ค่ายวัฒนธรรมศึกษา : โรงเรียนบ้านหินแลบ


โรงเรียนบ้านหินแลบ

ค่ายวัฒนธรรมศึกษา : โรงเรียนบ้านหินแลบ

         ความทรงจำที่ดีและที่ไม่เคยลืมของมนุษย์มักเจือปนด้วยความเจ็บปวดเสมอ ยิ่งเจ็บยิ่งปวดมากเท่าใด แม้ว่าวันจะผ่านไปเนิ่นนานแล้ว ก็เหมือนว่าเหตุการณ์นั้นมันเกิดกับเราเมื่อวานนี้เอง  ความทรงจำหนึ่งที่พึ่งไปพานพบมา คือความทรงจำที่ได้ไปร่วมกิจกรรมค่าย ไม่ว่าจะเป็นค่ายอาสา  ค่ายพัฒนา หรือค่ายอะไรก็ตามเถอะ การได้ทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือที่ใดก็ตาม  ที่ตรงนั้นมักมีร่องรอยแห่งความทรงจำตราเอาไว้เสมอ ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมค่ายวัฒนธรรมศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  กันน้องนักศึกษาสาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาเพื่อการท่องเที่ยว  ที่โรงเรียนบ้านหินแลบ  ได้พบประสบกับบางสิ่งบางอย่างที่ทรงคุณค่า และยากที่จะลืมเลือน   จึงอยากจะเป็นสื่อกลางให้คนเมืองและคนที่ทำกิจกรรมในลักษณะเดียวได้รับและนำสู่ไปการแลกเปลี่ยนทางความคิด

          โรงเรียนบ้านหินแลบ  ต.อิปุ่ม อ.ด่านซ้าย จ.เลย  ปัจจุบัน มีอาจารย์ถาวร ภักมี เป็นผอ. และมีครูข้าราชการบรรจุใหม่ ๑ คน มีครูจ้างอีก ๑ มีเด็กนักเรียนไม่ถึง ๓๐ คน เป็นโรงเรียนระดับประถม ที่สร้างมานาน มีอายุมากกว่าผู้ใหญ่บางคนในหมู่บ้านก็ว่าได้  ถ้าเอาพวงมาลัยสามสีไปคล้อง ก็จะกลายเป็นปูชนียะวัตถุที่มีคนไปกราบไปไหว้แน่นอน  เพราะว่ามีอายุที่ยืนยาวมาก และที่สำคัญเป็นสถานที่สร้างคน เป็นสนามแห่งการต่อสู้ด้านปัญญาของคนในหมู่บ้าน  นานไม่นานก็คิดดู โรงเรียนที่เคยมีใต้ถุนลอดไปมาได้ ปัจจุบันไม่มีแล้ว เนื่องจากเวลาที่ฝนตกน้ำไหลได้พาเอาดินมากลบใต้ถุนโรงเรียนหมดแล้ว พื้นไม้โรงเรียนกับพื้นดินเท่ากันแล้วในปัจจุบัน  นั่นคือความทรงจำที่น่าจดจำ  แต่หลายคนบอกว่าไม่น่าจดจำ เพราะมันเป็นเช่นนี้มานานแล้ว เกินจะจดจำ  แม้แต่อาคารก็เอียงไม่รู้ว่าจะอยู่เป็นอนุสรณ์สถานสร้างคนได้อีกนานเท่าใด  นั่นคือสภาพความจริงของโรงเรียน ที่คนตั้งแต่รุ่นแรกจนรุ่นเยาวชนล่าสุดได้เข้าไปเรียนรู้ตามนโยบายของรัฐ 

         บ้านหินแลบ เป็นหมู่บ้านที่มีประชากรประมาณ ๓๕๐ คน ส่วนมากจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวโพด นิยมปลูกตามไหล่เขาเวลาที่ยืนบนเขาสูงมองลงไปจะเห็นความงดงามของข้าวโพดแก่ใบสีทองที่สลับแซมด้วยต้นสีเขียว เป็นความสวยงามที่เห็นได้ตามไหล่เขาที่ทอดยาวสุดตา สลับกันเป็นชั้นๆ  ที่นี่มีวัฒนธรรมชุมชนหนึ่งที่น่าสนใจ และยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน  คือการหยุดทำงานในวันพระ ๑๕ ค่ำ กล่าวคือ พอวันพระใหญ่ ๑๕ ค่ำ ทุกครัวเรือนจะหยุดทำงาน แต่หากว่ามีใครที่ประเภทขยันเกินหน้าเกินตา ไม่รู้วันหยุดไม่มีวันลา ออกไปงานในวันดังกล่าวจะต้องประสบกับเคราะห์กรรม เช่น จะต้องประสบกับอุบัติเหตุ หรืออุปัทวะภัยเข้าสักอย่าง ทั้งนี้ เป็นความเชื่อของชุมชน ฉะนั้น ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำจะเห็นชาวบ้านที่แสดงน้ำใจพากันไปช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านบ้าง โรงเรียนบ้าง สำนักสงฆ์บ้าง  วัฒนธรรมความเชื่อเช่นนี้ มักไม่ค่อยปรากฏมีในสังคมไทยเท่าไรนัก  ที่เคยมีก็ถูกสังคมศิวิลัยกลืนกลายเสียหมด

        หันมามองรอบๆโรงเรียนบ้านหินแลบกันดูบ้าง  ต้องยอมรับว่าเกิดความคิดมากมาย โดยเฉพาะความสับสนกับระบบการศึกษาที่รัฐกำหนดไว้ให้  ตอนนี้โรงเรียนในชนบทที่ห่างไกลประสบกับปัญหาที่ยากจะแก้ไข  จัดว่าเป็นปัญหาใหญ่ก็ว่าได้ 

             ๑.     ไม่มีเด็กเรียน  เด็กนักเรียนก็มาจากเยาวชนในหมู่บ้านนั่นหละ  ประชากรในหมู่บ้านก็น้อยเด็กที่จะเข้าเรียนตามเกณฑ์ยิ่งน้อย แล้วจะไปเอาเด็กที่ไหนมาเรียนกัน ส่วนหนึ่งอพยพหนีความลำบากในท้องถิ่น ไปแสวงหาความหวังยังเมืองต่างๆ  ทำให้ประชากรในท้องถิ่นยิ่งลดหายไปอีก  จนบางครั้งจะได้ยินบรรดาครูและชาวบ้าน พูดติดตลกว่า  อย่ามัวแต่นอนพักเหนื่อยนาน  ช่วยกันทำการบ้านด้วย เพื่อจะช่วยให้โรงเรียนได้มีเด็กเรียนเพิ่มขึ้น มาถึงตรงเห็นผู้บริหารบางท่านทราบหรือเปล่าก็ไม่รู้ว่า  โรงเรียนในชุมชนบางโรงใกล้จะปิดตัวเองแล้ว  เพราะไม่มีเด็กเรียน ขนาดผู้บริหารบางท่านก็จ้องแต่จะยุบโรงเรียน  แล้วเอาเด็กไปเรียนรวมกัน  ชาวบ้านยิ่งไม่ยอม เพราะนี่คือโรงเรียนของเขา ที่สร้างคน สร้างชุมชนมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า  อยู่ๆจะมาใช้อำนาจการบริหารจัดการ มาจัดความเป็นปกติของชุมชน  คิดแล้วเป็นห่วงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานในชุมชนห่างไกล  เกรงว่าใกล้จะอับปางไปทุกที ใครที่มีกำลัง อดทนสูงสามารถที่จะส่งลูกให้เรียนได้  ก็จะให้ไปเรียนโรงเรียนด้านนอกๆ  ก็พอจะพาให้ลูกๆ รอดได้ระดับหนึ่ง  ส่วนที่พออยู่พอกิน ไม่สามารถจะส่งลูกให้เรียนได้ ก็ต้องอยู่ในวัฏฎะจักรชีวิต  เด็กสาวที่จบประถม ๖ ไม่นาน เด็กหนุ่มๆ ก็จ้องจะขอเอาไปทำเมีย   เมื่อไม่ได้เรียนก็ต้องมีครอบครัว  ในที่สุดชีวิตบริสุทธิ์ท่ามกลางขุนเขาก็ของดอกไม้ป่าก็ร่วงโรยประดับเขา ร่วงลงเกิดใหม่ เกิดใหม่และก็ร่วง หมุนเวียนอย่างนี้ร่ำไป

            ๒.    ขาดงบประมาณ  เวลาที่ไปโรงเรียนต่างๆ  โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตชนบท  เคยตั้งคำถามนะ  ว่าทำไมมันทรุดโทรมซะขนาดนี้ โรงเรียนประเภทปูชนียะวัตถุมันยังคงมีอยู่อีกหรือ  บางทีก็คิดแบบกระทบชิ่งถึงผู้บริหารในโรงเรียนว่า เอ..ทำไมผู้บริหาร ครู  ไม่คิดจะทำอะไรบ้าง  แต่พอได้ไปสัมผัส  ได้ไปเจอโจทย์เข้าจริงๆ  ก็เจอคำตอบพร้อมๆกัน  คือไม่มีงบประมาณ  ขาดเงินสนับสนุน  แล้วจะให้ครูเขาทำอะไรได้  เงินงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ ก็จัดสรรตามหัวเด็ก เฉลี่ยหัวละไม่กี่บาท  ที่สำคัญเด็กเข้าเรียนมีน้อย  จบเลย  มันเป็นอะไรที่ช่างส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาให้มีอายุจำกัดจริงๆ  ที่พบเห็นจะมีบ้างก็ค่ายอาสาที่เข้าไปสร้างอาคารบ้าง สร้างสนามกีฬาให้บ้าง  สร้างโรงอาหารบ้าง หรือแม้แต่หาเงินไปสนับสนุนกิจการของโรงเรียนบ้าง  ล้วนแต่เป็นเงินช่วยเหลือจากข้างนอก  ถ้าจะรอเงินรัฐ ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้  หากแต่จะมีอะไรที่ดีกว่า เช่น มีอาคารใหม่ อุปกรณ์การศึกษาที่ดีขึ้นมาหน่อย  นั่นก็ต้องมาจากความมานะพยามยามของคณะครู คือต้องไประดมคนมาช่วย หาทุนมาสนับสนุน  บ้านเราคนใจบุญเยอะนะ  แต่ต้องไม่ลืมว่า โรงเรียนแบบที่ว่านี่ มีเยอะมากกว่าคนใจบุญ  มีอีกวิธีหนึ่งที่โรงเรียนต่างๆ  จะได้อาคารหรืออุปกรณ์การศึกษาใหม่และเร็ว  คือ กรณีโรงเรียนประสบกับอุทกภัย อัคคีภัย  หรือประสบกับภัยทางธรรมชาติ โรงเรียนที่ประสบเหตุเช่นนี้จะได้รับการอนุมัติงบเร็วมาก  เหมือนโรงเรียนภาคใต้ที่ถูกเผา  รัฐจะอนุมัติงบประมาณสร้างใหม่เร็วมาก  เมื่อมันเป็นเช่นนี้  จึงอดคิดไม่ได้ว่า  หรือว่าผลงานที่ดีจะปรากฏต่อสาธารณะต้องเกิดความหายนะก่อน  ผู้เกี่ยวข้องและรับผิดชอบจึงจะขยับตัวคิดทำอะไรต่อมิไรได้  ถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ  เกือบทุกตำบลจะต้องมีข่าวว่า โรงเรียนถูกเผา  เมื่อถึงวันนั้นแล้วรัฐจะทำหน้าที่เข้าไปดูแล และชุมชนจะมีอาคารใหม่ทันสมัยเพิ่ม

             ๓.    ขาดครู  เคยฟังเพลงที่พรรณนาคุณค่าของครู เช่น เพลงครูบนดอย ครูประชาบาล และอีกหลายๆเพลง ที่บอกเล่าการเสียสละความสุขส่วนตัว เสียสละเงินทอง ต้องเดินทางไกลๆ ต้องจากญาติพี่น้องมาอยู่ลำบากตามป่าตามเขา  ครูบางคนเสียสละแม้แต่ชีวิต  เช่นกรณีคุณครูจูหลิง โรงเรียนในเขตชนบท ขาดครู ครูหนึ่งคนต้องรับผิดชอบเด็กหลายชั้น  เคยได้ยินคำเล่าลือว่า ครูเข้าสอนชั้นหนึ่ง สั่งงานก่อน แล้วก็วิ่งไปสอนอีกห้อง สั่งงานแล้วไปยังอีกห้อง สุดท้ายก็กลับมาเก็บงานห้องเดิม  ดูแล้วชีวิตครูช่างมีคุณค่าและภารกิจยิ่งใหญ่เสียกระไร คิดแล้วทำให้นึกถึงครูในเมืองเหมือนกัน  หลายท่านช่างแสนสุขเหลือหลาย วิ่งสอนนับที่ไม่ถ้วน เงินก็ได้ เกียรติยศก็มี รัฐก็ดูแลสวัสดิการอย่างดี  แต่ครูรุ่นใหม่หลายท่านที่พึ่งเข้ามาทำงาน เป็นครูแบบอัตราจ้างบ้าง ครูช่วยสอนบ้าง ยังต้องตกอยู่ภายในสัญญาทาสที่รัฐมอบให้ จริงๆแล้วครู เป็นบุคคลหนึ่งที่มีการประกันคุณลักษณะความเป็นครู คือต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู  เหมือนเดียวกับอาชีพวิศวะกร บัญชี  ทนายความ แพทย์ เป็นต้น  ภาระหน้าที่และผลการตอบแทนจากรัฐ  มันเดินไปคนละเส้นทางแล้วปัจจุบันนี้  ครูในต่างประเทศบางประเทศ รัฐถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญ เพราะเขามองว่าครูเป็นต้นแบบในการสร้างคน และสร้างชาติ  แต่กับบ้านเรามักเข้าใจว่าครูมีเกียรติยศสูงส่งมาก  มีแต่เกียรติแต่ไม่มีกินก็ลำบากเหมือนกันนะ  ยกย่องแต่ไม่ดูแลจะมีความหมายอะไร

            ๔.    ขาดความเท่าเทียม  ในโรงเรียนที่ห่างไกล  เขาไม่รู้หรอกว่าอะไรคือความเท่าเทียม  อะไรที่มีอยู่ในโรงเรียน  เขาจะเข้าใจว่านั่นหละคือสิ่งมีคุณค่า  เวลาที่หันไปดูโรงเรียนอื่นที่ดีและเจริญกว่า  มีทุกอย่างครบ มีจนเหลือ  แต่พอมาดูโรงเรียนตัวเองไอ้แบบที่ตนเห็น มันไม่เคยมีและไม่เคยพบในโรงของตัวเองเลย  คำว่าเท่าเทียมเขาจึงไม่รู้จัก   พูดแบบประชดประชัน ก็มันขาดแคลนจนเคยชิน  แต่ได้ยินเด็กๆพูดว่า ที่ที่ไม่ขาดแคลน เพียงแต่ยังไม่มี  ก็แสดงว่า เขามีความหวังกับบางสิ่งบางอย่างของวันพรุ่งนี้  แต่ใครคือผู้จะมาเติมเต็มความหวังให้   อันนี้ไม่รู้

       เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของเรื่องราวที่ประสบมาจากการได้ไปค่ายวัฒนธรรมศึกษา ต้องขอชมการเสียสละของน้องๆนักศึกษาหลายสถาบันที่ออกไปอาสาช่วยตามท้องถิ่นต่างๆ  และอยากถ่ายทอดให้ได้รับรู้ว่า  เรื่องแบบนี้ยังอีกมากในสังคมไทย  ก็อยากชวนเชิญได้มาช่วยกันครับ  โดยเฉพาะเรื่องโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร  หากมีโอกาสก็ช่วยกันคนละมือ  รวมกลุ่มกันทำความดีจะรวมกันในลักษณะใดก็ได้ ช่วยกันเติมเต็มให้กับคนที่เขาต้องการ ดีกว่าหยิบยื่นให้กับคนที่มีมาก มากจะไม่รู้ว่าขาดแคลนคืออะไร  มากจนบางแห่งไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เกินตัว ที่สำคัญบางแห่งยังดูถูกดูแคลนผู้ที่ต่ำต้อยกว่าตนอีกต่างหาก  .........ที่นี่เมืองไทย ไม่ไปไม่รู้

 

หมายเลขบันทึก: 329862เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ได้รู้จักอาจารย์ผ่านตัวอักษรก็เพิ่งครั้งนี้   อ่านแล้วมองเห็นเจตนารมณ์ที่แสดงถึงอุดมการณ์เลยค่ะ   ถ้ามีโอกาสจะชวนนักศึกษาที่สาขาฯลองเดินตามรอยของอาจารย์ดูบ้าง  บางทีอาจช่วยให้ภาพที่พวกเค้าและเรามองเห็นมันกว้างและชัดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

         ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ ที่ถ่ายทอดมาค่ะ....

เคยอยู่ที่โรงเรียนบ้านบางหินคิดถึงครู และเพื่อนๆมากเช่นน้องปลาย

ค่ายฯ แบบนี้น่าสนใจมาก ๆ เลยครับ 

หากพอมีเวลาช่วยเขียนเล่ากระบวนการในค่ายฯ บ้างนะครับ

มีแผนที่ทางไปโรงเรียนนี้ไม่ครับ(พอดีทางกลุ่มออฟโรดจิตอาสา จัดกิจกรรมช่วยนักเรียนในถิ่นทุรกัดารอยู่ครับ เพื่อพอจะช่วสยเหลือได้บ้าง)

คุณครูเธียรรัตน์ ศรีริ

เป็นครูที่หินแลบเกือบสิบปี  เดินทางลำบากแต่ก็รักเพราะเพื่อนๆครูในกลุ่มต่างก็รักกันทุกคน  เด็กๆน่าสงสารค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท