ความรู้ปฏิบัติจัดการอย่างไรให้เทียบโอนได้ ?


ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำKM  เป็นความรู้ปฏิบัติทั้งนั้น แม้จะมีความรู้ทฤษฎีอยู่ด้วยก็ตาม ก็ต้องได้ผ่านการปฏิบัติด้วยตัวผู้เรียน ผู้ทำงาน หรือคุณกิจแล้ว

ผมคิดเรื่องนี้ตอนที่ผมกำลังปรับปรุงบันทึกความรู้แก้จนเมืองนคร ว่าเมื่อสกัดความรู้ผู้เรียนหรือคุณกิจออกมาได้แล้ว ซึ่งเป็นความรู้ปฏิบัติ ความรู้หน้างาน ตามร่องรอยหลักฐานการทำงานและการเรียนรู้ที่ปรากฏ .........ดูว่าเข้ากรอบสาระของหลักสูตร ใครจะคือผู้ประเมินให้การยอมรับความรู้นั้น แล้วมีความน่าเชื่อถือ ใช้เทียบโอนได้ ไม่ว่าจะโอนความรู้เข้าสู่ระดับความรู้ใด ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษา หลักเกณฑ์และวิธีการคงจะแตกต่างกันไปในแต่ละระดับและสถาบัน

น่าจะได้เวลาที่ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจะได้ตั้งวงพูดคุยกันเสีย กระบวนการดำเนินงานจัดการความรู้แก้จนเมืองนครจะได้ครบวงจร เพราะการจัดการความรู้ที่แท้ก็คือจัดการทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำไม่ได้ แล้วทำได้ หรือจัดการกับความไม่รู้ของตนเองให้มีความรู้ (ปฏิบัติ)ขึ้นมา ทำอะไร รู้อะไรขึ้นมาได้นี่แหละคือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการประการหนึ่ง

ความรู้ปฏิบัติจะให้ยอมรับกันได้ จะต้องทำอย่างไร ? ให้นักวิชาการ ครูอาจารย์ ผู้รู้ ภูมิปัญญา คุณกิจด้วยกัน หรือใครเป็นผู้ประเมิน

เมื่อดูโครงการ KMแก้จนเมืองนคร คุณอำนวยตำบลๆละ 3 คน คือวิทยากรกระบวนการ ใกล้ชิดกับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกิจกรรมกับผู้เรียนหรือคุณกิจ ถอดบทเรียน หรือสกัดความรู้คุณกิจออกมา น่าจะเหมาะสมที่รับรองกระบวนการเรียนรู้ของคุณกิจได้ ส่วนเนื้อหาสาระหรือมาตรฐานหลักสูตร ผมคิดว่าผู้รู้จากหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่งมีความเป็นมืออาชีพในวิชาการด้านนั้นๆ เป็นผู้รับรองสาระ แก่น หรือองค์องค์ความรู้ ร่วมกับบุคคลอื่นตามแต่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งจะได้กำหนดตามความเหมาะสม

สำหรับเทียบเข้าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ กศน.รับผิดชอบอยู่ โดยเฉพาะเทียบแบบสะสมหน่วยกิต นับว่าเหมาะสมมากเลยกับผู้เรียนหรือคุณกิจที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะทำไป ได้ความรู้ไป เก็บสะสมไว้ เหมือนฝากเงินกับธนาคาร ยิ่งทำมากก็ได้ความรู้มาก หมุนเกลียวความรู้จนเชี่ยวชาญการปฏิบัติได้มากเท่าไร ความรู้ก็มากตามเท่านั้น

ทีมวิชาการของโครงการน่าจะได้หยิบยกมาเป็นประเด็นเรียนรู้ร่วมกัน (ทีมวิชาการก็เป็นผู้เรียน) เรียนรู้ว่าจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ และกำหนดแนวทางวิธีการปฏิบัติอย่างไรดี

ถ้าทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ก็คงจะเห็นผู้รู้ ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน หรือบัณฑิตเกิดขึ้นมากมาย เพราะกิจกรรมการเรียนรู้ดีๆอย่างกิจกรรมของ โรงเรียนมะพร้าว โรงเรียนมังคุด โรงเรียนชาวนาจะเกิดขึ้นมากมาย ผู้คนก็จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ องอาจขึ้น เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการเรียนรู้ เมืองแห่งการเรียนรู้ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัดก็จะบรรลุ ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรในจังหวัดก็จะได้สูงขึ้นไปด้วย  

งานนี้ต้องฟังความคิดเห็นและแนวปฏิบัติกันหลายฝ่าย ถ้าไม่ทำ ปล่อยไปต่อหน้าต่อตา ก็เสียดายขุมหรือแก่นความรู้ดีๆ ซึ่งมีหลักฐานร่องรอยปรากฏให้เห็น ยอมรับกันแล้ว เป็นผลพลอยได้จากการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ผลพลอยได้นี้ควรที่จะได้ทำให้คุณกิจเพิ่มคุณค่าตัวเองให้สูงขึ้นในสังคม

หมายเลขบันทึก: 32830เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 06:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท