หนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียน


หนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียน

 

                เมื่อประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการศึกษา เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญดังไปทั่ว  ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย  ต่างประเทศก็ชื่นชมความกล้าหาญ  นักการเมือง นักการศึกษา นักพัฒนาต่างตั้งความหวังว่าการศึกษาไทยจะดีขึ้น  จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้น  ระบบการศึกษาไทยจะไม่ด้อยกว่าต่างประเทศ  เด็กไทยจะเก่งทั้งภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล  การปฏิรูปการศึกษาไทยได้รื้อเกือบทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความหวังจะสร้างภาพใหม่  มีบางคนกล่าวว่าสิ่งที่ไม่ถูกรื้อไปก็คงเป็นเพียงตึกรามเท่านั้น  กระทรวงศึกษาธิการใหม่ ภายใต้โครงสร้างใหม่ ระบบบริหารใหม่ หลักสูตรใหม่  กับความสับสนวุ่นวายต่างๆ ดำเนินไปได้หนึ่งทศวรรษ  ผลการประเมินปรากฏว่ายังไม่บรรลุเป้าหมาย และหลายอย่างถอยหลังไปจากเดิม  ที่ดีขึ้นคือมีตำแหน่งต่างๆ เกิดมากขึ้น ที่ถอยลงชัดเจนคือคุณภาพการศึกษา

            รายงานของสำนักงานสภาการศึกษาชื่อ “สรุปผลการดำเนินงาน 9 ปี ของการปฏิรูปการศึกษา” ปรากฏชัดเจนว่า คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ลดลง คะแนนผลการทดสอบต่างๆ ลดลง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย  แสดงว่าเด็กไทยมีความรู้น้อยลง  ถ้าเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาคือการยกระดับคุณภาพ ดังที่กล่าวย้ำกันอยู่เสมอๆ การปฏิรูปการศึกษาก็ล้มเหลว กล่าวอย่างนี้ดูจะรุนแรงเกินไป แต่ก็มีหลายคนกล่าวไว้เช่นนี้ 

            มีกระบวนการศึกษาวิเคราะห์กันมากว่าเหตุใดการศึกษาไทยจึงไปไม่ถึงเป้า  ทั้งที่ทุกฝ่ายได้ทุ่มเทลงทุนอย่างมหาศาล  บทสรุปก็มักจะเป็นกำปั้นทุบดิน หลายคนโทษหลักสูตรไม่ดี สื่อการสอนไม่ดี ผู้บริหารไม่สนใจ ครูไม่มีจิตวิญญาณ ครูไม่ทำตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา  ครูยังสอนแบบใหม่ไม่เป็น ครูไม่สอนให้คิด ครูไม่มีความรู้  จึงมีผู้คิดว่าจะยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ต้องสร้างครูพันธุ์ใหม่ ครูที่เก่ง ครูที่ดี ครูที่มีจิตวิญญาณ ต้องผลิตครู 5 ปี โดยคิดว่าถ้าให้ครูเรียนเพิ่มอีก 1 ปี จะได้ครูที่ดีขึ้น เคยตั้งข้อสงสัยว่าจริงหรือ ถ้าจริงในโลกนี้เขาคงผลิตครู 5 ปี กันไปหมดแล้ว

            เห็นด้วยว่าคุณภาพการศึกษาไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ  แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปทั้งหมด  ถ้าวิเคราะห์คะแนนการวัดและประเมินให้ดี จะพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ทำคะแนนได้น้อย แต่มีไม่น้อยที่ทำคะแนนได้สูง  ถ้าเอาผลการสอบแข่งขันโอลิมปิกทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นตัวชี้วัด ก็จะเห็นว่าเด็กไทยเก่ง และเก่งไม่แพ้ประเทศใดในโลก  แต่ถ้าเอาค่าคะแนน  NT  เป็นตัวชี้วัด  เด็กไทยไม่เก่ง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น  เหตุผลคือ การแข่งขันโอลิมปิกเราคัดคนเก่งๆ ไปแข่ง มีการฝึกอย่างเข้ม แต่คะแนน NT สอบทั้งประเทศ ทั้งคนเก่งและไม่เก่ง แต่ถ้าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 50 แสดงว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่เก่ง เด็กไม่เก่งฉุดคะแนนเด็กเก่งให้ลดลง

            ถ้าดูคะแนนให้ใกล้เข้าไปอีกจะพบว่า ความห่างระหว่างเด็กเก่งกับไม่เก่ง คือคะแนนสูงกับคะแนนต่ำห่างกันมาก  และห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป แปลว่าเด็กเก่งก็เก่งเพิ่มขึ้น เด็กอ่อนก็อ่อนมากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ความผิดจะโทษว่าครูสอนไม่ดีไม่ได้ละกระมัง น่าจะมาจากสาเหตุอื่น  หรืออย่างนี้ก็ต้องมีตัวแปรอื่น นอกจากครูเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ตัวแปรอื่นก็คือขนาดของโรงเรียนนั่นเอง  เด็กโรงเรียนเล็กทำคะแนนได้น้อย

            ผู้เขียน เคยไปเยี่ยมโรงเรียนในชนบทมาแล้วทุกภูมิภาคของประเทศ แม้จะพ้นจากหน้าที่ราชการแล้วก็ยังไปอยู่เป็นประจำ ไปแล้วก็พบเสมอว่า โรงเรียนในชนบทมีขนาดเล็กลงมาก โรงเรียนชานเมืองก็มีขนาดเล็กลง  หลายคนคิดว่าเป็นเพราะประชากรรุ่นใหม่ลดลง  นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง  แต่ไม่ใช่สาเหตุใหญ่ จะว่าคนชนบททิ้งถิ่นเข้าไปทำกินในเมืองใหญ่ก็ไม่ใช่  เพราะหลายคนไปแต่ตัวทิ้งลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เหตุที่โรงเรียนรอบนอกเล็กลงเพราะการคมนาคมดีขึ้น คนมีความรู้มากขึ้น  รู้จักเลือกโรงเรียนให้ลูกหลาน  ที่เคยหาโรงเรียนใกล้บ้าน   เดี๋ยวนี้โรงเรียนใกล้บ้านไม่สำคัญ เขามีรถรับส่ง เขาหาโรงเรียนที่ดีให้ลูกซึ่งก็มักเห็นว่าโรงเรียนที่ดีคือโรงเรียนในเมืองเดี๋ยวนี้โรงเรียนในเมืองทั้งของรัฐและเอกชนมีคนนิยมมากขึ้น ขณะที่โรงเรียนรอบนอกเล็กลงๆ  บางโรงเรียนเหลือเด็กไม่ถึง 20 คน เมื่อก่อนเราสร้างโรงเรียนใกล้บ้าน บางตำบลมีถึง 5-6 โรงเรียน  เดี๋ยวนี้โรงเรียนในตำบลกลายเป็นปัญหาไม่มีเด็กเรียน

            โรงเรียนมีเด็ก 20 คน ชั้นหนึ่งก็มีเด็กไม่ถึง 10 คน ที่เคยเห็นมีชั้นละ 4-5 คน จะจัดครูให้ชั้นละ 1 คนก็คงไม่ได้ จึงพบเป็นประจำว่าครูคนหนึ่งสอน 2-3 ชั้น หลายคนบอกว่าทำได้  แต่จะให้ดีคงยาก  คุยกับครูพบว่า การสอนแบบนี้ทำให้มีคุณภาพยากมาก  สอนแค่อ่านออกเขียนได้ทำเลขเป็นก็หนักหนาสาหัสแล้ว

            อีกประการหนึ่งเด็กโรงเรียนเล็กๆ ล้วนเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน คนที่มีฐานะในชุมชน ในหมู่บ้านต่างอุ้มลูกขึ้นรถส่งเข้าเรียนในเมืองหมด  ผู้คนที่มีฐานะในชุมชน เมื่อลูกไม่ได้เรียนโรงเรียนใกล้บ้านก็ให้ความสนใจโรงเรียนน้อยลง  ที่หวังให้โรงเรียนเป็นของชุมชนก็เลยเป็นได้ส่วนเดียวคือเป็นของคนชุมชนที่ยากจนที่ไม่มีปัญญาจะช่วยโรงเรียน  เมื่อเป็นเช่นนี้ครูก็ไม่ค่อยมีกำลังใจสอน  ผู้ปกครองก็ไม่ค่อยสนใจโรงเรียน ผลการเรียนเด็กก็เลยลดลง ลดลง

            ถ้าต้นตอใหญ่ของปัญหาอยู่ที่โรงเรียนมีขนาดเล็กเกินไป  วิธีแก้ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ  ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมที่ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก  ที่นี่มีโรงเรียนประถมศึกษาถึง 5 โรง  ทุกโรงเป็นโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด  นายก อบต. กับโรงเรียนปรึกษากันแล้วเห็นชอบให้นำเด็กมาเรียนรวมกัน  โดยใช้ที่ใหม่ซึ่งเป็นโรงเรียนมัยธยมประจำตำบลแต่มีเด็กเรียนน้อยจึงมีที่ว่างอยู่  อบต. จัดพาหนะรับส่งนักเรียนจากบ้านมาเรียนรวมกัน ระยะทางที่ไกลสุดก็เพียง 3-4 กม. ครูก็มาสอนรวมกัน ปัญหาจากเดิมที่ครูไม่พอ คุณภาพการศึกษาไม่ดีก็เปลี่ยนไป  เป็นครูพอชั้น นักเรียนเรียนได้สนุกสนานมากขึ้น โรงเรียนกับประชาชนใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น  ผู้เขียนชื่นชมความตั้งใจของนาย อบต.  และเสนอแนะว่าทำไมไม่ยุบรวมให้เป็นโรงเรียนเดียวเสียเลย  คำตอบคือแค่นี้ก็ลำบากพอแล้ว  ทำนานๆ เข้าผู้บริหารก็ชักนึกเสียดาย อยากเอากลับไปโรงเรียนเดิม  ถ้าแยกกันก็กลายเป็นโรงเรียนเล็กอีก  เคยไปเยี่ยมมาสองครั้ง คาดหวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น  กลับเห็นทีท่าจะท้อถอย แสดงว่าแรงหนุนอาจยังน้อยไปไม่เพียงพอ

            คิดว่าทางแก้เรื่องคุณภาพการศึกษาที่สำคัญที่อยากเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความสนใจคือ การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ใครๆ ก็ชื่นชม น่าจะลองเอาความคิด OTOP คือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์มาใช้  เราควรคิดเรื่องหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียน  ยุคนี้หนึ่งตำบลมีหนึ่งโรงเรียนน่าจะเพียงพอแล้ว  แต่ต้องทำโรงเรียนให้ดี  สร้างโรงเรียนใหม่  ทำให้พร้อมที่ศูนย์กลางของชุมชนตำบล  แล้วให้โรงเรียนมีรถรับส่งนักเรียน เป็น School Bus ของตำบล  เอาไว้รับเด็กชายขอบตำบลที่อยู่ห่างโรงเรียน  เด็กส่วนใหญ่คงเดินมาเรียนได้ตามปกติอยู่แล้ว เมื่อสร้างโรงเรียนใหม่แล้วก็ยุบโรงเรียนเล็กๆ เสีย เท่านี้อาจจะแก้ปัญหาได้หมด

            อาจมีปัญหาการต่อต้านเรื่องการยุบตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่เท่าไรถ้าชี้แจงกันให้เข้าใจ  อาจมีปัญหาเรื่องประชาชน  แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือด้วยดี เพื่อการศึกษาที่ดีของลูกหลานเขา

            เขียนถึงตรงนี้  คิดว่าเรื่องกระจายอำนาจให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง  ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  อย่าคิดว่าโรงเรียนเป็นของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  แต่เป็นของส่วนรวมที่จะต้องช่วยกัน เหมือนที่เห็นที่วังน้ำคู้เป็นตัวอย่าง  ทุกอย่างก็จะไปได้สวย  ไม่ต้องเสียเวลาสร้างครูพันธุ์ใหม่กันต่อไปอีก

            อยากจะประกาศว่า มาคิดทำให้เหลือหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษากันเถิด

 

 

(ดร.พนม  พงษ์ไพบูลย์)

ประธานชมรมข้าราชการและครูอาวุโส

ของกระทรวงศึกษาธิการ

หมายเลขบันทึก: 333371เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านพนม พงษ์ไพบูลย์

เด็กนอกเมืองกำลังถูกต้อนเข้าเมือง ตามค่านิยมของพ่อแม่ เมื่อเด็กมีปัญหาทางการเรียนในเมือง

จึงเอากลับมาให้โรงเรียนขนาดเล็ก ครูไม่ครบชั้น เด็กที่มาจากในเมืองก็จะมาพาเด็กบ้านนอกออกนอกลู่นอกทาง

ครูโรงเรียนขนาดเล็กจึงท้อและเหน็ดเหนื่อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ยุบรวมป็นเรื่องดี พูดมานานแล้ว ไม่เห็นทำได้สักที

ระหว่างรอการพิจารณาแนวทางใหม่ๆเชิงนโยบาย ดิฉันมีตัวอย่างรร.เล็กๆที่มากด้วยคุณภาพมาฝากค่ะ..

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/246279

                 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท