หูอื้อ หูตึง


อาการหูอื้อ หูตึง

อ่านพบเรื่องนี้เลยอยากนำมาฝาก

หูอื้อ หูตึง

            อาการหูอื้อ หูตึง หมายถึงการได้ยินไม่ชัด หรือสมรรถภาพการได้ยินลดลง เป็นอาการที่พบได้บ่อย และเป็นอาการนำที่สำคัญของการสูญเสียการได้ยิน โรคหรือความผิดปกติใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นตั้งแต่หูชั้นนอกไปจนถึงหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการหูอื้อ หูตึง ได้ทั้งสิ้น ความผิดปกติที่พบได้บ่อยเช่น ขี้หูอุดตัน แก้วหูทะลุ หูชั้นกลางอักเสบ ส่วนในคนสูงอายุพบว่าการได้ยินเสียไปเนื่องจากประสาทหูเสื่อมเป็นส่วนใหญ่ พึงระลึกไว้เสมอว่าสาเหตุของอาการหูอื้อ หูตึง มีหลายอย่าง และบางอย่างก็อาจแก้ไขให้หายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อนทุกราย

           เมื่อเสียงจากภายนอกผ่านรูหูเข้ามา คลื่นเสียงจะทำให้แก้วหูสั่น แล้วส่งผ่านหูชั้นกลางเข้าสู่หูชั้นใน ซึ่งจะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเสียงเป็นคลื่นกระแสไฟฟ้านำเข้าสู่สมอง หูคนเราประกอบด้วยหูชั้นนอก หูชั้นกลางและหูชั้นใน หูชั้นในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนมีลักษณะคล้ายก้นหอยทำหน้าที่รับเสียง กับส่วนที่เป็นอวัยวะรูปเกือกม้า 3 อันมารวมกันทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว หูชั้นในนอกจากจะแบ่งตามหน้าที่แล้วยังแบ่งตามโครงสร้างเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระดูก กับส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ส่วนที่เป็นกระดูกจะห่อหุ้มส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ภายในส่วนเยื่อหุ้มภายในจะมีของเหลวอยู่

เราอาจแบ่งระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยินเป็น หูตึงน้อย หูตึงปานกลาง หูตึงมากถึงหูตึงรุนแรงและหูหนวก โดยใช้หน่วยวัดการได้ยินที่เรียกว่า เดซิเบล เป็นตัวกำหนดมาตรฐาน คนปกติมักมีระดับการได้ยินที่ 25 เดซิเบลหรือน้อยกว่า พวกหูตึงค่าความดังนี้จะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ และพวกที่หูหนวกมีระดับการได้ยินเสียไปมากกว่า 90 เดซิเบล

            ปัญหาหูหนวกหูตึงย่อมมีผลต่อการพูดคุย และการสื่อความหมาย รวมไปถึงผลกระทบทางสังคมกับคนข้างเคียง ยิ่งในเด็กแล้วผลที่ตามมาอันใหญ่หลวงคือ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านภาษา และการพูดให้สมบูรณ์สอดคล้องกับวัยได้ เสียงที่ดังเกินไปอาจจะมีผลทำให้หูตึงชั่วคราว หรืออาจทำให้หูตึงหรือประสาทหูเสื่อมแบบถาวร หูตึงชั่วคราวมักเกิดภายหลังจากที่ไปได้ยินเสียงดัง ๆ ในช่วงไม่นานนัก เช่น หลังเทศกาลตรุษจีนที่มีการจุดประทัดกัน ส่วนหูตึงแบบถาวร มักพบในพวกที่ได้รับเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เช่น พวกที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา เสียงที่ดังนี้นอกจากจะมีผลต่อการได้ยินแล้ว ยังมีผลต่อร่างกายอีกหลายด้าน เช่น อาจรบกวนการนอน รบกวนประสิทธิภาพในการทำงาน รบกวนการสื่อสารติดต่อ ทำให้อารมณ์ตึงเครียด หงุดหงิดและอารมณ์เสียได้ง่าย

             ประสาทหูเสื่อมในวัยชราเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน เพราะคนเรามีอายุยืนขึ้น ควรนำผู้ป่วยมารับการตรวจวัดระดับการได้ยินก่อนว่าหูตึงมากน้อยเพียงใด และจะได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ ไม่ควรด่วนตัดสินใจซื้อเครื่องช่วยฟังไปตามการโฆษณา บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีประสาทหูพิการ ตัดสินใจไปซื้อเครื่องช่วยฟังมาใช้ โดยอ่านเอาจากโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ หรือบางรายซื้อมาแล้วก็ไม่ได้ใช้ ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่า สาเหตุของหูตึงหรือประสาทหูเสียนั้น มีมากมายหลายอย่าง และบางอย่างก็อาจรักษาให้หายได้ด้วยยาหรือการผ่าตัด และแม้ว่าบางโรคอาจทำให้มีการสูญเสียการได้ยินถาวร และจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง ก่อนการใช้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจวัดระดับการสูญเสียการได้ยิน เพื่อดูว่าจะได้รับประโยชน์จากเครื่องหรือไม่มากน้อยเพียงไร การติดต่อพูดคุยกับผู้ที่มีประสาทหูพิการหรือผู้สูงอายุ ต้องพูดช้า ๆ และชัดเจน พูดตรงหน้าเพื่อให้ผู้ฟังเห็นหน้าและริมฝีปาก ขณะออกเสียงไม่ควรสูบบุหรี่หรือเคี้ยวอะไรอยู่ในปากขณะพูด หากพูดแล้วยังสื่อความหมายไม่ได้ ควรเปลี่ยนประโยค หรือคำพูดไปใช้คำอื่นที่มีความหมายอย่างเดียวกัน

              ผู้ป่วยโรคมีเนีย จะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นอาการที่พบบ่อยมักพบร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกเกิดขึ้นในทันทีทันใด ระยะเวลาอาจจะอยู่นานกว่า 20 นาทีถึง 2-3 ชั่วโมง อาการดังกล่าวมักเป็นรุนแรงแต่ไม่ทำให้หมดสติหรือเป็นอัมพาต เมื่อหายเวียนศีรษะผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนเป็นปกติ ส่วนอาการหูอื้อ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวร ถ้าเป็นระยะแรกการสูญเสียการได้ยินจะเป็นแค่ชั่วคราวหลังจากหายเวียนศีรษะ แล้วการได้ยินจะกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการเวียนบ่อย ๆ หรือเป็นมานานอาการหูอื้อมักจะถาวรบางทีหูหนวกไปเลยก็ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงดังในหูข้างที่ผิดปกติร่วมด้วย ผู้ป่วยบางคนจะบอกว่ามีเสียงเหมือนจั๊กจั่นหรือจิ้งหรีดร้อง บางคนก็บอกว่าเหมือนเสียงคำรามอยู่ในหูตลอดเวลา เสียงดังในหูอาจเป็นตลอดเวลา หรือเป็นขณะเวียนศีรษะ ส่วนอาการตึง ๆ ภายในหูคล้ายกับมีแรงดัน เกิดจากแรงดันของน้ำในหูชั้นในที่ผิดปกติ

             หูชั้นนอกหมายถึงใบหู รูหู รวมไปถึงแก้วหู การอักเสบของหูชั้นนอกที่พบบ่อย คือการอักเสบของรูหู ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือผื่นแพ้ก็ได้ โดยมากมักเริ่มจากมีความชื้น เช่นน้ำเข้าหูและค้างอยู่ในหู ทำให้มีโอกาสที่เชื้อราหรือแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ก่อให้เกิดอาการอักเสบในรูหู การแคะหูทำให้มีแผลถลอกของรูหู และการติดเชื้อตามมาได้ อาการของหูชั้นนอกอักเสบมักเกิดภายหลังว่ายน้ำหรือแคะหู โดยผู้ป่วยจะมักมีอาการปวดหู หูเป็นน้ำเยิ้ม คล้ายหูแฉะ เป็นอาการหลัก บางรายมีอาการบวมแดงของรูหูและใบหู ซึ่งจะมีอาการหูอื้อตามมา โดยเฉพาะในรายที่มีเชื้อราหรือขี้หูมาก อาจทำให้รูหูอุดตัน ได้ยินไม่ชัด สำหรับการรักษา ส่วนใหญ่จะให้การรักษาตามสาเหตุ การทำความสะอาดหู ดูดหนอง หรือขี้หูออก แล้วเช็ดด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาเพิ่มความเป็นกรดในรูหู จะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น

               หูชั้นกลางจะเป็นโพรงอากาศเล็ก ๆ อยู่ระหว่างแก้วหูและหูชั้นใน โดยภายในหูชั้นกลางจะมีกระดูกฆ้อน ทั่ง โกลน มาต่อเชื่อมกันเพื่อนำเสียงเข้าสู่หูชั้นใน นอกจากนี้ยังมีท่อที่ต่อเชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับจมูก ซึ่งจะทำหน้าที่คอยปรับความดันในหูให้เท่ากับภายนอก การอักเสบของหูชั้นกลางเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็ก ซึ่งมักจะเป็นผลจากการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบนแล้วลามมายังหู การสังเกตหรือคอยติดตามดูอาการจะช่วยให้เราสามารถนำเด็กมาพบแพทย์ได้เร็วขึ้น โดยเด็กมักจะบ่นปวดหู, หูอื้อ มีไข้ขึ้น ภายหลังจากเป็นหวัด ไอมาได้สามสี่วัน ในเด็กเล็กอาจร้องกวนโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อบุตรหลานของท่านมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ การรักษาส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะกรณีที่อาการปวดมีมาก และไม่ขึ้น ภายหลังให้ยา แพทย์อาจพิจารณาเจาะแก้วหูเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อระบายหนองออกและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ

ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

เขียนโดย Krit DaddyRock ที่ 22:39

หมายเลขบันทึก: 336270เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณค่ะ...มีประสบการณ์ "หูตึง" ของคุณพ่อวัยเก้าสิบ..ท่านไม่ชอบใส่เครื่องช่วยฟัง บอกว่ารำคาญเสียงก้องๆ ไม่เป็นธรรมชาติค่ะ..จึงสื่อสารด้วยการเขียนแทน

 

..ควรนำผู้ป่วยมารับการตรวจวัดระดับการได้ยินก่อนว่าหูตึงมากน้อยเพียงใด และจะได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ ไม่ควรด่วนตัดสินใจซื้อเครื่องช่วยฟังไปตามการโฆษณา บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีประสาทหูพิการ ตัดสินใจไปซื้อเครื่องช่วยฟังมาใช้ โดยอ่านเอาจากโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ หรือบางรายซื้อมาแล้วก็ไม่ได้ใช้..

สมัยก่อน บริษัทที่มูนทำงานอยู่ มีให้ตรวจสุขภาพประจำปีด้วย  และมีการตรวจหู และการได้ยิน..  เมื่อรวมประสบการณ์ลักษณะการตรวจการได้ยิน + ช่วงเวลาหนึ่ง การได้มีโอกาสฟังเพลงต่างๆ มากมาย  จึงทำให้คิดได้เองว่า  เครื่องช่วยฟัง น่าจะต้องมีการปรับระดับเสียง ให้เข้ากับการฟังของแต่ละคน  น่าจะเหมือนการชอบฟังเพลง หรือดนตรี ชนิดต่างๆ  การปรับ ก็อาจคล้ายๆ กับการปรับเสียงของสายกีต้าร์  คงต้องละเอียดอ่อน และอาจต้องใช้เวลามากพอสมควร  มูนจึงคิดว่า  ก่อนที่จะซื้อเครื่องช่วยฟังซึ่งราคาแพง..  เราต้องคิดถึงเสียงที่เราชอบฟังก่อนค่ะ   อาจคิดผิดก็ได้  ใครมีความรู้ช่วยแนะนำด้วยนะคะ  มูนจะได้เก็บข้อมูลตรงนี้ด้วย  คุณแม่ของมูนท่านมีอายุแล้ว และมูนก็เริ่มรู้สึกว่า การได้ยินของท่านเริ่มมีปัญหา..  มูนก็เลยมองเผื่อๆ ไว้ค่ะ..  ความจำของคุณแม่ของมูน ยังแม่นมาก  อิ อิ   สายตาก็ดีมากค่ะ เพราะไปยิงเลเซอร์เอาต้อกระจกออกเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 ข้าง..  ขอบคุณค่ะ   

การปรับ ก็อาจคล้ายๆ กับการปรับเสียงของสายกีต้าร์  คงต้องละเอียดอ่อน และอาจต้องใช้เวลามากพอสมควร

การปรับ ก็อาจคล้ายๆ กับการปรับเสียงของอุปกรณ์เครื่องดนตรีต่างๆ  คงต้องละเอียดอ่อน และอาจต้องใช้เวลามากพอสมควร

ตอนนี้มีอาการหูอื้อหูตึงค่ะ แก้วหูทะลุค่ะ

เรียนท่านอาจารย์ Ka-poom

ต้องผ่าตัดตกแต่งแก้วหนูไหมค่ะ ที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทรมีคุณหมอเก่งด้านนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท