รวมมิตร KM ปฏิบัติ (5)


ผู้เขียนนึกได้ว่า เพิ่งฝึกทักษะ การดูงานหลายที่ แล้วมาขมวด ประเด็นที่คล้ายคลึง เพื่อหาข้อสรุป เป็นความรู้เก็บไว้ในตัว และถ่ายทอดเป็นเอกสาร การเรียนรู้แบบนี้เป็น Model ที่ถูกออกแบบโดยธรรมชาติ เรามาเข้าใจเมื่อเขียนบันทึก

       การจัดการความรู้  ในมุมมองผู้เขียนเมื่ออยู่ในบทบาท KM Internship  ตีความว่าต้องจัดการตนเองเป็นก่อน

       เนื่องจาก สคส. เหมือนคลังความรู้มหาศาล ที่อยู่ในรูปแบบ Explicit  knowledge :  ตำรา  หนังสือ วารสาร  ที่มีอยู่แล้วในองค์กร  และจากเครือข่าย   Tacit knowledge : มีคนระดับปรมาจารย์ทางวิชาการ สูงด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ  ประสบการณ์ทำงาน  ระดับหนึ่ง      มีดร.นักคิดแนวเปี่ยมคุณภาพ   มีนักวิชาการทรงคุณวุฒิสู้งาน ....   ตลอดจนมีแม่บ้านคนเก่ง   ท่านจะจัดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนหัวข้ออะไร?  ในตัวคนเหล่านี้อย่างไร?  แยกแยะ  จัดลำดับก่อนหลังอย่างไร? 
        นอกจากนี้คลังข้อมูลภาคราชการ  ประขาสังคม  ภาคการศึกษา   ภาคเอกชน  ลูกค้าต่างๆ ซึ่งมีมากมาย  ในการไปเรียนรู้ในเวที แต่ละครั้ง  คนทุกคน คือ คนใหม่สำหรับท่าน  ท่านจะทำอย่างไร?   

        สำหรับผู้เขียนแล้วตัดสินใจว่า เราจะไม่ใช้สายสัมพันธ์ใดๆกับการรู้จักบุคคลในขณะเป็น Internship  แม้การจำชื่อทำความรู้จัก เพราะจะติดไปกับตัว เป็น Tacit knowledge   เพียงแต่ เจาะเฉพาะบางท่านที่ต้องฝึกทำงานโดยเฉพาะ   
       ในการเริ่มงาน HR ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจำได้ว่า รู้สึกเครียด เมื่อเข้าไปทำงานแล้ว ทำอย่างไรจะรู้จักผู้บริหารในกลุ่ม  4 บริษัทฯ  เพราะเห็นว่า MD บริหารงานแบบรวมทีมบริหาร 4 บริษัทฯ    แต่บริษัทฯแยกที่ตั้งกัน   ผู้อำนวยการฯ เจ้านายผู้เขียนบอกสั้นๆว่า  เดี๋ยวจะได้รู้จักในการสัมมนา Core Values   เอาเข้าจริงผู้เขียนจำได้ไม่กี่คน  เฉพาะเด่นๆ และที่ต้องทำงานกลุ่ม   แต่เมื่อเวลาผ่านไป  ก็มีโอกาสได้ร่วมงานหลากหลาย ในที่สุดก็รู้จักทุกท่านในมุมที่เรามองเองด้วยซ้ำเพราะสัมผัสกับเขาโดยตรง  นี่เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า อย่าพึงตื่นเต้นเรื่องคนนัก  จะเป็นข้อมูลลำดับถัดจากแผนงานเกิด ว่าจะทำอะไร?  แล้วจะง่ายในการจำข้อมูลละเอียด  
       พูดง่ายๆว่า   ผู้เขียนต้องวาดแผน แลกเปลี่ยนเรียนรู้  KM ใน สคส. ด้วย  มิเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะไม่เครียด  แต่ผู้เขียนมีความชอบเป็นทุน จึงมีความสุขที่จะเล่น… 

        ผู้เขียนไม่คิดจะเก็บข้อมูลที่ใช้ในการบริหารจัดการ  หรือตำราจากเวทีลูกค้า  เป็นของตนเอง เพื่อประกอบอาชีพ หลังจากหมดวาระ Internship  นี่คือคำว่า คุณธรรม  ในความเข้าใจของผู้เขียนที่คิดว่าพอจะทำได้   เพราะทรัพย์เหล่านั้นเป็นของหลวง  เมื่อเราประกาศอุดมการณ์   ก็ย่อมต้องระมัดระวังในการปฏิบัติตัว  

        อีกข้อหนึ่งที่ลำบากใจ  คือ  เราประเภทชั่วคราว กรณีการเดินทางไปดูลูกค้า    เราอาจต้องวางตัวแปลกๆหน่อย   คือ ขายความคิดให้เขาได้ ไม่ทุกเรื่อง  เพราะบางคำถาม  ต้องไปสอดคล้องกับตัวจริง เพื่อสานต่องานในอนาคต   

          “เว้นที่ถามอันยังไป่รู้” เป็นคติหนึ่งของผู้เขียน

        ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นสมาชิกทีมงาน สคส.เล่นละคร ในบทบาทที่แตกต่างกันไป  คือ 1 คนเล่นได้หลายบทบาท   เมื่ออยู่ในสำนักงานก็ต้องแสดงบทบาทเป็นผู้บังคับบัญชา  ผู้ใต้บังคับบัญชา  เพื่อนร่วมงานที่ดี  และCoach ที่ดีสำหรับผู้เขียน   มีการปรับตัวตลอดเวลา  ในขณะที่อยู่ในเวทีภายนอก ก็ต้องเล่นบทบาท วิทยากรบ้าง Facilitator  หรือนักขายที่ต้องบริการลูกค้า  หรือเป็น Coach กันเองในทีมงาน

ผู้เขียนจึงเลือกเล่นเป็นผู้ชมบ้าง  ลงไปร่วมเป็นนักแสดงรับเชิญบ้าง ก็รู้สึกว่าสนุกดี

               แล้วบรรยากาศล่ะ  การแต่งกาย  ความสดชื่นในหัวจิตหัวใจ  ที่นี่ผู้เขียนได้ใช้ศิลปะทางการเขียนอย่างเต็มที่  แทนการจัดบอร์ด จัดดอกไม้  เพื่อเสนอจินตนาการออกมา ต่างจากในอดีตผู้เขียนมักแอบเขียนบันทึกการเรียนรู้ไว้ในสมุดเล่มโน้นเล่มนี้
               ไม่ง่ายที่จะปรับตัวเข้ากับ Culture  เนื่องจากผู้เขียนมาจากภาคเอกชน ตอนแรกต้องสัมผัสระบบงานใหม่ก่อน  เราต้องรับรู้ข้อมูล  ใครเป็นอย่างไร?  มีจุดดีส่วนไหน?  ที่เราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเขา ความชอบของเขา   ถ้าความสดชื่นเกิด  บรรยากาศจะอบอุ่นและมีความสุขมากไหม?  ผู้เขียนเป็นโรคชอบตั้งโจทย์...
                ผู้เขียนนึกได้ว่า เพิ่งฝึกทักษะ การดูงานหลายที่ แล้วมาขมวด ประเด็นที่คล้ายคลึง  เพื่อหาข้อสรุป เป็นความรู้เก็บไว้ในตัว และถ่ายทอดเป็นเอกสาร   การเรียนรู้แบบนี้เป็น Model ที่ถูกออกแบบโดยธรรมชาติ   เรามาเข้าใจเมื่อเขียนบันทึก

        การต่อสมาธิ  ผู้เขียนเคยนั่งฟังในวงเล่าเรื่อง 4-5 คน เขาคุยกัน ประมาณ  3-4 เรื่อง  โดย พูดเรื่องที่ 1 ท่อนหนึ่ง ข้ามไปพูดเรื่องที่ 2 ยังไม่จบ  ไปพูดเรื่องที่ 3 เล็กน้อย   แล้วพูดเรื่องที่ 4  ครึ่งเรื่อง  กลับมาคุยเรื่องที่ 2  โยงไปคุยเรื่องที่ 1 กลับมาเรื่องที่  4  ....เมื่อจบการพูดคุย ทุกเรื่องได้ข้อสรุป จบการพูดคุย แบบมีข้อคิด การบ้านกลับไปทำต่อกันทุกคน  ครั้งแรก ผู้เขียนฟังตามเขาไม่ทัน ได้แต่หันหน้าตามคนโน้นที คนนี้ที   สุดท้าย เขาสรุปให้ผู้เขียนฟังว่า  เป็นการคุยแบบต่อสมาธิ  คือเขาต้องวางเรื่องได้  ผู้เขียนกำลังถูกสอนฝึกฟังด้วยนั่นเอง ต้องมีความอดทนพอที่จะนั่งฟังเขาคุยจบ 4 เรื่อง  ไม่ใช่สนใจเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองเท่านั้น  คงเป็นการฝึกไม่ให้ผู้เขียนเห็นแก่ตัว ไม่สนใจคนอื่นด้วย  จริงๆแล้ว ทั้ง 4 เรื่อง ก็ให้ประโยชน์กับผู้เขียนในเวลาต่อมาในการใช้ชีวิต  เพราะผู้เขียนสามารถหยิบแก่นนั้นออกมาใช้ได้อย่างทันสมัยตลอดเวลา โดยไม่เสียพื้นที่การจำกะพี้เลย  เพราะเรื่องเล่าเขาอาจมีแต่แก่นและบริบทที่จำเป็นก็ได้  เมื่อผู้เขียนมีพัฒนาการขึ้นจึงเริ่มอยากพูดคุยแบบนี้บ้าง โดยเริ่ม สนทนาแบบสองต่อสองก็นับว่าสนุกไม่น้อย  ยิ่งเข้าสู่วงสนทนา 4-5 คน ยิ่งสนุกมาก  ปล่อยมุขกันกระจาย นี่คือการฟังและการพูดของผู้เขียน
ตอนนี้ผู้เขียนกำลังต่อเรื่องในรูปแบบการเขียนหรืออย่างไร?
        การฟังเป็นพื้น  การพูดเป็นฐาน   การเขียนเป็นยอดที่ต้องอาศัยการอ่านด้วย  แน่นอนว่าต้องมีพื้นกับฐานที่แข็งแรง

หมายเลขบันทึก: 33003เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท