จะเสวนาพูดคุยแก้จนเมืองนครกันในเวทีแรกๆของคุณกิจอย่างไรดี?


เวทีประชาคมวงเรียนรู้คุณกิจโครงการแก้จนเมืองนครเวทีแรกๆควรจะเป็นเวทีพูดคุยเกี่ยวกับอะไรดีนั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการทำงานและการเรียนรู้ ตัวละครที่เกี่ยวข้องและความเกี่ยวพันในการจัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาความยากจน ระหว่างคุณกิจคือครัวเรือนทุกครัวเรือนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นพูดคุยเรื่องนี้กับ ผอ.จรัญ ศรีวิไล ผอ.กศน.อำเภอพระพรหม กับ ผอ.สุรศักดิ์ อนันต์ ผอ.กศน.อำเภอท่าศาลา ว่าควรจะดำเนินการจัดเวทีเรียนรู้ของคุณกิจอย่างไรดีในจำนวน 6 ครั้งที่จะต้องจัดขึ้นตามเป้าหมายของโครงการ ก่อนสิ้นปีงบประมาณ (30 กันยายน 2549) ที่ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวานนี้ อย่างที่เรียกว่าคนที่สนใจเหมือนกันนัดแนะจิบน้ำชาพูดคุยกัน ได้ความคิดดีๆหลายเรื่อง บรรยากาศการพบปะพูดคุยคล้ายกับเมื่อตอนที่ผมทำโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนแบบบูรณาการ 9 หน่วยงาน ในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีที่แล้ว เป็นการเรียนรู้กันตามอัธยาศัย (เป็นวิธีการเรียนรู้หนึ่งของคนทำงานที่ได้ผล...ดีนะครับ นำบทเรียนจากโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนแบบบูรณาการ 9 หน่วยงาน ในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีที่แล้ว มาใช้แล้วครับ )

ในประเด็นแนวทางการทำงานนั้น ผมร่วมแสดงความเห็นว่า ทุกทีมทำงานทุกระดับควรจะได้ทำทีมกันให้ดีเสียก่อน (ทีม KM ) ตั้งแต่รู้จักมักจี่ เรียนรู้จุดเด่นจุดด้อยกันและกัน ผูกใจเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่าทำทีมเช่นทำทีมฟุตบอล...(โลก) อย่างไรอย่างนั้น เป็นทีมแล้วมันรู้สึกว่ามีพลัง จัดทัพอย่างนี้ได้ในพื้นที่ใดระดับใด จะเป็นระดับคุณเอื้อ คุณอำนวย หรือคุณกิจแกนนำ 8 คนของหมู่บ้านเป้าหมาย เท่ากับเราเดินเข้าสู่เส้นชัย ( แก้ไขปัญหาความยากจน...ได้สำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่) เสริมกันทั้งแบบที่พบปะพูดคุยกันอย่างเป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการ


ส่วนในประเด็นของเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้นั้น ผมคิดว่าเวทีแรกๆ น่าจะเป็นการปรับทุกข์ ผูกมิตร คลี่แผนแผนพัฒนาชีวิตและชุมชนพึ่งตนเองที่หมู่บ้านและชุมชนจัดทำไว้แล้วเมื่อปีที่แล้วออกดูว่า ยังใช้ได้ดีอยู่ไหม อะไรที่ข้อมูลข้อเท็จจริงมันเปลี่ยนไปแล้ว(ทบทวนแผน)  เช่น ขณะนี้ราคาน้ำมันพุ่งไปที่ราคาลิตรละ 30 บาท แล้วเป็นต้น กระทบอย่างไร จะยึดหรือปรับเปลี่ยนแผนงานโครงการที่กำหนดไว้ ทำแผนงานโครงการให้เป็นแผนกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของเหตุการณ์จะดีไหม เมื่อคลี่แผนออกดูแล้ว จะแปลงไปสู่การปฏิบัติการแก้จนหรือปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร ก็ต้องให้คุณกิจได้เรียนรู้ (ทีมคุณอำนวยตำบลต้องตั้งหลักให้ดี....นำกระบวนการให้ดีๆ) เรียกว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนออกแบบกิจกรรมการทำงานและการเรียนรู้ก็แล้วกัน อย่าลืมบอกวิธีเรียนรู้นะครับว่าแต่ละครั้งแต่ละเวทีพูดคุย จะมีการระดมความคิด ระดมสมองแก้ไขปัญหาของตัวเอง / กลุ่ม การเล่าเรื่องสิ่งที่ได้คิดได้ทำ การร่วมกันค้นหาคนเก่งคนดีของหมู่บ้านชุมชนมาเป็นผู้นำการพูดคุย เป็นต้น ถ้ากิจกรรมที่ทำเป็นกิจกรรมกลุ่ม(ร่วมกันทำ)คือใช้กลุ่ม องค์กรต่างๆที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ เป็นตัวเดินงานแก้จน ก็ต้องระบุว่าใครรับเป็นเจ้าภาพเรื่องอะไร ส่วนแก้จนรายครัวเรือนก็บ้านใครบ้านมันอยู่แล้ว วิทยากรกระบวนการต้อง.....ต้องแสดงฝีมือจริงๆครับ


สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งผมมีความคิดเห็นว่าแผนพัฒนาชีวิตและชุมชนพึ่งตนเอง คือแผนการพัฒนาที่ทำควบคู่สองระดับ คือระดับครัวเรือน (ชีวิต)แบบพึ่งตนเอง (เงินและทุนทุกอย่างที่ตนมี) กับแผนชุมชน (รวมกันหลายๆครัวเรือน) อย่างพึ่งตนเอง จะอย่างไหนก็แล้วแต่เน้นพึ่งตนเองก่อนครับ ครัวเรือนทุกครัวเรือนน่าจะได้ทำทั้งสองส่วนควบคู่กันไป แก้จนคนเดียว (อย่างตั้งหน้าตั้งตา) ก็เรียกว่าเห็นแก่ตัว ไม่เผื่อแผ่ (แม้แต่ความรู้) ไม่ได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันคนอื่น

อีกประการหนึ่งที่สำคัญในเวทีแรกๆ คือการกำหนดเป้าหมายในการแก้จน จะระดับครัวเรือน แบบบ้านใครบ้านคนนั้น หรือระดับกลุ่มคน ก็ตาม จะต้องกำหนดเป้าหมาย ( ส่วนของหัวปลา หรือวิสัยทัศน์ ) ให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่ทำนะครับ  ดูว่าระยะเวลาที่เหลือ 6 เดือนของโครงการนี้ จะทำอะไรได้ไม่ได้ เป็นต้นว่าแผนพัฒนาชีวิตและชุมชนพึ่งตนเองบางหมู่บ้านจะทำโครงการฝายน้ำล้น เป็นต้น ก็ต้องคิดว่า 6 เดือนที่เหลือ จะได้สักแค่ไหนของกิจกรรมทั้งหมด 6 เดือนไม่น่าจะทำได้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนสำเร็จ  เรื่องการกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมกับระยะเวลานี้ ผมมีประสบการณ์เมื่อตอนทำโครงการนำร่อง (จัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนแบบบูรณาการ) 3 ตำบลของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ที่ตำบลบางจากครับ ตำบลบางจากในเวทีแรกๆตั้งเป้า 6 เดือน จะเป็นสถาบันการเงินชุมชนให้ได้ ซึ่งได้เรียนรู้ในเวทีหลังๆว่าทำไม่ได้ จึงได้ปรับในเวทีต่อๆมา แต่ตอนนี้เป็นได้แล้ว (ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2549)


ทั้งเรื่องการกำหนดหัวปลา ตรงกลางของปลา และหางปลา ล้วนมีความสำคัญทั้งนั้นครับ

หมายเลขบันทึก: 33028เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2006 06:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท