ผู้เรียนเป็นสำคัญ, บูรณาการ, การประเมินตามสภาพจริง : ศน.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก


การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การสอนแบบบูรณาการ การประเมินตามสภาพจริงสามารถดำเนินการไปพร้อมๆกับการสอนตามปกติ

หลายครั้งที่ไปนิเทศครูมักจะบอกหรือบ่นให้เราฟังบ่อยมากว่าเขา "การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ" ก็ทำไม่ถูก "การสอนแบบบูรณาการ" ก็ทำไม่ถูก" การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง" ไม่รู้ว่าทำอย่างไร รวมทั้ง "การวิจัยในชั้นเรียน" นั้น ก็ทำไม่ได้  เราก็ลองถามต่อว่า แต่ละเรื่องไม่เข้าใจตรงไหนล่ะ? ก็ได้รับคำตอบคล้ายๆ กันว่า ...มันก็ไม่เข้าใจทุกเรื่องและแต่ละเรื่องก็ไม่เข้าใจตลอดนั่นแหละ บางเรื่องพอเข้าใจบ้างเล็กน้อย แต่ไม่เข้าใจถึงขั้นที่ทำได้....  

หลังจากที่ปล่อยเขาได้ระบายความรู้สึกและได้พูดคุยสนทนาจนเป็นที่คุ้นเคยกันพอสมควรแล้ว  พี่ครู น้าครู เพื่อนครู หลายคนได้นำแผนการสอนมาให้ช่วยดู ตามด้วยคำพูดขอร้องที่ดูเหมือนไม่ค่อยมั่นใจนักว่า ...อาจารย์ช่วยดูแผนฯ ให้หน่อยนะ ไม่รู้ว่าใช้ได้หรือเปล่า?? ไม่รู้ล่ะ! ที่อยู่ก็ใช้แผนนี้แหล่ะสอน

ผมได้ศึกษาแผนฯ ของครูทุกคนด้วยความตั้งใจ พินิจ พิจารณา และพิเคราะห์อย่างละเอียดลออ  ก็เห็นว่าในแผนนั้นได้เขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ไว้ค่อนข้างครบถ้วน สมบูรณ์ เช่น 1. นักเรียนสามารถบอกพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ 2.นักเรียนจัดทำรายงานเรื่องพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ 3. นักเรียนสามารถทำงานกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เมื่อได้ศึกษากิจกรรมการเรียนรู้ ก็พบว่าครูได้กำหนดกิจกรรมฯ ได้สอดคล้องกับจุดประสงค์ เช่น ให้นักเรียนศึกษาพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากใบความรู้  ทำรายงาน และนำเสนอพระราชกรณียกิจในป้ายนิทรรศการหน้าห้องเรียนพร้อมตกแต่งด้วยงานศิลป์ให้งดงาม เป็นต้น

ส่วนในเรื่องการวัดและประเมินผลก็พบว่าครูใช้วิธีการซักถาม ตรวจรายงานตามเกณฑ์ ตรวจผลงานนิทรรศการ และสังเกตพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม เป็นต้น

เมื่อเห็นเป็นดังนี้ ก็รู้สึกสบายใจและคิดว่างานนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเลย ตรงข้ามกับที่ครูบอกเราว่าเขาไม่เข้าใจ แท้จริงแล้วสิ่งที่เขาได้ทำอยู่นั้นเป็นการสอนทีเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่แล้วซึ่งดูได้จากจุดประสงค์ฯที่ได้กำหนดไว้ครอบคลุมพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ KAPกิจกรรมการเรียนรู้ก็ได้เน้นให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า ทำรายงานและจัดนิทรรศการกลุ่ม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันอันจะส่งผลให้นักเรียนได้เรียนรู้(สร้างองค์ความรู้)จากการปฏิบัติ ครูเป็นผู้ดูแลสนับสนุนแนะนำการทำกิจกรรมการเรียนรู้

และในชิ้นงานที่นักเรียนทำนั้นอย่างน้อยก็ได้มีการบูรณาการวิชาศิลปะ รวมทั้งภาษาไทย

ส่วนการวัดและประเมินผลก็จะเห็นว่าครูเขาได้ประเมินสอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ (เรียน/สอนอะไร ก็วัดสิ่งนั้น) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินตามสภาพจริงแล้ว

กลับมานึกทบทวน ก็พอมองเห็นว่าแท้จริงแล้วครูเขาทำได้แล้วในระดับที่น่าพอใจ เพียงแต่เขายังไม่สามารถอธิบายเราได้ว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นเป็นการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บูรณาการ ประเมินตามสภาพจริงอย่างไร หลักการว่าอย่างไร  สิ่งนี้แหละน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจในการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว

เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้  จึงคิดว่าจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับครูให้มากและกว้างขวางยิ่งขึ้นยิ่ง พร้อมทั้งนิเทศต่อยอดอย่างกัลยาณมิตรให้เขาเกิดความเข้มแข็งในการจัดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนพร้อมที่จะรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ให้ทันและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 33574เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2006 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท