ด่วน! กระปุกออมสินขาดตลาด (1)


เมื่อถึงวันออมต้องเอากระปุกออมสินมาเปิดที่นี่หรือเปล่า? ต้องนำตารางการออมมาด้วยหรือเปล่า? ถ้าเก็บเงินได้มากๆจะเอาเงินไปทำอะไร? คนที่รับกระปุกออมสินไปต้องมาเปิดบัญชีฝากเงินใหม่อีกบัญชีหนึ่งหรือเปล่า? ฯลฯ
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ได้เดินทางไปที่แม่พริกเพื่อเชิญชวนสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริก และ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลพระบาทวังตวงให้เข้าร่วมโครงการ “กระปุกออมสินลดรายจ่ายวันละ 1 บาท” ซึ่งผู้วิจัยได้เล่าบรรยากาศให้ฟังแล้วว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต่อมาในวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2549 เป็นคิวของกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชย และ สมาชิกใหม่ซึ่งสมทบอยู่กับกลุ่มบ้านดอนไชย คือ บ้านแม่วะเด่นชัย ทั้ง 2 กลุ่มตั้งอยู่ที่อำเภอเถิน โดยผู้วิจัยประจำการที่กลุ่มบ้านดอนไชย ส่วนอาจารย์พิมพ์แยกไปช่วยที่บ้านแม่วะเด่นชัย สำหรับบรรยากาศที่เกิดขึ้นในทั้ง 2 กลุ่มนั้นมีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ สมาชิกให้ความ สนใจเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับที่แม่พริก แต่ผู้วิจัยสังเกตพบอย่างหนึ่งว่าที่เถินกับแม่พริก สมาชิกจะมีบุคลิก ตลอดจนสภาพสังคมที่แตกต่างกันพอสมควร กล่าวคือ ที่แม่พริก สภาพสังคมจะเป็นแบบชนบทมาก สมาชิกจะอยู่กันอย่างเรียบง่าย คุยกันก็คุยเงียบๆ ผู้เฒ่าผู้แก่มีจำนวนมาก ในขณะที่เถินนั้น สมาชิกจะมีสไตล์การใช้ชีวิตแบบเป็นเมืองมากกว่า จะคุยกันเสียงดัง (กว่าที่แม่พริก) การแต่งกาย การตั้งคำถาม ก็จะเป็นแบบคนในเมือง ก็ดูแปลกดีเหมือนกันค่ะ แม้ทั้ง 2 อำเภอจะอยู่ห่างกันเพียง 20 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น บ้านดอนไชยแจกกระปุกไปทั้งสิ้น 80 กระปุก (เพราะ เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกมาก) แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของสมาชิก เพราะ มีสมาชิกเป็นจำนวนมากที่มาถามหากระปุกออมสิน พอกรรมการไปเดินตลาดในเช้าวันรุ่งขึ้นก็ถูกถามว่าทำไมไม่เก็บกระปุกออมสินเอาไว้ให้บ้าง จากการที่ผู้วิจัยสังเกตปฏิกิริยาของสมาชิก เห็นว่า สมาชิกให้ความสนใจมาก ตั้งใจฟังการอธิบายตารางการออม พร้อมกับมีคำถามตามมา เช่น เมื่อถึงวันออมต้องเอากระปุกออมสินมาเปิดที่นี่หรือเปล่า? ต้องนำตารางการออมมาด้วยหรือเปล่า? ถ้าเก็บเงินได้มากๆจะเอาเงินไปทำอะไร? คนที่รับกระปุกออมสินไปต้องมาเปิดบัญชีฝากเงินใหม่อีกบัญชีหนึ่งหรือเปล่า? ฯลฯ ในขณะที่สมาชิกบางคนก็ช่วยอธิบายให้สมาชิกคนอื่นเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการออมเงิน ส่วนคณะกรรมการที่มาทำงานในวันนี้แม้จะนั่งทำงาน แต่ก็ฟังผู้วิจัยกับสมาชิกไปด้วยว่าพูดคุยอะไรกันอยู่ ดังนั้น ในช่วงบ่ายผู้วิจัยจึงไม่ต้องพูดอะไรเลย เพราะ กรรมการมาช่วยอธิบายให้สมาชิกฟังกันอย่างเสร็จสรรพ มีสมาชิกบางคนที่มีกระปุกออมสินของตัวเองอยู่แล้ว ก็เดินมาขอตารางการออมจากผู้วิจัย สมาชิกเหล่านั้นบอกว่า จะเอาไปบันทึกบ้างว่าตัวเองออมได้วันละกี่บาท วันไหนไม่ได้ออมเงินบ้าง ส่วนที่บ้านแม่วะเด่นชัยก็เช่นเดียวกัน อาจารย์พิมพ์เล่าบรรยากาศให้ฟังว่า ชาวบ้านค่อนข้างตื่นตัวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พอสมควร แม้จะเป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนที่แล้ว สมาชิกมาขอเข้าร่วมโครงการนี้พอสมควร ตอนนี้กลุ่มนี้มีแกนนำอยู่ 2 คน คือ น้องเอ ซึ่งทำงานที่ กศน. กับ คุณป้า... ซึ่งเป็นอดีตนายก อบต.แม่วะ สมัยที่ผ่านมา คุณป้าเป็นคนใจดีมาก มาช่วยอาจารย์พิมพ์แจกกระปุกออมสินและตารางการออม พร้อมกับอธิบายให้สมาชิกฟังด้วยตัวเอง สมาชิกก็พูดคุยกันเรื่องนี้พอสมควร บางคนมีคำถามว่าแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาออม? สมาชิกคนอื่นก็จะอธิบายว่าคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ต้องลดรายจ่ายลง ดังนั้น ก็เอาเงินที่ลดรายจ่ายมาออม เช่น ไปตลาดซื้อของราคา 10 บาท ก็ขอลดแม่ค้าเหลือ 9 บาท เงินที่ได้ลด 1 บาทก็เอามาออม เป็นต้น ผู้วิจัยได้ยินเช่นนี้ก็รู้สึกดีใจที่สมาชิกให้การตอบรับและมีความเข้าใจอยู่พอสมควร
คำสำคัญ (Tags): #วินัยการออม
หมายเลขบันทึก: 33200เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เป็นหลักปฏิบัติที่เข้าท่าทีเดียวครับ เพื่อนนายบอนที่มีหลักคิด หลักปฏิบัติที่มีประโยชน์หลายอย่าง จนเด็กๆในตำบล ยกย่องให้เขาเป็นถึงปราชญ์ท้องถิ่น ยังไม่สามารถเก็บออมเงินได้เลยครับ คงต้องขออนุญาตนำบันทึกนี้ ไปให้เพื่อนได้อ่านบ้างแล้วครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท