KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 82. การประเมิน


• การประเมินเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ชอบ   ทำให้คนเครียด   เกิดบรรยากาศที่ไม่เป็นอิสระ    ยิ่งการกำหนดตัวชี้วัดคนไทยยิ่งไม่ชอบ    ที่จริงคนชาติไหนๆ ก็ไม่ชอบ เพราะการประเมินโดยทั่วไปเน้นการหาจุดบกพร่องเพื่อแก้ไข
• ใน KM ก็มีการประเมิน แต่เราเน้นการประเมินเชิงบวก    คือประเมินหาความสำเร็จ ที่ส่วนใหญ่เป็น micro success เพื่อเอามาขยายผล    สคส. เรียกว่าการ “จับภาพ”    เราเน้นบรรยากาศไปจับภาพแบบกัลยาณมิตรมาเยี่ยมเยียนเพื่อหาร่องรอยของความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ สำหรับเอาไปบอกต่อ    หรือเพื่อให้รางวัล/ยกย่อง    จริงๆ แล้วถือเป็น empowerment evaluation    คือประเมินเพื่อส่งเสริม  
• การประเมินหาข้อบกพร่องมาแก้ไข มีความเสี่ยงต่อการที่มีคนไปชี้ตัวคนผิดหรือบกพร่อง    ซึ่งจะสร้างบรรยากาศเชิงลบ    ก่อความขัดแย้ง และทำให้คนไม่มีความสุข    แต่การ “จับภาพ” ความสำเร็จ จะสร้างบรรยากาศเชิงบวก สร้างขวัญกำลังใจ
• จริงๆ แล้ว ในการทำ KM ต้องมีการประเมินอยู่ตลอดเวลา โดยทุกคนที่เป็นสมาชิกทีม KM   การทำ AAR, Retrospect, ตารางแห่งอิสรภาพ ต่างก็เป็นการประเมินทั้งสิ้น   แต่เน้นการประเมินตนเองของกลุ่ม อย่างเป็นอิสระ   ไม่เน้นที่ผลการประเมิน แต่เน้นกระบวนการ   เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ลปรร.   ไม่ใช่เพื่อบอกว่าใครดีกว่าใคร
• การประเมินจำนวนมากในสังคมไทย ทำกันอย่างหลอกๆ เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าสอบผ่าน หรือได้คะแนนดี    ไม่ได้เกิดผลต่อการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติงาน   ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างวัฒนธรรมจอมปลอมขึ้น   ดังกรณีมีการว่าจ้างทำผลงานเพื่อนำส่งให้ผ่านการประเมิน
• การประเมินใน KM ต้องระมัดระวังอย่าให้ตกไปอยู่ใต้วัฒนธรรมจอมปลอมเช่นนั้น    ต้องเป็นการประเมินตามสภาพความเป็นจริง เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน และเพื่อการพัฒนาตนเอง ของทีมงาน  
• “คุณเอื้อ” และทีมแกนนำ KM ของหน่วยงาน ยังต้องประเมินบรรยากาศการ ลปรร. ที่เป็นอิสระ และมีบรรยากาศเชิงบวก    หากยังไม่ดีนัก ก็ต้องหาทางพัฒนาทักษะนี้ของทีมงาน  
• เมื่อทำ KM ไประยะหนึ่ง ก็ต้องร่วมกันประเมินการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นความสามารถในการเล่าเรื่อง   ความสามารถในการประชุมแบบสุนทรียสนทนา (dialogue)  ความสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน   ผลงานที่ดีขึ้น  เป็นต้น
• จะเห็นว่าการทำ KM หนีการประเมินไปไม่พ้น   แต่ต้องเป็นการประเมินแนว KM คือประเมินเชิงบวก เพื่อการเรียนรู้ และการพัฒนา

วิจารณ์ พานิช
๒๙ พค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 33517เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2006 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

     วัฒนธรรมแบบใดก็ต้องเป็นของกลุ่มคนแบบนั้น  ดังนั้น วัฒนธรรมจอมปลอมก็ต้องเป็นของกลุ่มคนจอมปลอม

     และ Imply ต่อไปว่าในระบบการประเมินผลดังกล่าวยังมีกลุ่มคนจอมปลอมอยู่  และมีทั้งผู้ประเมิน และผู้ถูกประเมินอีกด้วย  จริงไหมครับ 

     แต่ผมคิดว่า น่าจะยังมีฝ่ายที่ถูกหลอกให้ประเมิน  ซึ่งน่าจะให้เขาอยู่นอกกลุมจอมปลอมนั้น  

     ผมชอบความคิดของคุณหมอครับ จึงร่วมแสดงความคิดด้วย. 

 

ยินดี ลปรร. แนวความคิดด้วยครับ    ผมก็ติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์อยู่เสมอ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท