อีกครั้งของ Peer Assist ที่ภูมิใจ (๒)


บรรยากาศคึกคักมาก ทุกฝ่ายต่างได้เรียนรู้จากกันและกัน

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ช่วงบ่าย

เริ่มกิจกรรมเมื่อเวลา ๑๓.๓๕ น. ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวาน ตัวแทนของ รพ.สมิติเวชเล่าว่าทีมของตนมีผู้ทำหน้าที่เป็น educator เพียง ๒ คน ต้องคิดและทำทุกอย่างเอง รวมทั้งต้องให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในด้วย ส่วนทีมของ รพ.หัวเฉียว มีการพยายามที่จะจัดการให้ผู้ป่วยทั้งรายใหม่และเก่าได้รับการให้ความรู้อย่างทั่วถึง มีการจัด class เดือนละ ๒ ครั้งในสัปดาห์ที่ ๒ และ ๔ มีพยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักโภชนาการช่วยกันสอน ถ้ารายไหนมีปัญหาก็จะให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล

ต่อจากนั้นคุณกิ่งเพชร ประกอบกิจเจริญ พยาบาลผู้ให้ความรู้จึงให้รายละเอียดของเทพธารินทร์ เล่าตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึง รพ.จนได้รับการบริการเสร็จเรียบร้อยกลับบ้าน บอกเคล็ดลับในการโน้มน้าวให้ผู้ป่วยไปพบกับ educator ระบบการบันทึกข้อมูลการประเมินและการให้ความรู้เพื่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ในทีม การจัด class ที่ทำเดือนละ ๒ ครั้ง ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เข้า class น้อยลงเรื่อยๆ แม้จะนัดหมายล่วงหน้าและพยายามโทรศัพท์ติดตามแล้ว คุณหมอพงษ์สันต์จึง share กลยุทธ์ที่เคยใช้ได้ผลในการเชิญชวนผู้ป่วยเข้า class ว่าการตั้งชื่อหัวข้อที่สอน (Topic) ต้องมีลูกเล่น เช่น class การประกอบอาหาร แนะนำผลิตภัณฑ์สำหรับเขา จี้กง Medical Spa เป็นต้น อย่าไปใช้หัวข้อที่เป็น routine ห้ามพูดว่าไปอบรม แต่บอกว่าไปลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยเบาหวานของเรา ส่วนการไปพบกับ educator ก็ใช้วิธีบอกว่าให้ไปพบกับ “พี่เลี้ยง” ซึ่งเป็นทีมของเรา และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองได้อย่างอื่นด้วย เช่น มีการตรวจเท้าให้ เป็นต้น หัวข้อที่ใช้สอนควรเปลี่ยนทุก ๓ เดือน

มีคำถามและการ share ประสบการณ์กันอีกหลายเรื่อง ทั้งที่เกี่ยวกับบทบาทของเภสัชกร ที่ฟังแล้วทุก รพ. ยังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก การสอนผู้ป่วยให้ฉีดอินซูลินโดยใช้ Pen ซึ่งแต่ละ รพ.ก็พบเรื่องที่นึกไม่ถึงต่างๆ นาๆ เช่น ผู้ป่วยฉีดโดยไม่ได้เดินยา เดินอินซูลินแบบผิดวิธี (ใช้หมุนเอา) ได้อินซูลินเป็นแบบ vial ก็พยายามดูดเข้า Pen เป็นต้น คุณหมอกาญจน์สุดามีเทคนิคในการทำให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของ SMBG โดยตรวจ Postprandial BG ในห้องตรวจเวลาที่ผู้ป่วยมา follow up เลย พร้อมแสดงภาพให้เห็นว่าระดับน้ำตาล varies ในแต่ละเวลา ผู้ป่วยจึงได้มีส่วนร่วมในข้อมูลและการใช้ข้อมูล พบว่าวิธีการนี้ทำให้ A1C ของผู้ป่วยดีขึ้น


คุณกิ่งเพชรยังเล่าเพิ่มเติมในเรื่องการ round ผู้ป่วยในร่วมกันระหว่างผู้ให้ความรู้และนักกำหนดอาหาร ซึ่งมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เป็นโอกาสที่ได้ประเมินและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว

 

   เนื่องจากในช่วงเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น.คุณหมอพรชัยจะต้องปลีกตัวไปคุยกับคุณหมอศรีอุไร ปรมาธิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าและคุณหมอทวีศักดิ์ ศรีคำมุล ศัลยแพทย์ของเรา คุณหมอพรชัยจึงได้ถือโอกาสเล่าประสบการณ์การใช้หนอนในการรักษาแผลเบาหวาน เราจึงได้รู้ว่าหนอนพวกนี้เป็นของนำเข้า เพราะต้องเป็นหนอนจากแมลงวันพันธ์พิเศษที่กินเฉพาะเนื้อเยื่อที่ไม่ดี พร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการปิดแผลว่าทำอย่างไรที่จะไม่ให้หนอนออกมาเผ่นพล่านข้างนอกอีกด้วย
 จากซ้ายคุณหมอพรชัย คุณกิ่งเพชร คุณสอง  

หลังตอบข้อซักถามต่างๆ จนหมดแล้ว เราพักรับประทานอาหารว่างเป็นบัวลอยน้ำขิง (๓ ลูก เท่ากับ ๑๗๐ แคลอรี่)

ส่งท้ายกิจกรรมวันแรกด้วยเรื่องของการดูแลเท้าที่มีคุณสอง ยอดขวัญ เศวตรักต นักกายภาพบำบัดของ รพ.เทพธารินทร์ มาเล่าที่มาที่ไป การพัฒนางาน การพัฒนาตนเองที่ไปฝึกฝนกับผู้เชี่ยวชาญถึง ๔ เดือนและได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ คุณสองเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ทำตามตำราแล้วเจอปัญหา เช่น การเอาผู้ป่วยที่มีแผลและผ่านการนอนอยู่บนเตียงมาเป็นเวลานานๆ ลงยืน ตำราบอกว่าเวลายืนที่ไม่ลงน้ำหนักนั้นให้เท้าแตะพื้นได้ แต่พอทำตามปรากฏว่าเกิด fracture เพราะผู้ป่วยเท้าชาไม่รู้ว่าลงน้ำหนักมากหรือน้อย ทำให้ได้รู้ว่าต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องกำลังขาก่อน และการยืนเดินแบบให้เท้าที่มีปัญหาลอยจากพื้น บทเรียนที่ได้จากปัญหาของผู้ป่วย นำมาปรับปรุงการทำงานในหลายเรื่อง เช่น การให้ความรู้เรื่องการใช้รองเท้าที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าผู้ป่วยใช้ผิดวิธีแค่ปรับความแน่นของสายรัดผิดตำแหน่ง ก็ทำให้เกิดแผลที่เท้าตามมาได้ มีคำถามหลายข้อเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ระหว่าง educator และนักกายภาพบำบัด เทคนิคการ off-loading (TCC, Felted foam) บทบาทของนักกายภาพในเรื่องการออกกำลังกาย การให้บริการแก่ผู้ป่วยในอื่นๆ คุณวันทนีย์ กมลเสถียรรัตน์ นักกายภาพบำบัดของ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ให้ความสนใจซักถามมากทีเดียว

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดภาคบ่าย ยังมีบรรยากาศคึกคักมาก ทุกฝ่ายต่างได้เรียนรู้จากกันและกัน เวลาล่วงเลยไปเกิน ๑๖.๐๐ น.เล็กน้อย เราปิดกิจกรรมวันแรก พร้อมกับฝากให้ทุกคนกลับไปทบทวนการเรียนรู้ในวันนี้ ถ้ามีคำถามอะไรอีกให้เอามาคุยกันต่อในวันรุ่งขึ้น

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 32901เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท