การตกปลากระโทง


 การตกปลากระโทง

เทคนิกการตกปลา...สกุล “กระโทง”

โดย....เสนีย์ เสารัญ

                       ข้าพเจ้าจะเขียนถึงเรื่อง “การตกปลา (เกม) ทะเล” ซึ่งจะมีทั้งเทคนิก วิธีการตกตลอดจนการเลือกอุปกรณ์สำหรับการใช้ตกปลาเกมแต่ละชนิดที่มีอยู่ในท้องทะเลไทยมาให้นักตกปลาพิจารณาว่านักตกปลารุ่นเก่า ๆ เขาทำอย่างไรกันบ้าง จึงได้ลากเอาปลาเกมเหล่านั้นขึ้นมานอนแถกเหงือกอยู่บนพื้นเรือได้ แถมบางตัวยังสามารถที่จะครองแชมป์น้ำหนักสูงสุดเป็นสถิติของวงการตกปลาเมืองไทยไปเลยก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักตกปลามือใหม่ที่จะเริ่มออกตกปลาทะเลในฤดูกาลนี้ บทความต่อไปนี้คงจะช่วยท่านได้ไม่มากก็น้อย...

ปลาเกมในท้องทะเลไทยในปัจจุบัน สำหรับนักตกปลารุ่นเก่า ๆ ทุกคนคงจะรู้ว่าในแต่ละชนิด ต่างก็มีลีลาในการต่อสู้กับนักตกปลาได้เร้าใจอย่างไร ถึงแม้ว่าในบางครั้งหรือหลาย ๆ ครั้งที่นักตกปลาเองจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้กลับมาก็ตามที แต่เมื่อในใจของทุกคนที่ย่างก้าวลงเรือต่างก็วาดหวังในเกมเหล่านี้ทั้งสิ้น อาจจะเรียกได้ว่าหลายคนมาขอแก้มือเพื่อล้างอาย ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนอยากเจอกับมันสักครั้งในชีวิตของการตกปลาซึ่งปลาเกมเหล่านั้นสามารถที่จะให้ท่านได้ หากท่านมีฝีมือและโชคดวงพร้อมทั้งอุปกรณ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับปลาเกมชนิดแรกที่ข้าพเจ้าจะพูดถึงต่อจากนี้ คือปลาเกมในสกุลกระโทงไงครับ

เมื่อเอ่ยถึงชื่อปลากระโทงแทง (Marlin) ขึ้นมา นักตกปลาหน้าเก่าทั้งหลายคงไม่มีใครปฏิเสธในความทรงพลังและลีลาในการสู้เบ็ดที่มีทั้งความรวดเร็วรุนแรง ดำดิ่ง กระโดด หรือแม้แต่การเดินด้วยแพนหางที่เรียกกันว่า “เทลวอล์ก” อันเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะปลาในสกุลนี้เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะด้วยลีลาเหล่านี้กระมังที่นำพามันขึ้นมาเป็นปลาเกมอันดับต้น ๆ ล่อใจให้นักตกปลาทั้งหน้าเก่าใหม่ปรารถนาที่จะประมือกับมันสักครั้ง ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันนี้ปลาสกุลกระโทงได้ลดน้อยลงไปมากทีเดียว ส่วนที่นักตกปลาได้ตัวกันขึ้นมาก็มักเป็นความบังเอิญเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่นได้ตัวขึ้นมาในขณะที่ปล่อยเหยื่อลอยเพื่อล่อปลาอินทรีเป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องราวของการตกปลาในสกุลกระโทง ข้าพเจ้าขอให้นักตกปลามาทำความรู้จักกับมันก่อนสักเล็กน้อย เรียกว่าพอให้รู้เขารู้เราประมาณนั้น

ปลาในสกุลกระโทงนั้น ในวงการตกปลาหมายความถึงปลากระโทงแทงทุกชนิดรวมตลอดถึงปลากระโทงร่มหรือที่นักตกปลารู้จักกันในนามของ “ปลาใบ” และปลาที่ชื่อ “สเปียร์ฟิช (Spear Fish) “ ที่รวมอยู่ในกลุ่มของปลาปากแหลม (Bill Fish) ด้วย โดยกลุ่มปลากระโทงแทงทั้งหมดจะอยู่วงศ์ Istiophoridae ยกเว้นปลากระโทงแทงดาบที่อยู่ในวงศ์ Xiphidae ซึ่งกลุ่มปลากระโทงแทงที่อยู่ในวงศ์เดียวกันนี้จะมีอยู่เพียง 7 ชนิดคือ-

1. ปลากระโทงร่มหรือปลาใบ (Sailfish)

2 ปลากระโทงแทงลาย (Striped Marlin)

3. ปลากระโทงแทงดำ (Black Marlin)

4. ปลาสเปียร์ฟิชปากสั้น (SpearFish)

5. ปลากระโทงแทงสีน้ำเงิน (Blue Marlin)

6. ปลากระโทงดาบ (SwordFish)

7. ปลากระโทงแทงขาว (While Marlin)

สำหรับปลากลุ่มปลากระโทงแทงที่พบในบ้านเราเท่าที่ทราบก็มีเพียงปลากระโทงแทงดำและปลากระโทงร่มเท่านั้น และก็อย่างที่ข้าพเจ้าได้บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ปลาในสกุลกระโทงทุกชนิดมีการสู้เบ็ดที่เร้าใจและรุนแรง เต็มไปด้วยพลกำลังและมีอันตรายจากจะงอยปากที่แหลมยาวและแข็ง หากนักตกปลาและทีมงานไม่มีความพร้อมแล้ว โอกาสที่จะได้ตัวมันค่อนข้างจะเป็นเรื่องยากเย็นอยู่พอสมควร ดังนั้นการเตรียมตัวของนักตกปลาให้พร้อมก็น่าจะเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ อย่าลืมนะครับว่าหากท่านมีโชคดีได้เจอกับมันในระดับ 100 กก. ขึ้นไป ท่านจะต้องเปลืองเวลาใหักับมันไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมงเป็นของแน่นอนอยู่แล้ว ประกอบกับเรือตกปลาในบ้านเราส่วนมากจะเป็นเรือประมงพื้นบ้านดัดแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เป็นเรือตกปลาเท่านั้น แต่กระนั้นก็ยังมีนักตกปลาเมืองไทยแสดงความสามารถดึงเอาเจ้ายักย์ใหญ่เหล่านั้นขึ้นมาเป็นสถิติของตัวเองและของวงการตกปลาบ้านเราได้

อย่างเช่นในรายของคุณนิเวศน์ เพิ่มทรัพย์ ที่สามารถดึงเอาเจ้ากระโทงเทงดำขนาดพิกัด 143.5 กก. ขึ้นมาได้เมื่อตอนงานแข่งขันตกปลาที่ จ.พังงา เดือน ก.พ.2535 การประมือในครั้งนั้นทางคุณนิเวศน์ใช้อุปกรณ์ขนาด 14 โอ สาย 130 ปอนด์ ในเรือตกปลาซึ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านธรรมดา ที่กว่าจะได้ตัวก็ต้องเปลืองเวลาให้กับมันถึงหกชั่วโมง และนั่นคือบทพิสูจน์ให้นักตกปลาได้เห็นจริงว่าปลาในสกุลกระโทงคือนักสู้ที่แท้จริง!

ปลากระโทงแทงเป็นปลาขนาดใหญ่ที่หากินตั้งแต่กลางน้ำขี้นไปจนถึงผิวน้ำ และมักอาศัยอยู่ในแนวของกระแสน้ำทะเลเปิด หรือแนวหน้าผาใต้น้ำ ที่ระดับความลึกของน้ำตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไปหรือบริเวณตามชายฝั่งที่มีกระแสน้ำอุ่น ซึ่งทางทะเลอันดามันสามารถที่จะพบตัวได้ตั้งแต่จังหวัดระนองไล่ลงไปจนถึงจังหวัดสตูล

สำหรับอาหารของมันแล้ว ปลากระโทงแทงมักจะทำการล่าปลาฝูงที่มีขนาดเล็กกว่า เช่นปลาอีโต้มอญ ปลาทูน่า ปลาอินทรีและปลาหมึกกินเป็นอาหาร ดังนั้นในบางโอกาสปลากระโทงแทงจึงมักเข้ากินเหยื่อที่นักตกปลาปล่อยสายล่อปลาอื่นอยู่เสมอ ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักตกปลารู้และพัฒนาวิธีการตกปลากระโทง ด้วยเหยื่อจริงเหล่านั้นได้ค่อนข้างดีและแน่นอนกว่าการทรอลลิ่ง ที่นักตกปลาในต่างประเทศมักจะใช้เป็นวิธีการล่าปลากระโทงแทงกันโดยเฉพาะ

และต่อจากนี้ข้าพเจ้าจะขอเขียนถึงวิธีการตกปลากระโทงแทงตลอดจนการเตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อความพร้อมกับเกมที่โลดโผนท้าทายและเร้าใจ ดังนี้...

* 1. เรือที่ใช้ตกปลาประโทงแทง

ในส่วนของเรือตกปลานั้น ถึงแม้ปัจจุบันในบ้านเราจะไม่มีเรือตกปลาที่เพียบพร้อมเหมือนกับเรือของต่างประเทศ แต่ก็ยังมีเรือที่มีขีดความสามารถในการตกปลาและสิ่งอำนวยความสะดวก ไต๋เก่ง ๆ ก็มีอยู่มากที่จะนำพาท่านไปพบกับเกมเหล่านั้นได้ ซึ่งเรื่องเรือนี้นักตกปลาต้องติดต่อสอบถามพร้อมทั้งแจ้งความประสงค์กับไต๋เรือเอาเองว่า พอที่จะรู้แหล่งของมันหรือไม่อย่างน้อยก็เพื่อเป็นข้อยื่นยันทางใจข้อแรกของนักตกปลาเองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักตกปลาบ่ายหน้าไปทางฝั่งทะเลอันดามัน เรือที่จะให้บริการในเรื่องดังกล่าวมีมากพอที่จะพาท่านไปหาเกมดังกล่าวได้ แต่โปรดอย่าได้ดูถูกเรือยอร์ชหางยาวเครื่องยันม่าร์เมื่อท่านอยู่บนเรือใหญ่นะครับ เพราะเรือเล็กเหล่านั้นหลายรายได้เคยทำให้ปลาในสกุลกระโทงขึ้นมานอนตายบนเรือมานักต่อนักแล้ว

* 2. อุปกรณ์สำหรับตกปลากระโทงแทง

สำหรับอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับเกมดังกล่าวก็น่าจะเป็นคันและรอกทรอลลิ่ง โดยเลือกใช้ในระดับตั้งแต่ 30 ปอนด์ขึ้นไปก็ได้ เพราะปลากระโทงแทงในบ้านเราที่พบตัวบ่อยที่สุดก็อยู่ที่น้ำหนักประมาณ 30-40 กก. เป็นส่วนใหญ่ซึ่งปลาในพิกัดนี้หากนักตกปลาลดขนาดของอุปกรณ์ลงมาที่ 20-25 ปอนด์ ข้าพเจ้าคิดว่าสูสีชนิดที่ว่าลุ้นกันได้ทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าท่านหันหน้าไปทางทะเลอันดามันโดยตรง ท่านก็ควรเลือกเอาชุดอุปกรณ์ที่มีขนาดตั้งแต่ 50 ปอนด์ขี้นไป เพราะคุณมีโอกาสผิดคิวได้เสมอกับเจ้าตัวที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอแนะนำให้เลือกเอาอุปกรณ์ขนาดข้างต้นไปใช้

รอกตกปลา

ข้าพเจ้าขอยกให้รอกที่มีระบบแดรกชนิดที่เรียกกันว่า “ลีเวอร์แดรก (Leverdrag)” หรือระบบ “คานโยก” ซึ่งข้าพเจ้าคิดเอาเองว่าน่าจะดีที่สุดของยุคนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารอกชนิด “สตาร์แดรก (Stradrag)” หรือระบบ “กงล้อ” จะใช้ไม่ได้นะครับ เพราะหลาย ๆ ค่ายก็สร้างชื่อเสียงกับระบบนี้มาก่อนทั้งนั้น และที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องความยาวของสายเบ็ดซึ่งควรจะอยู่ที่ 400 เมตรขึ้นไป ก็น่าจะทำให้นักตกปลาอุุุุุุ่นใจและมั่นใจมากขึ้น

สายลีดเดอร

สำหรับบ้านเราแล้วก็คงต้องเลือกเอาลวดสลิงชนิดที่หุ้มด้วยไนล่อนเป็นอันดับแรก เพราะหาซื้อได้ง่ายแถมมีราคาเป็นมิตรกับกระเป๋าของนักตกปลาพอสมควร ถัดมาก็เป็นลวดเส้นเดียวหรือที่เรียกกันว่า “ลวดเป็น (Single Strand wire)” ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กมากเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสายชนิดอื่น ๆ แต่เรื่องการรับแรงดึงนั้นหายห่วง จะมีข้อเสียอยู่ที่ว่าหากยาวเกินไปจะทำให้เกิดเป็นรูป “หูหนู” ได้ง่าย (รูป “หูหนู” คือลักษณะของสายลวดที่ขดตัวเข้ามาเป็นวงกลมอันเกิดจากการว่ายน้ำของปลาเหยื่อหรือเกิดจากการที่ลวดมีรอยตำหนิหักงอ)

จากลักษณะดังกล่าวหากมีปลาเข้ามาไตร๊ก์เหยื่อ (strike คือการที่ปลาเข้ามาคาบเหยื่อ) แล้ววิ่งออกไปด้วยความเร็วหากสายลวดดีดตัวเองให้ออกมาเป็นเส้นตรงไม่ทัน บ่วงหรือวงกลมนั้นจะถูกบีบให้เล็กลงจนทำให้สายลวดขาดลงได้ในทันที

ส่วนสายลีดเดอร์ชนิดสุดท้ายก็คงจะเป็นสายเอ็นธรรมดา (monofilament) แต่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษที่สามารถรับแรงดึงได้ตั้งแต่ 200 ปอนด์ขึ้นไป ซึ่งสายชนิดนี้นักตกปลาทั่วโลกต่างก็ยอมรับว่าใช้ตกปลาประโทงแทงได้ดีที่สุดเพราะมันไม่มีอาการกระด้าง แต่เมื่อนำมาประกอบเป็นสายลีดเดอร์จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เข้ามาช่วยอีกหลายอย่าง จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมของนักตกปลาในบ้านเราเท่าที่ควร ส่วนขนาดแรงดึงที่จะเลือกใช้ก็อยู่ที่ประมาณสามเท่าของสายหลัก เช่นสายหลักหรือสายจากรอกขนาด 30 ปอนด์ ก็ควรใช้สายลีดเดอร์ขนาด 90 ปอนด์เป็นต้น ส่วนความยาวก็สามารถที่จะเลือกใช้ได้ตั้งแต่ 1-6 เมตร หรือตามประสบการของนักตกปลาแต่ละคนเป็นหลัก

ลูกหมุน

ควรเลือกใช้ชนิดที่เป็นบอลแบริ่ง (ball bearing) เพราะมั่นใจได้ในเรื่องความแข็งแรง ซึ่งลูกหมุนที่นักตกปลานิยมใช้กันมากคือชนิดบาร์เรล (barrel) เบอร์ 1/0-2/0

ตัวเบ็ด

จะเลือกใช้ชนิดก้านสั้นหรือก้านยาวก็เลือกเอาตามที่นักตกปลาถนัดและมีความชอบของตัวเองตกปลาเอง แต่โดยส่วนตัวของข้าพเจ้าที่จะใช้ตัวเบ็ดก้านสั้นที่เรียกกันว่า “ทูน่าฮุก (Tuna Hook)” ขนาดตั้งแต่ 2-6/0 ประมาณนั้น ซึ่งการเลือกใช้ตัวเบ็ดดังกล่าวขอให้นักตกปลาคำนึงถึงขนาดของเหยื่อเป็นหลักด้วย เพราะหากเหยื่อมีขนาดเล็กแต่ตัวเบ็ดมีขนาดใหญ่ ปลาเหยือจะต้องแบกน้ำหนักมาก ทั้งยังมีสายลีดเดอร์ถ่วงอยู่อีกจึงทำให้ปลาเหยื่อตายเร็วขึ้น และที่สำคัญตัวเบ็ดจะต้องมีความคมมากที่สุดด้วยส่วนการจะเลือกใช้ตัวเบ็ดเพียงตัวเดียวหรือมากกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือการทำเกมให้เป็นเกมของตัวท่านนักตกปลาเองครับ

* 3. เหยื่อสำหรับตกปลากระโทงแทง

การเลือกใช้เหยื่อสำหรับตกปลากระโทงแทงนั้นจะขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการตกปลาเป็นสำคัญ หากนักตกปลาเลือกใช้วิธีตกแบบทรอลลิ่ง ก็ให้เลือกใช้เหยื่อประเภทหัวเจ๊ต (jet head) ทั้งหัวแบบพลาสติกและหัวโลหะซึ่งจะให้ผลได้ดีกว่าเหยื่อประเภทปลาปลอม (plug) อยู่มาพอสมควร ส่วนสีของสเกิ๊ร์ตที่นำมาประกอบทางด้านทะเลอันดามันมักจะนิยมใช้สีขาวแดงเขียวและสีน้ำเงินเขียวขาว ความยาวตั้งแต่ 4-12 นิ้วเป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีนักตกปลาระดับมือโปรอีกหลายท่านที่นิยมใช้เหยื่อปลาเป็นและปลาตาย มาเย็บประกอบด้วยกรรมวิธีที่สลับซับซ้อนเป็นเหยื่อ rigging ซึ่งข้าพเจ้าจะไม่ขอพูดถึงเพราะเรื่องมันยาว แถมนักตกปลาส่วนมากก็มักจะไม่นิยมทำกันก็ด้วยเหตุผลของการประกอบเหยื่อที่ยุ่งยากนั่นเอง

ต่อมาก็จะเป็นวิธีการตกอีกวิธีหนึ่งที่ค่อนข้างจะได้ผลอยู่พอสมควรนั่นคือการจอดเรือตก ซึ่งวิธีนี้นักตกปลาโดยทั่วไปจะนิยมใช้กันมาก โดยเฉพาะกับย่านทะเลอันดามันที่นักตกปลาจะเลือกใช้เหยื่อปลาเป็น เช่น ปลาหมึกเป็นและปลาสีกุนหรือทางใต้เรียกว่า “ปลาเซ็กล่า” มาเกี่ยวเบ็ดแล้วปล่อยสายลมออกไปโดยมีทุ่นโฟมหรือลูกโป่งคอยพยุงเหยื่อเอาไว้ไม่ให้เหยื่อลงลึกไปจากผิวน้ำจนเกินไปนัก (ประมาณครึ่งหนึ่งของความลึกของน้ำในบริเวณที่ตกปลา) วิธีการนี้เป็นวิธีการเดียวกันกับที่ใช้ตกปลาอินทรีดังนั้นจึงมีอยู่บ่อย ๆ ที่ปลากระโทงมักลัดคิวเข้ากินเหยื่อนั้นก่อน และด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้นักตกปลารู้ถึงลักษณะการเข้ากินเหยื่อของปลาในสกุลนี้แล้วนำมาใช้ตกกันอย่างแพร่หลายไปโดยปริยาย

การตกปลากระโทงแทงแบบการจอดเรือตกนี้ ตามประสบการณ์ของข้าพเจ้าการเข้ามาสไตร๊ก์เหยื่อของปลาในสกุลนี้จะแตกต่างกับปลาอินทรีและปลาสากโดยสิ้นเชิง กล่าวคือมันจะใช้จะงอยปากที่แข็งแรงและแหลมนั้นฟาดปลาเหยื่อให้บอบช้ำเสียก่อน แล้วจึงจะคาบเหยื่อวิ่งไปด้วยความเร็วที่ไม่มากนัก ประมาณไม่เกินสามสิบเมตรก็จะหยุดเพื่อขยอกเหยื่อลงกระเพาะดังนั้นเมื่อปลาเข้าสไตร๊ก์เหยื่อแล้วออกวิ่งในครั้งแรก หากนักตกปลาตวัดเบ็ดในช่วงนั้นส่วนมากแล้วตัวเบ็ดมักจะเกี่ยวที่บริเวณปากปลาซึ่งเป็นกระดูกที่แข็งมากตัวเบ็ดจึงไม่สามารถที่จะฝังลงไปถึงเงี่ยงได้ โอกาสที่ปลาจะหลุดไปหลังจากผ่านการต่อสู้ในบางช่วงจึงมีมากขึ้นด้วย แต่ก็เป็นการดีหากนักตกปลาต้องการรับรู้ในพลังและลีลาของมัน โดยไม่วาดหวังกับซากร่างของปลา ในขณะเดียวกันหากนักตกปลาต้องการจะได้ตัวมันชนิด 100 % เต็ม จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามในความคิดและประสบการณ์ของข้าพเจ้า ขอย้ำนะครับว่าตามประสบการณ์ของข้าพเจ้าเท่านั้น คือหากอยากได้ตัวมันจริง ๆ การปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จกับตัวปลาได้มาพอสมควรคือ....

1. เมื่อปล่อยเหยื่อออกไปในระดับความยาวที่ต้องการแล้ว ขอให้นักตกปลาปรับแดรกให้อยู่ที่จุดสไตร๊ค์ในรอกระบบลิเวอร์แดรกแล้วโยกคานปรับปรุงมาอยู่ที่จุดหรือตำแหน่งฟรีสปูล หรือโยกคานฟรีสปูลลงมาในระบบสตาร์แดรก แต่อย่าลืมใส่สัญญาณเสียงเพื่อหน่วงสปูลกันสายฟู่เอาไว้ทุกครั้ง

2. เมื่อปลาเข้าสไตร๊ค์เหยื่อในครั้งแรก ปลาจะพาเหยื่อวิ่งไปด้วยความเร็วที่ไม่มากนัก ประมาณไม่เกิน 30 เมตรแล้วปลาจะหยุดวิ่งลงเองเพื่อขยอกเหยื่อลงกระเพาะ

3. เมื่อปลาหยุดลากสายตามข้อ 2 แล้ว ให้นักตกปลาสาวสายในรอกมารอไว้ประมาณ 10-15 เมตร ระวังอย่าให้สายขมวดกันเองหรือเกี่ยวรั้งกับสิ่งของในเรือ อันจะทำให้สายเบ็ดขาดลงได้เมื่อปลาออกวิ่งเป็นครั้งที่สอง

4. โยกคานปรับเบรกไปอยู่ในจุดสไตร๊ก์ในรอกระบบลีเวอร์แดรก หรือโยกคานฟรีสปูลขึ้นไปในรอกระบบสตาร์แดรก ปิดสัญญาณเสียงกันพังแลัวจับคันให้แน่นชี้ปลายคันไปตามแนวของสายเบ็ดที่ไหลออกไป รอจนกว่าสายเบ็ดที่ท่านสาวมากองไว้เริ่มตึงขึ้นแล้วจึงตวัดคันสวนได้เลย เอาสักครั้งสองครั้งเพื่อความแน่ใจ ข้าพเจ้าขอรับประกันว่าด้วยวิธีนี้โอกาสที่ปลาจะหลุดมีน้อยมาก เพราะท่านได้ส่งสายให้มันกลืนเหยื่อลงไปจนถึงกระเพาะนั่นเอง

และข้าพเจ้าขอย้ำต่อีกนิดว่า วิธีการนี้ท่านจะกระทำได้โดยต้องเอาตัวมันขึ้นมานะครับ ห้ามปล่อยมันไปโดยเด็ดขาด เพราะหากท่านปล่อยมันไปโอกาสที่มันจะมีชีวิตรอดอยู่ที่เลขศูนย์เท่านั้นเอง

ถึงตรงนี้ก็เป็นอันจบวิธีการตกปลากระโทงแทงตามแบบฉบับของนักตกปลาในบ้านเรา ซึ่งบางทีอาจจะไม่ถูกต้องครบถ้วนทั้งหมด แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่าด้วยประสบการณ์อันยาวนานที่ข้าพเจ้าเคยใช้วิธีนี้ ได้ทำให้ปลาในสกุลกระโทงแทงตายลงแบบไม่น่าให้อภัยมาหลายครั้งแล้วครับ 

ก็มาถึงย่อหน้าสุดท้ายกับฉบับนี้กันอีกแล้ว ซึ่งข้าพเจ้าขอแถมหมายตกปลาแถมหมู่เกาะสิมิลันมาให้นักตกปลาที่อยากพบกับเกมอันหลากหลาย เชิญครับ...เมื่อไปถึงแล้วท่านจะรู้เองว่าเกมนั้นมันเป็นอย่างที่ท่านต้องการหรือไม่ แล้วฉบับหน้าคอยพบกับเทคนิกและวิธีการตกปลา (เกม) ทะเลชนิดอื่น ๆ กับข้าพเจ้าได้ต่อไป

          

ข้อมูลจากนิตยสาร ท่องเที่ยวตกปลา ปีที่ 10 ฉบับที่115 โดยเสนีย์ เสาวรัญ

 

 
         
         
    ็็็็็็  

HOME

1
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32977เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท