ข้อแนะนำเพื่อการเพิ่มคุณค่า


หากนำไปปฏิบัติจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและโรงพยาบาล อยู่ในดุลยพินิจของโรงพยาบาล

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงพยาบาลที่มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพ  นอกเหนือจากที่ให้คำแนะนำตามมาตรฐาน HA แล้ว ยังได้ให้ข้อแนะนำเพื่อการเพิ่มคุณค่า เป็นความคิดที่เกิดจากการพบเห็นโอกาสพัฒนาซึ่งหากโรงพยาบาลนำไปปฏิบัติได้จะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและโรงพยาบาลเอง  และให้อยู่ในดุลยพินิจขอโรงพยาบาลว่าสมควรจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ ดังนี้

        1) การกำหนดตัวชี้วัดที่มีลักษณะผ่าน/ไม่ผ่าน ดี/ไม่ดี เป็น/ไม่เป็น ใช่/ไม่ใช่ ทำให้ไม่สามารถเห็นลำดับขั้นของการพัฒนา หรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจเกินควรว่าผลงานที่เกิดขึ้นนั้นมีความสมบูรณ์แล้ว  สมควรพิจารณากำหนดตัวชี้วัดที่บ่งบอกคุณภาพของงานเป็นลำดับขั้น และติดตามสัดส่วนของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละลำดับขั้น จะเป็นการสร้างความท้าทายในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง


          2) เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยที่ฝังในงานประจำวัน สมควรส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่เรียบง่ายต่อการปฏิบัติ เช่น Patient Safety Leadership Walkround, Safety Briefiing, การทบทวนระหว่างดูแลผู้ป่วยเป็นกิจวัตรประจำวัน, การทบทวนผลการสื่อสารกับผู้ป่วย, การทบทวนเป้าหมายการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อส่งเสริมกระบวนการดูแลผู้ป่วยและกระบวนการพยาบาลให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น, บูรณาการการทบทวนด้านการสร้างเสริมสุขภาพเข้ากับงานประจำ


          3) เพื่อให้เวทีของ PCT เป็นเวทีที่ส่งเสริมนวตกรรมและความตื่นตัว ควรใช้ PCT เป็นที่นำเสนอผลลัพธ์จากการทดลองวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาการดูแลผู้ป่วยที่พบในชีวิตประจำวัน


          4) โรงพยาบาลมีการประสานเพื่อให้มีการดูแลสุขภาพในชุมชนเป็นอย่างดีผ่านทาง PCU ของโรงพยาบาลซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ในเขตเทศบาล  หากสามารถขยายความร่วมมือไปยัง PCU อื่นๆ ในเขตอำเภอเมืองที่อยู่นอกเขตเทศบาล และนำประเด็นปัญหาสำคัญขึ้นมาดำเนินงานผสมผสาน เช่น การประเมินและส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีในเรื่องการดูแลสุขภาพฟันเพื่อป้องกันฟันผุในเด็กที่ทีมงานดูแลเฝ้าระวังภาวะโภชนาการและตรวจสุขภาพฟันในเด็กกลุ่มนี้ทุก 3 เดือนอยู่แล้ว  จะทำให้บทบาทการเป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพก่อให้เกิดผลกระทบที่กว้างขวางยิ่งขึ้น


          5) เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้รับบริการและเป็นแบบอย่างสำหรับโรงพยาบาลคุณภาพอื่นๆ ควรให้องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจประเมินหน่วยไตเทียมของโรงพยาบาล


          6) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการตรวจพิเศษด้วย flexible endoscope ทั้งหลายมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง bronchoscope  สมควรทบทวนแนวทางที่ CDC เสนอแนะไว้เกี่ยวกับวิธีการที่ดีที่สุดในการทำให้ปราศจากเชื้อว่าจะสามารถนำมาปฏิบัติได้เพียงใด


          7) เพื่อให้การเฝ้าระวังการติดเชื้อแผลผ่าตัดมีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น สมควรพิจารณาการเฝ้าระวังการติดเชื้อตามรายหัตถการโดยจำแนกตามระดับการปนเปื้อนของแผลผ่าตัด


          8) เพื่อช่วยให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะ unstable ก่อนที่จะเกิดวิกฤติถึงขั้นหยุดหายใจ  สมควรที่ผู้บริหารและทีมงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาแนวทางการจัดตั้ง Rapid Response Team ที่ IHI ได้แนะนำไว้สำหรับให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการประเมิน ดูแลเบื้องต้น และสื่อสารกับแพทย์เจ้าของไข้


          9) ทีมงานควรได้รับการเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จะสื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่ายๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และควรได้รับการเสริมพลังในการที่จะวิเคราะห์แผนการดูแลรักษา (ในระหว่างอยู่โรงพยาบาลและเมื่อจำหน่ายกลับไปบ้าน) ในด้านผลดีผลเสียระหว่างทางเลือกต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์สูงสุด


          10) ข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยาในส่วนของ administration error เป็นเรื่องยากที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลจากรายงานอุบัติการณ์ให้ได้สมบูรณ์  หากจะมีการทดลองเก็บข้อมูลในเชิงสุ่มตัวอย่าง หรือการทบทวนประมาณการอย่างไม่เป็นทางการ อาจจะทำให้ได้ค่าตัวเลขที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3301เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2005 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท