ่งตอบแทน   เช่น  ความรัก  ความสนใจ  คำชมเชย  ซึ่งจะทำให้การกระทำนั้น ๆ เกิดขึ้นอีก

                  3.   พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้มีศีลธรรม   ประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม   และถูกต้อง

                  4.   การควบคุมสิ่งแวดล้อม   พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์   เช่น  การจัดให้เล่นเกมเพื่อเด็กจะได้รู้จักกฎเกณฑ์  และการรู้แพ้รู้ชนะ   การจัดหาหนังสือที่มีประโยชน์อ่านให้เด็กฟัง   เพื่อให้เกิดนิสัยรักการอ่าน  เป็นต้น

                  5.   วิธีการตอบสนองกลับ  เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดเพื่อแสดงความรู้สึกของตนออกมาทั้งทางบวกและทางลบ  เมื่อเด็กมีปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครองควรตัดสินใจฟังเด็กว่ากำลังพูดอะไร  เมื่อเด็กพูดจบพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องสะท้อนความรู้สึกที่เด็กได้แสดงออกกลับไป   ด้วยคำพูดของพ่อแม่ผู้ปกครองเอง   ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับและมีคุณค่า   อันจะส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กเข้าใจได้ตรงกัน

                  6.   การควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์   พ่อแม่ผู้ปกครองควรควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ  ที่เหมาะสมกับปัญหา  วิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหาได้แก่

                        6.1   การแยกเด็กออกจากกลุ่มในช่วงเวลาสั้น ๆ

                        6.2   การแยกตัวของพ่อแม่ผู้ปกครอง

                        6.3   การห้ามไม่ให้เด็กทำสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับตัวเด็กในช่วงเวลาหนึ่ง

                        6.4   การตี   จะใช้ก็ต่อเมื่อใช้วิธีการอื่นไม่ได้ผลแล้ว   ไม่ควรทำกับเด็ก  2  ขวบ  และไม่ควรกระทำอย่างรุนแรง

 

                  วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม

                  วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม   มีดังนี้

                  1.   การสั่งสอนไม่ควรเป็นการเทศนา   เพราะจะทำให้เด็กเบื่อ   ไม่สนใจใยดีที่จะฟัง   ดังนั้นในการอบรมเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องสอนด้วยเหตุผลสั้น ๆ  อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย

                  2.   การดุด่า  ไม่ควรนำมาใช้เพราะจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเกลียดพ่อ  แม่  ผู้ปกครอง

                  3.   การขู่   พ่อแม่ผู้ปกครองมักใช้คำขู่เด็กเมื่อมีความโกรธหรือเด็กไม่ยอมทำตาม  หรือไม่เชื่อฟัง   ดังนั้น  ในการสอนหรืออบรมเด็กไม่ควรนำคำขู่มาใช้

                  4.   การพูดเสียดสี  เหน็บแนม  หรือ  ถากถาง  ที่พ่อแม่ผู้ปกครองประสงค์ทำเพื่อประชดหรือให้เด็กได้เจ็บโดยหวังว่าเด็กจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น  แต่ในข้อเท็จจริงแล้วกลับกลายเป็นการทำลายสัมพันธ์ภาพระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็ก

                  5.   การสัญญา   สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก   ควรอยู่บนพื้นฐานของความ  เชื่อถือ  เชื่อใจซึ่งกันและกันไม่ใช่การสัญญา

                  6.   การติดสินบน    จะทำให้เด็กทำดีเพียงชั่วครู่เท่านั้น  แต่ในระยะยาวแล้วจะไม่ได้ผล  เพราะไม่สามารถติดตัวเด็กเป็นนิสัยได้

                  7.   การหลอกหรือหยอกล้อเด็กในทางที่ไม่ควร  เพื่อหวังผลให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่กำลังทำอยู่   หรือเพื่อความสนุกสนาน  นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกกลัวโดยไร้เหตุผลแล้ว   ยังเป็นการขัดขวางความอยากรู้อยากเห็นของเด็กอีกด้วย

 

                  บทบาทของพ่อแม่   ผู้ปกครองในอบรมการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย

                  พ่อแม่   ผู้ปกครองนอกจากจะเลี้ยงดูเด็กให้มีร่างกายแข็งแรง  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วยังจะต้องมีการพัฒนาทางจิตใจ   และทางสังคมในเชิงจิตวิทยาให้กับเด็กด้วย   บทบาทของพ่อแม่   ผู้ปกครองในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย  มีดังนี้

                  1.   การตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเด็กอย่างเพียงพอ   ซึ่งความต้องการพื้นฐานของเด็กแต่ละวัยไม่เหมือนกัน    เด็กแรกเกิดจะมีความต้องการทางร่างกายมาก   ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลเรื่องอาหารการกิน   การนอน   การขับถ่าย   และเมื่อเด็กโตขึ้นควรให้ความมั่นคงปลอดภัย   ความอบอุ่นและความรัก

                  2.   การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาการของเด็ก   ซึ่งได้แก่   การจัดให้เด็กได้พบกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของเด็ก   การเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กเลียนแบบ  เป็นต้น

                  3.   การยอมรับในสิทธิของความเป็นคนของเด็ก   การอบรมเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่   ผู้ปกครองมักจะมี  2  แบบ  (ฉวีวรรณ  กินาวงศ์. 2533 :  88-91)  คือ 1)  แบบอัตตาธิปไตยหมายถึง  การที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้กฎเกณฑ์ตายตัวและทำทุกอย่างตามกฎเกณฑ์เด็กที่ทำผิดมักจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง  และ  2)  แบบประชาธิปไตย  คือ  การอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างมีเหตุผล  ให้เด็กมีสิทธิเสรีภาพการยอมรับในสิทธิความเป็นคนของเด็ก

 

                  ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและผลต่อพฤติกรรมของเด็ก

                  ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและผลต่อพฤติกรรมของเด็ก  มีลักษณะ  ดังนี้

                  1.   ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่  หมายถึง  บทบาทของพ่อแม่ของเด็กในฐานะคู่สมรสจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ที่มีต่อพฤติกรรมของเด็กเป็นดังนี้  (ฉวีวรรณ  กินาวงศ์. 2533 :  84)

                        1.1   ครอบครัวที่เรียกว่า  “บ้านแตก”  (Broken  Home)   ซึ่งได้แก่  ครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน   หรือแยกกันอยู่   จะทำให้เด็กมีปัญหาในเรื่องของการปรับตัวและทำให้เด็กมีพฤติกรรมเกเร  มีปมด้อย  เป็นโรคประสาท

                        1.2   ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตสมรสได้ดี  เช่น   ทะเลาะกันบ่อย ๆ  จะทำให้เด็กมีปัญหาได้

                        1.3   ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้แก่เด็ก   จะทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง   ขาดความรักและความเอาใจใส่  อาจส่งผลให้เด็กมีบุคลิกลักษณะไม่ดีเท่าที่ควร

                        1.4   เด็กกำพร้า  เช่น  พ่อแม่เสียชีวิต  หรือแต่งงานใหม่  จะส่งผลต่อการปรับตัวของเด็กเป็นอย่างมาก

                        1.5   ครอบครัวที่มีบรรยากาศเป็นกันเอง   พ่อแม่รักใคร่กันดี  จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตไปในทางที่ดีและเด็กจะไม่มีปัญหา

                  2.   ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก   หมายถึง  ความรู้สึกที่พ่อแม่มีต่อลูกและความรู้สึกที่ลูกมีต่อพ่อแม่   ความสัมพันธ์แบบนี้มักจะขึ้นอยู่กับเจตคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ทั้งนี้เพราะพ่อแม่มีเจตคติต่อลูกอย่างไร  ก็จะปฏิบัติต่อลูกอย่างนั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น          6  แบบ  ดังนี้  (ฉวีวรรณ  กินาวงศ์. 2533 :  84-87)

                        2.1   พ่อแม่รักและคอยช่วยเหลือเอาใจใส่ลูกมากเกินไป   ผลที่พ่อแม่ตามใจเด็กมากเกินไป  ทำให้เด็กต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา  เด็กไม่กล้าทำอะไรเอง   ตัดสินใจอะไรตามลำพังไม่ได้  เมื่อเข้าโรงเรียนจะประสบปัญหายุ่งยากต่าง ๆ

                        2.2   พ่อแม่เอาใจลูกมากเกินไป  พ่อแม่ประเภทนี้จะตามใจลูกและยอมลูกทุกอย่างต่อไปเด็กพวกนี้จะเป็นคนที่ดื้อรั้น  ไม่ยอมฟังผู้ใหญ่   และเอาแต่ใจตนเอง

                        2.3   พ่อแม่ที่ทอดทิ้งเด็ก  พ่อแม่ประเภทนี้จะไม่เอาใจใส่เด็ก   ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของเด็ก   ผลของการที่พ่อแม่ทิ้งเด็กมากเกินไปจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว   ชอบเรียกร้องความสนใจ  ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน   ชอบทะเลาะกับเพื่อนฝูงอยู่เสมอ  หรือเป็นเด็กที่ยอมแพ้ผู้อื่น  ขี้อาย  ขลาดกลัว  และมีอารมณ์ที่ไม่มั่นคง

                        2.4   พ่อแม่ยอมรับเด็ก  พ่อแม่ประเภทนี้จะยอมรับและเห็นความสำคัญของเด็กทำให้เด็กเกิดความอบอุ่น  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กเป็นไผปอย่างราบรื่น

                        2.5   พ่อแม่ที่ชอบบังคับลูก  พ่อแม่ประเภทนี้จะให้เด็กทำตามทุกอย่าง  เด็กจะมีพฤติกรรมทางสังคมดี   มีสัมมาคารวะมากกว่าเด็กที่พ่อแม่ปล่อยให้เป็นอิสระ   แต่อย่างไรก็ตามเด็กพวกนี้จะเป็นคนขี้อาย  มีความรู้สึกไวต่อสิ่งที่มากระทบกระเทือน  มีปมด้อย  ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

                        2.6   พ่อแม่ยอมจำนนต่อลูก   พ่อแม่ประเภทนี้จะยอมให้ลูกเป็นใหญ่   มีสิทธิภายในบ้านลูกต้องการอะไรพ่อแม่จะหามาให้ทั้งสิ้น   จะทำให้ลูกทำตัวเป็นนายข่มพ่อแม่   ไม่ค่อยเคารพนับถือพ่อแม่เท่าที่ควร

 

การพัฒนาการและความพร้อม  :  ด้านร่างกายอารมณ์ – จิตใจ   และสังคม

 

                  ความพร้อมทางการเรียน  หมายถึง  สภาพความพร้อมในด้านร่างกาย  สังคม  อารมณ์ – จิตใจ  และสติปัญญาของเด็กที่จะเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างบังเกิดผล  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ  หรือ  การฝึกฝนหรือทั้งสองอย่างประกอบกันก็ได้

 

พัฒนาการและความพร้อมทางด้านร่างกาย

 

                  จุดมุ่งหมายของการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย

                  การจัดประสบการณ์หรือการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายให้แก่เด็กในระดับชั้นอนุบาลศึกษา    มีจุดมุ่งหมาย  ดังนี้   (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2537ก : 3)

                  1.   มีร่างกายเจริญเติบโตตามวัย

                  2.   พัฒนากล้ามเนื้อและประสาทสัมพันธ์

                  3.   มีสุขนิสัยในการรักษาสุขภาพอนามัย

                  4.   เรียนรู้การระวังและรักษาความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น

                  โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า  จุดมุ่งหมายของการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายเพื่อต้องการให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง  สมบูรณ์   มีน้ำหนัก  ส่วนสูงตามเกณฑ์ที่กำหนด   สามารถใช้กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กได้   ไม่ว่าจะเป็นการเดิน   การวิ่ง  การกระโดด  ใช้มือรับสิ่งของ  ตัดกระดาษ   วาดภาพ   หรือใช้เชือกร้อยวัสดุขนาดเล็ก – ใหญ่ได้

 

                  การวัดและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย

                  การวัดและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย   จะวัดและประเมินใน  3  ส่วน  คือ  การเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการ   การทำงานของกล้ามเนื้อใหญ่  และการทำงานของกล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์   ซึ่งพฤติกรรมที่จะวัดและประเมินมีดังนี้

                  1.   การเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการ   ระยะวัยทารกขนาดของร่างกายของเด็กจะเพิ่มขนาดทุกส่วนโดยเฉพาะประสาทและสมองจะมีอัตราสูงสุดในวัยแรกเกิดถึงช่วงปฐมวัย   เส้นรอบวงศีรษะ  (Fronte  Occipital  Circumference)   ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายที่ใหญ่ที่สุดในทารกแรกเกิด   เทียบได้เป็น  2/8  หรือ  ¼  ของส่วนสูงทั้งหมด   แล้วจะค่อย ๆ  ลดอัตราการเพิ่มขนาดลงจนเมื่ออายุ  18  ปี  ศีรษะจะมีขนาดเป็น  1/8  ของส่วนสูงทั้งหมด  (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2535 :  39)  เด็กอายุ  3 – 5  ปี  จะมีขนาดเส้นรอบวงศีรษะประมาณ  49.5 – 52.1  เซนติเมตร  มีความสูงประมาณ  96-116  เซนติเมตร  และจะมีน้ำหนักประมาณ  4-6  เท่าของน้ำหนักแรกเกิด

 

ตาราง  3.1  อัตราการเจริญเติบโตของเด็กตั้งแต่แรกเกิด  - 6 ปี

 

อายุ

น้ำหนัก

(Kg)

ส่วนสูง

(Cm)

ขนาดเส้นรอบวงศีรษะ  (Cm)

แรกเกิด

3

50

33 – 35

4 – 5  เดือน

6

65

40

1  ปี

9

76

46

2  ปี

12

87

48.5

3  ปี

14

96

49.5

4  ปี

15

103

51

5  ปี

16.5

108

52.1

6  ปี

18

116

53.1

 

                  2.   การทำงานของกล้ามเนื้อใหญ่   เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานของกล้ามเนื้อใหญ่   หรือกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว  ได้แก่  การเดินตามเส้นที่กำหนดการกระโดดสองเท้า   การปีนป่าย   การเตะบอล   การขว้างลูกบอล   การเดินสลับเท้าขึ้น – ลงบันได  เป็นต้น

                        เครื่องมือที่ใช้วัดและประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่  อาจแบ่งออกได้  2  ชนิด  คือ

                        2.1   การสังเกตและจดบันทึก  ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษา  อาจใช้วิธีการสังเกตทักษะความสามรถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่บริเวณแขน  ขา  ในขณะวิ่งเล่น  หรือการเล่นเครื่องเล่นสนามแล้วจดบันทึกพฤติกรรมที่สังเกตได้เอาไว้   เพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม

                        2.2   การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง  ครูผู้สอนอาจพูดคุยซักถามผู้ปกครองถึงความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของเด็กในขณะอยู่ที่บ้าน   เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของเด็ก

                  3.   การทำงานของกล้ามเนื้อเล็ก   เป็นความสามารถของการทำงานที่ประสานกันระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อ   ร่างกายจะแสดงพฤติกรรมการเคลื่อนไหวได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับการทำงานที่ประสานกันของระบบประสาท   ซึ่งได้แก่   ความสัมพันธ์ระหว่างประสาทตากับกล้ามเนื้อมือ   ตัวอย่างพฤติกรรมของนักเรียนชั้นอนุบาลศึกษาปีที่สอง   ได้แก่  การเป็นวัสดุเป็นรูปต่าง ๆ อย่างอิสระโดยมีเค้าความจริงและมีรายละเอียด   ใช้เชือกร้อยวัสดุได้   ตัดกระดาษตามแนวเส้นตรงและเส้นโค้งได้  เทน้ำหรือทรายเต็มแก้ว   หรือกรอกใส่ขวดได้   พับกระดาษตามรอยประทแยงมุม  3  ทบได้   การวางบล็อกขนาด  1 ´ 1  นิ้ว  เรียงซ้อนกันได้ประมาณ  10  ก้อน  วาดรูป  ตามแบบได้  (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2537ก :  14 – 15)

                  เครื่องมือที่ใช้วัดและประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็ก  แบ่งออกเป็น  4  ชนิด  คือ

                        3.1   การสังเกตและจดบันทึก

                        3.2   การใช้แบบทดสอบ

                        3.3   การตรวจผลงานเด็ก

                        3.4   การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง

 

                        3.1   การสังเกตและจดบันทึก   ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษาอาจจะใช้วิธีการสังเกตทักษะความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์ในขณะที่เด็กทำกิจกรรม   เช่น  การร้อยลูกปัด   การต่อบล็อก   การระบายสี  การตัดกระดาษตามรอย  เป็นต้น   แล้วบันทึกผลที่ได้จากการสังเกตลงในแบบบันทึกเอาไว้  เพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมหรือเพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

                        3.2   การใช้แบบทดสอบ  ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษาอาจจะใช้แบบทดสอบ   เพื่อวัดและประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์   แบบทดสอบนี้ส่วนมากมักจะเป็นแบบทดสอบที่ให้เด็กลากเส้นชนิดต่าง ๆ  หรือวาดรูปภาพตามแบบ   ซึ่งแบ่งออกได้  ดังนี้

                                3.2.1  การลากเส้นตามรอย   วิธีการนี้จะมีรอยเส้นประมาณให้  ให้นักเรียนลากเส้นทับรอยเส้นประอย่างต่อเนื่อง   หรือไม่ขาด  โดยไม่ยกดินสอ

                                3.2.2  การลากเส้นตามรอยให้เหมือนแบบ   วิธีการนี้จะกำหนดแบบ  หรือรูปภาพมาให้  ให้นักเรียนลากเส้นตามรอยเส้นประให้เหมือนแบบ

                                3.2.3  ลากเส้นระหว่างจุดให้เหมือนแบบ  วิธีการนี้จะกำหนดแบบมาให้  แล้วให้นักเรียนลากเส้นระหว่างจุดให้เหมือนแบบ

                                3.2.4  ลากเส้นให้อยู่ในกรอบ   วิธีการนี้จะกำหนดกรอบขนาดประมาณ  1/4  นิ้ว  ถึง  ½  นิ้ว  มาให้  ให้นักเรียนลากเส้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ยกดินสอ  และเส้นที่ลากอยู่ในกรอบที่กำหนด

                                3.2.5  การระบายสีให้อยู่ในกรอบ  วิธีการนี้จะกำหนดรูปภาพมาให้  แล้วให้นักเรียนระบายสีรูปภาพที่กำหนด   โดยสีที่ระบายไม่ออกนอกกรอบ

                                3.2.6  การวาดรูปให้เหมือนแบบ   วิธีการนี้จะมีรูปภาพที่เป็นแบบมาให้  แล้วให้นักเรียนวาดภาพให้เหมือนกับแบบที่กำหนด

                                3.2.7  การลากเส้นทับจุด   วิธีการนี้จะมีจุดและสร้างรูปเป็นแบบมาให้  แล้วให้นักเรียนลากเส้นตามจุดให้เหมือนกับแบบที่กำหนด

                                3.2.8  การต่อเติมภาพให้สมบูรณ์   วิธีการนี้จะกำหนดรูปภาพที่สมบูรณ์และรูปภาพที่ไม่สมบูรณ์มาให้แล้วให้นักเรียนต่อเติมรูปภาพที่ไม่สมบูรณ์ให้มีความสมบูรณ์เหมือนกับรูปภาพที่กำหนด

                        3.3   การตรวจผลงานเด็ก   ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษาอาจจะประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์ของเด็กโดยการดูจากผลงานที่เด็กทำขึ้น  เช่น  การลากเส้นชนิดต่าง ๆ  การวาดภาพระบายสี  การวาดภาพตามแบบ   การติดกระดุม   การูดซิป   การรินน้ำ  เป็นต้น

                        3.4   การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง  ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษาอาจจะประเมินโดยการซักถามกับผู้ปกครองถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับทักษะความสามารถทางด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์   ว่ามีมากน้อยเพียงใด  ตัวอย่างพฤติกรรมได้แก่  การแต่งตัว  การติดกระดุม   การใส่รองเท้า – ถุงเท้า   การรับประทานอาหาร  การรินน้ำ  เป็นน้ำ

 

พัฒนาการและความพร้อมทางด้านอารมณ์ – จิตใจ

 

                  พัฒนาการทางด้านอารมณ์ – จิตใจของเด็กปฐมวัย   (อายุ  3 – 6  ปี)

                  เด็กวัยนี้มักจะเป็นคนเจ้าอารมณ์   หงุดหงิด   และโกรธง่าย   โมโหร้ายโดยปราศจากเหตุผล   มักจะแสดงอาการขัดขืนและดื้อดึงต่อพ่อแม่เสมอ   เป็นวัยที่เรียกว่า  ชอบปฏิเสธ   ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์  เรียกว่า  Nagative   Stage  เมื่อเด็กคบหาสมาคมกับเพื่อน ๆ  อารมณ์ดังกล่าวจะค่อย  ๆ  หายไป  อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางอารมณ์ – จิตใจของเด็กจะมั่นคงเพียงใด   ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูเป็นสำคัญ

 

                  พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยสรุปเป็นเรื่อง ๆ  ได้ดังนี้

                  1.   ความโกรธ  (Anger)  อารมณ์โกรธของเด็กวัยนี้มักเกิดขึ้นได้ง่าย   เนื่องจากมีสิ่งเร้าหลายประการเข้ามาเราให้เด็กโกรธ   เช่น   ถูกขัดใจเรื่องของเล่น  ถูกรังแก  เป็นต้น

                  2.   อารมณ์กลัว  (Fear)  เนื่องจากเด็กวัยนี้มีสติปัญญาพัฒนาขึ้นทำให้หวาดกลัวสิ่งต่าง ๆ มากกว่าเด็กวัยเด็กเล็ก   เพราะว่ามองเห็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนได้

                  3.   ความอิจฉาริษยา  (Jealosy)  ความอิจฉาริษยาของเด็กวัยนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพ่อ  แม่  พี่น้อง  หรือคนเลี้ยงหันไปสนใจและเอาใจใส่น้องเล็กมากกว่าตน

                  4.   ความอยากรู้อยากเห็น  (Curiosity)   เด็กวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นและจะสงสัยสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่รู้จบสิ้น   โดยเฉพาะเมื่ออายุประมาณ  6  ปี  เด็กจะถามมากที่สุด

                  5.   ความรัก  (Love)  ความรักของเด็กวัยนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กก่อน   คือ  รักตนเองก่อนและต่อมาจึงมีจิตใจรักผู้อื่น   ในเด็กอายุ  5  ปี  นั้น  มารดาจะกลายเป็นศูนย์กลางของชีวิตในโลกของเด็ก  เด็กจะชอบอยู่ใกล้  ๆ  แม่  ติดตามแม่ไปทุกหนทุกแห่ง   แต่พออายุ  6  ปี  เด็กจะหันมาชื่นชมและนิยมพ่อมากกว่าแม่

 

หมายเลขบันทึก: 337450เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับ มีประโยชน์มากครับ


มีประโยชน์มากๆครับ ขอบคุณคุณครูที่เขียนไว้นะครับ ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท