ชีวิตที่พอเพียง : 35. ทุ่มเทชีวิตอยู่กับการเรียน


• ที่จริงในตอนที่แล้ว   น่าจะให้ชื่อตอนว่า “เรียนสองลูก” คือทั้งเรียนวิชา และเรียนตัวอย่างที่ดี    โดยที่การเรียนตัวอย่างที่ดี เป็นการตีความโดยผมเองในตอนแก่   คล้ายๆ สวมแว่นส่องชีวิตตนเอง   ไม่ทราบว่าเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเข้าข้างตัวเองแค่ไหน  วิญญูชนพึงอ่านโดยยึดถือกาลามสูตรนะครับ   อย่าเชื่อง่ายๆ นัก    ปุถุชนมักเข้าข้างตนเองเสมอ
• อาจารย์ประจำชั้น ม. ๗ คืออาจารย์จินตนา    ขึ้นชั้น ม. ๘ ผมได้อยู่ห้อง ๑๔๔ มีอาจารย์วิภา รัศมิทัต เป็นอาจารย์ประจำชั้น   ก็ยังเป็นห้องคิงอย่างเดิม   เพื่อนจากห้อง ๒๒ ส่วนใหญ่ขึ้นมาอยู่ห้องนี้   แต่ก็มีเพื่อนบางคนย้ายไปอยู่ห้องอื่น   และมีเพื่อนจากห้องอื่นตอนเรียน ม. ๗ มาอยู่กับพวกเรา   เพื่อนที่เรียนด้วยกันใน ๒ ปีนี้ที่พบปะกันบ่อยที่สุดในขณะนี้ คือ คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
• ไพบูลย์ เป็นเด็กบ้านนอกจากอยุธยา    มาอาศัยอยู่กับขุนวิจิตรมาตราที่ผ่านฟ้า   ไพบูลย์มาชวนเพื่อนๆ รวมทั้งผมว่าท่านขุนให้มาชวนไปทดลองฝึกสมาธิเพื่อพัฒนาพลังการรับรู้   ท่านบอกว่าท่านฝึกเด็กที่เด็กกว่าพวกเราให้ “ดูทางแก้ม” ได้   คือปิดตาแต่มองเห็น   บอกวัตถุที่เอามาทายได้ว่าเป็นอะไร   ท่านเอาเด็กมาแสดงการ “ดูทางแก้ม” ให้พวกเราประจักษ์ด้วยตาตนเอง   และบอกว่าพวกเพื่อนๆ ของผมเป็นเด็กสมองดี   ท่านอยากลองว่าเมื่อฝึกสมาธิแล้วจะทำได้ยิ่งกว่า “ดูทางแก้ม”    ท่านให้เรานั่งสมาธิในห้องแอร์    เป็นครั้งแรกที่ผมเคยเข้าห้องแอร์ที่ไม่ใช่โรงหนัง   เบาะนั่งก็สบายคล้ายโรงหนัง   ผมนั่งทีไรหลับทุกที   ไปอยู่ ๒ – ๓ ครั้งก็เลิกไป   เพราะอายที่หลับทุกที
• ผมเรียน ม. ๘ ในสภาพที่เรียนมาแล้วเกือบหมด    และยังข้ามไปเรียนของปี ๑ จุฬาฯ ด้วย   เพราะพี่วิรัชเข้าเรียนคณะวิศวฯ ปี ๑   ที่จริงผมแอบอ่านหนังสือของวิศวฯ ปี ๓ ด้วย เพราะพี่วิชาเรียนอยู่    และแอบดูสมุดจดของอาตุ๊ที่กำลังเรียนแพทย์ด้วย   แต่อ่านไม่รู้เรื่อง    จะเห็นว่าผมโชคดีมากที่ได้ไปอยู่ในกลุ่มเด็กขยันเรียนทั้งนั้น    แต่ท่านเหล่านั้นบอกว่าผมขยันกว่าเพื่อน   และอ่านหนังสือ-ทำแบบฝึกหัดทนไม่เหนื่อยหรือเบื่อง่าย 
• ตอนสอบมิดเยียร์ ม. ๗ จำไม่ได้ว่าผมสอบได้ที่ ๒ หรือ ๓ โดย นส. บุญช่วย สถาปัตยวงศ์ สอบได้ที่ ๑    อาจารย์กับเพื่อนๆ มากระเซ้าว่าผมออมมือ    แปลกมากที่อาจารย์และเพื่อนๆ คิดว่าผมต้องได้ที่ ๑   เมื่อไม่ได้ก็ว่าออมมือ   แต่พอสอบปลายปีผมก็ได้ที่ ๑ จริงๆ   เพื่อนๆ บอกว่าเป็นม้าตีนปลาย   จริงๆ แล้วผมก็ควบสุดฤทธิ์ แต่ตอนกลางปีมันก็ได้ดีที่สุดแค่นั้น   การที่เราถูกสังคมคาดหวังมากๆ มี่ทำให้เครียดนะครับ    และเราก็บ้าไปกับเขาด้วย   ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง    กว่าผมจะหลุดออกมาจากกระแสสังคมแบบนี้ก็เมื่อทำงานแล้วหลายปี 
• ขึ้น ม. ๘   อาจารย์วิภามาบอกว่า อาจารย์ลัยอาจ ภมะลาภา รองผู้อำนวยการโรงเรียนมาบอกท่านว่าจะให้ผมไปเป็นกรรมการห้อง ๖๐   ซึ่งหมายถึงเป็นกรรมการนักเรียนประจำรุ่นนั่นเอง    แต่อาจารย์วิภาคัดค้านว่าไม่ควรเอาผมไปเป็นกรรมการห้อง ๖๐   เก็บไว้ทำชื่อเสียงให้โรงเรียนในฐานะนักเรียนที่สอบได้ที่ ๑ ของประเทศดีกว่า   ผมฟังอาจารย์วิภาก็ตกใจยกกำลังสอง    คือตกใจว่าเขาเห็นผมเป็นอะไรจึงคิดเอาไปเป็นกรรมการห้อง ๖๐ ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของลูกเศรษฐี ลูกคนมีชื่อเสียง และเป็นคนคล่องแคล่วสังคมดีพูดเก่ง   ซึ่งผมมีลักษณะตรงกันข้ามหมด    คล่องอยู่อย่างเดียวคือเรียนหนังสือ   ตกใจที่สองคือเขามายกภาระหนักในการชิงตำแหน่งที่ ๑ ประเทศไทยมาให้เราโดยที่มีเพื่อนหัวดีกว่าเรามากมายอีกหลายคน   ผมมีดีอยู่อย่างเดียวคือขยันและเรียนทน  
• ผมเป็นคนชอบสังเกตข้อดีของคนอื่น   จึงเห็นข้อดีและความสามารถของเพื่อนแต่ละคนมากมาย    แล้วพยายามเอาอย่างมาพัฒนาปรับปรุงตัวเอง    แต่ผมทำไม่ค่อยสำเร็จ    จึงบอกตัวเองว่าเรื่องนี้เราไม่ถนัด   ในที่สุดผมพบว่าตัวเองไม่ถนัดอะไรจริงๆ สักเรื่องเดียว    จึงสงสัยอีกว่าทำไมเรียนได้คะแนนดี   เพราะความจำผมไม่ดี   วาดรูปไม่เป็น   ร้องเพลงไม่เป็น   แต่งบทกวีไม่เป็น   เล่นกีฬาไม่เป็น   ผมสรุปกับตนเองว่าผมดีด้านความเพียร   เมื่อลูกผมเรียนหนังสือโรงเรียนเตรียมเหมือนกัน เขาบอกว่าคนที่เรียนเก่งแบบนี้เรียกว่ามีคุณสมบัติของความเป็นควาย    คือเอาความอดทนและกำลังเข้าโถม   แต่เมื่อ อายุผ่านมาถึง ๖๔ ผมสรุปว่าผมเด่นด้านฉันทะต่อการเรียนรู้   การเป็นคนช่างสังเกต   และจิตนิ่ง   ไม่รู้จะยกหางตัวเองเกินไปหรือเปล่า
• ประกาศผลการสอบประโยคเตรียมอุดมศึกษา ปี พ.ศ. ๒๕๐๓   มีเพื่อนร่วมห้องเดียวกันติดบอร์ด ๕๐ คนแรกของประเทศกว่าครึ่งห้อง    และผมได้ที่ ๑ ตามที่เขาเก็งกัน   ได้คะแนนรวมร้อยละ ๙๔.๒ ซึ่งนับว่าสูงมาก ผมไม่คิดว่าจะได้คะแนนดีขนาดนี้   ผมคิดว่าเป็นผลของการที่ผมเรียน ม. ๘ สองปีซ้อนนั่นเอง    คือตอนเรียน ม. ๗ ก็ได้เรียน ม. ๘ ล่วงหน้าไปแล้ว    ผมสรุปกับตัวเองว่าการสอบได้ที่ ๑ ไม่ได้หมายความว่าเราเก่งที่สุด 

วิจารณ์ พานิช
๒๗ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 33241เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท