เทคนิคการวิจัยอนาคตแบบเดลฟาย (Delphi technique)


อนาคตศาสตร์ (Futurism) เป็นศัพท์บัญญัติศาสตร์สาขาใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่ สนใจของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน แต่ปรัชญาและมโนทัศน์เกี่ยวกับอนาคตศาสตร์มีมานานแล้ว วิทยาการแขนงนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์อนาคตด้วยเทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอนาคตได้ดียิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การควบคุมและผลักดันในอนาคตให้เป็นไปทางที่มนุษย์ต้องการได้

เทคนิคการวิจัยอนาคตแบบเดลฟาย (Delphi technique)

     1. การวิจัยอนาคต (Future Research)

          1.1 ความหมายของการวิจัยอนาคต อนาคตศาสตร์ (Futurism) เป็นศัพท์บัญญัติศาสตร์สาขาใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่  สนใจของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน แต่ปรัชญาและมโนทัศน์เกี่ยวกับอนาคตศาสตร์มีมานานแล้ว วิทยาการแขนงนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์อนาคตด้วยเทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอนาคตได้ดียิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การควบคุมและผลักดันในอนาคตให้เป็นไปทางที่มนุษย์ต้องการได้ เป้าหมายที่สำคัญของอนาคตศาสตร์มี 3 ประการ คือ 1.) สร้างภาพอนาคตที่จะเป็นและที่ควรจะเป็น 2.) แสวงหาทางเลือกที่จะดำเนินการในอนาคต และ 3.) กระตุ้นให้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและหาแนวทางการแก้ไขต่อไป ส่วนการวิจัยอนาคตนั้น เป็นเทคนิคการวิจัยแบบใหม่ ซึ่งเป็นระเบียบวิธีการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับอนาคตด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific approach) ความรู้ของอนาคตศาสตร์ประกอบด้วยภารกิจและงานของมนุษย์ในทุกด้าน เช่น ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เป็นต้น (กฤษดา  กรุดทอง,  2530 : 12 – 13)

          1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัยอนาคต วัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัยอนาคต คือ 1.) ต้องการเปลี่ยนความคิดที่ว่า “ทุกคนกำลังเดินไปสู่อนาคตที่ควบคุมไม่ได้” ซึ่งแท้ที่จริงการเดินไปสู่อนาคตมีหลายหนทางให้เลือกได้ สามารถหลบหลีกอนาคตที่ไม่พึงประสงค์ได้ และ 2.) ต้องการจะขยายแนวความคิดของการพยากรณ์แบบง่าย ๆ ไปสู่การอธิบายผลของกิจกรรมอันหลากหลายที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นช่องทางที่จะทำให้สามารถกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ จนเป็นผลทำให้สามารถวางเงื่อนไขเพื่อให้เกิดอนาคตที่พึงประสงค์ได้ (ดิลก  บุญเรืองรอด,  2530 : 20)

          1.3 วิธีการในการวิจัยอนาคต วิธีการทำนายภาพอนาคตในแต่ละเทคนิคจะมีวิธีการหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่มีความสลับซับซ้อนและความเป็นระบบระเบียบเท่านั้น วิธีการหลัก ๆ ในการวิจัยอนาคตพอประมวลได้ 3 วิธี คือ 1.) การคาดการณ์แนวโน้ม (Trend Projection) เป็นการคาดการณ์แนวโน้มด้านปริมาณ เช่น การคำนวณสมการเส้นตรง ทำนายแนวโน้มจำนวนนักศึกษา เป็นต้น   2.) การเขียนภาพอนาคต (Scenario Writing) เป็นการสำรวจความเป็นไปได้ของอนาคตจากจินตนาการว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น จะมีอะไรดี อะไรเสีย จะมีผลกระทบอะไร เกิดขึ้นกับใครและหน่วยงานใด เป็นต้น ดังนั้นการเขียนภาพอนาคต จึงหมายถึง ความพยายามในการจินตนาการความเป็นไปได้ในอนาคตบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่จริง และประโยชน์ของภาพอนาคตช่วยให้เข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นในลักษณะของผลจากการตัดสินใจที่เกิดขึ้นนั้น ๆ และ 3.) การปรึกษาผู้อื่น (Consulting Others) การปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิจะช่วยทำให้เกิดภาพที่มีความเข้าใจและสามารถตัดสินใจดีขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาวิธีการวิจัยอนาคตหลายวิธีที่ใช้การประมวลความรู้จากผู้ทรงวุฒิให้ได้ข้อสรุปมติของ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ การสร้างภาพอนาคต สร้างได้ใน 2 ลักษณะ คือ รูปแบบ (Model) และการจำลอง (Simulation) ทั้งสองลักษณะเป็นการจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ดีขึ้น (ฟ้ามุ่ย  เรืองเลิศบุญ,  2539 : 4)

          1.4 พัฒนาการของการวิจัยอนาคต กฤษดา  กรุดทอง (2530 : 13 – 14) ได้กล่าวถึงพัฒนาการของการวิจัยอนาคตไว้ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1907  โดย ดี ซี กิลฟิลแลม (D.C. Gilfillam) ได้เสนอวิธีการศึกษาอนาคตขึ้นเป็นบุคคลแรก และต่อมาในปี ค.ศ. 1930  รัฐบาลอเมริกาได้สนับสนุนการวิจัยด้านนี้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1944  โอ เค เฟรชเทียม (O.K. Flechtheim) ได้เริ่มใช้คำว่า “ฟิวเจอโรโลยี (Futurology)” ขึ้นมาใช้เรียกวิทยาการ ที่พัฒนาขึ้น ทำให้การวิจัยอนาคตพัฒนาไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีหลักการที่เป็นวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

     ในราวทศวรรษ 1960 การวิจัยอนาคตเริ่มมีรูปแบบวิธีการที่ชัดเจนมากขึ้น วิธีการวิจัยอนาคตได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อกำหนดนโยบายและวางแผน ถือได้ว่าเป็นเทคนิคหนึ่งของการวางแผน ผนวกเข้ากับการวิจัยนโยบาย (Policy Research) ซึ่งได้รับการพัฒนาพร้อมกันในระยะเวลาดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกาบริษัท แรนด์ โคออร์ปเปอเรชั่น (Rand Cooperation) ได้วางพื้นฐานการวิจัยด้านนี้อย่างมั่นคงร่วมกับ เอสซีดี (SCD: System Development Cooperation) และสถาบันฮัดสัน (Hudson Institute) เพื่อดำเนินการวิจัยอนาคตแก่กองทัพอากาศสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1960 นิโคลัส เรสเชอร์ (Nicholas Rescher) และโอลาฟ เฮลเมอร์ (Olaf Helmer) ได้พัฒนาเทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) มาใช้ศึกษาอนาคต ต่อมาในปี ค.ศ. 1964 โอลาฟ เฮลเมอร์ (Olaf Helmer) และเจมส์ กอร์ดอน (Jame Gordon) ในนามบริษัทแรนด์ ได้ทำการวิจัย Long – Range Forecasting Study เพื่อทำนายเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ 103 โครงการ เช่น การลงดวงจันทร์ การเปลี่ยนหัวใจมนุษย์ การติดต่อทางจิต การวิศวกรรมพันธุ์ เป็นต้น ในทศวรรษนี้ถือว่า การวิจัยอนาคตได้รับการยอมรับเป็นที่เชื่อถือกันทั่วไป วงการธุรกิจและอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ในการวางแผนกำหนดนโยบายเพื่อการดำเนินงานธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น เวลติ้งเฮาส์ (Westinghouse), เบลล์ เทเลโฟน (Bell Telephone), เจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) เป็นต้น โอลาฟ เฮลเมอร์ นักอนาคตวิทยาคนสำคัญ ได้กล่าวว่า การวิจัยอนาคตได้กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญของนักกำหนดนโยบายและ  วางแผนไปแล้ว

     หลังจากปี ค.ศ. 1967 เป็นต้นมา การวิจัยอนาคตได้แพร่หลายเข้าไปในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี  ในปารีส เบอร์ตรัง เดอ ยองเวเนล (Bertrand de jonvenel) ได้จัดตั้ง สโมสรแห่งโรมขึ้น (Club of Rome) ผลงานสำคัญของคณะนักวิจัยอนาคตกลุ่มนี้ คือในปี ค.ศ. 1972 ได้เสนอ “ขีดจำกัดความเจริญ” (The Limit of Growth) ซึ่งสร้างภาพอนาคตในปี ค.ศ. 2000 ด้วยการฉายภาพการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร ทรัพยากร การผลิตอาหารและมลภาวะ และในปี ค.ศ. 1974 ได้เสนอ “มนุษยชาติ ณ จุดหันเห” (Mankind at The Turning Point) กล่าวถึงทางเลือกและการแก้ไขปัญหาจากความเจริญของมนุษยชาติ

          กล่าวได้ว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีนี้ (ค.ศ. 1960 – 1969) การวิจัยอนาคตได้พัฒนาก้าวหน้ามาก มีระเบียบวิธีการ (Methodology) เฉพาะของตนเอง นับตั้งแต่นั้นมาการวิจัยอนาคตได้เข้าไปมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจ กำหนดนโยบาย และวางแผนขององค์การธุรกิจต่าง ๆ การวิจัยด้านนี้เป็นที่สนใจกันอย่างแพร่หลายทั้งกับหน่วยงานราชการ บริษัท และบุคคล ในทางการศึกษามีองค์กรหลายแห่งได้สนใจนำเอาการวิจัยอนาคตมาใช้กำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษา เช่น Rand Cooperation, Institute of Social Science Research, The Institute for Future of Middletown, The Future Group of Glastonbury และ Educational Policy Research Centre เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งโครงการการวิจัยอนาคตขึ้นหลายโครงการ เช่น The Futurist Curriculum Project, The Program for The Study of The Future in Education, The Study Commission on Undergraduate Education and The Education of Teachers.

          1.5 รูปแบบการวิจัยอนาคต การวิจัยอนาคตได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ (กฤษดา กรุดทอง, 2530 : 15 – 16)

     ระยะที่ 1 (Phase-I Classical Linear Projection: 1960 – 1970) ในช่วง 10 ปีแรก การวิจัยอนาคตใช้วิธีการฉายภาพแบบการพยาการณ์เชิงเส้นตรง วิธีการนี้ใช้ได้ดีกับการพยากรณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบอื่น ๆ น้อยตัว การวิจัยอนาคตสามารถพยากรณ์ได้โดยใช้ข้อมูลเดิมในระยะที่ผ่านมา เช่น จากจำนวนนักเรียนในระยะ 4 – 5 ปีที่ผ่านมาที่กำลังเพิ่มขึ้น หรือสามารถพยากรณ์ได้จากตัวชี้บางตัว เช่น อัตราการเกิด เป็นต้น

     ระยะที่ 2  (Phase-ll Multiple Alternative Future: 1965 – 1967) ในช่วงระยะเวลา  2 ปี รูปแบบการวิจัยอนาคตแบบใหม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใช้ควบคู่กันไปกับวิธีการแบบเดิมซึ่งมีข้อมูลจำกัดอยู่มาก การวิจัยอนาคตแบบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้มีหลักสำคัญ คือ อนาคตที่อาจเป็นไปได้นั้นมีหลายแนวทาง การวิจัยอนาคตพยายามใช้ข้อมูลที่มีการสร้างทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดและเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ภายใต้ทรัพยากร เวลา งบประมาณที่มีเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป

     ระยะที่ 3  (Phase-lll Cross – Impact Future (1972 ---> )  ในช่วงระยะเวลา 10 ปี การวิจัยอนาคตได้ขยายแนวความคิดออกไปศึกษาผลกระทบของความรู้เกี่ยวกับอนาคตจากวิทยาการทุกแขนง การนำผลกระทบจากทุกองค์ประกอบมาพิจารณาร่วมกัน จะช่วยให้การสร้างภาพอนาคตมีความสมบูรณ์มากขึ้น

     2. เทคนิคเดลฟาย (Delphi technique)
          2.1 ความเป็นมาและความหมายของเทคนิคเดลฟาย เทคนิคการวิจัยแบบเดลฟาย เป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิชาการทางการศึกษาอย่างมากในปัจจุบัน ถูกค้นพบและพัฒนาโดย โอลาฟ เฮลเมอร์ (Olaf Helmer) และ นอร์แมน ดาลกี้ (Norman Dalkey) นักวิจัยของ บริษัท แรนด์ (Rand Cooperation) เมื่อต้นปี ค.ศ. 1960 เพื่อใช้ในการถามและเก็บความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพยากรณ์ทางด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

     อเล็กซ์ เจ ดูคานิส (Alex J. Ducanis, 1970, อ้างถึงใน นัยนา นุรารักษ์, 2539 : 42) ได้ให้ความหมายของเทคนิคเดลฟายว่า เป็นการทำนายเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเป็นไปได้ในอนาคต เทคนิคนี้ มุ่งที่จะลดผลกระทบหรืออิทธิพลของบุคคลอื่น ๆ ในกรณีที่ต้องมีการเผชิญหน้ากัน ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดผลกระทบทางด้านความคิดระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านกัน หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เทคนิคเดลฟาย เป็นวิธีการรวบรวมคำตอบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องที่เราต้องการจะศึกษาในขณะที่ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้เกี่ยวข้องจะถูกจำกัดลงด้วย

     อัลเฟรด รัสป์ จูเนียร์ (Alfred Rasp Jr., 1973 : 29, อ้างถึงใน ประยูร ศรีประสาธน์, 2523 : 49) ได้ให้ความหมายของเทคนิคเดลฟายว่า เป็นเทคนิคของการรวบรวมการพิจารณาการตัดสินใจที่มุ่งเพื่อเอาชนะจุดอ่อนของการตัดสินใจแต่เดิม ที่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะหรือความคิดเห็นของกลุ่มหรือมติของที่ประชุม

     โอลาฟ เฮลเมอร์ และนิโคลัส เรสเชอร์ (Olaf Helmer and Nicholus Rescher อ้างถึงใน ประยูร ศรีประสาธน์, 2523 : 50) ให้คำนิยามของเทคนิคเดลฟายว่า เป็นโครงการจัดทำอย่างละเอียดรอบคอบในการที่จะสอบถามบุคคล ด้วยแบบสอบถามในเรื่องต่าง ๆ เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลและความ คิดเห็นกลับมา สำหรับจุดมุ่งหมายของเทคนิคเดลฟายนั้น มุ่งที่จะรวบรวมการพิจารณาการตัดสินใจและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคต ในส่วนที่เกี่ยวกับเวลา ปริมาณ และ/หรือ สภาพการณ์ที่ต้องการจะให้เป็น
ทอร์นตัน และคณะ (Thornton and Others, 1975, อ้างถึงใน นัยนา นุรารักษ์, 2539 : 42) ได้ให้ความหมายของเทคนิคเดลฟายว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาและตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นวิธีการที่จะเป็นการขัดเกลาและได้รับความคิดเห็นที่สอดคล้องกันของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

     ประยูร ศรีประสาธน์ (2523 : 51) กล่าวถึงความหมายของเทคนิคเดลฟายไว้ว่า เป็นขบวนการที่จะเสาะหาความคิดเห็นที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มคนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคตในเรื่องที่เกี่ยวกับเวลา ปริมาณ และ/หรือสภาพการณ์ที่ต้องการจะให้เป็น ทั้งนี้โดยใช้วิธีการเสาะหาความคิดเห็นโดยการใช้แบบสอบถามแทนการเรียกประชุม

     สุวรรณา เชื้อรัตนพงศ์ (2523 : 24) ได้ให้ความหมายของเทคนิคเดลฟายว่า เป็นขบวนการที่รวบรวมความคิดเห็นหรือการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับอนาคตจากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ข้อมูลสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีความถูกต้องน่าเชื่อถือมากที่สุด โดยที่ผู้ทำการวิจัยไม่ต้องนัดสมาชิกในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญให้มาประชุมพบปะกัน แต่ขอร้องให้สมาชิกแต่ละคนแสดงความคิดเห็นหรือตัดสินปัญหาในรูปแบบของการตอบแบบสอบถาม

     ดิลก  บุญเรืองรอด (2530 : 23) ได้ให้ความหมายของเทคนิคเดลฟายว่าเป็นวิธีการนำความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาใช้ประโยชน์อย่างมีระบบแบบแผน หรือเป็นการขัดเกลาการตัดสินใจของกลุ่ม เป็นเทคนิคของการรวบรวมข้อมูลที่เอาชนะจุดอ่อนของการตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่ง หรือความคิดเห็นของกลุ่มที่มาประชุมกัน

     ประเทือง เพ็ชรรัตน์ (2530 : 38) ให้ความหมายของเทคนิดเดลฟายว่า เป็นกระบวนการหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับเรื่องราวในอนาคตที่กระจัดกระจายกันให้สอดคล้องกันอย่างมีระบบ ซึ่งจะนำไปใช้ในการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

     ชนิตา รักษ์พลเมือง (2535 : 59) ได้กล่าวถึงความหมายของเทคนิคเดลฟายว่า เป็นเทคนิคในการทำนายเหตุการณ์ หรือความเป็นไปได้ในอนาคตโดยอาศัยฉันทามติ หรือ Consensus ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปที่เป็นแนวคิดหรือเป็นการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหรือความเป็นไปในอนาคต ข้อสรุปจากฉันทามติของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนี้ จะสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจด้านต่าง ๆ ได้ ทั้งในเชิงวิชาการและบริการ

     จากความหมายที่กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่า เทคนิคเดลฟาย เป็นกระบวนการหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคตในเรื่องที่เกี่ยวกับ เวลา ปริมาณ และ/หรือ สภาพการณ์ที่ต้องการจะให้เป็น จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่กระจัดกระจายกันให้สอดคล้องกันอย่างมีระบบ โดยใช้วิธีการเสาะหาความคิดเห็นจากการตอบแบบสอบถามของผู้เชี่ยวชาญแทนการเรียกประชุม

          2.2 ลักษณะทั่วไปของเทคนิคเดลฟาย ลักษณะทั่วไปของเทคนิคเดลฟาย ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนที่ร่วมการวิจัยจะไม่ทราบว่าใครบ้างจะมีส่วนออกความเห็น นับเป็นการขจัดอิทธิพลของแต่ละคนที่จะส่งผลต่อความคิดเห็นของคนอื่น สื่อของการแสดงความคิดเห็นจึงมักจะอยู่ในรูปแบบสอบถามหรือสิ่งอื่นที่ไม่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาพบกัน แต่จะต้องสอบถามหลายรอบ แต่ละรอบที่ถามไปจะต้องมีการสรุปความคิดเห็นของกลุ่มในรอบที่ผ่านไปให้ทราบด้วย นับเป็นการตะล่อมความคิดเห็นด้วยข้อมูลทางสถิติของกลุ่มที่ดี (ดิลก บุญเรืองรอด, 2530 : 23) นอกจากนั้น จากคำนิยามของเทคนิคเดลฟายที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังแสดงให้เห็นคุณลักษณะของเทคนิคเดลฟาย ได้ดังนี้ (ประยูร ศรีประสาธน์, 2523 : 51)

     2.2.1 เนื่องจากเทคนิคนี้ มุ่งเสาะแสวงหาความคิดเห็นของกลุ่มคน ด้วยการตอบแบบสอบถาม ดังนั้นผู้เข้าร่วมโครงการจึงจำเป็นต้องตอบคำถามตามที่ผู้วิจัยได้กำหนดขึ้นในแต่ละรอบ

     2.2.2 เทคนิคนี้ไม่ต้องการให้ความคิดเห็นของผู้อื่นแต่ละคน มีผลกระทบหรือมีอิทธิพลต่อการพิจารณาตัดสินของผู้ตอบแบบสอบถาม ดังนั้นผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคนจะไม่ทราบว่ามีผู้ใดบ้างที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอยู่ในโครงการ และจะไม่ทราบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนมีความคิดเห็นในแต่ละข้ออย่างไร จะรู้เฉพาะคำตอบของตนเองเท่านั้น

     2.2.3 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนตอบแบบสอบถามด้วยการกลั่นกรองอย่างละเอียด รอบคอบ และเพื่อให้คำตอบที่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น ผู้ทำการวิจัยจะแสดงความคิดเห็นของผู้ที่เข้าร่วมโครงการเห็นสอดคล้องต้องกันในคำตอบแต่ละข้อของแบบสอบถามที่ตอบไปในครั้งก่อน และความคิดเห็นที่สอดคล้องกันนี้จะแสดงในรูปสถิติ โดยผู้ทำการวิจัยจะจัดส่งไปให้ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนได้ทราบ เพื่อพิจารณาว่าจะคงคำตอบเดิมหรือจะเปลี่ยนแปลงคำตอบเดิมประการใดบ้าง ซึ่งจะต้องบอกเหตุผลให้ทราบด้วย

          2.3 ข้อจำกัดในการใช้เทคนิคเดลฟาย สุวรรณา เชื้อรัตนพงศ์ (2528 : 25 – 26) และชนิตา รักษ์พลเมือง (2535 : 62) ได้กล่าวถึงข้อจำกัดในการใช้เทคนิคเดลฟาย ไว้ว่า แม้ว่าเทคนิคเดลฟายจะเป็นการวิจัยที่สามารถรวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญได้เป็นอย่างดีวิธีหนึ่ง แต่ในการใช้เทคนิคเดลฟายให้ได้ผลสมบูรณ์ มีข้อควรคำนึงดังนี้ 

     2.3.1 ด้านเวลา ผู้ทำวิจัยควรมีเวลามากเพียงพอ โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจะเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามอาจใช้เวลาช้าหรือเร็วกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะส่งแบบสอบถามแต่ละรอบคืนมาช้าหรือเร็วเพียงใด

     2.3.2 ด้านผู้เชี่ยวชาญ ในการเลือกสรรผู้เชี่ยวชาญนั้น ผู้วิจัยควรคำนึงถึง

       1.) ความสามารถของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ควรเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศในสาขานั้น ๆ อย่างแท้จริง ควรเป็นผู้รอบรู้และรู้สึกในประเด็นที่ศึกษาอย่างจริงจัง อาจเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลานาน เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบหรือมีประสบการณ์โดยตรงกับประเด็นปัญหาที่ศึกษา ไม่ควรเลือกโดยอาศัยความคุ้นเคยหรือการติดต่อได้ง่าย

       2.) ผู้วิจัยควรกำหนดคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดสรรกลุ่มคนที่จะเข้าร่วมในการวิจัย หรืออาจอาศัยการสอบถามจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการนั้น ๆ ให้เสนอรายชื่อบุคคลซึ่งควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ การคัดเลือกนี้จำเป็นต้องพิจารณากันอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะเหมาะสมจริง ๆ และเมื่อคัดเลือกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้แล้ว ผู้วิจัยควรติดต่อขอความร่วมมือในการวิจัย ในเรื่องของการติดต่อขอความร่วมมือในการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญนั้น ประเทือง เพ็ชรรัตน์ (2530 : 39) ได้เสนอแนะวิธีไว้ว่า ให้หาที่อยู่หรือที่ทำงานพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี) ของผู้เชี่ยวชาญเก็บไว้เป็นหลักฐาน แล้วส่งจดหมายแจ้งให้ผู้เชี่ยวชาญทราบรายละเอียดของโครงการวิจัย และเหตุผลที่เลือกท่านผู้นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งขอความร่วมมือไว้ล่วงหน้า

       3.) ความร่วมมือของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ควรเลือกผู้ที่มีความเต็มใจ ตั้งใจ ยินยอมสละเวลา และมั่นใจในการให้ความร่วมมือกับงานวิจัยโดยตลอด รวมทั้งให้ความสำคัญแก่การวิจัย จะเป็นตัวแปรคำตอบที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของข้อมูลที่ได้รับ

       4.) จำนวนผู้เชี่ยวชาญ ควรเลือกให้มีจำนวนมากเพียงพอ เพื่อจะได้ความคิดเห็นใหม่ ๆ และได้คำตอบที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นักวิจัยบางคนให้ความเห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญ 5 – 10 คนในกลุ่มก็มากเพียงพอ แต่บางคนให้ความคิดเห็นว่าจำนวนผู้เชี่ยวชาญ 10 – 15 คนในกลุ่มเดียวกันก็มากเพียงพอแล้ว โดยทั่วไปไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าควรมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญกี่คน แต่จะขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มและประเด็นปัญหาที่ศึกษาเป็นสำคัญ หากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมีลักษณะเป็นเอกพันธ์ (Homogeneous Group) อาจจำเป็นต้องใช้เพียง 10 – 15 คน แต่ถ้ากลุ่มมีความแตกต่างกัน มีลักษณะเป็นเอนกพันธ์ (Heterogeneous Group) อาจต้องใช้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเป็นจำนวนมาก

     โทมัส แมคมิลแลน (Thomas T. Macmillan, 1971, อ้างถึงในเกษม บุญอ่อน, 2522 : 27 – 28) ได้เสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญที่จะใช้ในการวิจัยด้วยเทคนิคเดลฟายว่าเท่าไรจึงจะเหมาะสมในการประชุมประจำปีของสมาคมโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Junior Colleges Association) เมื่อ ปี พ.ศ. 2514 พบว่า เมื่อมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ 17 คนขึ้นไป อัตราการลดลงของความคลาดเคลื่อน (Error) จะมีน้อยมาก

     2.3.3 แบบสอบถาม ควรเขียนให้ชัดเจน สละสลวย ง่ายแก่การอ่านและเข้าใจ นอกจากนี้การเว้นระยะในการส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแต่ละรอบไม่ควรให้ห่างนานเกินไป เพราะอาจมีผลให้ผู้ตอบลืมเหตุผลที่เลือกหรือตอบในรอบที่ผ่านมาได้

     2.3.4 ผู้ทำการวิจัย ผู้ทำการวิจัยต้องมีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาคำตอบและให้ความสำคัญในคำตอบที่ได้รับอย่างเสมอกันทุกข้อโดยไม่มีความลำเอียง แม้ว่าในข้อ นั้น ๆ จะมีบางคนไม่ตอบก็ตาม ทั้งยังควรมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างดีในการดำเนินงานตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัยเทคนิคเดลฟายด้วย

     2.4 ขั้นตอนการดำเนินงานของเทคนิคเดลฟาย อัลเลน(Allen, 1978 : 123 – 125, อ้างถึงใน ดิลก บุญเรืองรอด, 2530 : 24) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการทำวิจัยด้วยเทคนิคเดลฟายว่า มีขั้นตอนทั่วไป 10 ขั้นตอน คือ

          2.4.1 ขั้นกำหนดคำถาม ขั้นแรกสุดผู้วิจัยต้องกำหนดคำถาม โดยเฉพาะคำถามที่ว่าต้องการอะไรจากผู้เชี่ยวชาญ คำตอบของคำถามนี้จะช่วยให้สามารถเลือกผู้เชี่ยวชาญได้ถูกต้อง

          2.4.2 ขั้นเลือกผู้เชี่ยวชาญ เมื่อทราบสิ่งที่ต้องการจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็จะช่วยให้สามารถเลือกผู้เชี่ยวชาญได้

          2.4.3 ขั้นพัฒนาแบบสอบถามรอบแรก ในการพัฒนาแบบสอบถามครั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วจะใช้คำถามปลายเปิด (Open – Ended Questions) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่แล้วส่งสำรวจครั้งที่ 1

          2.4.4 ขั้นวิเคราะห์แบบสอบถาม คำตอบที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์ จัดประเภท และหมวดหมู่ ให้ง่ายแก่การเข้าใจ

          2.4.5 ขั้นพัฒนาแบบสอบถามรอบที่สอง จากคำถามที่ได้จัดหมวดหมู่แล้ว ผู้วิจัยสามารถพัฒนาแบบสอบถามที่มีคำถามประเภทปลายปิด (Close – Ended Questions) ได้ ซึ่งอาจเป็นแบบให้เรียงลำดับความสำคัญหรือให้ประมาณค่าได้ ทั้งนี้แล้วแต่เรื่องที่ต้องการจะวิจัย แล้วส่งสำรวจครั้งที่ 2

          2.4.6 ขั้นพัฒนาแบบสอบถามรอบที่สาม ในการนำผลสำรวจครั้งที่ 2 มาวิเคราะห์จำเป็นต้องวิเคราะห์หาค่ามัธยฐาน (Median) และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Interquartile Range) จากนั้นให้พัฒนาแบบสอบถามขึ้นใหม่ โดยให้ระบุค่าสถิติทั้ง 2 ประเภทไว้ในแบบสอบถามด้วยพร้อมทั้งระบุด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญคนนั้น มีความเห็นอยู่จุดใดในหรือนอกพิสัย แล้วส่งให้ผู้ตอบ (ผู้เชี่ยวชาญ) ตอบในรอบที่ 3 พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบด้วย ซึ่งมัธยฐาน คือ คะแนนตัวที่อยู่ตรงกลางของกลุ่มเมื่อจัดเรียงลำดับคะแนนแล้ว ส่วนพิสัยระหว่างควอไทล์ คือ ผลต่างระหว่างควอไทล์ที่ 3 กับควอไทล์ที่ 1 ถ้าค่าพิสัยระหว่างควอไทล์แคบแสดงว่าคำตอบที่วิเคราะห์ได้นั้นมีความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญสอดคล้องกัน (ประเทือง เพ็ชรรัตน์, 2530 : 40)

          2.4.7 ขั้นพัฒนาแบบสอบถามรอบที่สี่ เมื่อวิเคราะห์ใหม่มักพบว่า มีผู้ตอบนอกพิสัยพอสมควรให้กำหนดแบบสอบถามครั้งที่ 4 พร้อมค่าสถิติเช่นเดิม และถามย้ำผู้ตอบนอกพิสัยว่าเพราะเหตุใดจึงยอมรับความเห็นส่วนใหญ่ไม่ได้

          2.4.8 ขั้นพัฒนาแบบสอบถามรอบที่ห้า วิเคราะห์ผลของรอบที่ 4 ถ้ายังคงพบความเห็นขัดแย้งมากอยู่เช่นเดิม ให้พัฒนาแบบสอบถามครั้งที่ 5 แสดงค่าสถิติทั้งสองค่า พร้อมทั้งความเห็นขัดแย้งและสนับสนุนของผู้ตอบเช่นเดิม แล้วส่งย้ำความเห็นอีกครั้ง

          2.4.9 ขั้นวิเคราะห์ค่ามัธยฐาน (Median) จากการสำรวจครั้งสุดท้ายจะเป็นค่าตัวแทนคำตอบของกลุ่ม

          2.4.10 รายงานผล การเขียนรายงานให้แสดงค่าสถิติเท่าที่วิเคราะห์ไว้ทั้งหมดพร้อมทั้งเหตุผล

     เกษม บุญอ่อน (2522 : 27) และสุวรรณา  เชื้อรัตนพงศ์ (2528 : 26)  ได้กล่าวถึงหลักการของประบวนการวิจัยด้วยเทคนิคเดลฟายไว้อย่างสอดคล้องกันว่า เพื่อให้ได้ความเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่สอดคล้องกันและน่าเชื่อถือมากขึ้นจึงต้องถามย้ำความเห็นโดยการส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลายรอบ โดยทั่วไปมักจะถามความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 3 – 4 รอบ ด้วยกัน นอกจากนั้น สุวรรณา เชื้อรัตนพงศ์ (2528 : 27) ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปมักจะตัดการส่งแบบสอบถามในรอบที่ 4 แล้วใช้ผลที่ได้ในรอบที่ 3 พิจารณาเสนอผลการวิจัย เพราะความคิดเห็นในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 มีความแตกต่างกันน้อยมาก

          2.5 ข้อดีและปัญหาของเทคนิคเดลฟายสุวรรณา เชื้อรัตนพงศ์ (2528 : 27 – 28), ชนิตา รักษ์พลเมือง (2535 : 67 – 68), ประยูร ศรีประสาธน์ (2523 : 56 – 57) และ ประเทือง เพ็ชรรัตน์ (2530 : 41) ได้กล่าวถึงเทคนิคเดลฟายว่า มีข้อดีและปัญหาไว้สอดคล้องกัน พอสรุปได้ ดังนี้

     2.5.1 ข้อดีของเทคนิคเดลฟาย

       2.5.1.1 วิเคราะห์ง่าย เทคนิคเดลฟายใช้ค่าสถิติเพียง 2 ค่าเท่านั้นคือมัธยฐาน (Median) กับค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Interquatile Range)
       2.5.1.2 ทุ่นเวลา เทคนิคเดลฟายใช้เวลาเพียงระยะสั้น คือถ้าให้เวลาผู้เชี่ยวชาญตอบคำถามโดยเฉลี่ยรอบละ 2 สัปดาห์ นับจากวันส่งคำถามไปจนกระทั่งได้รับคำตอบคืนมาประมาณ 2 – 3 เดือนก็เขียนรายงานผลการวิจัยได้ นับเป็นเทคนิคที่มีขั้นตอนการดำเนินการไม่ยากนักและได้ผลอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
       2.5.1.3 มีความเชื่อถือได้มาก ข้อมูลที่ได้จะมีความน่าเชื่อถือมาก เพราะ 1.) เป็นคำตอบที่ได้มาจากความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ อย่างแท้จริง 2.) ผลิตผลของการวิจัยเทคนิคเดลฟาย ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองหลายขั้นตอนจากการย้ำถามหลายรอบ จึงเป็นคำตอบที่กลั่นกรองมาอย่างรอบคอบเพราะความสอดคล้องกันของความคิดเห็นได้มาจากการพิจารณาร่วมกันอย่างละเอียดรอบคอบ ช่วยให้ความเชื่อมั่นของคำตอบที่ได้รับนั้นสูงขึ้น 3.) ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเต็มที่และอิสระไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดหรืออำนาจเสียงส่วนใหญ่ เพราะผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นจะไม่ทราบว่ามีใครอยู่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญบ้าง และไม่ทราบด้วยว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นอย่างไร และ 4.) ผู้เชี่ยวชาญมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนจะตอบแบบสอบถามฉบับเดียวกันทุกขั้นตอน และมีโอกาสปรับเปลี่ยนหรือยืนยันความคิดเห็นของตน จนเกิดความมั่นใจ รวมทั้งยังช่วยให้มีการพิจารณาประเด็นปัญหาได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
       2.5.1.4 ผู้ทำการวิจัยสามารถระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่จำกัดทั้งในเรื่องของจำนวนผู้เชี่ยวชาญ สภาพภูมิศาสตร์ หรือเวลา
       2.5.1.5 ผู้ทำการวิจัยสามารถทำการลำดับความสำคัญของข้อมูล และเหตุผลในการตอบ รวมทั้งความสอดคล้องในเรื่องความคิดเห็นได้เป็นอย่างดี
       2.5.1.6 เป็นเทคนิคที่สามารถรวบรวมความคิดเห็น โดยไม่ต้องมีการเรียกประชุมหรือการพบปะกันของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก

     2.5.2 ปัญหาของเทคนิคเดลฟาย

       2.5.2.1 การคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ หากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับคัดเลือกมา มิใช่ผู้ที่มีความสามารถหรือเชี่ยวชาญในสาขานั้นอย่างแท้จริง จะทำให้ผลการวิจัยนั้นขาดความเชื่อมั่นได้
       2.5.2.2 ไม่ได้รับความร่วมมือ ผู้เชี่ยวชาญไม่เต็มใจ หรือเกิดความเบื่อหน่ายในการตอบแบบสอบถามหลาย ๆ รอบ เกิดความรู้สึกว่าถูกรบกวนมากเกินไป หรือไม่สามารถให้ความร่วมมือตอบคำถามในการวิจัยได้โดยตลอด ผู้วิจัยก็จะได้คำตอบกลับคืนมาไม่ครบ ทำให้งานล่าช้าและผลการวิจัยขาดความเชื่อมั่นเช่นเดียวกัน
       2.5.2.3 การวิจัยแบบเทคนิคเดลฟายนี้ อาศัยข้อมูลจากการรวบรวมความสอดคล้องของความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนจะให้ความคิดเห็นอย่างวัตถุวิสัย ไม่มีอคติ และจะต้องเข้าใจประเด็นปัญหาโดยส่วนรวมและข้อความในแบบสอบถามแต่ละข้อตรงกัน ผู้วิจัยต้องแสวงหากลยุทธ์เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งอาจทำให้ผลการวิจัยไม่น่าเชื่อถือ
       2.5.2.4 การกำหนดระยะเวลาของการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตเป็นสิ่งที่พึงระวัง เพราะหากกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญทำนายเหตุการณ์ในระยะเวลาอันใกล้หรือไกลเกินไป อาจทำให้ผู้เชี่ยวชาญทำนายได้ด้วยความยากลำบากและเกิดความคลาดเคลื่อนได้
       2.5.2.5 ผู้ทำวิจัยขาดความรอบคอบหรือมีความลำเอียงในการวิเคราะห์คำตอบที่ได้รับในแต่ละรอบ
       2.5.2.6 แบบสอบถามที่ส่งไปสูญหายระหว่างทางหรือไม่ได้รับคำตอบกลับมาครอบ ในแต่ละรอบ

     นอกจากนั้น จุมพล พูลภัทรชีวิน (2535 : 82) ได้ชี้ให้เห็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเทคนิคเดลฟาย คือ ในการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามในรอบแรกนั้น มักเริ่มด้วยแบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง ซึ่งอาจมีการละเลยแนวโน้มหรือประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่ผู้วิจัยคาดไม่ถึงหรือไม่ทราบไป วิธีนี้อาจเป็นการประเมินค่าความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญต่ำไป (Underestimate) เพราะไปจำกัดข้อมูลที่ควรได้จากผู้เชี่ยวชาญจากการกำหนดกรอบความคิดของ ผู้เชี่ยวชาญโดยตัวผู้วิจัย ถึงแม้ว่าจะเป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิดก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็อาจจะไม่ตอบ เพราะขี้เกียจ หรือเพราะถูกชักนำให้คิดถึงแต่เฉพาะเรื่องที่ถูกถามในแบบสอบถาม ทำให้ลืมประเด็นที่น่าสนใจไป

หมายเลขบันทึก: 3324เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2005 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

(คัดลอกมาบันทึกพระราชอำนาจฯ) สมคิด วงศ์พิพันธ์ เมื่อ อ. 6 ก.ย. 23:43:33 2005 เขียนว่า:

     ผมกำลังจะลงมือทำงานวิจัยอนาคตชิ้นหนึ่ง ชื่อรูปแบบการกระจายอำนาจด้านการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนใจเทคนิคเดลฟายที่คุณลงในblogนี้ถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาอนุเคราะห์ด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง

ด้วยความขอบพระคุณ

สมคิด

    

เรียน คุณสมคิด วงศ์พิพันธ์

    ผมได้คัดลอกข้อคิดเห็นมาไว้ที่บันทึกนี้ เนื่องจากคงผิดพลาดทางเทคนิคมากกว่านะครับ และเพื่อจะได้ใช้ช่องทางติดต่อกันอย่างถูกต้องต่อไป สำหรับข้อคิดเห็นเดิมนั้น หากท่านทราบแล้ว จะขออนุญาตลบออก (หลังจากท่านได้อนุญาตแล้วนะครับ)

  สำหรับประเด็นที่ท่านจะข้อรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น ไม่ทราบว่าจะใช้อะไรอีกบ้าง สำหรับเนื้อหาผมได้เคย Review ไว้สมัยเรียน โดยอาจารย์มอบหมายครับ สำหรับตัวอย่างงานวิจัยแต่เป็นด้านสาธารณสุขนะครับเล่มหนึ่งที่ คือการหาลักษณะบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ (จะค้นรายละเอียดให้อีกทีครับ) ส่วนด้านการศึกษาผมไม่เคยได้ Review งานวิจัย เพียงแต่จำได้คร่าว ๆ ว่ามีเป็นบทความอยู่บ้างครับ

เรียน คุณสมคิด วงศ์พิพันธ์ (อีกครั้ง)

     ผมไม่สามารถนำเอกสารที่ตกค้าง รวมถึงบรรณานุกรมไปต่อไว้ที่บันทึกได้ ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใด แต่ได้ไปเรียนถามอาจารย์จันทวรรณฯ ไว้แล้วที่  http://gotoknow.org/archive/2005/09/03/04/50/16/e3391 ตอนนี้เลยต้องวางที่นี่ก่อนนะครับ เผื่อว่าคุณสมคิดจะได้ใช้ก่อน

บรรณานุกรม
กฤษดา  กรุดทอง.  2530.  “การวิจัยเชิงอนาคต Future Research”,  วารสารการวิจัยเพื่อการพัฒนา. 3 (มกราคม – ธันวาคม 2530), 12 – 16.
เกษม  บุญอ่อน.  2522.  “เดลฟาย : เทคนิคในการวิจัย”,  คุรุปริทัศน์.  10 (ธันวาคม 2522), หน้า 26 – 28.
จุมพล  พูลภัทรชีวิน.  2535.  “เทนิคการวิจัยแบบ EDFR”,  ในเทคนิควิธีการวิเคราะห์นโยบาย. หน้า 74 – 84.  ทศพร  ศิริสัมพันธ์ (บรรณาธิการ).  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย.
ชนิตา  รักษ์พลเมือง.  2535.  “การวิจัยแบบเทคนิคเดลฟาย”,  ในเทคนิควิธีการวิเคราะห์นโยบาย. หน้า 59 – 72.  ทศพร  ศิริสัมพันธ์ (บรรณาธิการ).  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย.
ดิลก  บุญเรืองรอด.  2530.  “การวิจัยอนาคตทางการศึกษา”,  วารสารการวิจัยเพื่อการพัฒนา.  3 (มกราคม – ธันวาคม 2530),  19 – 25.
นัยนา  นุรารักษ์.  2539.  “รูปแบบนำเสนอการจัดตั้งศูนย์วิทยบริการทางการแพทย์”, วิทยานิพนธ์ปริญญาคุรุศาสตรมหาบัณฑิต  ภาควิชาโสตทัศนศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (สำเนา) 
ประยูร  ศรีประสาธน์. 2523. “เทคนิคการวิจัยเดลฟาย”,  วารสารการศึกษาแห่งชาติ.  4 (14)  (เมษายน – พฤษภาคม 2523),  49 – 60.
ประเทือง  เพ็ชรรัตน์. 2530.  “เทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique)”,  วารสารการวิจัยเพื่อการพัฒนา.  3 (มกราคม – ธันวาคม 2530),  38 – 42.
ฟ้ามุ่ย  เรืองเลิศบุญ. 2539.  “การวิจัยตามกระบวนการอนาคตปริทัศน์ การเขียนภาพแคนโนแกรมและการเขียนแนวโน้มที่ได้จากกระบวนการอนาคตไทย”,  ข่าวสารวิจัยการศึกษา. 5 (มิถุนายน – กรกฎาคม 2539), 3 – 5 .
สุวรรณา  เชื้อรัตนพงศ์. 2528.  “เดลฟาย : การวิจัยด้วยเทคนิคเดลฟาย”,  ข่าวสารวิจัยการศึกษา. 5 (มิถุนายน – กรกฎาคม 2539), 3 – 5 .

 

ไม่จำกัดความยาวของบันทึกคะ ไม่ทราบว่าเข้าที่ แผงควบคุม -> บล็อก -> จัดการบันทึกที่มี ใช่ไหมคะ แล้วเลือกบันทึกนั้นๆ และ เมื่อเพิ่มเติมบันทึกแล้ว อย่าลืมกดตีพิมพ์นะคะ

ลองดูใหม่นะคะ ถ้าไม่ได้ก็อีเมลมาคุยกันได้ที่ support (@) gotoknow.org คะ

ขอบคุณคะ

จันทวรรณ

เรียน อาจารย์จันทวรรณ

     ขอบคุณมากครับอาจารย์ เหมือนอาจารย์จะไม่นอนเลย (ผมด้วยมั่ง ฮา...) ที่ตอบมาให้ทันที แต่จะขอลองพรุ่งนี้นะครับ

ขอบพระคุณมากครับ ผมขออภัยที่เข้ามาช้าไป ผมติดราชการขอความกรุณาอย่างเพิ่งลบนะครับ ผมขอดูอีกครั้ง และจำสำเนาข้อมูลไว้ก่อนเมื่อสะดวกกว่านี้

ขอบพระคุณอีกครั้งด้วยความจริงใจครับ

ขอบพระคุณมากครับ ผมขออภัยที่เข้ามาช้าไป ผมติดราชการขอความกรุณาอย่างเพิ่งลบนะครับ ผมขอดูอีกครั้ง และจำสำเนาข้อมูลไว้ก่อนเมื่อสะดวกกว่านี้

ขอบพระคุณอีกครั้งด้วยความจริงใจครับ

     ไม่ลบครับ ตามคำแนะในการใช้ blog มีอะไรจะให้ช่วยเหลือ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามศาสตร์กัน ก็ขอเชิญติดตามที่ชุมชน วิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข หรือจะเป็น ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ที่นี่เป็นชุมชนวิจัย PAR หมอ เพื่อน ๆ และผม กำลังดำเนินการอยู่ครับ

อยากสอบถามเรื่อง  วิธีการทำการวิจัยแบบพรรณนา (Descriptive Research) มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ขอบคุณค่ะ

คุณตูน

     สำหรับการวิจัยแบบพรรณนา (Descriptive Research) น่าจะหาคำตอบได้จากเอกสาร/หนังสือที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยโดยทั่วไปครับ ลองสืบค้นดูนะครับ

อยากสอบถามเรื่อง  วิธีการทำวิจัยเพื่อหากลยุทธ์  มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ขอความกรุณาอนุเคราะห์ด้วยจักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ส่งมาตามอีเมล์นี้ [email protected]

คุณกิตติภัธฒ์ มณฑล

     รบกวนให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าโจทย์วิจัยคืออะไร ที่ชัด ๆ ประมาณว่าน่าจะรู้หน่อยนะครับว่า setting เป็นอย่างไรคร่าว ๆ น่าจะดีนะครับ หากทิ้งคำถามไว้อย่างนี้นะ เหมือนจะบอกว่าต้อง Review เอง เพราะเยอะและยากมากอยู่ ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ครับ

คุณกิตติภัธฒ์ มณฑล

     รบกวนให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าโจทย์วิจัยคืออะไร ที่ชัด ๆ ประมาณว่าน่าจะรู้หน่อยนะครับว่า setting เป็นอย่างไรคร่าว ๆ น่าจะดีนะครับ หากทิ้งคำถามไว้อย่างนี้นะ เหมือนจะบอกว่าต้อง Review เอง เพราะเยอะและยากมากอยู่ ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ครับ

เรียนคุณชายขอบ ผมมีความสนใจที่จะทำวิจัยเรื่อง "การวางแผนเชิงกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการวัด ในเขต..." ประมาณนี้แหละ จึงใคร่อยากจะทราบวิธีการดำเนินการวิจัย หรือกรอบแนวคิดในการวิจัย ซึ่งจุดประสงค์ก็อยากจะได้ วิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าประสงค์ และโครงการ ประมาณนี้แหละครับ ขอความกรุณารบกวนอีกครั้่งครับ

ด้วยความนับถือและเกรงใจอย่างยิ่ง

เพิ่มเติมครับ ต้องการกลยุทธ์ด้วยครับ ขอบเขตการวิจัยไม่รวมถึงการนำกลยุทธไปปฏิบัติครับ

คุณกิตติภัธฒ์ มณฑล

     ประเด็นนี้ผมกำลังดำเนินการอยู่ที่ คปสอ.เขาชัยสน แต่ยังเขียน report ฉบับสมบูรณ์ไม่เรียบร้อยชื่อเรื่อง "กระบวนการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์สุขภาพระดับอำเภอ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง" ผมใช้ PAR ครับ เดินเรื่องแบบประชุมกลุ่มระดมสมองไปในแต่ละขั้นตอน อย่างเป็นธรรมชาติ พบอะไร ปรับอะไร ได้เรียนรู้อะไรไป ก็บันทึกไว้ นำมาวิเคราะห์ในภาพรวมของกระบวนการทั้งหมดจนได้แผนฯ ขอบเขตก็ไม่นับรวมการนำไปใช้ครับ

เรียนคุณชายขอบ  การวางแผนเชิงกลยุทธ์ นอกจากใช้เทคนิค PAR แล้ว  ยังมีเทคนิคอื่นอีกใหมครับ เพราะการใช้เทคนิค PARเกรงว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือ และผมคิดว่าใช้ทุนในการวิจัยมาก (จริงเท็จอย่างไรช่้วยแนะนำด้วยครับ) จริง ๆ แล้วเทคนิค PARใช้งบประมาณเท่าไรครับ  และถ้าจะประยุกต์โดยใช้เทคนิค เดลฟาย จะเป็นไปได้ใหมครับ ผิดกระบวนการหรือเปล่าครับ (ผมเป็นนักศึกษากำลังจะทำวิทยานิพนธ์ครับ ต้องการคำแนะนำวิธีการที่ค่อนข้างละเอียดครับ ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)

คุณกิตติภัธฒ์ มณฑล

     ผมพอจะเข้าใจและมองเห็นข้อจำกัดอะไรบางอย่าง ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นผมอาจจะตอบได้ไม่ชัดเจนนักครับ เพราะเวลาผมทำวิจัยมักจะเป็น R2R ค่าใช้จ่ายก็จเป็นงบปกติเสียส่วนใหญ่

          PAR--> จะได้การมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นด้วยความเข้าใจ ได้ยุทธศาสตร์ที่เขาทำเอง ใช้เอง เป็นของเขาเอง เวลาใช้เขาจะนึกได้เองโดยแทรกอยู่ในชีวิตงานปกติ ไปม่แปลกแยก
         Future Research (Delphi technique) --> ผมมองว่าเมื่อได้เป็นยุทธศาสตร์แล้ว จะเป็นเพียง แผนฯ ที่สวยหรู หากการนำมาใช้จริงในองค์กรที่หลากหลายความต่าง (หลายหน่วยงานย่อย) จะเกิดขึ้นได้ยาก หากจำเกิดขึ้นได้มีการนำมาใช้จริง จะมีปัจจัยอื่นช่วยพลักดันอีกเยอะ

     ผมอาจจะมองไปในเรื่องยุทธศาสตร์ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรจริง ๆ หนักมาทางนี้หน่อยนึง จึงไม่ค่อยเห็นด้วย หากแต่เป็นองค์กรระดับกำหนดนโยบาย ก็เห็นว่า Future Research (Delphi technique) เหมาะกว่าครับ

Future Research  ผมอยากได้ความหมายและขั้นตอนการวิจัยอะฮะ
แล้วมันมีอีก 2 เทคนิคอะฮะ EFR กะ EDFR อะฮะ ช่วยบอกทีครับ
สงัด เชื้อลิ้นฟ้า (มหาสารคาม)

เรียน  คุณชายขอบ

 

ผมยินดีมากที่ได้มีโอกาสเข้าถึง ด้วยการค้นหาเทคนิคเดลฟาย  ผมกำลังเรียน Ph.D. เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ด้วย  ตอนนี้กำลังค้นคว้า เรื่อง สังคมอยู่ดีมีสุข และสุขภาพแบบพอเพียง โดยมีกระบวนการของการวิจัยอนาคตศาสตร์  (หากมีคำชี้แนะช่องทางการค้นคว้า จะขอบพระคุณยิ่งครับ) ยินดีมากที่เพื่อนพี่น้องสาธารณสุขร่วมกระบวนการคิดแนวเดียวกัน

 

หากมีอะไรร่วมคิดและขอปรึกษาจะติดต่อมาอีกครั้งนะครับ

สงัด  เชื้อลิ้นฟ้า

สสจ.มหาสารคาม

ผมอยากทราบว่า บทความนี้ คุณ ชายขอบ เป็นผู้เขียนเองใช่ไหมครับ

ถ้าผมจะนำบทความนี้ไปใช้ใน ส่วนตรวจเอกสาร ในวิทยานิพนธ์ จะต้องทำการอ้างอิงอย่างไรบ้างครับ

ขอคำแนะนำการวิเคราะห์ Interquartile range วิเคราะห์จากโปรแกรม Spss มีขั้นตอนทำยังไงบ้าง

อยากทราบวิธีแปรผลของการวิจัยเชิงอนาคตมากค่ะ คือว่าตอนนี้กำลังทำ Project แต่ยังไม่ทราบวิธีแปรผลเลย ใครทราบข้อมูล กรุณาตอบเป็นวิทยาธานด้วย ฃอบคุณค่ะ
ดีใจครับ ที่ได้มามีส่วนร่วมในWeb นี้ ปัจจุบันกำลังเป็นนิสิต Ph.d. ทางวิจัยและประเมินผล มีความสนใจอยากแลกเปลี่ยนประเด็นทางวิชาการ
"การพัฒนาการวิจัยโดยใช้รูปแบบ(Model Development)" ขอความกรุณาจากท่านผู้รู้ช่วยให้ความอนุเคราะห์ชี้แนะแหล่งค้นคว้า หรือให้คำแนะนำด้วยนะครับ ขอบพระคุณครับ

ขอแลกเปลี่ยนคำตอบนะครับ......จากคำถามของคุณ Poogun "ขอคำแนะนำการวิเคราะห์ Interquartile range วิเคราะห์จากโปรแกรม Spss มีขั้นตอนทำยังไงบ้าง"

คำตอบครับ: เนื่องจากการหาค่า Interquartile range (Q3-Q1) เป็นการหาค่าการกระจายของข้อมูล ซึ่งจะใช้คู่กับค่ากลางของข้อมูลคือค่ามัธยฐาน(Median) โดยจะใช้เมื่อตัวแปรที่สนใจเป็นตัวแปรต่อเนื่องที่มีลักษณะการกระจายของข้อมูลไม่เป็นแบบปกติ (Normal Distribution) มีขั้นตอนในการวิเคราะห์จากโปรแกรม2 แบบดังนี้ 1)Analyze>Descriptive>Frequency จากนั้นจึงเลือกตัวแปรที่จะวิเคราะห์ >Statistics ที่ Percentile Value เลือก Quartile และที่ Central Tendency เลือก Median>OK.......ผลที่ได้จะเป็นค่า Percentile ที่ 25 และ 75 ซึ่งก็คือค่า Q1 และ Q3 นั่นเอง 2) Analyze>Descriptive>Explor จากนั้นจึงเลือกตัวแปรที่จะวิเคราะห์ไปที่ Dependent list ที่ Statistics เลือก Percentile   >OK  ผลที่ได้จะมีค่า Interquartile ให้โดยตรง (ซึ่งก็คือค่าของ Q3-Q1 นั่นเอง)        หวังว่าคงจะพอแก้ปัญหาให้คุณ Poogun ได้บ้างนะครับ ขอบคุณครับ

เรียน คุณสงัด  เชื้อลิ้นฟ้า

     ผมดีใจมากครับ "สังคมอยู่ดีมีสุข และสุขภาพแบบพอเพียง" ที่กำลังจะถูกรวบรวมและถ่ายทอดออกมา เอาใจช่วยเต็มกำลังครับ
เรียน คุณ phd_re

     ขอบคุณมากนะครับที่มาช่วยตอบคำถาม ผมทิ้งไปเสียนาน ด้วยตอบไม่ทัน ทันไม่ทันครับ
     หลักสูตรนี้เรียนที่ไหนครับ น่าสนใจครับ
     สำหรับประเด็น "การพัฒนาการวิจัยโดยใช้รูปแบบ(Model Development)" ผมก็ไม่เข้าใจเชิงทฤฎีอะไรเลยครับ หากจะได้ปูพื้นให้มาก่อน ต่อติดได้จะต่อกันครับ

เรียน อาจารย์"ชายขอบ" ครับ

หลักสูตรนี้เรียนที่ มมส.(ระบบในเวลาราชการ)ครับ สำหรับประเด็น Model Development ผมกำลังค้นคว้าอยู่ครับ แต่ยังไม่ได้เนื้อหาเชิงวิชาการเลยจึงยังไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ในตอนนี้ แต่ถึงยังไงผมก็จะยังรอคำตอบอยู่นะครับ ขอบคุณครับ

เรียน คุณ phd_re

     ขอบคุณมากนะครับ สำหรับข้อมูล
     ผมก็สนใจประเด็น Model Development เช่นกันนะครับ สัญญาว่าจะไปค้นมา ลปรร.กันครับ

ขอบคุณมากที่คุณให้ข้อมูลเพื่อเป็นวิทยาทานทางการศึกษาอย่างจริงใจ ชอบที่คุณให้บรรณานุกรมนี่แหละ มันทำให้เราสามารถสืบค้นต่อได้อย่างรวดเร็ว ขอบคุณจริงๆ

ข้อมูลดีมาก ๆ ค่ะ

เข้าใจง่ายดี 

ขอบคุณมากนะค่ะ

การสรุปผลของเทคนิคเดลฟาย

ซึ่งผมอ่านดูการวิจัยส่วนใหญ่จะกำหนดความแตกต่างระหว่างพิสัยคอว์ไท 1และ3 ว่า ถ้าความแตกต่าง 1.50 ลงไปแสดงว่าคำตอบผู้เชี่ยวชาญสอดคล้อง แต่ถ้ามากกว่า 1.50 แสดงว่าไม่สอดคล้อง

ผมสงสัยว่าค่าพิสัย มากกว่าหรือตำกว่า 1.50 นั้นมาได้อย่างไร แล้ทำไมถึงต้อง 1.50 ครับ อยากรู้มากครับ

อยากทราบแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของอนาคตวิทยาค่ะจะดูจากweb ไหนได้ค๊ะ

[email protected]

อยากทราบความหมายของ เทคนิคการวิเคราะห์ของมอนติคาร์โลค่ะ

ขอบคุณที่เอื้อเฟื้อข้อมูลไว้

อยากทราบค่ะว่าเดลฟายเทคนิควิธีหาค่าอะค่ะมันใช้วิธีแบบไหนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท