ผลการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนจังหวัดพัทลุง ปี 2547


การดำเนินงานแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1) เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดพัทลุงมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2) เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดพัทลุงสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็น 3) เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดพัทลุงได้รับการคุ้มครองสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพ 4) เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขในจังหวัดพัทลุงได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดและประชาชนมีความพึงพอใจ 5) เพื่อให้เครือข่ายบริการสาธารณสุขในจังหวัดพัทลุง มีความมั่นคงทางการเงิน – การคลัง และ 6) และเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง มีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพในทุกขั้นตอน ทั้งนี้โดยภาพรวมก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง มีความมั่นใจ และมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งต้องผ่านการรับรองคุณภาพ และผู้ให้บริการเองมีความสุข

ผลการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนจังหวัดพัทลุง
ปีงบประมาณ 2547

อนุชา  หนูนุ่น  นักวิชาการสาธารณสุข
งานทะเบียนฯและการประเมินผลหลักประกันสุขภาพ
กลุ่มงานประกันสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง

     ในปีงบประมาณ 2547 จังหวัดพัทลุงได้ดำเนินงานเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน โดยมีเป้าประสงค์ (Goal) สำหรับการดำเนินงานแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1) เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดพัทลุงมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2) เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดพัทลุงสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็น 3) เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดพัทลุงได้รับการคุ้มครองสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพ 4) เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขในจังหวัดพัทลุงได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดและประชาชนมีความพึงพอใจ 5) เพื่อให้เครือข่ายบริการสาธารณสุขในจังหวัดพัทลุง มีความมั่นคงทางการเงิน – การคลัง และ 6) และเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง มีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพในทุกขั้นตอน ทั้งนี้โดยภาพรวมก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง มีความมั่นใจ และมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งต้องผ่านการรับรองคุณภาพ และผู้ให้บริการเองมีความสุข ซึ่งสามารถสรุปได้ในแต่ละตัวชี้วัดดังนี้

     1. ด้านหลักประกันสุขภาพของประชาชน และความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพ   (ทุกสิทธิ) ของประชาชน เป้าหมายทุกคน พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีความครอบคลุมในปี 2545 ถึงปี 2547 เท่ากับ ร้อยละ80.05, 92.57 และ 98.63 ตามลำดับ ในส่วนที่เป็นสิทธิว่างพบว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน 2547 สิทธิว่างมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 803 คนต่อเดือน ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 พบว่าประชาชนยังมีสิทธิว่างทั้งสิ้น 6,991 คน ซึ่งได้มีมาตรการค้นหาสิทธิว่างเชิงรุกทั้งจากภาคส่วนของสถานบริการสาธารณสุขเอง การขอความร่วมมือผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ไปแล้ว สำหรับเด็กเกิดใหม่ในปี 2547 มีจำนวน 3,715 คน ได้รับการขึ้นทะเบียนตามโครงการหลักประกันสุขภาพและมีสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ รวม 3,457 คน คิดเป็นร้อยละ 93.06 ที่เหลือยังเป็นสิทธิว่างอีกจำนวน 258 คน คิดเป็นร้อยละ 6.94
     ซึ่งปัญหาความไม่ครอบคลุมของสิทธิ อาจเกิดได้ในหลายกรณีนอกจากกรณีที่เป็นสิทธิว่างจริง ๆ เช่นความซ้ำซ้อนของสิทธิในระบบฐานข้อมูล ซึ่งจากการตรวจสอบโดยการสำรวจสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ (CSMB) ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 พบความซ้ำซ้อนร้อยละ 2.03 ในขณะที่ผลการสำรวจยังไม่ครอบคลุมกลุ่มข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจทั้งหมด จึงคาดว่าความซ้ำซ้อนน่าจะมีมากกว่าที่พบคือ มากกว่าร้อยละ 2.03 ทั้งนี้เป้าหมายที่กำหนดความซ้ำซ้อนระดับที่ยอมรับได้คือ ไม่เกินร้อยละ 1.00 และอีกประเด็นปัญหาคือ คุณภาพของข้อมูลที่ส่งเพื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจากการสรุปผลการดำเนินงานในรอบปี 2547 พบว่าคุณภาพการขึ้นทะเบียนเท่ากับร้อยละ 88.17 และเฉพาะในส่วนที่ขาดคุณภาพ พบว่าร้อยละ 25.00 เกิดจากความผิดพลาดในการส่งข้อมูล เช่น เลขบัตรประจำตัวประชนผิดรูปแบบ รหัสสถานบริการผิดรูปแบบ หรือส่งขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนกับจังหวัดอื่นโดยไม่ได้จองสิทธิก่อน เป็นต้น ซึ่งคุณภาพส่วนนี้สถานบริการสาธารณสุขที่เป็นผู้ส่งข้อมูลสามารถควบคุมคุณภาพได้เอง ที่เหลืออีกร้อยละ 75.00 เป็นความผิดพลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่น การเสียชีวิตระหว่างขึ้นทะเบียน เกิดสิทธิซ้ำซ้อนกับสิทธิอื่นในระหว่างการส่งขึ้นทะเบียน หรือไม่มีในฐานข้อมูลกลางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น 

     2. ด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยมีตัวชี้วัด คือ การใช้สิทธิรับบริการผู้ป่วยนอก (OP Compliance) เป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 85.00 และการใช้สิทธิรับบริการผู้ป่วยใน (IP Compliance) ทุกครั้ง กล่าวคือ ประชาชนผู้ที่มีสิทธิตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรต้องแสดงสิทธิที่มีเมื่อไปใช้บริการ ซึ่งแสดงถึงความมั่นใจในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ ทั้งนี้ตัวชี้วัดด้านการจัดบริการที่แสดงถึงความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับสิทธิอื่น ๆ อีก 2 สิทธิหลัก (ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ และประกันสังคม) คือ การใช้บริการสาธารณสุขไม่แตกต่างกันตามประเภทสิทธิของประชาชนโดยพิจารณาจากมูลค่าของการให้บริการทุกสิทธิบัตรในโรคเดียวกัน กลุ่มอายุเดียวกัน แตกต่างกันไม่ควรเกินร้อยละ 5.00  ซึ่งจากตัวชี้วัดดังกล่าวพบว่าข้อมูลในปี 2547 (ข้อมูลจาก 0110 รง.5) สถานบริการสาธารณสุข และเครือข่ายหน่วยบริการ ยังรายงานไม่ครอบคลุมทุกเครือข่ายบริการทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในภาพรวมได้ แต่เมื่อได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งใช้บริการโดยการชำระเงินเอง (out of pocket) เมื่อไปใช้บริการทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ที่มีสิทธิตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงสรุปได้ว่าประชาชนจังหวัดพัทลุงยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน

     3. ด้านการคุ้มครองสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน โดยมีตัวชี้วัด คือ ประชาชนมีความเข้าใจสิทธิและหน้าที่ตามระบบหลักประกันสุขภาพ เป้าหมายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.00 ซึ่งในปี 2547 ยังไม่ได้มีการสำรวจข้อมูลที่เป็นเชิงปริมาณ มีเพียงการรับฟังและร่วมสนทนากลุ่มกับภาคประชาชน คือ เครือข่ายชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งได้พยายามดำเนินการในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่อง สิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 พบว่าประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการกับสิทธิและหน้าที่ตนเองตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น การยื่นเรื่องเพื่อขอมีสิทธิตามโครงการฯ การ ช่องทางการสอบถามข้อมูล หรือวิธีการ/ช่องทางการร้องทุกข์เมื่อได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข เป็นต้น และตัวชี้วัดอีกตัว คือ ประเด็นการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ซึ่งพบว่าในปี 2545 ถึงปี 2546 นั้นไม่มี แต่ในปี 2547 พบว่ามี 2 เรื่อง โดยมีเป้าหมาย คือ จำนวนเรื่องที่ร้องเรียนไม่ควรเกินร้อยละ 50.00 ของจำนวนเรื่องที่ร้องเรียนในปีที่ผ่านมา และเรื่องทั้งหมดที่ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนได้รับการแก้ไขแล้ว เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการร้องเรียนพบว่าเกิดจากการไม่ทราบวิธีการ/ช่องทางการร้องทุกข์เมื่อได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ผู้ร้องเรียนไม่มั่นใจหน่วยรับเรื่องในจังหวัดคือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ในฐานะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขา และการสื่อสารระหว่างสถานบริการสาธารณสุขที่ให้บริการกับผู้ร้องเรียนไม่ชัดเจน

     4. ด้านคุณภาพ และมาตรฐานบริการสุขภาพ ของหน่วยบริการสุขภาพ มีตัวชี้วัดและเป้าหมายซึ่งจำแนกได้ใน 6 ประเด็นดังนี้ 1) โรงพยาบาลทุกแห่ง ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน โรงพยาบาลคุณภาพ (HA) 2) สถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชนทุกแห่ง ผ่านการรับรองตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) 3) หน่วยสนับสนุนบริการสุขภาพทุกแห่ง ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากลของประเทศไทย (P.S.O.) 4) ประชาชนพึงพอใจคุณภาพบริการไม่น้อยกว่าร้อยละ 90.00 5) การร้องเรียนในด้านต่างๆ ไม่เกิน 5 ครั้ง ต่อการใช้บริการแสนครั้ง และ 6) ผู้ให้บริการพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80.00 จะได้กล่าวถึงรายละเอียดดังนี้
        4.1 การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเพื่อการรับรองตามมาตรฐาน โรงพยาบาลคุณภาพ (HA) พบว่าในปี 2547 มีโรงพยาบาลที่ผ่านบันไดขั้นที่ 1 จำนวน 4 แห่ง คือ รพ.พัทลุง รพ.ควนขนุน รพ.ปากพะยูน และรพ.ป่าพะยอม ซึ่งได้รับการเยี่ยมให้คำปรึกษาแบบเข้ม (intensive consultant visit) ที่เหลืออีก 6 แห่ง คือ รพ.ตะโหมด รพ.บางแก้ว รพ.ศรีบรรพต รพ.กงหรา รพ.ป่าบอน และ รพ.เขาชัยสน ก็ได้มีนโยบายในการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลคุณภาพอย่างชัดเจน และกำหนดเป้าหมายการผ่านบันไดขั้นที่ 1 ทุกแห่งในปี 2548 โดยโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดพัทลุงมีเป้าหมายที่เป็นเงื่อนไขเวลาจะต้องผ่านการรับรองโรงพยาบาลคุณภาพ (HA) ทั้งหมดภายในปี 2549 ที่จะถึงนี้
        4.2 การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชนให้ผ่านการรับรองตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) พบว่าในปี 2547 มีศูนย์สุขภาพชุมชนที่ผ่านการประเมินระดับจังหวัด 2 แห่ง คือ ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านสวน และ ศูนย์สุขภาพชุมชนปันแต ในส่วนของสถานีอนามัยในช่วงกลางปีได้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ฯ จากมาตรฐาน HCA มาใช้มาตรฐานฯ ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทำขึ้นแทน ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกันที่ใช้กับศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งก็มีส่วนให้การพัฒนาโดยเฉพาะการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานต้องหยุดชะงักไป สำหรับเป้าหมายการพัฒนาเพื่อการรับรอง คือ ภายในปี 2548 สถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชนจะต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) ร้อยละ 64.00 และที่เหลืออีกร้อยละ 36.00 จะต้องผ่านการรับรองภายในปี 2549 โดยมีรายละเอียด คือ ภายในปี 2548 ศูนย์สุขภาพชุมชนทุกแห่งทั้ง 37 แห่ง และครึ่งหนึ่งของสถานีอนามัยที่เหลือ (45 แห่ง) จะเป็นเป้าหมายการพัฒนาเพื่อการรับรองก่อน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ (45 แห่ง) จะเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อเตรียมประเมินในปี 2549 ต่อไป
        4.3 การพัฒนาหน่วยสนับสนุนบริการสุขภาพ (สสจ. และ สสอ.) เพื่อผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากลของประเทศไทย (P.S.O.) พบว่าในปี 2547 ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้มีการเริ่มดำเนินการเฉพาะในส่วนของการนำ 5 ส. มาเป็นกิจกรรมหลักของการพัฒนาสำนักงาน โดยมีคณะทำงานเพื่อการพัฒนาฝ่ายต่าง ๆ ตลอดจนมีการประชุมเพื่อเตรียมและทำความเข้าใจ การทำ Big Cleaning Day และได้มีการตกลงให้กลุ่มงานประกันสุขภาพเป็นกลุ่มงานนำร่องในการดำเนินการก่อน และพบว่าต่อมากลุ่มงาน/ฝ่ายต่างๆ ทั้งหมดก็ได้ดำเนินการแล้ว สำหรับในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/กิ่งอำเภอนั้นยังไม่ได้รับรายงาน/ปรากฏว่าที่ใดมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลของประเทศไทย P.S.O. อย่างเป็นรูปธรรม
4.4 ความพึงพอใจในคุณภาพบริการของประชาชน พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คือในปี 2545 ถึง ปี 2547 พบว่าประชาชนผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจร้อยละ 87.10, 80.60 และ 97.95 ตามลำดับ ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายไว้ที่อย่างน้อยร้อยละ 90.00 จะเห็นได้ว่าในปีที่ 2 ของการดำเนินงานตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนมีความพึงพอใจลดลงจากปีแรก ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าถึงสิทธิและรับรู้สิทธิตาม พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ของประชาชนมีมากขึ้น อีกประเด็นคือการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการทำให้สถานบริการสาธารณสุขปรับตัวเรื่องการให้บริการที่ทำให้ประชาชนพึงพอใจไม่ทันด้วยเหตุทรัพยากรที่มีอยู่เท่าเดิม ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากประเด็นความพึงพอใจของผู้ให้บริการที่จะได้กล่าวต่อไป จะเห็นว่ามีความสูงต่ำสลับกันอย่างชัดเจนทั้ง 3 ปี ที่ผ่านมา
        4.5 ความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพผู้ให้บริการ พบว่าผู้ให้บริการมีความพึงพอใจสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ในปี 2545 ถึง ปี 2547 เท่ากับร้อยละ 80.80, 95.90 และ 90.14 ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าในปี 2547 จะต่ำกว่าปี 2546 แต่ทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา ก็จะสูงกว่าปี 2545 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่จะเห็นได้ว่าในแต่ละปี จะมีความพึงพอใจของผู้ให้บริการมีความสูงต่ำสลับกันกับความพึงพอใจของประชาชนอย่างชัดเจนทั้ง 3 ปี ที่ผ่านมา กล่าวคือ เมื่อปีใดที่ความพึงพอใจของประชาชนมีระดับสูง ความพึงพอใจของผู้ให้บริการก็จะมีระดับต่ำสลับกัน (ดังได้กล่าวไว้แล้วใน 4.4)
        4.6 การร้องเรียนในด้านต่างๆ ของประชาชน พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปี 2545 ถึง ปี 2547 เท่ากับ 0.22, 0.39 และ 2.46 ครั้งต่อการใช้บริการแสนครั้ง ตามลำดับ ซึ่งไม่เกินกว่าที่เป้าหมายกำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 5 ครั้ง ต่อการใช้บริการแสนครั้ง แต่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในปีถัดไป ทั้งนี้เพราะการมีช่องทางการร้องเรียนและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสิทธิได้มากขึ้น สำหรับการดำเนินการเมื่อได้รับเรื่องเรื่องเรียนต่าง ๆ นั้น จะมีวิธีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ร้องเรียน และทุกเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาจะได้รับการแก้ไขในทันที หากเป็นเรื่องที่จะต้องมีการสอบหาข้อเท็จจริงก็จะดำเนินการโดยคณะกรรมการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแต่งตั้งไว้ด้วยความเป็นธรรม ก่อนนำข้อมูลที่ได้รายงานเสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพ คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการ หรือคณะอนุกรรมการพิจารณาเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการหรือทายาท แล้วแต่กรณี หรือในบางประเด็นก็อยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานสาขาที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้ก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ร้องเรียนได้เลย ทั้งนี้ในขณะเดียวกันแนวทางการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้มีการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข โดยไม่ต้องรอการตรวจสอบหรือตัดสินความถูกผิด ก็เป็นวิธีการที่สำคัญที่จะช่วยลดและแก้ปัญหาได้วิธีการหนึ่งที่สำคัญ

     5. ด้านความมั่นคงทางการเงิน การคลังของเครือข่ายบริการสุขภาพ ซึ่งมีตัวชี้วัด และเป้าหมายที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ 1) หน่วยบริการในเครือข่ายบริการสุขภาพทุกแห่งมีความมั่นคงทางการเงิน การคลัง (ดัชนีระดับความรุนแรงของสถานะทางการเงินเป็น +, +) 2) ระยะเวลาในการโอนเงินตามเกณฑ์การจัดสรรให้เครือข่ายบริการทุกครั้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รับการโอนเงินเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพ (ไม่เกิน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง) และ 3) เครือข่ายบริการสุขภาพทุกแห่งมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเงิน การคลัง ภายในเครือข่ายเอง
งบประมาณตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กองทุนฯ จังหวัดพัทลุง ได้รับการจัดสรร ในปี 2547 (ไม่รวมยอดที่จัดสรรเพิ่มเติม เพื่อเป็นค่าตอบแทนทุรกันดาร จำนวน 6,352,000 บาท เป็นค่าจ้างลูกจ้างจำนวน 600,480 บาท และเพื่อเสริมสภาพคล่อง (CF) 7,170,000 บาท) รวมทั้งสิ้น 162,971,000.55 บาท ซึ่งได้จัดสรรให้เครือข่ายหน่วยบริการ และหน่วยงานสนับสนุนการจัดบริการต่าง ๆ ดังนี้ 1) ตามจ่ายต่างหน่วยบริการนอกจังหวัด โครงการแก้ปัญหาบริการสาธารณสุขในภาพรวม และอื่นๆ จำนวน 32,840,063.26 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.15 เป็นค่าจ้างลูกจ้าง (นักเรียนทุน) จำนวน 838,380.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.51 เป็นค่าสนับสนุนการดำเนินงานของสถานีอนามัย จำนวน 15,240,000.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 9.35 เป็นงบประมาณในการส่งเสริมและป้องกันโรค จำนวน 29,329,259.94 บาท คิดเป็นร้อยละ 18.00 กันไว้เป็นกองทุนเสริมสภาพคล่องของหน่วยบริการ จำนวน 15,000,000.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 9.20 และจัดสรรเป็นงบประมาณสำหรับผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอกรวมกัน จำนวน 69,723,297.35 บาท คิดเป็นร้อยละ42.78 ของงบประมาณทั้งหมด สำหรับกรอบแนวทางในการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2547 มีรายละเอียดตามผังโครงสร้างภาพประกอบ ดังนี้ 

     ภาพประกอบ การจัดสรรงบประมาณตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จังหวัดพัทลุง ปี 2547

     จากผลของการจัดสรรงบประมาณ และการจัดบริการของเครือข่ายหน่วยบริการเองทั้ง 10 เครือข่าย พบว่าสถานการณ์ทางการเงินของหน่วยบริการที่เป็นแม่ข่ายไม่ดีนัก ซึ่งสามารถสรุปสถานการณ์ความมั่นคงทางการเงินโดยใช้ ตัวเลขทุนสำรองสุทธิ  (Net Working Capital : NWC), ผลประโยชน์เฉลี่ย  (Average Net Income : ANI) ได้ดังนี้ รพ.ควนขนุนเพียงแห่งเดียวที่มีสถานการณ์ความมั่นคงทางการเงิน (+,+) โรงพยาบาลที่มีสถานการณ์ต้องเฝ้าระวัง มีมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ และควบคุมต้นทุน (+,-) คือ รพ.ป่าพะยอม รพ.ตะโหมด รพ.ปากพะยูน และ รพ.เขาชัยสน โรงพยาบาลที่มีสถานการณ์ต้องเฝ้าระวังและพัฒนาระบบการควบคุมประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง (-,+) คือ รพ.พัทลุง และในส่วนของโรงพยาบาลที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมาก คือต้องมีมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพและควบคุมต้นทุนอย่างเร่งด่วน (-,-) คือ รพ.ป่าบอน รพ.บางแก้ว รพ.ศรีบรรพต และ รพ.กงหรา
     สำหรับประเด็นระยะเวลาในการโอนเงินตามเกณฑ์การจัดสรรให้เครือข่ายบริการ (ไม่เกิน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง) พบว่าในปี 2547 มีการโอนเงินจากกระทรวงสาธารณสุข แต่มีการตีความหมายของรายละเอียดประกอบการจัดสรรคาดเคลื่อนทำให้จัดสรรให้เครือข่ายช้ากว่าที่กำหนด 2 ครั้ง จากทั้งหมด 7 ครั้ง ระยะเวลาในการโอนเงินตามเกณฑ์การจัดสรรให้เครือข่ายบริการ จึงคิดเป็นร้อยละ 71.43 ซึ่งตามเป้าหมายกำหนดไว้ คือทุกครั้ง และประเด็นการมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเงิน การคลัง ภายในเครือข่ายเองนั้น เนื่องจากในระดับจังหวัดมีการแต่งตั้งคณะทำงานและได้รับการพัฒนาองค์ความรู้จากคณะทำงานระดับกระทรวงในช่วงไตรมาศที่ 3 ของปีงบประมาณ จึงทำให้ไม่สามารถพัฒนาคณะทำงานในระดับเครือข่ายได้ทัน อีกทั้งระบบการจัดทำรายงาน (0110 รง.5) ยังไม่มีความครอบคลุมและทันตามเวลาที่ควรจะใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อเฝ้าระวัง โดยสรุปจึงทำให้คณะทำงานเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเงิน การคลังในระดับจังหวัดก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามเวลาที่เหมาะสม
     สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาด้วยการติดตามผลการส่งรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการวางแผนประเมินผล การออกนิเทศติดตามเพื่อรับทราบปัญหา และอุปสรรค ตลอดจนการสนับสนุนเครือข่ายหน่วยบริการที่ประสบปัญหาในการจัดทำรายงานโดยการให้ผู้รับผิดชอบออกไปฝึกให้ยังหน่วยบริการโดยตรง และในปี 2548 จะได้ดำเนินการพัฒนาคณะทำงานเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเงิน การคลัง ภายในเครือข่ายเองต่อไป

     6. การส่งเสริมให้ภาคประชาชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง มีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพในทุกขั้นตอน โดยมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย 2 ตัว คือ 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพในทุกขั้นตอน ในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง และ 2) องค์กรประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพในทุกขั้นตอน ในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ซึ่งในภาพรวมได้ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่จังหวัดพัทลุง ด้วยการรณรงค์และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวระดับแกนนำภาคประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการจัดเสวนาภาคประชาชนในการสร้างเสริมความรู้แก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2547 ในปีต่อไป
     สำหรับตัวชี้วัดในประเด็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพในทุกขั้นตอน พบว่าในระดับเครือข่ายหน่วยบริการทุกเครือข่ายมีคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมทุกแห่งทั้ง 10 แห่ง ทั้งนี้มีการร่วมประชุมกันอยู่อย่างต่อเนื่อง และตัวชี้วัดในประเด็นองค์กรประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพในทุกขั้นตอนนั้น พบว่าทุกหน่วยบริการมีคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชนอยู่แล้ว แต่ทั้ง 2 ตัวชี้วัด ไม่พบว่ามีข้อมูลความเคลื่อนไหวในส่วนนี้

     ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่    http://gotoknow.org/file/chinekhob/UCEva2547.zip 

หมายเลขบันทึก: 3330เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2005 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
รู้สึกดีใจแทน ประชาชน จ.พัทลุง ที่มี สสจ.ที่มีความสามารถและพัฒนาที่ดีเยี่ยม ขอเป็นกำลังใจให้นะค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท