สภาพัฒน์ปรับลดจีดีพีเหลือ 4.6% เตือนนโยบายเงิน-คลังต้องไปด้วยกัน


นโยบายเงิน-คลัง
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกโต 6% สภาพัฒน์ยังฟุ้ง ได้แรงหนุน ส่งออก ท่องเที่ยว เกษตร แต่ปรับลดประมาณการปี"49 โต 4.2-4.9% ผลวิกฤตน้ำมัน-ดอกเบี้ยขึ้น-ความเชื่อมั่นหด-เศรษฐกิจโลกชะลอตัวฉุดส่งออกไปไม่ถึงฝัน ขยายตัวแค่ 13-15% นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2549 แม้จะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาที่ 5.7% จากราคาน้ำมันปรับขึ้น 40.9% แต่ก็ยังขยายตัวได้ถึง 6% ของจีดีพี เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัว 3.2% และหากเทียบกับไตรมาส 4/2548 ยังขยายตัวได้ 0.7%   ปัจจัยหลักที่ทำให้จีดีพีขยายตัว ได้แก่ การส่งออกที่ขยายตัวสูง 17.9%, การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและรายจ่ายต่อหัว, ฐานจีดีพีปีก่อนขยายตัวต่ำ กระนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงจาก 11.3% เหลือ 7.2% และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน    ที่ยังทรงตัวอยู่ระดับต่ำ 4.1%    นอกจากนี้ สศช. ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงจาก 4.5-5% เหลือ 4.2 - 4.9% หรือเฉลี่ยที่ 4.6%   ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 4.5-4.7% จากไตรมาสแรก 5.8-6% และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้ม  จะขาดดุล 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.5% ของจีดีพี ซึ่งการที่เศรษฐกิจชะลอตัวมาจากปัญหาราคาน้ำมัน  ทำให้ สศช. ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มเป็น 62-65 ดอลลาร์/บาร์เรล จาก 55-58 ดอลลาร์/บาร์เรล และยังไม่รวมปัจจัยที่จะเกิดพายุเฮอร์ริเคนในสหรัฐอีก 1-2 เดือนข้างหน้า รวมถึงเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังที่มีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งจะกระทบต่อส่งออกไทย โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยขยายตัวสูง ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวเพียง 13-15% ต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ 17.5%   ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นอีกปัจจัย     ที่ฉุดเศรษฐกิจปี 2549 ทั้งนี้คาดว่าดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (MRR) เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 7.6-8% ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวลดลงเหลือ 11.7% จาก 14.7% ในปี 2548 เช่นเดียวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอลงเหลือ 9.5% จาก 16% ในปี 2548

นายอำพนกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ 4.6% หรือมากกว่านั้น หากราคาน้ำมันไม่สูงกว่า 63-65 ดอลลาร์/บาร์เรล และบริหารจัดการเศรษฐกิจในช่วงหลังของปีให้ดี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปี 2550 โดยต้องเร่งรัดใช้งบฯ ลงทุนส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจและงบประมาณเหลื่อมปีที่ได้รับอนุมัติแล้ว แต่ยังมีสัดส่วนการเบิกจ่ายต่ำ โดยจากงบฯ 1.36 ล้านล้านบาทในปี 2549 มีการเบิกจ่ายไปเพียง 65.67% หรือ 7.5 แสนล้านบาท และงบฯ ลงทุน 3.79 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 43.23% เพื่อให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้อย่างน้อย 8-10% และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา  ประการสำคัญ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องประสานและ       ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาและเกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงรักษาวินัยทางการเงินและการคลัง และดูแลให้การปรับเพิ่มดอกเบี้ยสอดคล้องกับเงินเฟ้อ โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวรุนแรงมากเกินไปจนเกิดภาวะชะงักงัน

 ประชาชาติธุรกิจ  8  มิ.ย.  49
คำสำคัญ (Tags): #การคลัง
หมายเลขบันทึก: 33334เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2006 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท