หลายหัว (คิด) ดีกว่าหัวเดียว


วิเคราะห์โจทย์ และตีให้แตกว่าแขกของเราเป็นใคร มาทำอะไร ทำอย่างไรจะให้เขาได้รับประโยชน์สูงสุด

โรงพยาบาลเทพธารินทร์ มีความแตกต่างไปจากสมาชิกเครือข่ายแห่งอื่นๆ ที่เราเป็นโรงพยาบาลเอกชน และไม่ได้เข้าโครงการ ๓๐ บาท การทำงานกับชาวชุมชนรอบๆ ข้าง จึงต้องระมัดระวัง เพราะชาวชุมชนอาจจะเข้าใจเจตนาเราผิด เมื่อดิฉันลงชุมชนร่วมกับทีมวิจัย ชาวชุมชนบอกว่าอยากฟัง ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ บรรยายเรื่องเบาหวาน เราดีใจและรีบเตรียมการทันที เพราะอาจารย์เทพท่านอยากทำประโยชน์ให้กับชุมชนรอบข้างอยู่แล้ว

ดิฉันขอให้คุณสุนทรี นาคะเสถียร ผู้จัดการฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัย ที่มีประสบการณ์สูงในเรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้ป่วยและประชาชน ช่วยวางแผนและออกแบบกิจกรรมให้น่าสนใจ เพราะเป็นงานที่จัดให้ชุมชนรอบข้างโดยเฉพาะเป็นครั้งแรก คุณสุนทรีและทีมงานวางแผนกิจกรรมได้น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าให้สมาชิกทราบวิธีการด้วยค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๘

"วิธีวางแผนกิจกรรมให้น่าสนใจ"

วันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๘ นี้ มีเรื่องน่ายินดีของชาวเทพธารินทร์ คือ ชาวบ้านละแวกชุมชนแสนสบาย-แสนสุข และ แฟลต 23-24 สนใจขอเข้าฟังการบรรยายจาก ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ จะไม่ให้ยินดีได้อย่างไร เพราะสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนสนใจและใส่ใจในการดูแลสุขภาพ จึงร้องขอมา จะให้โอกาสทองเช่นนี้ผ่านไปไม่ได้แล้ว เราจึงต้องมีการเตรียมการกันหน่อย

ตามประสาที่ต้องยึดคำสอนโบราณเป็นที่ตั้งว่า "หลายหัว (คิด) ดีกว่าหัวเดียว" จึงได้นำโจทย์ไปถกกันในฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัย เพื่อให้น้องๆ เพื่อนร่วมงานได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิด เราเริ่มจากการวิเคราะห์โจทย์ และตีให้แตกว่าแขกของเราเป็นใคร มาทำอะไร ทำอย่างไรจะให้เขาได้รับประโยชน์สูงสุด

เราพบว่าชาวบ้านราว ๑๐๐ คน เหล่านี้ อยู่ในชุมชนเมือง ซึ่งส่วนใหญ่มีการศึกษาขั้นพื้นฐาน เริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ เราจึงจัดกิจกรรมดังนี้ จัดเป็นซุ้ม นอกเหนือจากจุดลงทะเบียน เจาะเลือด และวัดความดันโลหิต ซึ่งเป็นพื้นฐานแล้ว เราจะจัดซุ้มอื่นอีก

ซุ้ม-นิทรรศการ:- เนื้อหาเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของเบาหวาน ความเสี่ยงของการเกิดเบาหวาน และโรคทางระบบเมตาบอลิซึม

ซุ้ม-ตรวจสุขภาพเท้า:- ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพเท้าทั่วไป การใช้รองเท้าไม่เหมาะสม การเกิดตาปลา หรือหนังด้านแข็งอันเนื่องมาจากการลงน้ำหนักไม่เหมาะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สามารถให้การดูแลแก้ไขได้ตั้งแต่ต้น

ซุ้ม-ผลไม้:- พบว่าประชาชนมักได้รับคำแนะนำให้กินผัก ผลไม้สดเพื่อสุขภาพ ซึ่งก็ได้ผลคือ กินกันมากขึ้น แต่รู้ไหมบางท่านกินมากเกินไปจะเกิดปัญหาตามมาได้ ทั้งที่อาหารทุกชนิดควรมีปริมาณที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ก็ตามเราจึงหยิบยกเรื่องตวงปริมาณผลไม้มาให้ดูกันชัดๆ ว่าควรกินมื้อละเท่าไรจึงจะดี โดยโชว์แบบจำลองอาหารให้เห็นกันจะ! จะ!

ทุกซุ้มจะมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องคอยให้คำแนะนำ และชี้แจงให้เข้าใจเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพ

เพื่อนๆ สมาชิกคนใดมีแนวคิดในการจัดกิจกรรมอะไร เล่าสู่กันฟังนะคะ จะได้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และช่วยกันพัฒนาสุขภาพคนไทยเอง

เล่าเรื่องโดย: คุณสุนทรี นาคะเสถียร ผู้จัดการฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัย โรงพยาบาลเทพธารินทร์ หมายเลขติดต่อ ๐-๒๒๔๐-๒๗๒๗ ต่อ ๒๒๓๑-๔

หมายเลขบันทึก: 3360เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2005 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท