แนวคิดหลักของการพัฒนาสุขภาพ


สุขภาพคือสุขภาวะ และมีความเป็นองค์รวม

แนวคิดหลักของการพัฒนาสุขภาพ (ในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9 พ.ศ.2545-2549)

 

แนวคิดหลักที่ 1: สุขภาพคือสุขภาวะ

ทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้องจะต้องมีแนวคิดที่ถูกต้องเป็นพื้นฐาน การสรุปบทเรียนกระบวนการพัฒนาสุขภาพในอดีตและความคิดเห็นทั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิและจากเวทีการระดมความเห็นต่าง ๆ ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า การที่จะยกระดับเพดานความสำเร็จของการพัฒนาสุขภาพนั้น จำเป็นต้องมีการปรับกระบวนทัศน์เกี่ยวกับสุขภาพ โดยไม่เพียงแต่ต้องมองสุขภาพทั้งในมิติทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณแล้ว ยังต้องมองให้เชื่อมโยงกับเหตุปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม แทนที่จะมองสุขภาพเป็นเพียงแต่การรักษาโรค แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9 จึงต้องยึดแนวคิดหลักที่ถือว่า สุขภาพ คือสุขภาวะ”

ทัศนะที่มองการมีสุขภาพดีจำกัดอยู่ที่การเยียวยารักษาโรคได้ทำให้ระบบสุขภาพของสังคมไทยเป็นแบบตั้งรับ กล่าวคือเป็นระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ก็เฉพาะเมื่อเกิดการเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น มาตรการต่าง ๆ จึงเป็นไปเพื่อซ่อมสุขภาพมากกว่าสร้างสุขภาพ แนวคิดหลัก "สุขภาพคือสุขภาวะ" ถือว่า สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์และมีดุลยภาพทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ สุขภาพจึงแยกไม่ได้จากวิถีชีวิตที่จะต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของความถูกต้องพอดี โดยดำรงอยู่ในครอบครัว ชุมชนและสังคมที่พัฒนาอย่าง "สมดุล" ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม

แนวคิดหลักที่ 2 : พัฒนาระบบสุขภาพทั้งระบบ

จากแนวคิดหลักที่ถือว่าสุขภาพคือสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างเป็นบูรณาการ การพัฒนาสุขภาพจึงไม่สามารถดำเนินการอย่างแยกขาด ตัดตอน และไม่สามารถบรรลุผลได้โดยการดำเนินการของหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดหรือภาคหนึ่งภาคใดอย่างแยกส่วน แต่ต้องดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพทั้งระบบ เพราะสุขภาวะที่สมบูรณ์เกิดจากระบบสุขภาพที่สมบูรณ์ ระบบสุขภาพมีขอบเขตกว้างกว่าระบบบริการสุขภาพ และกว้างกว่าระบบงานสาธารณสุขของทางราชการ แนวคิดหลักของการพัฒนาระบบสุขภาพจึงต้องเน้นการพัฒนาระบบสุขภาพทั้งระบบ การจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติจึงไม่ใช่การจัดทำแผนปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข แต่จะต้องเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงไปถึงเหตุปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นองค์ประกอบและกลไกสำคัญของการสร้างสุขภาวะที่สมบูรณ์ของสังคมอย่างเป็นบูรณาการ โดยต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาสุขภาพ

คำสำคัญ (Tags): #แนวคิดสุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 33552เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2006 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำไมระบบชีวิดสุขภาพที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ต้องเกิดได้เมื่อมีการเจ็บป่วยเท่านั้นคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท