อีกครั้งของ Peer Assist ที่ภูมิใจ (๓)


เป็น Peer Assist ที่มีบรรยากาศคึกคักมาก ทั้งผู้พร้อมให้และผู้ใฝ่รู้ต่างได้เรียนรู้จากกันและกัน

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙

๐๙.๐๐ น. เริ่มกิจกรรมวันที่สองด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อการให้ความรู้/คำปรึกษาเรื่องอาหาร คุณณัฐชนก บุศยานนท์ นักโภชนาการของ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท เล่าให้ที่ประชุมฟังเป็นคนแรกว่าบริการด้านอาหารของโรงพยาบาลเป็นแบบ Out source นักโภชนาการมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยทั้งใน IPD และ OPD ทำแผ่นพับ เข้าร่วมทีม PCT เขียนแมกกาซีนและเมนูอาหาร จัดบอร์ดให้ความรู้ ทำสื่อ ออกรายการวิทยุ-โทรทัศน์ ประสานกับผู้จัดให้บริการในกรณีที่มีปัญหาเรื่องอาหารของผู้ป่วย

คุณศิริวรรณ พึ่งวรอาสน์ นักโภชนาการ รพ.หัวเฉียว เล่างานของตนเองบ้างว่าต้องดูแลทั้งหน่วยโภชนบำบัดและหน่วยผสมนม มีบุคลากรในความดูแลกว่า ๔๐ คน แต่ที่เป็นนักโภชนาการมีอยู่เพียง ๓ คน สัดส่วนต่อจำนวนผู้ป่วยจึงยังไม่เพียงพอ แต่ก็ยังได้ทำหน้าที่ให้ความรู้กับผู้ป่วยทั้งใน IPD และ OPD เช่นกัน นอกจากนี้ยังให้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทีมงานนั่งฟังอยู่ (ถ้าจำไม่ผิดคือคุณวนิดา มกรกิจวิบูลย์ หัวหน้าพยาบาล แผนกวิชาการ) ช่วยเสริมด้วยสีหน้าที่ฉายแววของความชื่นชมว่าแม้งานจะมากและหนักแต่นักโภชนาการของ รพ.หัวเฉียวก็ยังมีผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำมา ๒-๓ เดือนแล้วคือในการจัดอาหารให้กับผู้ป่วยแต่ละรายนั้น จะมีป้ายบอกแคลอรี่ให้รู้ด้วย เป็นการชื่นชมทีมงานกันเองอย่างน่าประทับใจจริงๆ

ถึงเวลาของทีม รพ.เทพธารินทร์ คุณจุรีย์พร จันทรภักดี นักกำหนดอาหาร ที่วันนี้ยิ้มแย้มเป็นพิเศษ เพราะได้รับคำชมเรื่องการจัดอาหารต้อนรับแขกที่มาเยือนในครั้งนี้ (คุณจุรีย์พรเป็นผู้ดูแล) เล่าเรื่องงานของนักกำหนดอาหารด้วย PowerPoint ทั้งงานปัจจุบันที่เป็นการให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเบาหวาน ว่ามีขั้นตอนและรายละเอียดอย่างไรบ้าง งานของ Weight Management Clinic ที่กำลังจัดเตรียมสำหรับให้บริการในอนาคตอันใก้ล ผู้ฟังมีคำถามว่าทำอย่างไรผู้ป่วยจึงจะเข้าใจเรื่องอาหารจนสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง คุณจุรีพรตอบว่าขณะนี้ใช้ Plate Model เพราะง่ายว่าหมวดอาหารแลกเปลี่ยน จะสอนด้วย Plate Model แล้วสอดแทรกเรื่องอาหารแลกเปลี่ยนไปด้วย (อาหารที่รับแขก ๒ วันนี้คุณจุรีพรก็จัดแบบ Plate Model และคำนวณแคลอรี่ให้ทุกมื้อ) มีคำชื่นชมและคำถามเกี่ยวกับการจัด “มุมอาหาร” เป็น display ที่ให้ความรู้อย่างสอดคล้องกับช่วงเทศกาลหรือฤดูกาล คุณหมอพงษ์สันต์ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นเฟรนไชน์เสียเลย ทำให้ดิฉันได้ไอเดียทันทีว่าควรจัดให้มีหลายๆ จุด

ดิฉันเตือนให้คุณจุรีพรเล่าผลงานชิ้นโบว์แดงของตนเองบ้าง เป็นเรื่องที่ได้รับรางวัลที่ ๒ จากการประกวดการทำอาหารจากผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง คุณจุรีพรบอกถึงที่มาของไอเดีย กระบวนการเตรียมงานที่มีการร่วมมือกันอย่างดียิ่งกับทีมห้องครัว เมื่อผ่านเข้ารอบ (คัดเลือกจากภาพถ่าย) ตื่นเต้นมากๆ มีการเตรียมตัวโดยร่วมมือกับห้องครัวอย่างใกล้ชิด ซักซ้อมการทำอาหาร เชิญคนมาช่วยกันชิม เลือกวัตถุดิบ ฯลฯ คุณจุรีพรพูดชื่นชมทีมที่ได้รับรางวัลที่ ๑ (รพ.สงขลานครินทร์) มากและได้เรียนรู้จากเขาด้วย ดิฉันเล่าให้ที่ประชุมฟังด้วยว่าในคราวที่ไปแสดงนิทรรศการในงาน 7th HA National Forum เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้เจอเพื่อนเก่า รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ ผอ.รพ.สงขลานครินทร์ คุณหมอสุเมธคุยให้ทราบว่าทีม มอ.ภูมิใจมาก ที่ได้รางวัลที่ ๑ ก็ภูมิใจ แต่ที่ภูมิใจมากกว่าคือเอาชนะทีมเทพธารินทร์ได้

มีคำถามจากทีม รพ.หัวเฉียวกว่า ๑๐ ข้อ ตั้งแต่เรื่องของ Readiness Quiz บทบาทของแพทย์ในเรื่องอาหาร การคิดค่าใช้จ่ายในการให้บริการ การให้เวลากับผู้ป่วยแต่ละราย การ follow up รูปแบบการให้ความรู้ เป็นต้น ส่วนทีม รพ.สมิติเวช สนใจถามเรื่องการคัดกรอง เรื่องของ Empowerment ต่างฝ่ายต่างผลัดกันถาม คุณจุรีพรสนใจ “โครงการเบาหวานติดปีก หลีกหนีส่วนเกิน” ของ รพ.หัวเฉียว คำตอบที่ได้น่าสนใจมากเพราะทางหัวเฉียวมีวิธีคิดที่ดีในการเริ่มโครงการในกลุ่มเจ้าหน้าที่ก่อน เพราะว่าเจ้าหน้าที่ ๑ คนดูแลได้ทั้งครอบครัวตนเองและดูแลผู้ป่วยด้วย

หลังพักรับประทานอาหารว่าง เวลาประมาณ ๑๐.๒๐ น.คุณสุนทรี นาคเสถียร มาเล่าเรื่องของชมรมเพิ่มความรู้สู้เบาหวาน ที่ทาง รพ.เทพธารินทร์ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ที่มาของชมรมต่อเนื่องมาจากค่ายเบาหวานที่เริ่มต้นในปี ๒๕๓๗ ชาวค่ายส่วนหนึ่งรวมตัวกันเป็นก๊วนเล็กๆ ที่อยากจะพบกันมากกว่าปีละ ๑ ครั้ง เกิดเป็นชมรมขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๑ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เป็นต้นมา จะเป็นกิจกรรมอะไรบ้างนั้น มาจากไอเดียของสมาชิกและกระแสในขณะนั้นว่ามีอะไรเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมไปทั้งหมด ๑๙ ครั้ง โดยเฉลี่ยประมาณปีละ ๓-๔ ครั้ง ใช้เวลาครั้งละประมาณครึ่งวัน เมื่อไม่นานมานี้ก็จัดกิจกรรม “ตลาดนัดจานสุขภาพ” คุณสุนทรีแสดงภาพกิจกรรมต่างๆ ใน PowerPoint เช่น เซียมซีสุขภาพ ใบเสี่ยงทายเขียนเป็นกลอนบอกว่าถ้าปฏิบัติตัวดีแล้วจะดี เป็นต้น พร้อมเล่ากิจกรรมล่าสุดเมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง ชาวชมรมบางส่วนได้นัดพบกันที่สวนของสมาชิกคนหนึ่งที่จังหวัดประจวบฯ กลุ่มสมาชิกพูดคุยแนะนำการปฏิบัติตัวกันเอง คุณหมอพงษ์สันต์เสนอแนะว่าการมีชมรมเป็นสิ่งที่ดี สามารถนำสู่ชุมชนได้ ควรทำให้เป็นชิ้นเป็นอัน

ประมาณ ๑๑.๐๐ น.ได้เวลาที่ทุกคนรอคอย คุณธัญญา หิมะทองคำและคุณปฏิมา พรพจมาน มาช่วยกันเล่าเรื่อง “ค่ายเบาหวาน” โดยมีคุณสุนทรีช่วยเพิ่มเติมข้อมูลเก่าๆ ให้เพราะอยู่มานานกว่า มีรายละเอียดตั้งแต่จัดมากี่ครั้งแล้ว ที่ไหนบ้าง กิจกรรมของชาวค่าย ฯลฯ ส่วนสำคัญคือการทำงานของทีมงานค่ายที่เริ่มตั้งแต่การสำรวจสถานที่ คิดกิจกรรม ประชุมและเตรียมการในเรื่องต่างๆ ล่วงหน้านานนับหลายเดือน งานที่ทำระหว่างอยู่ในค่าย งานบางอย่างไม่สามารถทำเตรียมไว้ล่วงหน้าได้ เช่น การประมวลผลระดับน้ำตาลในเลือด การวิเคราะห์อาหารแต่ละมื้อแต่ละวันที่ผู้ป่วยรับประทานและจดบันทึกไว้ การให้ความเห็นของแพทย์และนักกำหนดอาหาร สรุปเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ป่วยได้รู้ด้วย รวมทั้งการเตรียมกิจกรรมปิดค่ายที่ต้องเอาภาพบรรยากาศในค่ายนั้นๆ ภาพชาวค่ายทุกคน มานำเสนอพร้อมกลอนที่แต่งขึ้นสดๆ กว่าทีมงานค่ายจะได้เข้านอนแต่ละคืนก็ดึกแล้ว โดยเฉพาะในคืนสุดท้ายทีมงานบางส่วนจะไม่ได้นอนเลย

 

   
 จากซ้ายคุณสุนทรี และคุณธัญญา

 บรรยากาศขณะฟังเรื่องค่ายเบาหวาน


ผู้ฟังมีคำถามว่าทำ Day Camp ก่อนหรือเปล่า ทีมงานค่ายเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงหรือทำอย่างอื่นด้วย เวลาประชาสัมพันธ์มีผู้ป่วยของโรงพยาบาลอื่นสมัครด้วยหรือเปล่า การจัดโปรแกรมทัวร์ คิดเองหรือบริษัททัวร์ช่วย เป็นต้น คำตอบก็ชัดเจนว่าเราไม่ได้ทำ Day Camp แต่เมื่ออาคารใหม่เปิดให้บริการเต็มที่อาจจะจัดได้เพราะมีทั้งห้องครัวที่ใช้สอนทำอาหารได้และ fitness ทีมงานค่ายก็คือพนักงานประจำของโรงพยาบาลนั่นเอง ที่ต้องรับงานหนักคือนักกำหนดอาหารและ educator ที่อยู่ในฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แต่เราก็นำพนักงานส่วนอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น พยาบาล เภสัชกร เป็นต้น ผู้ป่วยของโรงพยาบาลอื่นก็ไปค่ายกับเราได้ ไม่มีข้อจำกัด ผู้ป่วยที่ต้องนั่งรถเข็น หรือต้องสวนปัสสาวะทุก ๖ ชม.ก็เคยไปกับเรามาแล้ว เพราะทีมงานมีแนวคิดว่า “ไม่ให้ข้อจำกัดของผู้ป่วยมาเป็นอุปสรรค อยู่ที่เราต่างหากที่ต้องเตรียมการ” โปรแกรมทัวร์ก็คิดกันเอง งานจัดค่ายเป็นงานยาก ประธานค่ายของเราคือ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ให้กำลังใจทีมงาน (หรือเปล่า?) ว่า “เรื่องง่ายไม่เคยทำ”

นพ.พงษ์สันต์บอกว่าครั้งต่อๆ ไปน่าจะให้ผู้ป่วยของหัวเฉียวไปค่ายกับเราด้วย และยัง share ประสบการณ์การจัด Day Camp แบบไป-กลับ ๒ วัน การจัดค่ายทำให้ได้พบช้างเผือกและเกิดการรวมกลุ่มกันเอง กลุ่มนี้เมื่อไม่รู้ว่าจะไปไหนก็จะมาที่โรงพยาบาล ใส่เสื้อเป็นทีมเดียวกัน ผู้ป่วยพากันพูดว่า “โชคดีที่เป็นเบาหวาน” เรา discuss กันเล็กน้อยเรื่องการ sign consent form แต่ในที่สุดแล้วความไว้วางใจกันสำคัญที่สุด

ทีมสมิติเวชสอบถามเรื่องการเตรียมตัวผู้ป่วยล่วงหน้าก่อนไปค่าย การปฐมนิเทศ ซึ่งค่ายเบาหวานของเทพธารินทร์ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้มากนัก เพราะทีมงานค่ายจะต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยล่วงหน้า ผู้ป่วยและครอบครัวมีข้อสงสัยอะไรก็สอบถามได้อยู่แล้ว จะมีการอธิบายให้เห็นภาพของค่ายจนเข้าใจ นอกจากนี้เกือบครึ่งหนึ่งของชาวค่ายแต่ละปีเป็นผู้ที่เคยไปค่ายกับเรามาแล้ว ดังนั้นเราจึงเพียง orientation ก่อนออกเดินทาง และเรามีการแบ่งชาวค่ายเป็นกลุ่มๆ มอบหมายพี่เลี้ยงดูแลกันอย่างใกล้ชิด


เลยเวลา ๑๒.๐๐ น.ไปเล็กน้อย ดิฉันขอให้ทุกคนรับประทานอาหารกลางวันอย่างรวดเร็ว มื้อนี้เป็นข้าวหมูเกาหลีและผลไม้ ๑๒.๓๐ น. เราเริ่ม AAR กันเลย ดิฉันขออนุญาตอัดเทปเพื่อเก็บประเด็นต่างๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุด ทุกคนเต็มใจ บางคนลืมพูดบางเรื่องก็ขอกลับมาพูดอีกรอบเพราะกลัวจะไม่มีอยู่ในเทป ใช้เวลา AAR ประมาณ ๕๐ นาทีแต่ถอดเทปอยู่นาน ๒-๓ ชั่วโมง สิ่งที่ได้จาก AAR ทำให้ดิฉันมั่นใจได้ว่ากิจกรรมในวันครึ่งนี้คือ Peer Assist ที่มีบรรยากาศคึกคักมาก ทั้งผู้พร้อมให้และผู้ใฝ่รู้ต่างได้เรียนรู้จากกันและกัน โปรดติดตามรายละเอียดของ AAR ซึ่งมีความยาวเกือบ ๙ หน้ากระดาษ A4 ทีเดียว

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 33069เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2006 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท