อีกครั้งของ Peer Assist ที่ภูมิใจ (๑)


ร่วมมือกันทำงาน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เหมือนเต่ากับกระต่าย

ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙ มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมเบาหวานของ รพ.เทพธารินทร์กับทีมที่มาขอดูงานจาก รพ.หัวฉียวและ รพ.สมิติเวช งานนี้เริ่มมาจากทีม รพ.สมิติเวชติดต่อมาขอดูงานนานมาแล้ว เราเคยจัดให้มาร่วมกิจกรรมพร้อมกับ รพ.อื่นๆ เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ มีนาคม ๒๕๔๙ (อ่านที่นี่) แต่ทีมสมิติเวชไม่สะดวกในครั้งนั้น พอดีทาง รพ.หัวเฉียวติดต่อมาเราเลยจัดให้พร้อมกัน ก่อนวันงานเพียง ๒-๓ วัน นพ.พรชัย ลิ้มอุดมพร ศัลยแพทย์ รพ.กรุงเทพ พัทยาติดต่ออาจารย์เทพมาขอดูงานด้านเท้าพอดี เราจึงชวนมาร่วมด้วย กิจกรรมครั้งนี้ใช้เวลาประมาณวันครึ่ง ดิฉันขอทยอยเล่าเป็นช่วงๆ ไป

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙

ทีมของ รพ.หัวเฉียวมาด้วยกันเป็นคณะใหญ่ บางคนมาได้เพียงวันเดียวก็มี รวมแล้วมีจำนวน ๑๕ คนในจำนวนนี้เป็นอายุรแพทย์ ๓ คนคือ นพ.พงษ์สันต์ ลี้สัมพันธ์ พญ.อนัญญา เมืองงามสมบูรณ์ นพ.เจษฎา พันธวาศิษฎ์ ผู้บริหารให้ความสำคัญมาร่วมกิจกรรมด้วย แม้จะอยู่ไม่ได้ตลอดแต่ก็มาทั้ง ๒ วันคือ คุณปะภัสสร รุจิรากรสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คุณเอกชัย วานิชกุล ผู้จัดการฝ่ายอาคารและธุรการ คุณอรนันท์ อนันต์ธนกร ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด ทีมงานที่มามีทั้งหัวหน้าพยาบาลฝ่ายต่างๆ นักโภชนาการ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ครอบคลุมทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

ทีม รพ.สมิติเวช สุขุมวิท นำโดย พญ.กาญจน์สุดา ทองไทย มีทีมงานทั้งพยาบาลผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน นักโภชนาการ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และยังมีคุณสรสิทธิ์ พินธุโสภณ ฝ่ายการตลาดมาร่วมด้วย รวม ๘ คน

 

กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๐๙.๑๐ น. ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ กล่าวต้อนรับและเล่าเรื่องการพัฒนางานการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของ รพ.เทพธารินทร์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดจาก inspiration ของอาจารย์ที่ต้องการจะสร้าง teamwork อาจารย์เทพอยากให้ รพ.ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็น รพ.ของรัฐหรือของเอกชนร่วมมือกันทำงาน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เหมือนเต่ากับกระต่าย ที่เมื่ออยู่บนบกเต่าเดินช้าก็ขี่หลังกระต่าย แต่เมื่ออยู่ในน้ำกระต่ายก็ขี่หลังเต่า แล้วงานก็จะไปได้เร็วที่สุด อาจารย์เทพไม่ลืมที่จะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาโรคเรื้อรัง การป้องกันโรคที่ต้องทำหลายระดับ เรื่องราวของเทพธารินทร์ที่พยายามสร้างต้นแบบทีมงานที่ไม่ใช่เฉพาะทีมทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงทีมที่จะทำงานกับชุมชนด้วย ปิดท้ายการบรรยายด้วยการบอกว่า “ไม่มีอะไร impossible” อย่าบอกว่าทำไม่ได้ ต้อง try ก่อน แล้วหาสาเหตุ

หลังจากนั้นเราได้พักรับประทานอาหารว่าง พร้อมๆ กับกิจกรรมการแนะนำตนเอง ต่อด้วยการนำเสนองานการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในภาพรวมของ รพ.สมิติเวช และ รพ.หัวเฉียว ดิฉันประทับใจการนำเสนอของทุกทีม เมื่อตอนเราประสานงานเพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมโดยให้แต่ละที่เตรียมนำเสนอผลงานที่น่าภาคภูมิใจด้วยนั้น ทีมของทั้ง ๒ รพ.ต่างถ่อมตัวว่าเพิ่งเริ่มต้นยังไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย แต่เมื่อมานำเสนอในวันนี้ เราก็ได้เห็นวิธีปฏิบัติดีๆ หลายอย่าง เช่น คุณหมอกาญจน์สุดา มีการ share data กับผู้ป่วย นำข้อมูล SMBG มาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้กำลังใจผู้ป่วย ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย แม้แต่ขณะอยู่ในห้องตรวจก็มี PowerPoint สำหรับการนี้ มีการออกจดหมายข่าว นอกจากนี้ยังมีแผนจะทำ Diabetic Passport และ Update Website เพื่อให้ผู้ป่วยค้นคว้าหาความรู้ได้

ทีม รพ.หัวเฉียว ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานอยู่ในความดูแลถึง ๔,๒๓๙ คน เล่าถึงสาเหตุที่ลุกขึ้นมาพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยใช้วงจร PDCA กลุ่มเป้าหมายของการให้บริการครอบคลุมทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ของ รพ. กลุ่มผู้ป่วย และชุมชน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบ มีการเชื่อมโยงประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำความสำเร็จของโครงการ “เบาหวานติดปีก หลีกหนีส่วนเกิน” ที่ทำในกลุ่มเจ้าหน้าที่ไปขยายสู่กลุ่มผู้ป่วย ช่วยกันมองหาโอกาสในการพัฒนา มีการกำหนด KPI ทั้งด้านบริการและด้านการดูแลรักษา สิ่งที่ภาคภูมิใจคือประธานและคณะกรรมการที่มีหัวใจของการพัฒนาคุณภาพ ทีมงานมีความมุ่งมั่นว่าจะช่วยกัน audit card ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายเพื่อนำไปสู่การหาเป้าหมายของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล และไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับผู้ป่วยในด้วย โดยจะจัดให้มีพยาบาลที่เรียกว่า DMWN ประจำอยู่ในหอผู้ป่วยต่างๆ

คุณหมอสิริเนตร กฤติยาวงศ์ (หมอแอน) อายุรแพทย์ของเทพธารินทร์ มาเล่ารายละเอียดการทำงานตั้งแต่มีหมอเบาหวาน ๒ คนและมีผู้ให้ความรู้เพียงคนเดียว ปัจจุบันแม้จะขยายอัตรากำลังมากขึ้นแล้วแต่ก็ยังทำงานไม่ทัน คุณหมอแอนเล่าถึงเส้นทางการพัฒนาคนและการสร้างทีมงาน งานการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ตลอดจนมาตรฐานการดูแล และประสบการณ์ของตนเองในการ check มาตรฐานการดูแลแล้วพบปัญหาหลายเรื่องที่ไม่ใช่แต่การลืม (ของแพทย์) นอกจากนี้ยัง share ประสบการณ์การทดลองใช้โปรแกรม Delphi Diabetes Manager ของต่างประเทศ รวมทั้งการทำงานใน Diabetes Registry Program ของไทยที่ทำให้ได้รู้ outcome ของการดูแลรักษา ปิดท้ายด้วยการเล่าถึงกิจกรรมทางวิชาการและงานวิจัยต่างๆ ของ รพ.

ดิฉันสังเกตว่าขณะแต่ละทีมนำเสนองานของตนเอง ทุกคนในห้องประชุมตั้งใจฟังอย่างมาก ต่างซักถามซึ่งกันและกัน บางขณะก็ร่วม share ประสบการณ์ ตัวอย่างเช่น คุณหมอพงษ์สันต์เล่าประสบการณ์ทั้งที่ รพ.หัวเฉียวและ รพ.นครธนว่าใช้ประโยชน์จากการตรวจเท้าทำให้มี value added คุณหมอกาญจน์สุดาเล่าถึงการเก็บข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งเคยเห็นโปรแกรมของอังกฤษที่สามารถ link และเก็บข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ เก็บภาพต่างๆ ไว้เปรียบเทียบได้ เป็นต้น เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวัน เราใช้เวลารับประทานอาหารกันเพียงประมาณครึ่งชั่วโมง ทีมอยากไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ของ รพ. คุณสุภาพรรณและคุณอาฬสารับหน้าที่เป็นไกด์ ใช้เวลาทัวร์ตั้งแต่ ๑๒.๔๐-๑๓.๓๐ น.

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๙

 

 บางส่วนของทีม รพ.หัวเฉียว

 

 ส่วนหนึ่งของทีม รพ.สมิติเวช สุขุมวิท

หมายเลขบันทึก: 32854เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท