AAR Peer Assist ๒๙-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙ (๒)


ดีใจที่ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" ครั้งนี้เกิดความรู้สึกดีๆ และทุกคนได้สิ่งดีๆ ที่จะกลับไปทำต่อ

ทีม รพ.สมิติเวช สุขุมวิท

คุณสรสิทธิ์ พินธุโสภณ ฝ่ายการตลาด
๑. ความคาดหวัง : Background ของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านวิชาชีพเลย ทำงานมาปีกว่า ความรู้ทางด้านการแพทย์ก็ค่อยๆ สะสมมาจากทางแพทย์ ทางพยาบาล ต้องการมาดูทางด้านเบาหวาน เบาหวานเกี่ยวข้องกับหลายๆ โรค เช่น เท้า ไต หัวใจ ตา ซึ่งทางสมิติเวชก็มีทีมงานดูแลทางด้านนี้ มีแพทย์ educator นักกายภาพ นักโภชนาการ
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : เครื่อง hyperbaric เคยรู้อยู่แต่ว่าเกี่ยวกับนักประดาน้ำ พวกที่ดำน้ำมาต้องมาปรับความดัน ไม่ได้คิดว่ามีแบบย่อส่วนเป็น capsule
๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง : ก็อาจจะเป็นในเรื่องของโรคแทรกซ้อน เพราะว่ารู้มาว่าเบาหวานขึ้นตา แล้วก็มีเรื่องไตด้วย.......
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : ไม่มี
๕. จะกลับไปทำอะไร : ผลักดันเรื่องการทำสื่อและการให้ความรู้กับ target หลายๆ กลุ่มทั้งในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน น่าจะทำสื่อรูปหลายๆ แบบ จะทำรูปแบบเดียวกันไม่ได้

คุณสิทธินนท์ คงกิตติพิศุทธิ์ เภสัชกร
๑. ความคาดหวัง : จะได้มาดูการดูแลผู้ป่วยเบาหวานว่าเภสัชกรจะมีบทบาทอะไรได้บ้าง
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : ส่วนใหญ่ก็เป็นการ share ประสบการณ์ share ความรู้ ส่วนตัวเพิ่งจบมาแล้วก็เพิ่งทำงานได้ไม่นาน ยังไม่เคยเข้าประชุมอะไรที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ รู้สึกว่าตัวเองได้อะไรที่เยอะมากๆ เลย เป็นอะไรที่เพื่อนๆ ที่จบมาก็อาจจะยังไม่เคย ทั้งจากอาจารย์หมอ ทีมพี่พยาบาล พี่นักกายภาพ หลายๆ ฝ่าย ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไร พอมาดูก็รู้ว่าเป็นบทบาทที่หลายวิชาชีพให้ร่วมกัน.....เป็นสิ่งที่ดี เห็นความพรั่งพร้อมแล้วก็รู้สึกว่าดีมากๆ เลย
๓. สิ่งที่ได้น้อย : อยากฟังดูว่าเภสัชกรที่นี่ทำอะไรบ้าง
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : ไม่มี เพราะสมบูรณ์แบบ
๕. จะกลับไปทำอะไร : กลับไปดูว่าเราที่เป็นเภสัชฯ ทำอะไรได้บ้าง ต้องไปคุยกับพี่ๆ อีกที เราก็คงไปให้ความสนใจกับผู้ป่วยที่มารับยาหน้าเคาน์เตอร์ที่เป็นเบาหวานและอาจจะไปดูผู้ป่วยที่ได้รับยาที่มีโรคหลายๆ อย่างแทรกซ้อน เพราะเบาหวานส่วนใหญ่ก็มีโรคอื่นควบคู่มาอยู่แล้ว

คุณชุติมา องคพิเนต เภสัชกร
๑. ความคาดหวัง : รู้ว่า รพ.เทพธารินทร์ดูแลผู้ป่วยเบาหวานค่อนข้างจะครบวงจร อยากจะมาดูในส่วนของเภสัชกรและในภาพรวมว่าจริงๆ แล้วการทำงานเป็นทีมทำอย่างไรบ้าง
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : พอมาดูงานจริงๆ แล้ว มาเห็นงานเห็นระบบของการทำงานทั้งหมดเลย ว่าเขาทำงานอย่างไร มีปัญหามีการแก้ปัญหาอย่างไร แล้วที่เกินความคาดหวังอีกอย่างคือในส่วนของความคิดเห็นของคนในทีม แม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนแต่ก็ไม่ได้หวังแบบกำไร ยังคิดห่วงใยชุมชนคือค่อนข้างจะดูเหมือนกับให้มากกว่า ถ้าจะดูเทียบกับของสมิติเวชเองคิดว่าก็ยังมีข้อจำกัด แม้จะเป็น รพ.เอกชนเหมือนกัน แต่ก็จะยังมีข้อจำกัด มีหลายอย่างที่เป็นปัจจัยคุมเราไว้ ก็อาจจะไปปรับใช้ได้ แต่อาจจะไม่ได้ทั้งหมด ยังดีใจที่มีโรงพยาบาลที่ผู้บริหารคิดอย่างนี้ ผู้บริหารที่คิดว่าอยากทำอะไรที่ช่วยชุมชน
๓. สิ่งที่ได้น้อย : อยากจะเห็นบทบาทของเภสัชฯ มากกว่านี้
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : แอร์หนาว
๕. จะกลับไปทำอะไร : มีโปรแกรมของตัวเองอยู่แล้วแต่ยังไม่ออกมาเป็นรูปร่าง คือคิดไว้ว่าผู้ป่วย OPD เราจะมีการให้ความรู้เรื่องยามากขึ้น จะกลับไปทำเป็นรูปร่างมากขึ้นที่ว่าจะให้อาจารย์ส่ง case มาว่าคนไข้คนนี้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องยา จะให้อาจารย์ส่งมาให้เราให้คำแนะนำที่เคาน์เตอร์ แต่อาจต้องรอให้คน OPD หรือสถานที่ค่อนข้างจะพร้อมกว่านี้หน่อย เพราะตอนนี้คนไข้ OPD เยอะมาก การจัดประชุมแบบนี้ก็ดีเพราะจะทราบข้อดีข้อเสียของแต่ละโรงพยาบาล

คุณศิริลักษณ์ เจริญศิริ นักกายภาพบำบัด
๑. ความคาดหวัง : หวังอยากจะให้พวกเราทุกคนได้เห็นเพราะเราจะทำเป็นศูนย์ อยากให้เห็นทีมของเทพธารินทร์ เพราะว่าเคยอยู่ที่นี่มาก่อน พอเขาเรียกไปว่าจะทำศูนย์......พยายามอธิบายเท่าไหร่ก็อธิบายไม่ได้ ดีใจที่ทุกคนได้เห็น อย่างน้อยเวลาที่กลับไปทำงานจะมองภาพเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : ได้เจอหัวเฉียวด้วย ก็เลยได้เห็นทีมของเขา การทำงานของเขา ก็รู้สึกว่าเราได้รับอะไรมากขึ้น
๓. สิ่งที่ได้น้อย : ตอนที่อยู่ที่นี่ Foot Clinic ยังไม่ได้โตเท่านี้ แต่เมื่อวานไม่ได้มาก็ไม่ได้เห็น
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : ไม่มีอะไร ชอบวิธีการที่ทำแบบนี้มากเลย บางทีไปอบรมมักจะง่วง มากิจกรรมแบบนี้ไม่ง่วงเลย สักนิดนึงก็ไม่ง่วง
๕. จะกลับไปทำอะไร : อันแรกเลยต้องไปคุยกับหัวหน้าก่อน ต้องกลับไปคุยกันก่อนว่าจะให้เราทำอะไรให้รู้บทบาทของตัวเองให้มากกว่านี้

คุณณัฐชนก บุศยานนท์  นักโภชนาการ
๑. ความคาดหวัง : มาดูงานที่ได้รับมอบหมาย อยากมาเพราะเทพธารินทร์ก็เป็นต้นแบบ มาดูว่าเรามีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือเปล่า เอามาแลกเปลี่ยนตรงนี้กัน
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : ทางโภชนาการของเทพธารินทร์ไปไกล เพราะกำลังจะมีตึกใหม่ก็เห็นได้เฉพาะบางส่วน ที่เห็นจาก PowerPoint ก็คือจะได้ไอเดียในแง่ของ display ซึ่งสวย อย่างของตอนตรุษจีน อย่างของตอนปีใหม่ เป็น display ที่เห็นว่า attractive ดี คือดูว่าสวยแต่คนไข้เขาจะได้ aware ตรงนั้นด้วยว่ามีอันตราย น่าทำ ตรงนี้เคยคิดอยากจะทำ แต่ว่าทำยากนิดนึงเพราะว่าหน้าห้องก็เป็นคลินิกเด็ก ก็จะมีเด็กเต็มไปหมด จริงๆ อยากทำมากเลย แล้วก็ display ที่ข้างล่างก็ดี น้ำตาลแอบแฝง เท่าที่ดู display ของที่นี่ โปสเตอร์ที่ทำ ค่อนข้างที่จะชัด ตัวหนังสือโต เห็นแล้วจำได้ง่าย ดูแล้วสามารถเอาไปใช้ได้จริงเลย อันนี้ดีมาก แล้วสิ่งที่เกินความคาดหวังอีกอย่างชื่นชมที่เทพธารินทร์ช่วยชุมชนแล้วก็ให้ประโยชน์กับโรงพยาบาลทั่วๆ ไปไม่ว่าจะที่ไหนขอมาก็จะให้ ชื่นชมตรงนี้
๓. สิ่งที่ได้น้อย : ไม่มี
๔. กิจกรรมที่ควรปรับปรุง : ไม่มีอะไร นอกจากว่าถ้าเปิดตึกใหม่ก็อยากมาดูอีกครั้งหนึ่ง
๕. จะกลับไปทำอะไรต่อ : สิ่งที่กลับไปแล้วจะทำก็มี อย่างที่เทพธารินทร์บอกว่ามี weight control หรือ weight management ก็จะทำเมนู ก็คิดว่าตัวเองถึงแม้ว่าจะทำอาหารไม่เป็นเท่าไหร่ ก็คิดว่าน่าจะทำเป็นสมุด คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ว่าใครแม้กระทั่งตัวเองก็ชอบเมนู สิ่งนี้คิดว่าน่าจะเริ่มพอทำได้

คุณกมลทิพย์ ทองพิทักษ์ พยาบาลผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน
๑. ความคาดหวัง : ประการแรกอยากให้ทีมได้มาเห็นรูปแบบของการทำงานดูแลคนไข้เบาหวาน เวลาเข้าประชุมพอมีการพูดถึงของเทพธารินทร์ทุกคนก็จะสงสัยว่าเป็นอย่างไร ครั้งนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนได้มาเห็นด้วยตัวเอง ไม่เหมือนกับเวลาเราไปแล้วมาถ่ายทอด ให้เขามาได้สัมผัสบรรยากาศด้วยตัวของเขาเอง
๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง : ก็ได้เกินความคาดหวังจริงๆ สิ่งที่เกินความคาดหวังอีกอย่างหนึ่งคือรูปแบบที่มานั่งพูดคุยกันอย่างนี้ เห็นด้วยอย่างยิ่ง ก็เป็นครั้งแรกเช่นกันที่มาดูงานแล้วมานั่งพูดแบบนี้ เหมือนกับเรามาดูงานของ ๒ โรงพยาบาล ได้ของหัวเฉียวด้วยแล้วก็ของเทพธารินทร์ด้วย ถ้าเป็นไปได้ครั้งหน้าอยากให้มีสัก ๓ โรงพยาบาลก็น่าจะดี คือมาครั้งเดียวได้หลายโรง อีกอย่างหนึ่งที่ได้เกินความคาดหวังคงจะเป็น.....ที่เราทำมาก็เรียกว่าสะเปะสะปะเจอปัญหาก็เยอะก็ท้อแท้ไปบ้างเหมือนกัน สิ่งที่จับได้จากเทพธารินทร์ก็คือกว่าจะมาถึงเทพธารินทร์ ณ วันนี้ ก็ผ่านอุปสรรคมาเยอะมากๆ กลับไปที่คำพูดอาจารย์เทพเมื่อวันแรกที่บอกว่า “ทำในสิ่งที่จำเป็น ทำในสิ่งที่เป็นไปได้ก่อน” เราก็ต้องกลับไปดูว่าเราจะทำอะไรก่อนคือโปรเจ็คเรา ความที่เราทำใหม่ๆ อยากจะทำทุกอย่าง.........พอทำไปปุ๊ปแป็กลงมา ทำไปปุ๊ปแป็กลงมา เราก็รู้สึกว่าเราท้อ เพราะว่าโรงพยาบาลของเราไม่ใช่เป็นของรัฐบาล เป็นในแง่ของ business ด้วย เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างจะท้อแท้ไปบ้างเหมือนกัน ก็จะกลับไปคิดกันใหม่ว่าจะทำอะไรก่อน แล้วค่อยกลับมาทำในสิ่งที่ยาก ขอทำในสิ่งที่เป็นไปได้ก่อน
๓. สิ่งที่ได้น้อย : อยากจะเห็นภาพของคนไข้จริงๆ ที่มา OPD ที่เราไปดูช่วงบ่าย เราไม่ค่อยเห็นบรรยากาศแบบนั้น ที่เราไปดูคลินิกเท้าไม่มีคนไข้เลย
๔. สิ่งที่ควรปรับปรุง : ไม่มี
๕. จะกลับไปทำอะไร : ก็จะกลับไปประชุมทีมก่อน ซึ่งเรานัดกันไว้แล้ว ประชุมทีมว่าหลังจากที่เราไปดูงานเรา plan จะทำอะไรกันต่อ จะพัฒนาอะไรกันต่อ หลายๆ อย่างที่เราทำไปแล้วก็จะกลับไปปรับปรุง ไม่แน่ว่าอาจจะ consult อาจารย์ (นพ.พงษ์สันต์) เรื่องตั้งชื่อก็ได้

นพ.พรชัย ลิ้มอุดมพร ศัลยแพทย์ รพ.กรุงเทพ พัทยา
ผมโชคดีที่ได้มาร่วมทีม จริงๆ ผมฟังอาจารย์เทพบรรยาย ๔-๕ ครั้งแล้ว หลายๆ ที่ ก็อยากจะมาดูรูปแบบ ตั้งใจจะมาดูเท้าอย่างเดียว อาจารย์วัลลาชวนมาดูทั้งตัวเลย เลยได้มาดูทั้งระบบ ผมดีใจ ผมรู้สึกว่าเทพธารินทร์นี่เวลาเรามาดูเขาจะแบไพ่ทุกอย่างที่เขามีให้เราดู เมื่อวานช่วงบ่ายสามครึ่งผมมีโอกาสไปนั่งคุยกับคุณหมอศรีอุไรกับคุณหมอทวีศักดิ์ เขาก็บอกหมดเลยว่าที่ Foot Clinic ทำอะไรบ้าง นั่ง discuss ถึงรายละเอียดด้วย เรื่อง Felted Foam เรื่อง Offloading เรื่องทำอะไรๆ...นั่งคุยกันเป็นชั่วโมง ผมคิดว่าการที่หมอ ๒ คนมานั่งให้ความรู้ผมเป็นเวลาชั่วโมงเต็มๆ ผมว่าผมได้อะไรที่เยอะมากเลย เขาก็แบไพ่เหมือนกับที่อาจารย์เทพ เหมือนกับที่อาจารย์วัลลาแบทุกอย่างให้เราดู โดยที่ไม่มีการกั๊กข้อมูลอะไรทั้งหมด

อีกอย่างที่ผมคาดหวังครั้งแรกว่าจะมาดูเท้าอย่างเดียว แต่ที่ได้คือมาดูทั้งตัว ได้ดูทั้งทีมและก็หลายๆ ทีมด้วย และก็ได้มาดูยุทธศาสตร์เชิงรุกในการรักษาเบาหวาน ปกติโรงพยาบาลเอกชนโดยพื้นฐานเราจะเป็นยุทธศาสตร์เชิงรับ เราจะรักษา complications จากเบาหวาน เราไม่เคยคิดจะรุกไปป้องกันเบาหวาน เพราะการป้องกันเบาหวานมันไม่ make money แต่ยุทธศาสตร์เชิงรับรักษาไตวาย รักษาเส้นเลือดในสมองแตก รักษาโรคหัวใจ รักษาแผลที่เท้า ที่เขาทำกัน แต่ของอาจารย์เทพและทีมเทพธารินทร์มองอีกช๊อตหนึ่ง ไกลกว่าที่เรามอง มองยุทธศาสตร์เชิงรุก ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในชุมชน อันนี้ผมก็ดีใจที่อย่างน้อยก็มีโรงพยาบาลผู้นำ โรงพยาบาลที่จะนำร่องให้โรงพยาบาลอื่นๆ


ความจริงศักยภาพของกรุงเทพ พัทยา ไม่ได้ด้อยกว่าเทพธารินทร์เลย เรามีทุกอย่าง เรามี Hyperbaric เรามีโน่นมีนี่ แต่สิ่งที่เราไม่มีเลยคือทีม เพราะทีมเรากระจัดกระจาย เห็นเทพธารินทร์แล้วทึ่งมากเลยมีทุกอย่างพร้อม มี educator Educator ที่นั่นก็ไม่มี นักกำหนดอาหารก็ไม่มี กายอุปกรณ์ เรื่องออกกำลังกาย ก็ไม่มี แต่เรามีกายภาพบำบัด เรามีโภชนากร เรามีเรื่องอุปกรณ์ เรื่องสถานที่ Hyperbaric ทุกอย่างเรามีพร้อมหมด แต่ว่าเรื่องทีมนี่เราไม่มีเลย เราแทบจะเป็นศูนย์เลย เพราะฉะนั้นผมคงต้องเริ่มจากศูนย์ ต้องไปหาทีมก่อน ของสมิติเวชและของหัวเฉียวมีทีมแล้ว ผมมองว่าเป็นทีมที่ค่อนข้างจะแข็งพอสมควรถึงแม้จะเพิ่งเริ่มต้นก็ตาม ผมยังหาทีมไม่เจอ ก็อาจจะเริ่มต้นที่หาทีมก่อน


ส่วนกิจกรรมแบบนี้ผมรู้สึกดีมาก ในช๊อตต่อไปอาจจะเป็นแบบเทพธารินทร์อาจจะเปิด ๑๐ ชั้นแล้ว ทางหัวเฉียวคงจะมี Day Camp แล้ว ทางสมิติเวชอาจจะมีทีมเบาหวานแล้ว อาจจะเตรียมเป็น Diabetic Center แล้ว ของผมก็คงอาจจะเริ่มจะมีทีมแล้ว

จบ AAR ที่ได้ถอดเทปมาทั้งหมด ดิฉันดีใจที่ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" ครั้งนี้เกิดความรู้สึกดีๆ และทุกคนได้สิ่งดีๆ ที่จะกลับไปทำต่อ ดิฉันชื่นชมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างแข็งขัน ประทับใจที่คุณหมอทั้งหลายอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนจบและ appreciate กิจกรรมแบบนี้

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 33088เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2006 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท