'อภิศักดิ์' ไม่ห่วงโยกเงินฝาก คลังงัดแผนรองรับให้แข่ง ดบ. กันเอง


ภาวะเศรษฐกิจ
คลังเคาะแผนโยกเงินหน่วยงานรัฐให้ ธ.ก.ส.-ธอส. ก่อนสิ้น มิ.ย.นี้ เน้นสมัครใจ พร้อมเตรียมแผนสองให้แข่งขันดอกเบี้ยกันเอง "ทนง" เชื่อแผนโยกเงินไม่กระทบต่อสถาบันการเงินเดิมที่รับเงินฝาก  ขณะที่ "อภิศักดิ์" ออกตัวเงินฝากของกองทุนส่วนใหญ่ที่ฝากกรุงไทยเป็นระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ด้านเลขาฯ กบข. ติงต้องพิจารณาระยะเวลาการฝาก 2-3 ปี   ส่วน ธ.ก.ส. คาดดูดเงินใช้ในโครงการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2-3 หมื่นล้านบาท หลังจากที่กระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการจัดหาแหล่งเงินจากกองทุนนอกงบประมาณซึ่งเป็นเงินฝากของหน่วยงานรัฐ นำไปฝากกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อให้ธนาคารทั้ง 2 แห่ง มีแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำเพื่อปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้า โดยแหล่งเงิน   ที่ภาครัฐจะรวบรวมมานั้น ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1.เงินฝากของกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างฝากธนาคารอื่น   มียอดรวมประมาณ 160,000 ล้านบาท   2.เงินจากกองทุนที่เกิดจากกฎหมายเฉพาะ หรือรัฐบาลจ่ายสมทบให้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนประกันสังคม 3.เงินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)   และ 4.เงินจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในรูปค่าธรรมเนียมการจัดการประโยชน์ของราชการ ดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมติดตามงานเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน   ที่ผ่านมาว่า การโอนเงินฝากของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในธนาคารพาณิชย์อื่นมาฝากกับ ธอส. และ ธ.ก.ส. นั้น มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อธนาคารเดิมที่รับฝากเงินอยู่เพราะโดยหลักการ คือ ให้เป็นการโอนเงินโดยสมัครใจซึ่งได้มอบหมายให้ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้โดยมีเป้าหมายให้ช่วยลดภาระให้กับเกษตรกรและประชาชนรายย่อยที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มีภาระจากน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่วนจะช่วยลดภาระได้เท่าไรนั้นต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ  2 สัปดาห์ในการรวบรวมข้อมูลการหารายละเอียดของแหล่งเงินฝากของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่สามารถ    จะโอนเข้ามาฝากใน ธ.ก.ส. และ ธอส. ได้โดยมอบหมายให้ทางกรมบัญชีกลางและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปจัดหารายละเอียดในเรื่องนี้มา ทั้งนี้ยืนยันว่าการโอนเงินฝากดังกล่าวต้องเป็นการดำเนินการโดยสมัครใจของหน่วยงานเจ้าของเงินนั้น ๆ เป็นหลัก  ซึ่งขณะนี้ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม่แต่หากไม่ได้ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการอื่นแทน เช่น ให้มีการแข่งอัตราดอกเบี้ยกันเอาเอง ให้ธนาคารรัฐตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ หรือการหาแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำจากแหล่งอื่นเข้ามาแทนนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ      มีการนำเงินไปฝากไว้เป็นจำนวนมากกับธนาคารของรัฐที่มีทั้ง กรุงไทย ออมสิน ธอส. ธ.ก.ส. และธพว. (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ซึ่งการโอนเงินไปฝากกับ ธอส. และ ธ.ก.ส. ตามแนวทางดังกล่าวนั้นต้องขึ้นอยู่กับเจ้าของเงินว่ามีระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้อย่างไรหรือไม่เพราะบางกรณีจะมีวัตถุประสงค์ไว้  เป็นการเฉพาะในเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทำความตกลงระหว่างกันเอาเองระหว่างเจ้าของเงินฝากกับ ธอส. หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ว่าจำเป็นต้องดำเนินการเมื่อใด แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะนำเงินฝากของกองทุนนอกงบประมาณต่างๆ ย้ายมาฝากกับ ธอส. และ ธ.ก.ส. นั้น จะส่งผลให้ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นธนาคารที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนำเงินไปฝากอยู่บางส่วนต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมักนิยมนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารกรุงไทยเป็นหลัก เนื่องจากมีข้อผูกพันหลายเรื่อง เช่น ระบบบัญชีเดิมที่ให้มีการเบิกจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงไทย และระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบจีเอฟเอ็มไอเอส) ที่ปัจจุบันใช้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแลบัญชีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณอยู่ จึงทำให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมักนิยมนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารกรุงไทยทางด้านนายอภิศักด์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เงินฝากจากหน่วยงานของรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินที่ผ่านบัญชีของธนาคารกรุงไทย ซึ่งค้างอยู่แค่ระยะสั้น 1-2 วัน ไม่ได้เป็นเงินฝากระยะยาว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทยจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระดับสูง ขณะที่เงินส่วนใหญ่ของหน่วยงานรัฐนั้นฝากไว้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจและกระจายอยู่กับธนาคารพาณิชย์มากกว่า เนื่องจากให้อัตราดอกเบี้ยสูง ดังนั้นแนวทางที่รัฐบาลจะโยกเงินเหล่านี้ไปฝากไว้กับ ธ.ก.ส.  ธอส. จึงไม่มีผลกระทบต่อธนาคารกรุงไทยนายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กรณีการโยกเม็ดเงินไม่ได้ห่วงในเรื่องของความเสี่ยงที่จะต้องโยกเงินไปฝากที่ ธ.ก.ส. หรือ ธอส. เพราะเป็นธนาคารของรัฐ แต่ในแง่ของผลตอบแทนควรจะเป็นผลตอบแทนของตลาด ซึ่งนโยบายการโยกเงินไปฝากกับธนาคารรัฐโดยได้ผลตอบแทน    ที่ใกล้เคียงกันถือเป็นสิ่งที่ดี   โดยปัจจุบันในส่วนของ กบข. ก็ฝากอยู่กับธนาคารของรัฐเป็นจำนวนมาก ประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท โดยที่ธนาคารรัฐได้นำไปใช้ประโยชน์ ขณะที่ กบข. ก็หวังผลตอบแทนเท่ากับตลาดเช่นกัน ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ ระยะเวลาการฝาก เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้มีการระบุว่าจะกำหนดระยะเวลาการฝากนานเพียงใด เนื่องจากการนำเงินไปใช้กับ ธ.ก.ส. หรือ ธอส. ต้องเป็นเงินที่ใช้ในระยะปานกลางหรือระยะยาว คงไม่มีสถาบันการเงินไหนที่รับเงินฝากระยะสั้นไปปล่อยแล้วเรียกกลับคืน ทางด้าน นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แนวทางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 1% ให้แก่เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้รายย่อยของธนาคาร ซึ่งมีหนี้สินไม่เกิน 100,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี จะทำให้ ธ.ก.ส. สูญเสียรายได้ประมาณ 500-600 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีลูกหนี้ในกลุ่มนี้ประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน จึงมีความต้องการเม็ดเงินเข้ามาใช้ในการปล่อยกู้ในโครงการนี้ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าว  จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตัดสินใจในที่ประชุมครม.นัดพิเศษอีกครั้ง ในวันที่ 8 มิถุนายน 2549 "ธ.ก.ส. ต้องการระดมเงินฝากจากส่วนราชการต่าง ๆ อีกประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทโดยจะให้ดอกเบี้ยในอัตราแตกต่างกันไปตามระยะเวลาและวงเงินที่นำเข้ามาฝาก แต่หากสามารถได้ดอกเบี้ยในอัตราประมาณ 0.75% ต่อปี  ธ.ก.ส. ก็จะสามารถนำไปปล่อยกู้ต่อให้แก่เกษตรกรที่เป็นลูกค้าได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้" นายธีรพงษ์ กล่าวฐานเศรษฐกิจ  4-7 มิ.ย. 49ไทยโพสต์   โพสต์ทูเดย์ 3 มิ.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #ทดสอบ
หมายเลขบันทึก: 33139เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท