ค่ายบูรณาการ “ภาษา สังคมคือศิลป์”


      

       ปีนี้เป็นปีที่ ๓ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ให้จัดทำค่ายบูรณาการ

ให้แก่นักเรียนโครงการศิลปศาสตร์ม.๔ จำนวน ๓๓ คน ความยากของกิจกรรมนี้ คือนักเรียนกับครูไม่มีความผูกพันกันมาก่อน 

ครูภาทิพไม่ได้สอนนักเรียนกลุ่มนี้  แต่ต้องนำพวกเขาไปทัศนศึกษา ไปทำกิจกรรมต่างๆ  โดยเขาไม่รู้จักเรา

และเราก็ไม่รู้จักเขา  จึงเป็นเรื่องยากพอสมควร

 

            การดำเนินการหลังจากทราบภารกิจก็คือ

๑.   ประสานงานกับตัวแทนนักเรียน ให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ ให้ทราบว่างบประมาณมีเท่าไร 

งบประมาณจำนวนนี้จะทำอะไรได้บ้าง  เสนอสถานที่ที่จะจัดทำค่ายได้ตามงบประมาณ  ส่วนสถานที่ที่นักเรียนต้องการ

ศึกษาดูงานให้ประสานคุณครูที่ชำนาญด้านนี้  รวบรวมข้อมูล  ทำรายการขอความคิดเห็นจากเพื่อนและเสนอครูภาทิพ 

ได้ข้อสรุปว่า   ไปทัศนศึกษาดูงานที่จังหวัดราชบุรี  และเพชรบุรี        ทำกิจกรรมค่ายที่ สวนเพชรริเวอร์วิวรีสอร์ท

อ.ท่ายาง  เพชรบุรี ระยะเวลาคือ ๑๐-๑๒ มกราคม ๒๕๕๓ โดยจะออกเดินทางใน ๐๑.๐๙ น.ของ วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๒

ขึ้นไปจังหวัดราชบุรี  ชมพิพิธภัณฑ์และการแสดงหนังใหญ่ที่วัดขนอน  อ.โพธาราม  ตามด้วยชมพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งสยาม

ที่บ้านแพ จากนั้นลงมาที่ จ.เพชรบุรี  มาชมพระนครคีรี   และลงมายังที่พัก ที่ อ.ท่ายาง

เพื่อเปิดค่ายบูรณาการ

๒. นักเรียนจัดทำเอกสาร โดยศึกษาเอกสารของนักเรียนโครงการกิฟท์ภาษาไทย ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ในการทำเอกสาร

๓.  เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว  นักเรียนได้จัดทำเอกลักษณ์อัตลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเขาคือใคร  นักเรียนได้ออกแบบเสื้อของกลุ่ม 

และโลโก้รุ่นของพวกเขา  ซึ่งรุ่นนี้เป็นนักเรียนโครงการศิลปศาสตร์รุ่นที่ ๑๓ ชื่อ พุทธรักษา ที่มีทั้งภาษาฝรั่งเศสและจีน

๔.  ครูออกแบบกิจกรรมค่ายบูรณาการ “ภาษา สังคมคือศิลป์”  ซึ่งจะมีกิจกรรม ดังนี้

        ๔.๑ วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๓ นักเรียนศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านวิชาสังคมศึกษา  คือวัฒนธรรม

ประเพณีการเล่นหนังใหญ่   บุคคลสำคัญ ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง  และพระนครคีรี

       ๔.๒ เปิดค่ายร่วมกับนักเรียนกิฟท์ภาษาไทย ม.๔-๖  ซึ่งมาพักร่วมกัน ๑ คืน โดยมี ครูอุไรวรรณ บุญญานุกูล

หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เป็นผู้เปิดค่ายให้โอวาท 

        ๔.๓ กิจกรรมค่าย  กิจกรรมที่ ๑ กิจกรรมแนะนำตัว   เป็นกิจกรรมที่ฝึกทักษะการใช้คำคล้องจองคือ

     เด็กทุกคนจะปรบมือเป็นจังหวะ  พร้อมร้องว่า   “ป๊ะเท่งป๊ะ เท่งป๊ะ เท่งป๊ะ”  ผู้แนะนำก็จะบอกว่า   

 

       ผมชื่อบอสผมชอบถอดอวัยวะ

        “ป๊ะเท่งป๊ะ เท่งป๊ะ เท่งป๊ะ”

       ฉันชื่อปิ๊ก  ฉันชอบหยิกอวัยวะ

      “ป๊ะเท่งป๊ะ เท่งป๊ะ เท่งป๊ะ”

        ผมชื่อศร  ผมชอบตอนอวัยวะ

      “ป๊ะเท่งป๊ะ เท่งป๊ะ เท่งป๊ะ”

       ฉันชื่อจุ๋ม   ฉันชอบกุมอวัยวะ

       “ป๊ะเท่งป๊ะ เท่งป๊ะ เท่งป๊ะ”

              ฯลฯ

         ๔.๔ กิจกรรมละลายน้ำแข็ง “หนอนน้อย”  จับคู่หันหน้าเข้าหากัน  เต้นไปตามเพลง  ไปทางซ้าย  ไปทางขวา  

ไปข้างหลัง ไปข้างหน้า  เป่ายิงฉุบ  ผู้แพ้จะมาต่อหลังผู้ชนะ   คู่นี้ก็จะไปหาคู่เต้นและท้าเป่ายิงฉุบใหม่  คู่เต้นและคู่ท้า

ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ  ขณะเดียวกันแถวก็จะยาวไปเรื่อยๆ จนเหลือ เพียง   ๒ แถวก็เต้นในท่าเดิม  แล้วตามด้วยเป่ายิงฉุบ

คนสุดท้ายของแถวจะออกมาเต้นท่าหนอนน้อย  ซึ่งจะมีพี่ๆมาสาธิตให้ดูก่อน

     ๔.๕ กิจกรรมการแสดง   “พูด เล่น เต้น ร้อง ให้ก้องค่าย” นักเรียนกิฟท์ส่งมา ๑ ชุด  นักเรียนโครงการศิลป์ ๑ ชุด 

 เสร็จจากกิจกรรมนี้  ก็ตามด้วยการสวดมนตร์ไหว้พระ  แล้วเข้านอน

 

     ๔.๖ กิจกรรมค่ายการเขียนบูรณาการ      ครูภาทิพให้ความรู้เรื่องการเขียนร้อยแก้ว   ร้อยกรอง    ครูพี่เมย์ ให้ความรู้เรื่อง

การเขียนสื่อความภาษาจีนและภาษาฝรั่งเศส   นักเรียนทุกคน  มีผลงานการเขียนภาคภาษาไทย ๑ ชิ้นร้อยแก้วหรือ

ร้อยกรองก็ได้  และทุกคนต้องมีผลงานการเขียนภาษาจีนหรือฝรั่งเศส ๑-๒ ประโยค 

๕.  วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๓ จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้สนุกและพักผ่อน คือกิจกรรมล่องแพ  เล่นน้ำ  นักเรียนกลุ่มที่

แข็งแรง  จะเล่นแพเดี่ยว คือ๓ คนต่อ ๑ แพ  ขณะที่กลุ่มที่ไม่สันทัด นั่งแพรวม   มีผู้ดูแลควบคุม

    

ความสำเร็จ    มีความสำเร็จในระดับหนึ่ง  ในบางแหล่งเรียนรู้เช่นหนังใหญ่วัดขนอน  ครูเองหวั่นๆว่านักเรียนจะเบื่อ   แต่ด้วยวิธีการนำเสนอที่กระชับรวดเร็วและความมุ่งมั่นของผู้แสดงนักเรียนกลับชอบ    และหลังจากที่พวกเขาได้สนุกสนาน  จากการล่องแพ  เล่นน้ำ  เมื่อหายเหนื่อยล้าเขาก็มีความพร้อมที่จะทำกิจกรรมการเขียนได้แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยถึงดึกดื่นก็ตาม  และนักเรียนส่วนใหญ่มีผลงานอยู่ในเกณฑ์ดี

 

อุปสรรคปัญหา   มีในเรื่องของการปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลง เช่น ครูประชุมชี้แจงว่า ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้น   เพราะเป็นเวลากลางคืน  ไม่ปลอดภัยเวลาที่รถจอดเข้าห้องน้ำ   และกิจกรรมแรกคือการชมหนังใหญ่ต้องเข้าวัด  ก็มีนักเรียนหญิงหลายคนฝ่าฝืน   ปัญหาเรื่องของการตรงต่อเวลาค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่  เพราะเขาและเธอมักจะละเลย  ทำให้การดำเนินกิจกรรมไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด      ภาษาในการสื่อสารก็เช่นกัน มีสัตว์เลื้อยคลายมากมายที่เขาพ่นมาในรถ  และขณะที่เขาสื่อสารกัน   มารยาทไทย   ช่วงแรกๆจะไม่ค่อยมีการทักทาย สวัสดีคุณครู  ครูต้องสวัสดีนักเรียนก่อน  ช่วงหลังจึงดีขึ้น  นิสัยบริการและจิตสาธารณะของนักเรียนยังไม่ผ่าน

 

ชมภาพเพิ่มเติมที่นี่    ข่าวแหล่งเรียนรู้โรงเรียนสุราษฎร์ธานี

หมายเลขบันทึก: 328350เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีวันครู
  • ขอให้ครูมีความสุข

สวัสดีค่ะเบดูอิน  ไปแวะดูเบดูอินอัดครูมาแล้วนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท